ทำอย่างไรไม่ให้เด็กกลัวทันตแพทย์
  จำนวนคนเข้าชม  16936

 หมอฟันแนะเทคนิค ทำอย่างไรไม่ให้เด็กกลัวทันตแพทย์

 
  
 
       เรื่อง "ฟัน" ของเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ปัญหาฟันผุได้เข้ามาคุกคามเด็กไทยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ซึ่งมักเกิดจากการดูแลที่ไม่เหมาะสม คุณหมอวรชน ยุกตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเด็ก จากคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกถึงการดูแลฟันของเด็ก ๆ อย่างถูกวิธี การเลิกขวดนมในช่วงวัยที่เหมาะสม ตลอดจนการเลือกใช้คำที่ฟังแล้วไม่น่ากลัวสำหรับเด็ก ๆ เพื่อปรับจิตใจให้เด็กลดความหวั่นวิตกลงก่อนมาพบทันตแพทย์ มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
      
       อายุที่เหมาะสมต่อการพามาพบทันตแพทย์
      
       คุณหมอวรชนเล่าว่า คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูก ๆ มาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรก หรือช่วงที่ฟันน้ำนมเพิ่งขึ้น การมาพบในช่วงขวบปีแรกไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาทำฟันเสมอไป แต่เป็นการมาตรวจช่องปากว่ามีความผิดปกติไหม การดูแลช่องปากของพ่อแม่ที่ดูแลให้ลูก ทำได้ถูกต้องตามหลักทันตสาธารณสุขหรือเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเกิดโรคต่อไปในอนาคต อีกทั้ง ปัญหาฟันผุในเด็กเป็นสิ่งที่ลุกลามได้รวดเร็วมาก เนื่องจากตัวฟันน้ำนมของเด็กจะมีเนื้อฟันที่บาง ดังนั้นเมื่อผุจึงลุกลามถึงโพรงประสาทฟันได้ง่าย ดังนั้น หากสามารถพามาพบทันตแพทย์ได้ตั้งแต่ต้น จะเป็นการ "ป้องกัน" ที่ดีที่สุด เพราะทันตแพทย์จะสามารถอธิบายวิธีทำความสะอาดฟันของลูกที่ถูกต้อง ตลอดจนแนะนำวิธีเลิกนมขวด หนึ่งในต้นตอปัญหาฟันผุในเด็กด้วย
      
       ระยะห่างในการพาเด็กไปพบคุณหมอ
      
       คุณหมอวรชนเล่าว่า "ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการเกิดฟันผุของเด็ก เมื่อมาพบหมอแล้ว หมอจะประเมินความเสี่ยงของเด็กว่ามีลักษณะอย่างไร เช่น ในกลุ่มเด็กพิเศษ จะมีความเสี่ยงต่อฟันผุสูง การดูแลมักจะทำได้ไม่สะดวก ก็ควรมาพบทันตแพทย์บ่อยหน่อย อาจจะ 3 - 4 เดือนต่อครั้ง แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ประมาณ 6 เดือนพ่อแม่ควรพาลูกมาพบ ถ้าลูกมีความเสี่ยงต่ำ ระยะห่างในการมาพบหมอก็จะห่างขึ้น"
      
       "เด็กในเมือง คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่มีเวลาดูแล บางทีคลอดได้ 3 - 6 เดือนก็ต้องกลับไปทำงานแล้ว ดังนั้นเด็กมักจะมีคนอื่นช่วยเลี้ยง และได้ทานนมขวด ซึ่งพี่เลี้ยงอาจปล่อยให้เด็กหลับคานมขวด ตรงนี้คือปัญหาสำคัญ เพราะการปล่อยให้เด็กหลับคาขวดนม คือต้นตอของปัญหาฟันผุ"
      
       "เมื่อเด็กหลับ คราบน้ำตาลจะติดค้างที่ฟัน เชื้อโรคก็จะมาใช้คราบน้ำนมเหล่านี้เป็นอาหาร ทำให้เกิดกรด และฟันผุตามมาในที่สุด ดังนั้น ถ้าพามาพบทันตแพทย์ก่อน อาจได้รับคำแนะนำในการเลิกขวดนมอย่างถูกต้อง และช่วยลดปัญหาฟันผุที่เกิดจากการหลับคาขวดนมได้ครับ"
      
       "ควรเลิกนมขวดตั้งแต่เด็ก ตามหลักวิชาการควรเป็นช่วง 1.5 - 2 ขวบ แต่ความเป็นจริงแล้ว หมอพบว่าคุณพ่อคุณแม่ทำไม่ค่อยได้ จึงต้องเน้นให้ดูแลฟันเด็กให้ดี ๆ มากกว่า นอกจากนั้นในเมืองไทย ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะพาเด็กมาพบทันตแพทย์ช้า เลยช่วงขวบปีแรกไปแล้ว ดังนั้นการเลิกนมขวดก็จะช้าออกไปด้วย"
      
       "พ่อแม่" ตัวช่วยสำคัญ ลดความกลัวหมอฟันในเด็ก
      
       หลายครอบครัวเป็นค่ะ คือนึกถึงคุณหมอฟันเมื่อพบว่าฟันของลูกมีปัญหา ซึ่งเด็กอาจจะมีอายุ 2 - 3 ขวบไปแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้เด็กเข้าใจถึงความจำเป็นในการมาพบคุณหมอ และไม่ง่ายเลยที่จะลดความหวั่นวิตกเกี่ยวกับหมอฟันลงได้

 
 
       "มีคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มคือจะพามาพบหมอฟันเมื่อลูกมีปัญหา เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ ซึ่งมักเป็นเด็กที่อายุ 2 - 3ขวบแล้ว ไม่ใช่เด็กเล็ก ๆ แต่ธรรมชาติของเด็กจะรู้ว่าตอนนี้มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว และเขาเองจะต้องโดนทำการรักษาอะไรสักอย่างที่น่ากลัว นี่คือความคิดของเด็ก เพราะเด็กอายุระดับนี้จะผ่านการฉีดวัคซีนโดยคุณหมอมาแล้ว จากการเป็นโรคไม่สบาย เขาก็เชื่อมโยงได้ว่า เวลามาหาทันตแพทย์ต้องเจออะไรน่ากลัวอีกแน่เลย"
      
       สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยคุณหมอฟัน และบรรเทาความวิตกกังวลของลูกได้ก็คือ การเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงที่จะพูดในสิ่งที่น่ากลัว
      
       "เด็กเองก็จะกังวลอยู่แล้วเป็นทุนเดิม คุณพ่อคุณแม่แค่บอกว่า เนี่ยมีหนอน หรือมีเชื้อโรคอยู่ในปากหนู ให้คุณหมอเขาดูนิดนึง เอากระจกส่อง ตรงนี้จะช่วยให้เด็กลดความกลัวได้ครับ หลาย ๆ เคสที่หมอเจอมาคือ เด็กเดินมาบอกว่า ไม่เอา ไม่ฉีดยา ไม่ถอนฟันนะ เพราะได้รับข้อมูลจากคุณพ่อคุณแม่ว่า จะพาหนูไปฉีดยา ไปถอนฟัน อาจจะด้วยความหวังดี แต่ไม่รู้จะใช้ภาษาบอกเด็กอย่างไรให้เหมาะสม"
      
       "ในทางทันตกรรม หมอฟันเวลาคุยกับเด็ก จะหลีกเลี่ยง คำที่น่ากลัว จะไม่บอกว่ามีการถอนฟัน มีการดึงฟัน มีการฉีดยา หรือคำว่าเจ็บ เราจะมีภาษาของทันตแพทย์เด็กอธิบาย เพื่อเรียกคำที่มีความหมายน่ากลัวให้ฟังดูซอฟท์ลง เช่น การฉีดยา เราก็บอกว่า เดี๋ยวจะมีแมลง หรือมดก็ได้ มากัดที่ฟันของหนู แปลงภาษาที่น่ากลัวเป็นภาษาที่ซอฟท์ลง"
      
       ผู้ช่วยของคุณหมอฟัน เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญค่ะ เพราะหากเด็กเห็นเข็มฉีดยา หรือเครื่องมือต่าง ๆ เด็กอาจกลัว และไม่ให้ความร่วมมือได้ คุณหมอวรชนเล่าว่า ผู้ช่วยทันตแพทย์เด็กจะได้รับการอบรมมาโดยเฉพาะว่า จะต้องส่งเครื่องมือต่าง ๆ ให้คุณหมออย่างไร ถึงจะไม่ทำให้เด็กเกิดความกลัว และไม่ทำให้เด็กเห็นเข็มฉีดยา
      
       ตอนลูกอยู่กับหมอฟัน พ่อแม่ควรทำตัวอย่างไร
      
       "สมัยโบราณ เวลาทำฟัน หมอจะอยู่กับคนไข้สองคน คุณพ่อคุณแม่รอข้างนอก แต่ปัจจุบัน สภาพสังคมมันเปลี่ยนไป คือพ่อแม่ทำงานนอกบ้านมากขึ้น มีเวลาให้ลูกน้อยลง ดังนั้นการพาลูกมาพบหมอฟัน คุณพ่อคุณแม่จะมีความกังวลสูง และจะรู้สึกว่าอยากอยู่กับลูกมากขึ้น" คุณหมอวรชนกล่าว
      
       "ทันตกรรมสำหรับเด็กในปัจจุบันจึงยอมให้คุณพ่อคุณแม่มาอยู่ในห้องได้ แต่การอยู่ หมอฟันจะอธิบายก่อนว่า อยู่เพื่อให้พ่อแม่เป็นกำลังใจให้ลูก ให้ลูกเกิดความเชื่อมั่น ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง แต่ควรจะอยู่ในลักษณะ passive คือให้หมอเป็นฝ่ายสื่อสารกับเด็กโดยตรง พ่อแม่ไม่ควรมาเจ้ากี้เจ้าการ หรือมาจัดการว่าลูกควรจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะหมอจะคุยกับเด็กเอง"
      
       "การที่พ่อแม่คุยด้วย หมอคุยด้วย จะทำให้เด็กไม่รู้จะฟังใคร และปฏิบัติตัวไม่ถูก บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะพูดในสิ่งที่หมอไม่อยากให้พูดด้วยครับ (หัวเราะ) เช่น เนี่ย เดี๋ยวฉีดยา นิดเดียว ไม่เจ็บหรอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทันตแพทย์ไม่อยากให้พูด เพราะการฉีดยา มันก็ต้องเจ็บอยู่แล้ว พอเราบอกไม่เจ็บ เด็กก็รู้ว่าเป็นการโกหก ในตรงนี้เราจึงเลี่ยงไม่พูดดีกว่า"
      
       ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่อยากเข้าไปอยู่ในห้องทำฟันกับลูกแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอด้วยค่ะ
      
       ข้อดีของการอยู่ร่วมทำฟันกับลูก
      
       คุณหมอวรชนเล่าว่า ข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่อนุญาตให้พ่อแม่อยู่กับเด็กคือ หมอจะได้แนะนำได้ว่า ตรงบริเวณไหนที่พ่อแม่ยังทำความสะอาดได้ไม่ดี และต้องทำอย่างไร คือใช้โอกาสนี้ในการแนะนำเรื่องการรักษาสุขภาพฟันที่ดีของเด็กไปด้วยนั่นเอง และจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทีี่ดีระหว่างเด็ก พ่อแม่และหมอด้วย
      
       "แนวโน้มการทำฟันเด็กในปัจจุบันจะต้องมีการสื่อสารกันมากขึ้น ไม่ใช่เหมือนสมัยก่อนที่คุณพ่อคุณแม่มาบอกว่าลูกมีปัญหาเรื่องฟัน แล้วก็ปล่อยลูกทิ้งไว้ พ่อแม่ไปนั่งรอข้างนอก ยิ่งในเด็กเล็ก บางครั้งหมอจะยอมให้พ่อแม่นั่งบนเก้าอี้กับลูกด้วย เพื่อให้พ่อแม่ได้ประคอง จับช่วงขาของเด็กเอาไว้ แต่การจับของเราคือจับเพื่อให้กำลังใจ ไม่ใช่จับยึดครับ"
      
       เชื่อว่า คำแนะนำดี ๆ จากคุณหมอจะทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนสามารถเก็บเทคนิคดี ๆ ไปใช้ในการดูแลฟันของเด็ก ๆ กันนะคะ ซึ่งถ้าหากป้องกันฟันผุได้ ความสุขของเด็ก ๆ รวมถึงของคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ
 
 

Life & Family