เปิดคัมภีร์ "แม่และเด็ก"
  จำนวนคนเข้าชม  13329


เปิดคัมภีร์ "แม่และเด็ก"
 
 

           ทางโรงพยาบาลนครธนได้อธิบายไว้ว่า เมื่อคุณแม่ หรือคุณพ่อพบว่า ลูกมีอาการไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัวนั้น ควรสังเกตอาการของลูกและหากไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นการด่วน
 
       หากลูกท้องเสีย…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       โดยปกติเด็กทารกอายุ 1 สัปดาห์แรก อาจถ่ายอุจจาระได้วันละหลายครั้ง สามารถนับได้ถึง 10 ครั้งต่อวัน ให้สังเกตว่า หากอุจจาระปกติไม่มีมูกเลือด หรือเป็นน้ำ หรือลูกยังดูดนมได้ดีให้ถือว่ายังอยู่ในช่วงสังเกตอาการ
      
       ในกรณีที่ลูกดื่มนมแม่อยู่สามารถให้นมแม่ต่อไปได้ และให้ดื่มน้ำเพิ่มระหว่างมื้อนม แล้วรอดูอาการ 1 วัน ถ้าอาการท้องเสียไม่ดีขึ้น อุจจาระเป็นน้ำปนมูก มีไข้ กระสับกระส่าย ตาโหล กระหม่อมมีรอยบุ๋ม หายใจเร็ว ต้องรีบพบแพทย์ทันที
      
       หากลูกสะอึก…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       พ่อแม่ควรจับให้ลูกนั่งไล่ลมหรืออุ้มลูกพาดบ่าและพาเดิน เพื่อให้นมออกจากกระเพาะอาหาร โดยเร็ว ทั้งนี้การให้ดื่มน้ำหรือดูดนมตาม อาจช่วยแก้อาการได้ระดับหนึ่ง
      
       หากลูกอาเจียนหรือสำรอก…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       หลังให้นมควรไล่ลมให้ลูกทุกครั้ง โดยให้ลูกนอน ศีรษะสูงประมาณ 30 องศานาน 30 นาที
      
       การอาเจียนบางครั้งอาจสำลักออกจมูกด้วย ให้อุ้มลูกนอนตะแคงศีรษะต่ำ และใช้ลูกสูบยางดูดคราบน้ำนมในปากและจมูกจนหมด หรือหยดน้ำเกลือ ( NSS ) 5 – 10 หยด ในรูจมูก เพื่อล้างเศษนมออกจากโพรงจมูก
      
       หากอาเจียนติดต่อกันหลายครั้งใน 1 วัน หรืออาเจียนมีน้ำสีเขียวเหลือง การอาเจียนพุ่งแรงหรือมีการสำลักบ่อยถือว่าผิดปกติควรรีบพบแพทย์
      
       หากลูกสะดือเปียกหรือมีเลือดออก…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       สะดือทารกจะหลุดเมื่ออายุ 1 – 2 สัปดาห์ ช่วงก่อนหรือหลังจากหลุดใหม่ๆ อาจมีเลือด หรือคราบน้ำเหลืองซึมออกมา
      
       ดังนั้นควรดูแลโดยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% วันละ 2 ครั้งตามปกติหรือเช็ดบ่อยขึ้นตามความเหมาะสม และเมื่อเข้าสู่อาการปกติ ไม่มีบาดแผลให้เช็ดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ 70% กรณีสะดือบวมแดง อักเสบ เปียกแฉะ และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
      
       หากลูกท้องผูก…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       ปกติเด็กอาจไม่ต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน อาการท้องผูกไม่ได้ดูจากความถี่ของการถ่ายแต่ดูจากความแข็งของอุจจาระ
      
       พ่อแม่อาจให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำลูกพรุนเจือจางครั้งละ 1 – 2 ช้อนชาทุกวัน จนดูว่าถ่ายอุจจาระเป็นปกติจึงงดดื่ม ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น เช่นขณะถ่ายอุจจาระต้องเบ่งมาก อุจจาระแข็งมากมีเลือดปนควรรีบปรึกษาแพทย์
      
       หากลูกตาแฉะ…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       ถ้าไม่มีการติดเชื้อให้ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำอุ่นต้มสุกเช็ดตามปกติ แต่ถ้ามีขี้ตาเหลืองปนเขียวจำนวนมาก หรือบริเวณตาขาวอักเสบแดงควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

 
       หากลูกมีไข้ ตัวร้อน…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       พ่อแม่ควรเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น โดยเน้นเช็ดตามซอกคอ ข้อพับต่างๆ ให้บ่อยครั้งเพื่อระบายความร้อนจากร่างกายให้มากที่สุดและเช็ดจนกระทั่งตัวหายร้อนและควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าบางที่ระบายความร้อนได้ดี ดูแลให้ลูกได้ดื่มน้ำและนมมากเพียงพอ ถ้าไข้ไม่ลด หรือมีอาการซึมไม่ยอมดูดนม ควรรีบพาไปพบแพทย์
      
       หากลูกมีไข้ ลิ้นเป็นฝ้าขาว…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       พ่อแม่สามารถป้องกันโดยหลังดื่มนมผสมแล้ว ต้องให้ดื่มน้ำตามทุกครั้ง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วควรแก้ไขโดยใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าอ้อมสะอาดชุบน้ำอุ่นต้มสุกเช็ดทำความสะอาดลิ้น ถ้าเช็ดแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากเชื้อราบางตัวที่ทำให้ลูกเจ็บคอ และมีอาการเบื่อนมได้ควรไปปรึกษาแพทย์
      
       หากลูกตัวเหลือง…พ่อแม่ควรทำดังนี้
      
       พ่อแม่ควรดูแลลูกให้ดื่มนมมากเพียงพอ และพาลูกรับแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้าใช้เวลาประมาณ 15 – 30 นาทีต่อวัน โดยถอดเสื้อผ้า และผ้าอ้อมออกแล้วให้นอนบนเบาะสลับนอนหงายและคว่ำ หรืออุ้มลูกไว้เพื่อให้ลูกได้รับแสงแดดส่องทั่วตัว ซึ่งถ้าอาการตัวเหลืองเพิ่มมากขึ้น หรือมีอาการซึมไม่ดูดนมร่วมด้วยต้องรีบปรึกษาแพทย์

      
      

ข้อคิดสำหรับมารดาให้นมบุตร
      
      

ถ้าแม่เต้านมคัดตึง…ควรทำดังนี้      

       1.ไม่เว้นระยะการให้นมลูกนานเกินไป ควรให้ดูดนมทุก 3 ชั่วโมง
      
       2.ถ้าไม่ให้ลูกดูดนมควรบีบน้ำนมออกทุก 3 – 4 ชั่วโมง
      
       3.การประคบเต้านมด้วยน้ำอุ่นและใช้มือนวดไปรอบๆ เต้านมจากฐานเต้านมมายังหัวนม จะช่วยให้นมไหลได้ดียิ่งขึ้น
      
       4.ถ้าเต้านมคัดตึงมาก อาจบีบน้ำนมออกเล็กน้อยก่อนให้นม เพื่อให้ลูกอมหัวนมได้สะดวกขึ้น
      
       5.ถ้าปวดเต้านมมาก อาจประคบเต้านมในระหว่างมื้อนมด้วยน้ำเย็นนานประมาณ 15 นาที
      
       ถ้าแม่หัวนมแตกและเป็นแผล…ควรทำดังนี้
      
       1.ป้องกันโดยให้ลูกอมหัวนมลึกถึงลานนม และไม่ดึงหัวนมออกจากปากลูกขณะยังดูดอยู่
      
       2.ไม่ควรฟอกสบู่ที่หัวนม หรือใช้แอลกอฮอล์เช็ดหัวนม
      
       3.ถ้ามีสะเก็ดแห้งที่หัวนมห้ามแกะออก ให้ใช้สำลีหรือผ้านุ่มๆ ชุบน้ำอุ่นเช็ดเบาๆ
      
       4.ใช้น้ำนมตัวเองทาหัวนมที่แตกหลังให้นมลูก เมื่อหัวนมแห้งแล้วจึงค่อยสวมเสื้อชั้นใน ถ้าเสื้อชั้นในที่สวมเปียกชื้นควรเปลี่ยนใหม่
      
       5.ให้ลูกเริ่มดูดข้างที่ไม่เจ็บหรือเจ็บน้อยก่อน
      
       6.ถ้าหัวนมที่แตกเป็นแผลมีเลือดออกให้งดดูดนมข้างนั้น 1 – 2 วัน
      
       7.ให้บีบน้ำนมข้างที่หัวนมแตกออกแล้วป้อนด้วยขวดแทนก่อน เมื่ออาการดีขึ้น จึงให้ดูดจากเต้านมได้ใหม่อีกครั้ง
      
       น้ำนมของแม่...ควรเก็บอย่างไร
      
       1.ให้บีบนมแม่ใส่ขวดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาไม่เกิน 24 ชั่วโมง และควรเก็บในช่องแข็งไม่เกิน 1 เดือน
      
       2.นมผสมที่ชงแล้วยังไม่ได้ดื่ม เก็บไว้ในตู้เย็นได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
      
       3.น้ำนมที่แช่ตู้เย็น ควรวางให้หายเย็น หรืออุ่นโดยนำขวดนมแช่ในน้ำร้อนก่อนให้ลูกดื่ม ซึ่งน้ำนมที่อุ่นแล้วดื่มไม่หมดไม่ควรเก็บไว้แล้วนำมาอุ่นให้ลูกดื่มใหม่
      
       4.นมผงที่เปิดกระป๋องแล้ว เก็บในที่แห้งได้ไม่เกิน 1 เดือน
   
  
       ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลนครธน
 

 
Life & Family / Manager online