อัจฉริยภาพ 6 ด้านเสริมสร้างได้ตั้งแต่เด็ก
  จำนวนคนเข้าชม  11620

รู้จักกับอัจฉริยภาพทั้ง 6 ด้านที่เสริมสร้างได้ตั้งแต่เด็ก
 
 

       หากย้อนไปในสมัยที่คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ยังเป็นเด็ก คำถามที่ผู้ใหญ่มักจะถามเราเมื่อปิดภาคเรียนก็คือ "สอบไล่ได้ที่เท่าไร-เรียนเก่งไหม" ฯลฯ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะในยุคนั้น IQ หรือเชาวน์ด้านสติปัญญาเป็นสิ่งที่ถูกหยิบมาพิจารณาเป็นอับดับต้น ๆ แต่มาถึงยุคนี้ แนวคิด และข้อมูลทางวิชาการก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เด็กที่มาพร้อม IQ เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้คนหนึ่งคนกลายเป็นคนเต็มคน และมีความสุขได้
      
       EQ (Emotional Quotient) หรือความฉลาดด้านอารมณ์ ได้ถูกหยิบขึ้นมากล่าวถึงเป็นตัวแรก ๆ หลังจากปล่อยให้ IQ นำโด่งโกยคะแนนความสำคัญมานาน EQ หมายถึงความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น มีความเห็นใจและเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ตลอดจนสามารถสร้างมิตรกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี การมีแต่ IQ แต่ไม่มี EQ นั้นอาจทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นเกิดปัญหาได้ง่าย เพราะขาดความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์
      
       ตัวต่อมาก็คือ AQ (Adversity Quotient) หรือความอึด ความอึดตัวนี้ช่วยเพิ่มพูนความสามารถของตัวเราได้อีกหลายทาง เด็กที่เก่งอยู่แล้ว ถ้ามีความอึดเวลาเจอโจทย์ยาก ๆ เขาก็อาจประสบความสำเร็จด้านการเรียนได้ดีกว่าคนที่เก่งกว่า แต่ไม่อึดเท่า ดังนั้น AQ จะมีความสำคัญมากเวลาที่เราเผชิญปัญหา โดยจะช่วยไม่ให้เราถอดใจง่าย ๆ แต่สามารถอดทน จนข้ามผ่านสภาวะนั้น ๆ ไปได้ในที่สุด
      
       นอกจาก EQ และ AQ แล้ว เราก็ยังมี MQ (Morality Quotient) หรือเชาวน์ด้านจริยธรรม MQ สำคัญตรงที่ว่า จะเป็นแนวทางที่ช่วยในการดำเนินชีวิต ช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทำให้คนรู้จักให้อภัยกันเมื่อเผลอทำผิด และยังช่วยลดความหวาดระแวงที่คนจะพึงมีต่อกันให้ลดน้อยลงได้ด้วย เปรียบเทียบได้กับ ถ้าทุกคนมีจริยธรรม โลกก็จะสงบสุข และยังช่วยลดภาระให้กับสังคมได้ด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องมีตำรวจ ศาล หรือคุกไว้ขังคนไม่ดีอีกต่อไป
      
       ถัดจากนั้นก็มาถึง HQ (Health Quotient) ตัวนี้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กเอง เป็นความเข้มแข็งด้านสุขภาพกาย ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในด้านอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งแนวทางที่จะช่วยพัฒนา HQ ได้ดีก็คือ 6 อ. ประกอบด้วย อารมณ์ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อนามัย และงานอดิเรก
      
       เชาวน์ด้านสุดท้ายที่มนุษย์สามารถค้นพบได้ในช่วงเวลานี้ก็คือ SQ (Spiritual Quotient) หรือเชาวน์ด้านจิตวิญญาณ เป็นความสามารถในการพัฒนาจิตวิญญาณเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และจะช่วยให้คนเราเข้าใจอัจฉริยภาพสูงสุดของตนเองจากการใช้สมองทุกส่วนในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
      
       ผศ. ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเชาวน์อัจฉริยภาพเปิดเผยถึงความเชื่อมโยงระหว่างเชาวน์ทั้ง 6 ว่า "6Qs มีความสำคัญเท่า ๆ กัน เพราะมันต่อเนื่องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่าง คนที่มีไอคิวสูง ๆ ถ้าขาด EQ ก็จะกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์เอาแต่ใจตัวเอง ขาดมนุษยสัมพันธ์ แต่คนที่ IQ ดี EQ ดี แต่ขาดเชาวน์ด้าน AQ หรือเชาวน์ความอึดในการเผชิญปัญหา เวลาเจอวิกฤติ ก็อาจถอดใจได้ง่าย ๆ"
      
       "ถ้าเรามี IQ, EQ และ AQ พร้อมแล้ว แต่ถ้าเราขาด MQ (Morality Quotient) หรือก็คือขาดจริยธรรม เห็นแก่ได้ ไม่คิดถึงคนอื่น ไม่มีศีลธรรม ก็จะทำให้บ้านเมืองมีปัญหา ซึ่งวิกฤติที่มันเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ก็เพราะคนที่เกี่ยวข้องในสังคมบ้านเราขาดความตระหนักใน MQ ร่วมด้วย"
      
       เรื่องของสุขภาพ หรือ HQ (Health Quotient) ก็เช่นกัน ถ้า IQ, EQ, AQ และ MQ ดีหมด แต่สุขภาพไม่ดี ก็ไม่สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสุดท้าย แต่ถ้าเชาวน์ทั้ง 5 ประการที่ผ่านมาดีทั้งหมดแล้ว แต่ขาด SQ (Spiritual Quotient) หรือเชาวน์ด้านจิตวิญญาณ ขาดการปฏิบัติธรรม สมาธิ ความดีที่เกิดขึ้นนั้นก็จะไม่ยั่งยืน
      
       "คนที่มีการฝึกสติสม่ำเสมอ คนเหล่านี้ เวลาที่มีสิ่งไม่ดีเข้ามาเย้ายวนในชีวิต สติจะสามารถรับรู้ได้ และยับยั้งการกระทำที่ไม่ดีกับตัวเองและสังคมได้ คนที่มีเชาวน์ด้านนี้จะมีอายุยืนกว่าคนทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมีสุขภาพที่ดีกว่าด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า SQ คืออัจฉริยภาพขั้นสูงสุด"
      
       เด็กไทยกับ 6Q
      
       การพัฒนาเด็ก หรือสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของเชาวน์ปัญญาด้านอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากความเก่งฉกาจในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากตัวเลขล่าสุดที่มีการสำรวจพบว่า เด็กไทยมีไอคิวลดต่ำลงกว่าในอดีต
      
       “การที่ไอคิวต่ำกว่าปกติ มันจะมีผลต่อส่วนอื่น ๆ เพราะไอคิวจะส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ ในเมื่อเชาวน์ด้านการเรียนรู้ไม่พร้อมเสียแล้ว ศักยภาพด้านอื่น ๆ ก็จะถดถอยลงไปด้วย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว พ่อแม่สามารถกระตุ้นได้ ทั้งจากการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก ไม่ใช่ปล่อยให้ทีวีหรือพี่เลี้ยงเป็นฝ่ายเลี้ยงลูกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับ 6Qs เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยเด็กจะเรียนรู้ได้ง่าย เพราะยังเป็นผ้าขาว แต่เขาอาจจะขาดประสบการณ์เปรียบเทียบ ส่วนผู้ใหญ่จะมีพร้อมทั้งวัยวุฒิ และประสบการณ์ ก็สามารถนำประสบการณ์มาเปรียบเทียบและทำความเข้าใจได้ง่ายมากกว่า แต่ถ้าผู้ใหญ่ที่ขาดการกล่อมเกลา ขาดสติ จากประสบการณ์ที่มีแต่ความละโมบ เห็นแก่ได้ ก็อาจจะกลายเป็นพลังต่อต้านในการเรียนรู้ได้เช่นกัน”
      
       “การฝึก 6Qs ก็เหมือนเราสร้างแผนที่ที่ดีในสมอง (Mental Map) ไปที่ไหนก็สะดวกสบาย โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมาย (คือความสุขนิรันดร์) ก็สูง แม้ว่าระหว่างทางเจอปัญหา อุปสรรค ก็สามารถฟันฝ่าไปได้ครับ”
 
 

 

Life & Family