เมื่อเจ้าตัวเล็กเอาแต่กรี๊ดดดดด!!
  จำนวนคนเข้าชม  31509

เมื่อเจ้าตัวเล็กเอาแต่กรี๊ดดดดด!!
 
 

 
       สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดีตั้งแต่เกิดมานั้น คงหนีไม่พ้นเรื่อง “การกรี๊ด” ของเจ้าตัวเล็ก ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็เริ่มหัดกรี๊ดแทนการร้องไห้โยเย ซึ่งปัญหานี้ บรรดาคุณแม่ทั้งหลายมักจะเจอในช่วงที่ลูกเริ่มมีอายุครบขวบปีแรก โดยการแผลงฤทธิ์ของเขานั้นไม่ได้บ่งบอกให้พ่อแม่รู้แค่เพียงว่า “เขามีพลัง” แต่กลับเป็นการบ่งบอกถึง ให้พ่อแม่ทราบว่า เขามีความสำคัญต่างหาก
      
       แต่หากเจ้าตัวเล็กเกิดกรี๊ดบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกขัดใจ หรือเรียกร้องความสนใจก็ตาม หากเขากรี๊ดดังมากขึ้นเรื่อยๆ จนติดเป็นนิสัยคงดูไม่น่ารักเท่าไหร่นัก เพราะเขาจะไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง และไม่สนใจคนรอบข้าง

 
 


 
 
       ดังนั้นเรามาดูกันว่าวิธีรับมือกับเสียงกรี๊ดของเจ้าตัวเล็กนั้นมีอะไรกันบ้าง
      
       1. อิสระในการเรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าให้ตามใจลูก แต่เด็กวัยนี้คือวัยที่กำลังเรียนรู้ ชอบสำรวจ บางครั้งด้วยความที่อยากรู้อยากเห็นพ่อแม่อาจห้ามไม่ให้เล่นบ้าง ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ควรดูเขาอยู่ห่างๆและให้เขาลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะหากพ่อแม่ไปห้ามลูกบ่อยๆซึ่งในบางครั้ง เขาสามารถเล่นเองได้ และไม่อันตรายนั้น เมื่อโตมาเขาจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง
      
       2. วางเฉย เมื่อลูกเริ่มกรี๊ด โดยส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่ก็จะสั่งให้หยุดเดี๋ยวนั้น ซึ่งจริงๆแล้ว พ่อแม่ควรอยู่เฉยๆ อย่าไปทำตามข้อเรียกร้องของลูก มิเช่นนั้นเมื่อเขาอยากได้อะไรเขาก็จะใช้วิธีนี้ในการเรียกร้องความต้องการ


       แม้ว่าในบางครั้งเสียงกรี๊ดมากๆ ของลูก อาจทำให้พ่อแม่เกิดอาการปี๊ด…ดดด ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่เหมือนกัน บางทีก็อยากตัดความรำคาญหรืออาจจะเกรงใจคนรอบข้างเวลาที่พาออกไปข้างนอก ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ต้องใจแข็งพอสมควร เด็กๆร้องไปสักพักก็จะเหนื่อย เมื่อรู้ว่าเราไม่สนใจด้วยแล้ว เดี๋ยวก็หยุดร้องกรี๊ดได้เอง
      
       3. เหตุผล ไม่ว่าลูกจะร้องกรี๊ดเพราะสาเหตุอะไรก็ตาม พ่อแม่ต้องพูดกับลูกด้วยเหตุผล การร้องเพราะถูกขัดใจ ก็ต้องบอกลูกว่าถ้าอารมณ์ดีๆ แล้วค่อยมาคุยกัน ซึ่งคุณแม่ต้องทำแบบนี้ให้สม่ำเสมอ อย่าทำบ้างไม่ทำบ้าง เพราะลูกจะสับสน
      
       4. สื่อสารกับลูกให้เยอะๆ บางครั้งที่ลูกอยากได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่ยังไม่สามารถอธิบายบอกได้ คุณแม่ใช้วิธีถามนำว่าลูกอยากได้อะไร จะเอาของเล่นเหรอ จะกินน้ำเหรอ อะไรทำนองนี้ เพราะลูกจะได้สื่อสารกับเราได้ง่ายขึ้น และเป็นการฝึกให้ลูกได้พูดไปด้วยในตัว โดยใช้คำพูดง่ายๆ กระชับ ถ้าพูดยาวจนเกินไปเจ้าตัวเล็กอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะสื่อสารด้วย ต่อไปเขาก็จะรู้จักพูดคุยกับเรา ไม่ใช่วิธีการกรี๊ดแน่นอน

 
       5. ชื่นชม ถ้าสิ่งไหนที่ลูกทำแล้วเป็นสิ่งดี ก็อย่าลืมหยอดคำชมรอยยิ้ม หรือแสดงอาการให้เขาเห็นว่าคุณพอใจมากๆ ที่เขาทำสิ่งที่ดีๆ ลูกก็จะเรียนรู้และอยากทำในสิ่งที่พ่อแม่ชื่นชม
      
       6. แบบอย่าง เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการที่พ่อแม่ต้องเริ่มต้นเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน เพราะเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมได้เร็วมาก หากแม่ไม่พอใจแล้วโมโหเกรี้ยวกราดใส่ลูก ลูกก็จะกรี๊ดเหมือนที่แม่ทำ
      
       7. ได้และไม่ได้ พ่อแม่จะต้องสอนให้ลูกรู้จักคำว่าได้และไม่ได้ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ในเรื่องของความสมหวังและผิดหวังซึ่งควรมีเหตุผลกำกับด้วยทุกครั้งว่าทำไมลูกถึงได้ ทำไมถึงไม่ได้เพราะถ้าลูกเรียนรู้ที่จะได้อย่างเดียว ลูกจะไม่รู้จักความผิดหวังแต่ถ้าลูกเรียนรู้แต่ความผิดหวัง เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “พอดี”
      
       ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อพื้นฐานในการสอนลูกให้มีความน่ารักมายิ่งขึ้น ซึ่งพ่อแม่ต้องมีวินัยที่จะทำอย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัวไปตามกติกามารยาททางสังคมได้ตามวัย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความรัก ซึ่งพ่อแม่ต้องรักอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเป็นตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่จะช่วยให้ลูกพัฒนาด้านอารมณ์ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
   

 

  
       ขอขอบคุณข้อมูลจาก   Health Library for Thai