รู้ทัน ‘ไข้ออกผื่นในเด็ก’ อีกโรคที่ต้องระวังในหน้าฝน!
  จำนวนคนเข้าชม  54463


รู้ทัน ‘ไข้ออกผื่นในเด็ก’ อีกโรคที่ต้องระวังในหน้าฝน!
 

       ช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวนี้ คุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกเล็ก ต่างกังวลถึงสุขภาพลูกกันไม่ใช่น้อย เพราะเป็นช่วงที่ทำให้ลูกเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล รวมไปถึงโรคหัด หรือไข้ออก เพราะเป็นอีกโรคหนึ่งในหน้าฝนพรำ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้เท่าทันและระวังเอาไว้ เพราะไม่เช่นนั้น ถ้าเกิดลูกมีอาการแทรกซ้อน อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้
      
       กับไข้ชนิดนี้ “พญ.ขวัญเมือง ณ ตะกั่วทุ่ง” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทั่วไปในเด็ก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ให้ความรู้ว่า เด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ตามอากาศ โดยเฉพาะกลุ่ม Herpes เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด หัดกุหลาบ หัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส และโรคมือเท้าปาก
      
       โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่ภูมิต้านทานยังไม่มากพอเท่าผู้ใหญ่ โอกาสที่จะได้รับเชื้อโรค จึงเกิดได้สูง ส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านทางน้ำลาย และลมหายใจ เช่น ของเล่น ของใช้ที่ลูกหยิบจับ หรือสัมผัสเข้าปากได้ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือ อาการภูมิแพ้ เช่น แพ้ยา แพ้ฝุ่นละออง ซึ่งอาจทำให้ผิวของลูกมีอาการแพ้ จนเกิดผื่นขึ้นได้เช่นกัน
      
       สำหรับโรคนี้จะพบได้ตลอดปี และพบบ่อยในกลุ่มอายุ 1-6 ปี ถ้าไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดนจะมีอาการเริ่มคือ มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้นและจะสูงเต็มที่ เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะผื่นที่ขึ้นจะนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ
      
       โดยผื่นดังกล่าว จะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม จากนั้นจะแผ่กระจายไปตามลำตัว เช่น แขน และขา ประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ส่วนผื่นมีสีแดงจะเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง คงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยด้วย ทั้งนี้ควรให้เด็กหยุดเรียน หรือแยกเด็กที่ป่วยออกจากเด็กอื่น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 อาทิตย์
      
       “ไข้ออกผื่น ทำให้ลูกกินอาหารได้น้อยลง งอแง มีไข้ และเมื่อไข้ลดลง จะมีผื่นปรากฏให้เห็น และอาจมีอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย ระยะต่อมาจะมีผื่นเป็นจุดเล็กๆ สีชมพูออกแดงเหมือนเม็ดทรายกระจายอยู่ทั่วตัว (คนโบราณจึงเรียกว่าหัดกุหลาบ) นอกจากนี้หากใช้มือคลำที่ใบหู มักพบว่า มีต่อมน้ำเหลืองโต หลังใบหู” คุณหมอเผยถึงอาการของโรคไข้ออกผื่น
 
 
       ด้านวิธีการป้องกัน คุณหมอบอกว่า กลุ่มอาการไข้ออกผื่นบางชนิด เช่น โรคหัด หัดเยอรมัน จะมีวัคซีนป้องกัน คุณพ่อคุณแม่ สามารถพาลูกน้อยไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันได้ แต่บางชนิดไม่มีวัคซีนป้องกัน ฉะนั้น จึงควรดูแล และป้องกันอย่างเหมาะสม ด้วยวิธีต่อไปนี้
      
       - เมื่อลูกมีไข้ ควรเช็ดตัว
      
       - อาจให้กินยาลดไข้ระหว่างที่มีไข้
      
       - ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ หรืออาหารอ่อน เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
      
       - หลีกเลี่ยงการพาลูกไปในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
      
       - ให้ลูกกินอาหารครบ 5 หมู่ ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก และผลไม้ เพื่อสุขภาพและสร้างภูมิต้านทานให้ลูก
      
       อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยในเด็กเล็กๆ คุณหมอบอกว่า การดูแลเรื่องไข้ของลูก ต้องอย่าให้ลูกขาดน้ำ เพราะถ้าลูกขาดน้ำ พลังงาน อาการจะหายช้า และเมื่อเพลียมากอาจเกิดอาการชักได้
      
       อย่างไรก็ดี กลุ่มเด็กที่ต้องระวังต่อการเสี่ยงเป็นไข้ออกผื่นมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ (การที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือปริมาณไม่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งมีทั้งภาวะโภชนาการเกิน และโภชนาการต่ำ) อาจจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ ซึ่งจะทำให้เด็กขาดอาหารรุนแรงขึ้น นอกจากนี้อาจพบสมองอักเสบ โดยพบได้ประมาณ 1 ใน 1 พันราย หากไม่เสียชีวิต อาจทำให้พิการได้
      
       ทั้งนี้โรคไข้ออกผื่น ไม่มียารักษาเฉพาะทาง วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้วัคซีนป้องกัน ที่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้งฟรี ซึ่งครั้งแรก เมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน โดยให้ในรูปแบบของวัคซีนหัดชนิดเดี่ยว ส่วนครั้งที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียน ป.1 จะให้ในรูปแบบวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
 


Life & Family / Manager online