ไฟซอล ตำภู
  จำนวนคนเข้าชม  12631

ไฟซอล  ตำภู (Faisal  Tamphu)

นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัย อิหม่าม มุฮัมมัด บิน ซะอูด เมืองริยาฎ ประเทศ ซาอุดิอาระเบีย

ประวัติส่วนตัว

- ชื่อ  ไฟซอล  นามสกุล  ตำภู  อายุ  25  ปี

- เกิดที่เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย  มีพีน้อง 11 คน เกิดที่มักกะฮ์ 10 คน น้องคนเล็กสุดเกิดที่เมืองไทย  ผมเป็นคนที่  5 ของพี่น้องทั้งหมด

- กลับมาเมืองไทยเมื่อตอนอายุ  11 ปี บ้านอยู่ที่ อ.เทพา จ.สงขลา

- พี่ชายจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่เมืองมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย 1 คน  และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่ประเทศจอร์แดน 1 คน 

- พูดได้ 4 ภาษา  ภาษาอาหรับ ,ภาษาไทย ,ภาษามลายู ,ภาษาอังกฤษ   

ประวัติการศึกษา

- เรียนจบโรงเรียนบำรุงอิสลาม ปัตตานี (บาร์โอ) ซานาวีย์

- เรียนต่อ กศน.

- ได้ทุนเรียนที่ประเทศจอร์แดน เรียนได้ประมาณ 1 ปี ครึ่ง แล้วจึงเปลี่ยนไปเรียนที่ซาอุดิอาระเบีย

- ได้ทุนเรียนที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย กรุงริยาฏ

- ปัจจุบันขึ้นชั้นปีที่  3 มหาวิทยาลัย อิหม่าม มุฮัมมัด บิน ซะอูด  เมืองริยาฏ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

สนทนา - ถาม - ตอบ

Islam more : ระบบการเรียนการสอนที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ?

Faisal :      เราได้ทุนเรียนฟรีทุกอย่าง แล้วยังมีเบี้ยเลี้ยงต่อเดือนให้ใช้อีกประมาณ 7,500 บาท

          คุณสมบัติของผู้ที่ได้ทุน ต้องได้เกรดเฉลี่ย 80 % ขึ้นไป จบซานาวีย์ มีใบรับรองจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ยอมรับของทางประเทศซาอุดิอาระเบีย 2 ท่าน และถ้าสามารถจำอัลกุรอานได้จะยิ่งได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ  

         เมื่อได้ทุนจะเรียนทั้งหมด 7 ปี คือ เตรียมภาษาอาหรับ 2 ปี และเริ่มเรียนพื้นฐานในปีที่ 1  ถ้าคะแนนของการเรียนภาษาอาหรับไม่ผ่านเกณฑ์ 80 % จะถูกส่งกลับทันที ถ้าผ่านก็เรียนต่ออีก 4 ปีครับ

          ผมจะเรียนวันละ 5 วิชา เฉลี่ย 50 นาทีต่อรายวิชา ส่วนช่วงเย็นสามารถไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตามมัสยิดต่างๆได้ ในแต่ละมัสยิดจะมีการเรียนการสอนทุกวัน เราสามารถไปดูตารางการสอน เลือกเรียนวิชาที่เราอยากจะเพิ่มเติมได้ทุกวัน ที่มัสยิดอาจารย์ที่สอนจะเป็นระดับอุลามะที่มีความรู้ และมีประสบการณ์มาก เพียงแต่ท่านไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัยเท่านั้นเอง สามารถถามตอบคำถามได้และบางครั้งมีเวลามากกว่าในห้องเรียนด้วยครับ เราสามารถหาความรู้ได้ตลอดเวลาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน แต่ขึ้นอยู่กับความขยันและการแสวงหาของแต่ละบุคคล

          การสอบส่วนมากจะเป็นวิชาที่ต้องใช้การท่องจำต้องเขียนอธิบาย แต่มีข้อสอบบางรายวิชาที่เป็นตัวเลือกแต่น้อยครับ และในบางครั้งนักศึกษาต่างประเทศจะสอบได้คะแนนดีกว่านักศึกษาอาหรับด้วย ถ้ามีพื้นฐานที่ดีและมีความขยันในการแสวงหาความรู้       

Islam more : เปรียบเทียบกับการศึกษาในประเทศไทย ?

Faisal :           บรรดาอุลามะที่ซาอุดิอาระเบียจะมีความละเอียดในการสอน  จะเป็นผู้บรรยายตลอดและปล่อยให้ซักถามได้ ทางด้านวิชาศาสนาบางครั้งคำเพียงคำเดียวต้องอธิบายให้เข้าใจทั้งทางด้านภาษาและความหมาย จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อุลามะแต่ละท่านจะเป็นผู้ที่ความรู้มาก และมีประสบการณ์มากครับ

         ส่วนระบบการศึกษาในประเทศไทย จะคล้ายกับการศึกษาที่จอร์แดน จะเรียนสบายกว่า สามารถเกาะกลุ่มเพื่อนเพื่อไปพร้อมๆกัน จบพร้อมๆกัน  และวิธีการศึกษาจะใช้ระบบศึกษาด้วยตัวเอง ค้นคว้าเอง ต้องเสนอรายงาน จัดเวลาเองไม่มีการบังคับ และมีเวลาศึกษาประสบการณ์ชีวิตในต่างประเทศได้ ส่วนเรื่องความรู้ แล้วแต่บุคคลที่จะขยันศึกษากันมากแค่ไหน จะมีแรงกดดันตลอดเวลาเพราะต้องหาความรู้เอง และต้องใช้เงินที่ทางบ้านส่งให้เพือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่เมื่อผมได้ทุนไปเรียนซาอุดิอาระบีย จึงยอมสละเวลาที่จอร์แดนปีครึ่ง ไปเริ่มต้นเรียนที่ซาอุดิอาระเบียอีกครั้ง แต่มันทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้น และมีประสบการณ์มากขึ้นครับ มาชาอัลลอฮ์

Islam more : เปรียบเทียบการศึกษาศาสนากับการศึกษาทางวิชาการ ?

Faisal :     ไม่ว่าศึกษาด้านไหน มีสิ่งที่ดีอยู่ในแต่ละด้านทางวิชาความรู้ แต่ด้านศาสนา เป็นพื้นฐานในการเปิดหัวใจ ให้เรามีอะกีดะฮ์ (หลักศรัทธา)ที่หนักแน่น เมื่อเราไปเรียนทางสาขาวิชาอื่นจะทำให้เราไม่หลุดออกจากหลักการศาสนา การเรียนศาสนาจะรักษาทางด้านจิตใจ แม้จะมีนักวิชาการที่เก่งที่สุด แต่ไม่มีความรู้ทางด้านศาสนาเมื่อประสบปัญหาก็จะหาทางออกไม่ได้ และจะเป็นคนที่ไม่มีความสุขในโลกนี้

         เรายอมรับในด้านวิชาการสำหรับผู้ที่รู้ และเช่นเดียวกัน นักวิชาการก็ควรให้เกียรตินักการศาสนา ที่มีความรู้ทางด้านศาสนาเช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องยอมรับทางด้านวิชาการทั้งหมด แต่ทางด้านศาสนาเขาจะต้องยอมรับในหลักการและบทบัญญัติของอิสลามทั้งหมด

Islam more : หน้าที่นักศึกษาไทย ที่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย อิหม่าม อะหมัด บินซะอูด เมืองริยาฎ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ?

Faisal :          แต่ช่วงปิดเทอมทางกลุ่มนักศึกษาจะมีการจัดประชุม และคัดเลือกสถานที่เพื่อขอทุนมาทำกิจกรรมค่ายอบรมภาคฤดูร้อนให้กับน้องๆนักเรียนที่เมืองไทยได้ เช่น ที่เพิ่งจัดไป ได้ทุนจากองค์กรวามีย์ของทางประเทศซาอุดิอาระเบีย จัดอบรมให้กับน้องๆที่ จ.เพชรบุรี

Islam more : จำนวนนักศึกษาทั้งหมดที่มหาวิทยาลัย อิหม่าม อะหมัด บินซะอูด ?

Faisal :       ทั้งหมดประมาณ 30 คน ตั้งแต่ชั้นเริ่มต้น จนถึงเรียนปริญญาเอก ทางมหาลัยจะรับนักศึกษาไทย 3 คน / ปี 

Islam more : มุมมองของนักศึกษาต่างประเทศ(ไฟซอล)ต่อการเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย ?

Faisal :      ทุกคนที่เริ่มเรียนมีความตั้งใจที่จะเป็นดาอีย์ (นักเผยแพร่ศาสนา) แต่สิ่งที่บั่นทอนความสามารถของดาอีย์ยุคปัจจุบัน คือ การเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น อินเตอร์เน็ต นักศึกษาส่วนมากไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ หรือเล่นอินเตอร์เน็ตไม่เป็น ตอนนี้พวกรุ่นพี่จึงกระตุ้นรุ่นน้องให้เห็นถึงความสำคัญในการดะวะฮ์ แนวทางนี้มากขึ้น เพราะมีผู้ที่เข้ารับอิสลามจากการศึกษาหาข้อมูลศาสนาอิสลามทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และเราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับอิสลามในประเทศต่างๆ ได้กว้างขึ้น เราต้องทันโลกด้วย ถึงจะสามารถเผยแพร่อิสลามได้อย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพ

          ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ที่เปิดเว็บไซต์ในด้านศาสนากันมาก เพราะฉะนั้นนักศึกษา และนักวิชาการทางด้านศาสนา จึงต้องเรียนรู้เพื่อมีส่วนในการช่วยเหลือผู้ที่ทำงานด้านการเผยแผ่ศาสนาทางอินเตอร์เน็ต และต้องมีส่วนในการตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ ว่ามีการเผยแผ่ศาสนาในทางที่ถูกต้องหรือไม่

Islam more : ความแตกต่างในการดะวะฮ์ มุสลิม กับคนต่างศาสนิก ?

Faisal :       ผมยังไม่เคยดะวะฮ์โดยตรงกับคนต่างศาสนิก แต่ตั้งแต่ไปเรียนที่นั่น มีคนไทยเข้ารับอิสลาม 2 คนแล้ว เพราะเขาเห็นตัวอย่างจากหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน การได้รับการปฏิบัติที่ดี เห็นเพื่อนๆทำละหมาดทุกเวลา จะมีทางเจ้าหน้าที่ติดต่อมาให้นักศึกษาได้พูดคุยกับผู้ที่จะเข้ารับอิสลาม ถึงสาเหตุ (ถ้าสาเหตุมาจากเงิน เราจะไม่ให้เข้ารับอิสลาม) และจะสอนหลักการศรัทธา หลักการปฏิติบัติ วิถีการดำรงชีวิต ช่วงว่างก็จะแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนกันครับ 

         สำหรับต่างศาสนิกที่ยังไม่สนิทสนม ต้องสอบถามข้อมูลจากคนรอบข้าง และรวบรวมข้อมูลเพื่อมาพูดคุยกัน และต้องตีสนิทเพื่อที่จะพูดกันได้สะดวกขึ้น

Islam more : นักศึกษากับการทำงานทางศาสนา ?

Faisal :          นักศึกษาที่นั่นมีหน้าที่เรียน ทุกคนต้องเรียนกันอย่างเต็มที่ กิจกรรมอื่นไม่สามารถเข้าไปร่วมในองค์กรเอกชนอย่างเป็นทางการได้ เพราะถ้าทางมหาวิทยาลัยทราบจะโดนไล่ออกทันที แต่สามารถช่วยเหลืองานอย่างไม่เป็นทางการได้ เช่น การแปลหนังสือต่างๆ จากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทยของทางมหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่ให้กับคนไทยที่อยู่ที่นั่น และเมื่อคนไทยไปทำฮัจญ์ หรืออุมเราะฮ์ จะได้รับแจกหนังสือศาสนาภาษาไทย  ที่เป็นผลงานแปลของนักศึกษาไทยที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

Islam more : การใช้ชีวิตในต่างแดน ปัญหา และอุปสรรค ?

Faisal :     จะเป็นเรื่องสภาพอากาศ ที่นั่นหนาวจัด และร้อนจัด ที่เคยสัมผัสหนาวที่สุดประมาณ -5 °C และร้อนสุด 45-50 °C  มีปัญหาเรื่องฝุ่น เพราะบางครั้งจะมีพายุทะเลทราย  ปัญหาเรื่องอาหารการกิน ไม่ใช่ไม่มีอะไรจะกินนะครับ แต่จะมีอาหารอาหรับให้กินตลอด ถ้าอยากทานอาหารไทยต้องไปร้านอาหารไทยและซื้อกินเอง ซึ่งราคาค่อนข้างแพงมาก ส่วนด้านภาษาปัญหาจะน้อยลงเพราะต้องมีการติวเข้มก่อนที่จะเข้าเรียนอย่างที่บอกไปนะครับ แต่จะมีบ้างเพราะภาษาหนังสือ กับภาษาพูดจะใช้แตกต่างกัน จึงต้องเรียนรู้เพิ่มเติม แต่นักศึกษาที่ซาอุดิอาระเบียจะได้ภาษาอาหรับซึ่งเป็นอาหรับแท้ หรือภาษากลางที่กลุ่มประเทศอาหรับจะฟังเข้าใจ และมีความสุภาพมากกว่าภาษาอาหรับที่อื่นซึ่งพูดไม่สุภาพและฟังไม่เข้าใจ

Islam more : ข้อคิดให้กับนักศึกษาไทย ?

Faisal : ให้เรียนในสิ่งที่คุณเรียนอยู่ให้รู้จริง เพราะอิสลามยังขาดคนทำงานอีกหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น วิศวะ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักบิน ทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่นักการเมือง

         ผู้ที่เรียนในวิชาสามัญสามารถตั้งใจทำงานเพื่อศาสนาอิสลามได้ ถ้าคุณเป็นหมอ คุณก็รักษาคนไข้ในรูปแบบอิสลามไม่เลี้ยงไข้ หมอผู้ชายก็รักษาผู้ชาย  หมอผู้หญิงก็รักษาผู้หญิง เราสามารถพึ่งพาและช่วยเหลือกันได้เพราะนักการศาสนาก็ต้องพึ่งพาผู้ที่ศึกษาสายสามัญ ผู้ที่จบสายสามัญก็ตองพึ่งพานักการศาสนา เรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันถ้าไม่รู้ต้องถามผู้ที่รู้ เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ควรแยกศาสนาออกจากสามัญ เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งวิชาการมากขนาดไหนเมื่อประสบปัญหาชีวิตก็ต้องใช้ศาสนาในการรักษาเยียวยา อาชีพทุกอย่างถ้าไม่มีพื้นฐานทางศาสนาก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ 

Islam more : การแยกชาย หญิง ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ?

Faisal : แยกกันอย่างชัดเจน อย่างเช่นร้านอาหารก็จะแยกส่วน ผู้หญิง ผู้ชาย และห้องสำหรับครอบครัว มหาวิทยาลัยก็จะมีของผู้หญิงล้วน  และมหาลัยชายล้วน

         จะมีตำรวจศาสนาที่คอยตรวจสอบการเดินทางของชายหญิงที่มาเป็นคู่ ว่าเป็นสามีภรรยา พี่น้อง หรือเป็นมะฮ์รอมกันหรือไม่ ถ้าลักลอบทำผิดก็จะถูกจับทันที

Islam more : สังคมที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง ?

Faisal :     สำหรับสังคมในมหาวิทยาลัยเป็นสังคมที่มีการศึกษา ส่วนมากเป็นบรรดาอุลามะและผู้รู้ จึงเป็นสังคมที่ดี ไม่มีปัญหา และยิ่งเป็นนักศึกษา ผู้ที่ศึกษาหาความรู้ ผู้ทำงานด้านศาสนาอาหรับเขาจะให้เกียรติมาก ส่วนชาวต่างประเทศอื่นที่มาทำงานในประเทศนี้จะพูดตรงกันข้าม ว่าอาหรับนิสัยไม่ดี  และอื่นๆ

          สำหรับปัญหาสังคมอื่นๆ จะมีคล้ายกันในแต่ละประเทศ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับกฏหมายที่ระบุโทษแตกต่างกัน ปัญหาสังคมอันหนึ่ง คือ การแต่งงาน จะแต่งยากมาก เพราะค่าสินสอดแพง บางครั้งผู้หญิงอายุ 30-40 ถึงจะแต่งก็มี ไม่เฉพาะแต่ค่าสินสอดที่จะต้องจ่ายประมาณ 100,000 ริยัล หรือประมาณ 900,000 บาท ยังต้องมีบ้าน มีรถยนต์  จึงมีองค์กรที่มาสนับสนุนในเรื่องการแต่งงาน เป็นองค์กรของ มุฟตี บิลบาซ ซึ่งจะช่วยให้วัยรุ่นได้แต่งงานกัน มีการอบรมก่อนแต่งงาน ให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของสามี และภรรยา ให้ความสำคัญในการใช้ชีวิตคู่และให้เกียรติผู้หญิง  และให้ค่าสินสอดเพื่อไปใช้ในการสู่ขอ โดยไม่มีการใช้คืน ให้ฟรีเลยครับ แต่ต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะให้ครับ

          ผู้หญิ่งที่นั่นจะเชื่อฟังพ่อมาก ถ้าพ่อบอกอะไรก็จะทำตาม ถ้าไม่ให้แต่งก็ไม่แต่ง หลังจากแต่งงานเธอจะเชื่อฟังสามีครับ  แต่แต่งยาก หย่าง่ายครับ

Islam more : การก้าวตามเทคโนโลยี ?

Faisal :      ที่นั่นทันสมัยตลอด ก้าวทันเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆตลอด เช่นคอมพิวเตอร์โน๊ตบุค โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ อื่นๆ

Islam more : การทำงานล่าม ในหมู่ผู้ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ ?

Faisal :      เพราะถึงแม้จะจบศาสนาเราก็ต้องหาเลี้ยงครอบครัว นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนที่จบศาสนามาโดยตรงและอยากทำงานเพื่อเผยแพร่ศาสนา ไม่สามารถทำได้อย่างต็มที่ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ควรเป็นอาชีพที่สุจริตและไม่ผิดหลักการทางศาสนา เราสามารถทำงานได้ และสามารถนำหลักการศาสนาที่เรียนมาใช้ควบคู่กับการทำงานได้ตลอดเวลา

          ถึงแม้จะทำอาชีพ ล่าม เราก็ต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นมุสลิมอย่างเต็มที่ แปลภาษาอาหรับให้หมอได้เข้าใจอาการของผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที ไม่ควรเอาใจโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเยอะ หรือเห็นแก่ค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ เพราะลูกค้าที่มาจากอาหรับ เขาจะเป็นกระบอกเสียงให้กับมุสลิมเมืองไทย และให้กับเราที่สามารถทำงานให้เขาพอใจ เมื่อมาครั้งต่อไป เขาจะนึกถึงเราก่อนเสมอ 

Islam more : ความไว้วางใจของคนอาหรับ ?

Faisal :      คนอาหรับ ถ้าเขาไว้วางใจใคร เขาจะให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา แต่กว่าจะไว้วางใจได้ต้องโดนทดสอบกันตลอดครับ เขาไม่ไว้วางใจใครง่ายๆครับ

Islam more : การทำงานดุนยา กับการทำงานศาสนา สามารถไปด้วยกันได้หรือไม่ ?

Faisal :      ควรจะควบคู่กันไป ไม่ควรแยกออกจากกัน ต้องเป็นเสมือนรางรถไฟ กับรถไฟ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่อย่างนั้นคงเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางแน่ๆครับ

         อย่างเช่นศอฮาบะฮ์ที่เป็นนักธุรกิจ ได้เป็นตัวอย่างให้กับคนทำงานศาสนาที่สามารถทำธุรกิจควบคู่กับการทำงานศาสนาได้ โดยการตั้งเจตนาให้ดีเพื่ออัลลอฮ์ ก็จะได้รับผลบุญอย่างมากมาย และมีความจำเริญในธุรกิจที่ทำด้วย

Islam more : ฝากบอกถึงเพื่อนๆ ที่กำลังศึกษาศาสนาสาขาต่างๆ ในต่างประเทศ ?

Faisal : ให้ตั้งใจเรียนให้ลึกซึ้งเข้าถึงและเข้าใจในสิ่งที่เรียน เพื่อ

- ตนเองและครอบครัว โดยการนำมาปฏิบัติใช้ในครอบครัว ทุกคำพูดที่สอนคนอื่นเราจะต้องปฏิบัติด้วย ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทุกอย่างในเรื่องศาสนาเท่าที่จะทำได้ ใช้ฮิกมะฮ์ในการเผยแพร่ ในการนำเสนอให้เข้าถึงทางโลก และต้องใช้ความนิ่มนวลในการเผยแพร่ให้มากที่สุด

- ด้านสังคม ต้องดะวะฮ์ไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นจะต้องมีเวทีแล้วถึงจะทำ หรือจะต้องมีตำแหน่งแล้วถึงจะดะวะฮ์ได้ เพราะการดะวะฮ์จะทำให้มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

- รำลึกถึงบ้านเกิดตนเองให้มากที่สุด เพราะสนามจริงของการดะวะฮ์อยู่ที่บ้านเรา ชุมชนของเรา และท่านนะบีมุฮัมมัด  ท่านรักเมืองมักกะฮ์มากที่สุด ถึงแม้ท่านจะอพยพ(ฮิจเราะฮ์)ไปเมืองมะดีนะฮ์ ท่านก็ต้องกับมาดะวะฮ์ที่มักกะฮ์ให้สำเร็จให้ได้ เพราะฉะนั้นสนามแห่งการดะวะฮ์ของทุกคนคือ บ้านเกิด ชุมชน เมืองหรือจังหวัด และประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่          

Islam more : มุมมองผู้ที่ทำนดะวะฮ์ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้จบทางด้านศาสนา ?

Faisal :      แต่ละกลุ่มจะมีวิธีการดะวะฮ์ไม่เหมือนกัน แต่ขอให้รู้จริงในด้านศาสนาก่อนที่จะเผยแพร่ เพราะในการพูดเรื่องศาสนาต้องระลึกเสมอว่า เรากำลังนำคำตรัสของพระองค์อัลลอฮ์ มาพูด เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายของแต่ละอายะฮ์ ก่อนที่จะยกมาเพื่อเปรียบเทียบหรือแนะนำคนอื่น

         และการปฏิบัติตนในแต่ละครั้งต้องศึกษาให้ดีว่าเป็นแบบฉบับของท่านนะบีมุฮัมมัด  จริงหรือไม่ ? เพราะตำแหน่งของนักการเผยแพร่นี้สูงส่ง ต้องมีข้อมูลในการพูดและการทำงาน ต้องมีการวางแผนและศึกษาให้แน่นอน ต้องใช้ฮิกมะฮ์ และความเป็นกลางให้มากที่สุด มีความนิ่มนวล ความสุภาพ ในการเผยแผ่ศาสนา อย่าคิดว่าตนเองทำงานศาสนาแล้วจะดีกว่าคนอื่น

         อย่ามีการโต้แย้งเพื่อที่จะเอาชนะอีกฝ่ายโดยไม่ดูหลักฐานที่หนักแน่นเมื่อเขาได้นำมาเสนอ หรือพยายาม ที่จะหาหลักฐานเพื่อจะเอาชนะเพียงอย่างเดียว ถ้าฝ่ายที่มีหลักฐานหนักแน่นได้นำมาเสนอต้องยอมรับความจริงและปฏิบัติตาม ดังเช่น อิหม่ามมัซฮับทั้ง 4 ได้กล่าวว่า "ถ้าใครเจอหลักฐานที่หนักแน่นกว่าก็จงตาม และทิ้งสิ่งที่ไม่หนักแน่นเสีย" 

สุภาษิตอาหรับได้กล่าวว่า "อย่าทำให้ดินเหนียวมันเปียกมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้มันแห้ง"

ที่สำคัญต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของท่านนะบีมุฮัมมัด  และบรรดาศอฮาบะฮ์ จะได้รู้ถึงอุปสรรคและการฟ่าฟันปัญหาต่างๆ เพื่อที่เราจะได้มีแรงในงานดะวะฮ์ และเพื่อเดินหน้าต่อไป ประวัติศาสตร์มีไว้เป็นทางนำ และตัวอย่างให้เราได้เรียนรู้ ในอัลกุรอานมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ให้ได้ศึกษาว่า ชนรุ่นก่อนๆ มีความอดทนมากเท่าไหร่ ดังเช่น"เทียนไข" ที่เผาไหม้ตนเองเพื่อให้มีแสงสว่างแก่ผู้อื่น

Islam more : ข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากทำงานด้านศาสนา ?

Faisal :     ต้องพิจารณาว่าเราถนัดด้านไหนในการดะวะฮ์ เช่น ด้านการพูด ด้านการทำงาน  ด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องมีผู้สนับสนุนในด้านศาสนาอยู่ตลอดวลา เพื่อให้คำปรึกษาในการทำงานเพราะงานศาสนาเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ไม่ใช่ใครๆก็ออกมาดะวะฮ์ได้ทั้งหมด

          สำหรับ"ผู้หญิง" คุณคือนางแบบของอิสลาม คุณกำลังเดินโชว์อยู่บนเวที การแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม การปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างของอิสลาม เมื่อเดินไปที่ไหนคุณก็ คือ นางแบบของอิสลาม คนที่เข้ารับศาสนาอิสลามส่วนมาก เห็นจากตัวอย่างที่ดี ซึ่งเป็นการเผยแพร่ที่ดีที่สุด นั่นก็คือการดะวะฮ์แล้ว การพูดคุย การให้สลาม การยิ้ม การเยี่ยมเยียน นั่นก็คืองานดะวะฮ์แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมีชื่อขึ้นที่กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ถึงจะเรียกว่าฉันทำงานดะวะฮ์ และควรให้ความสำคัญกับเยาวชนให้มาก "เพราะเด็กจะเลียนแบบผู้ใหญ่"

Islam more : ความสำคัญต่อการศึกษาความหมายของอัลกุรอาน ?

Faisal :     ถ้าคนที่เข้าใจภาษาอาหรับอย่างชัดเจน จะทำให้เขาเข้าใจในความหมายของอัลกุรอาน และทำให้ผู้ที่รู้มีความศรัทธามากขึ้น ดังเช่นถ้าคุณไม่รู้กฏหมาย คุณจะปฏิบัติตามกฏหมายได้อย่างไร คุณก็จะทำผิดกฏหมายอยู่ตลอดเวลา เพราะคุณไม่มีกฏเกณฑ์ในการใช้ชีวิต

          จำเป็นต่อมุสลิมทุกคนต้องศึกษาถึงความหมายของ อัลกุรอาน และการอรรถาธิบายอัลกุรอานต้องเรียนรู้จากอุลามะฮ์ หรือบรรดาอาจารย์ที่จบศาสนาที่มีความรู้เป็นที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในสังคมมุสลิมถึงความรู้ที่ท่านมี  เราจะได้ทราบว่าแต่ละอายะฮ์ที่ลงมานั้น มาได้อย่างไร เพราะอะไร และทำไม จะทำให้เรารู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การลงมาของอัลกุรอานในแง่มุมต่างๆ  และการลงมาของอัลกุรอานแต่ละอายะฮ์เพื่อที่จะให้ท่านนะบี  นั้น มันมีความสำคัญมาก

          และถ้าเรารู้และเข้าใจในความหมายของอัลกุรอาน ก็จะทำให้เรามีการดำเนินชีวิตที่มีความสุข และมีแนวทางที่ถูกต้อง

Islam more : 

          ไม่ว่าเราจะเรียนหรือศึกษาอยู่ในประเทศไหนก็แล้วแต่ จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเราตาย เพราะความรู้นั้นเรียนเท่าไหร่ก็ไม่หมด ถึงแม้จะเป็นระดับอาจารย์หรือจบศาสนามาก็ใช่ว่าจะมีความรู้มากกว่าคนที่ศึกษาศาสนาตลอดเวลา ถ้าเรารู้จริงในสิ่งที่เราเรียนและนำความรู้มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมมุสลิม และเพื่อเผยแพร่ศาสนาอิสลาม แน่นอนพระองค์อัลลอฮ์ จะนำพาสิ่งที่เป็นบารอกัต หรือความจำเริญให้กับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เขาได้รับความจำเริญ เพราะพระองค์ทรงรู้ในจิตใจที่บุคคลผู้นั้นกระทำอยู่ ว่าเจตนาเพื่ออะไรกันแน่

          เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าทุกวันนี้สังคมมุสลิมมีแต่ความตกต่ำ คงไม่ต้องไปโทษใคร นอกจากย้อนมองดูตัวเอง ว่าเรากำลังทำเพื่ออะไร ? กำลังทำเพื่อใคร ? และกำลังหวังอะไร ? จากมนุษย์ไร้ค่า มนุษย์ที่ต่ำต้อยที่ไม่มีอะไรเลย หรือจากพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงยิ่งใหญ่ มีในทุกสิ่งทุกอย่าง  อย่างที่ไม่สามารถคำนวณได้  การศึกษาศาสนาอิสลามมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขากำลังศึกษาอยู่ในสาขาใดก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่บอกเสมอว่าตนเองนั้นเป็น"มุสลิม"

Admin Islammore