ข้อชี้แจงจดหมายลูกโซ่จากผู้ดูแลมัสยิดอันนะบาวีย์
  จำนวนคนเข้าชม  11241

ข้อชี้แจงเกี่ยวกับจดหมายลูกโซ่จากผู้ดูแลมัสยิดอันนะบาวีย์

 

คำถาม

         ฉันอยากได้คำชี้แจงเกี่ยวกับข้อความที่มีการส่งต่อผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

 

หมายเหตุ ด้านล่างนี้เป็นเนื้อหาจดหมายลูกโซ่ที่ระบาดในภาษาไทย ซึ่งมีเนื้อหาเดียวกันกับที่มีการตั้งคำถามในเว็บอิสลามทูเดย์ แต่สำนวนอาจจะแตกต่างบ้างเล็กน้อย - บรรณาธิการ

จดหมายจากด่วนประเทศอาหรับซาอุดิอาราเบีย

เรื่อง      คำสั่งเสียแก่อุมมัตอิสลามทั่วโลก

อัสลามุอาลัยกุม

         นี้คือคำสั่งเสียจากคนเฝ้าสุสานของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) ท่านแซะฮ์อะหมัดแห่งซาอุดิอารเบีย(จดหมายนี้เดิมเป็นภาษาต่างประเทศและได้แปลเป็นภาษาไทย) ในคืนหนึ่งในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังอ่านอัลกรุอ่านที่มากอม (สุสานของท่านนบีมูฮัมหมัด ซ.ล) หลังจากอ่านเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็เผลอหลับไป ในขณะที่ข้าพเจ้าหลับ ข้าพเจ้าได้ฝันว่าท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล)ได้มาหาข้าพเจ้าแล้วกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า ในแปดหมื่นคนที่ได้เสียชีวิตไปในสมัยนี้ไม่มีเลยคนที่เสียชีวิตที่มี   อีหม่าน

1. ภรรยาไม่ยอมฟังคำพูดสามี
2. คนรวยไม่สนใจต่อคนจน
3. ผู้คนไม่ยอมจ่ายซะกาตและไม่ยอมทำความดี

         ด้วยเหตุดังกล่าว “โอ้แซะฮ์อะหมัด” เจ้าสมควรเตือนสติต่อคนอิสลามนี้เพื่อที่จะกระทำความดี เพราะว่าวันสิ้นโลก (กียามัต ) จะมาถึงแล้ว ซึ่งในวันนั้นเจ้าจะเห็นดวงดาวท้องฟ้าอย่างชัดเจนหลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะลงมาอยู่ใกล้ศีรษะ

คำสั่งเสียของข้าพเจ้า

1. จงซอลาวัตแด่ท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล)
2. จงขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ โดยทันทีทันใดในขณะที่ประตู “ เตาบัต” ยังเปิดอยู่
3. จงละหมาดเถิด ก่อนที่ท่านจะถูกละหมาด “มะยัต ” (ศพ)
4. จงจ่ายซะกาต อย่าทิ้งการจ่ายซะกาต
5. จงทำฟัรดูฮัจยี ยามเมื่อเจ้ามีความสามารถ
6. จงอย่าทรยศต่อพ่อแม่ทั้งสอง

          สิ่งที่ควรรู้ มีมุสลิมชาวบอมเบย์คนหนึ่ง หลังจากได้รับจดหมายได้ทำเพิ่มขึ้นอีก 20 ฉบับและได้แจกจ่ายให้กับคนอื่น หลังจากนั้นเขาได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ โดยได้รับผลกำไรอันใหญ่หลวงในการค้าขายของเขา

          มีบ่าวของอัลลอฮ์อีกคนได้รับจดหมายนี้แล้วทำเป็นไม่สนใจและคิดว่าคำสั่งเสียนี้หลอกลวงปรากฏว่าไม่นานลูกเขาถึงแก่ความตาย

          ท่านเสรีค่อซาหลี ยาไวย์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีใหญ่แห่งเปรักโดยทางอ้อมท่านโดนไล่ออกจากตำแหน่งเพราะเมื่อท่านได้รับคำสั่งเสียฉบับนี้ท่านได้ลืมทำเพิ่มเพื่อแจกจ่ายแก่คนอื่นแต่ท่านไม่รู้ตัวถึงความผิดพลาดนี้ต่อมาท่านได้ทำจดหมายฉบับนี้เพิ่มขึ้นใหม่และได้ส่งต่อไปยังคนอื่น หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีปี ค.ศ. 1997 หรือ พ.ศ 2540

         ที่ตรังกานูก็เช่นกันมีบ่าวของอัลลอฮ์คนหนึ่งเขาได้รับจดหมายฉบับนี้จากคนที่เขาไม่รู้จักแล้วเขาก็ไม่สนใจต่อมัน เขากล่าวว่าจดหมายโกหกทั้งนั้น มีเจตนาให้คนอ่านกลัว แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วันเขาก็ได้รับโรคที่แปลกประหลาดแสนสาหัส หลังจากได้รับรักษาที่โรงพยาบาล 3 สัปดาห์ โรคของเขาก็ยากที่จะเยียวยา โดยสุดท้ายก็นึกถึงจดหมายคำสั่งเสียที่เขายังเก็บไว้ แล้วเขาสั่งให้พิมพ์เพิ่มขึ้น 20 ฉบับ และได้แจกจ่ายให้กับคนอื่นภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ แล้วโรคที่เป็นอยู่ก็เริ่มหายเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน   ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่ได้รับจดหมายนี้แล้วไม่เชื่อต่อคำสั่งเสียและไม่ส่งต่อให้กับคนอื่นหรือไม่บอกแก่คนอื่นซึ้งพวกเขาเหล่านั้นได้รับภัยพิบัติหลังจากเหตุการณ์แห่งน่ายินดีนี้ทำให้ท่านมั่นใจ อย่าลืมทำจดหมายนี้เพิ่มขึ้น 20 ฉบับ และส่งให้กับคนอื่นในเวลา 96 ช.ม หลังจากท่านได้รับแล้ว อินชาอัลลอฮ์ ท่านจะได้รับอะไรบางอย่างจากอัลลอฮ์ผู้ทรงมีความสามารถยิ่งด้วยความศรัทธาแน่นอนจะชี้นำทางชีวิตของท่านด้วยเมตตาแห่งความสุขในชีวิตอินชาอัลลอฮ์

          คำเตือน หลังจากได้อ่านคำสั่งเสียนี้แล้วสมควรเขียนขึ้นหรือพิมพ์ขึ้นแล้วส่งให้กับคนอื่นจำนวน 20 ฉบับ หากท่านได้ปฏิบัติท่านจะได้รับความดีบางอย่าง หรือธุระของท่านได้รับความสำเร็จ โดยอนุญาตของอัลลอฮ์ ท่านแซะฮ์อะห์มัดได้กล่าวอีกว่า “หากอันไหนที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้ไม่เป็นความจริง ขอให้ข้าพเจ้าตายในกุฟูร และไม่ได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือจากท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) (นาอุซุบิลละฮ์) ดังนั้นท่านสมควรเขียนหรือพิมพ์และส่งให้กับคนอื่น อินชาอัลลอฮ์ ภายใน 2 สัปดาห์ท่านจะได้รับความสุข และจงจำไว้ว่า จงทำด้วยใจบริสุทธิ์ และอย่าทำเล่น ๆ หรือปล่อยปละละเลยไม่สนใจคำสั่งเสียนี้

ขอรับรองว่าเป็นความจริงทุกประการ

วัสลาม

ขอให้ท่านช่วยให้คำตอบเกี่ยวกับจดหมายนี้ด้วย
 

คำตอบ

          จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนในรูปแบบการสั่งเสียและเผยแพร่แก่ผู้คนทั่วไป ซึ่งปรากฏขึ้นเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว เนื้อหาในจดหมายอาจมีความแตกต่างไปบ้างเนื่องจากเป็นจดหมายลูกโซ่ถูกส่งต่อๆกัน ซึ่งผู้รับก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต้นตอของจดหมายฉบับนั้นมีมาจากไหน เข้าใจว่าจดหมายนี้อาจมาจากพวกศูฟีย์ ที่ยึดถือความฝันเป็นหลักฐานในการอ้างอิง โดยไม่คำนึงว่าความฝันนั้นอาจจะขัดแย้งกับตัวบทอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺหรือไม่ ในบางครั้งพวกเขายึดมั่นในความฝันมากกว่ายึดมั่นในตัวบทอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺด้วยซ้ำ

          ส่วนจุดยืนของอะฮฺลุซซุนนะฮฺเกี่ยวกับความฝันนั้น คือ หากความฝันนั้นไม่ใช่ความฝันของนบีหรือเราะซูล ต้องพิจารณาดูก่อนว่ามันสอดคล้องหรือขัดแย้งกับหลักศาสนาหรือไม่ หากพบว่ามันไม่มีข้อขัดแย้งได้ก็สามารถที่จะนำมาใช้ได้ แต่ถ้าหากความฝันนั้นไปขัดแย้งกับตัวบทอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺความฝันนั้นถือว่าเป็นโมฆะ จะนำมาอ้างเป็นหลักฐานมิได้ เนื่องจากในความฝันไม่มีใครรับรองได้ว่ามันถูกต้องเสมอไป ที่สำคัญความฝันอาจจะเป็นสิ่งตักเตือนจิตใจในกรณีที่มันสอดคล้องกับหลักศาสนา แต่หากมันขัดแย้งกับหลักศาสนาความฝันนั้นก็ใช้ไม่ได้

          จดหมายฉบับนี้เมื่อผู้รับเปิดอ่านแล้วบางคนอาจเกิดความหวาดกลัวหากไม่ปฏิบัติตามในสิ่งที่จดหมายได้สั่งให้ทำแล้วจะเกิดความหายนะต่อตนเองและครอบครัว

          จดหมายลักษณะเช่นนี้มิได้เพิ่งปรากฏมาใหม่แต่มันแพร่หลายเป็นเวลานานแล้ว บุคคลที่ระบุในจดหมายก็มิได้มีตัวตนที่แท้จริง ทุกอย่างเป็นการปรุงแต่งขึ้นมา ผู้ที่มีความศรัทธาที่มั่นคงจะไม่หลงเชื่อในเรื่องเหล่านี้ พวกเขาจะไม่ทำการเผยแพร่จดหมายลูกโซ่ที่ไร้ที่มาเช่นนี้ต่อ และพวกเขาก็มิได้หวั่นเกรงภยันตรายดังที่ระบุในจดหมาย เพราะมันมิได้เกิดขึ้นจริง เว้นแต่พระประสงค์ของอัลลอฮฺ ส่วนเรื่องภาคผลหรือผลตอบแทนสำหรับผู้ที่นำจดหมายนี้ไปเผยแพร่ต่อนั้นไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนที่ดีงามจริง ขนาดพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเองก็มิได้มีหลักฐานว่าหากนำไปพิมพ์เผยแพร่แจกจ่ายจะได้ผลบุญอย่างนั้นอย่างนี้

          ชัยคฺ อับดุลอาซิซ บิน อับดุลลอฮฺ บิน บาซ อดีตมุฟตีย์ แห่งซาอุดีอาระเบีย ได้กล่าวในหนังสือรวบคำฟัตวาของท่านว่า

     “ในจดหมายที่เป็นคำสั่งเสียนี้มีเรื่องโกหกมดเท็จอยู่ ถึงแม้ว่าผู้ที่นำมาเผยแพร่จะสาบานต่ออัลลอฮฺเป็นพันครั้งว่ามันเป็นความจริงก็ตาม หรือแม้ว่าเขาจะขอดุอาอ์ให้ประสบกับความหายนะ ถ้าหากเขาพูดโกหกก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ เรื่องที่กล่าวในจดหมายฉบับนั้นข้าพเจ้าขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่ามันไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ข้าพเจ้าขอให้อัลลอฮฺทรงเป็นพยาน มวลมลาอิกะฮฺ และบรรดามุสลิม ช่วยเป็นพยานด้วยว่า คำสั่งเสียนี้เป็นการโกหกกล่าวเท็จต่อท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขอให้พระองค์ทรงลงโทษผู้ที่กุเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา"


สิ่งบ่งชี้ว่าจดหมายฉบับนี้เป็นเรื่องโกหก

     1. ชัยคฺอะหมัด ที่ระบุในจดหมายว่าท่านเป็นผู้ถือกุญแจมัสยิดนบี เป็นบุคคลที่ไม่มีใครรู้จัก ดังนั้นจดหมายนี้ไม่ทราบว่ามีแหล่งที่มาจากแห่งใด

     2. เนื้อหาในจดหมายที่กล่าวถึงความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมในสังคมนั้น หนทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวที่ถูกต้องนั้น ประชาชาติมุสลิมต้องหันกลับไปยึดมั่นกับอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺอย่างมั่นคง คำสอนที่บรรจุในสองสิ่งนี้เป็นคำสอนที่สุดประเสริฐ ครอบคลุมทุกแง่มุม มีทั้งสัญญาที่ดีสำหรับผู้ศรัทธาและสัญญาไม่ดีสำหรับผู้เนรคุณ มีทั้งสิ่งที่ทำให้จิตใจหวั่นเกรง ฯลฯ ทั้งหมดนั้นเป็นการเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องนำความฝันที่อุปโลกน์มาตักเตือนอีก

     3. เนื้อหาในจดหมายนี้ที่กล่าวถึงสัญญาณวันกิยามะฮฺนั้นเป็นเรื่องพ้นญาณวิสัย (อิลมุ้ลฆ็อยบฺ) ไม่อนุญาตให้ผู้ใดกล่าวอ้างขึ้นมาโดยปราศจากหลักฐาน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

قُلْ لَا يَعْلَمُ مَنْ فِي السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ الْغَيْبَ إِلَّا اللَّهُ وَمَا يَشْعُرُونَ أَيَّانَ يُبْعَثُونَ (النمل :65)

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ไม่มีผู้ใดในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินจะรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย นอกจากอัลลอฮฺ

และพวกเขาจะไม่รู้ว่า เมื่อใดพวกเขาจะถูกให้ฟื้นคืนชีพ”

สูเราะฮฺ อันนัมลฺ อายะฮฺที่ 65

     ส่วนการประทานวะหฺยูก็ได้สิ้นสุดลงหลังจากท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสียชีวิต ดังนั้นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องสัญญาณวันกิยามะฮฺที่มีในอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺถือว่าเพียงพอและครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

     4. เนื้อหาในจดหมายนี้มีความแตกต่างกัน บางฉบับเขียนว่าเป็นการฝัน บางฉบับเขียนว่าเกิดขึ้นก่อนที่จะเข้านอนในขณะที่รู้สึกตัว บางฉบับเขียนว่าจากผู้ดูแลมัสยิดอันนะบาวีย์ บางที่ก็เขียนว่าผู้ดูแลสุสานของท่านนบี บางฉบับก็เขียนว่าจากผู้ถือกุญแจมัสยิดอัลหะรอม ตลอดจนมีความขัดแย้งในการกำหนดผลตอบแทนสำหรับผู้นำจดหมายไปเผยแพร่ต่อยังผู้อื่น สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ชัดถึงความมดเท็จในจดหมายฉบับนี้ 

 

วัลลอฮุอะอฺลัม (อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรอบรู้ดี)

ขอความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมหมัดของเรา

 

เขียนโดย ดร.สุลัยมาน บิน มุหัมหมัด อัดดุบัยคีย์ อาจารย์วิทยาลัยครูแห่งหาอิล

ถอดความโดย อันวา สะอุ (เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2008) / Islam House

ที่มา  http://www.islamtoday.net/questions/show_question_content.cfm?id=119017