ตักวาอยู่ที่ใจ
  จำนวนคนเข้าชม  6821

 

 

ตักวาอยู่ที่ใจ

โดย อ.มุนีร  มูหะหมัด

 

          มุสลิมมีความแตกต่างจากหมู่ชนอื่น คือ การมีตวามเชื่อมั่น ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ อย่างแน่นแฟ้น และไมตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระองค์ ด้วยความเชื่อมั่นในอัลลอฮ์ นี่เองที่มีผลติดตามมาคือ ทำให้ปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ใช้ และละเว้นสิ่งที่อัลลอฮ์ ทรงห้าม อันเป็นการหล่อหลอมสิ่งสำคัญให้เกิดขึ้นภายในหัวใจ นั่นคือ "ความยำเกรง" (ตักวา)

         นักวิชาการได้ให้คำจำกัดไว้หลายนัยด้วยกัน แต่สรุปความหมายในทางเดียวกัน คือ การเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ ซึ่งย้อนกลับไปหาหลักที่ว่า ปฏิบัติสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงใช้ และละเว้นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม  ท่านนะบีมุฮัมมัด  ได้กล่าวไว้ในฮะดิษบทหนึ่ง ความว่า

"ตักวาอยู่ที่นี่ ตักวาอยู่ที่นี่ ตักวาอยู่ที่นี่ พลางท่านชี้ไปที่หัวใจ"

 

           ตามความหมายนี้ แสดงถึงความตักวา อยู่ที่ใจ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ใดมีความตักวา และผูใดไม่มี ? คำตอบคือ การแสดงออกทางด้านพฤติกรรมของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ การแสดงออก บางคนมักอ้างว่า เขามีความตักวา(ยำเกรง)ต่ออัลลอฮ์ ขณะเดียวกันการกระทำได้สวนทางกลับคำพูด ที่ว่า ปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงใช้ ละเว้นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม

 

         สังคมมุสลิมที่ระส่ำระสาย ไม่สงบสุข ไม่ปรกติ สืบเนื่องจากการมีความยำเกรง(ตักวา)แบบฉาบฉวยไม่จริงจัง ไม่มีความมั่นคงอยู่ในจิตใจ เพราะแทนที่จะเอาหลักปฏิบัติตามที่อัลลอฮ์  ทรงใช้ ละเว้นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม มาบังคับใช้ให้เป็นรูปธรรม จริงจัง แต่ปัจจุบันเกือบไม่ปรากฏให้เห็น สิ่งที่ปฏิบัติโดยทั่วไปคือ การนำเอาผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางด้านอำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง อิทธิพล บารมี หรือผลประโยชน์ทางด้านวัตถุ เหมือนกับว่าผลประโยชน์ต้องมาก่อน ความยำเกรงเอาไว้ทีหลัง

 

         สภาพของบรรพชนในยุคแรก หรือในศตวรรษที่ดีที่สุดตามที่ท่านนะบีมุฮัมมัด  ได้บอกกล่าวไว้ พวกเขามีความยำเกรงอยู่ในอุดมการณ์ เป็นพื้นฐานการปฏิบัติงาน พวกเขาปฏิบัติทุกสิงเพื่ออัลลอฮ์ ด้วยความบริสุทธิ์ต่อพระองค์ ดังที่เรียกกันว่า "อิคลาศ" โดยมิได้มุ่งหวัง ลาภยศ ตำแหน่ง หรือคำสรรเสริญเยินยอจากมนุษย์ หากแต่หวังที่จะได้รับความพอพระทัยจากอัลลอฮ์  องค์เดียว

 

          ดังนั้นพวกเขาจึงทำงานอย่างจริงจัง เด็ดเดี่ยว มั่นคง ทุ่มเท ทั้งๆที่ชีวิตความเป็นอยู่มิได้หรูหรา สุขสบาย ทุกคนต่างยอมรับว่า ลาภ ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียง เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์  ทรงประทานให้ พระองค์จะทรงถอดออกจากผู้ใด เมื่อไหร่ก็ได้ พระองค์จะทรงเทิดเกียรติผู้ที่พระองค์ประสงค์ ทุกสิ่งอยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์

 

         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ขุนพล คอลิด อิบนุวะลิด แม่ทัพที่นำกองทัพมุสลิม บุกทะลวงเข้าไปยังอาณาจักรเปอร์เซีย และโรมัน โดยนำชัยชนะมาให้แก่อาณาจักรอิสลาม เมื่อท่านอุมัร อิบนุ คอฏฏอบ มีคำสั่งปลดท่านออกจากตำแหน่งแม่ทัพ ท่านก็ยอมรับโดยดุษฏีไม่มีการแสดงอาการใดๆ ไม่มีการแสดงความไม่พอใจ หรือขัดขืน

 

          ท่านคอลิด ยังมีความนอบน้อมถ่อมตนยอมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพคนใหม่ คือ อบูอุบัยดะฮ์ อิบนุ ญัรรอฮ์ เพราะเนื่องจากจิตใจของท่านคอลิด มุ่งหวังการทำญิฮาดเพื่ออัลลอฮ์  มิได้มุ่งหวังในลาภยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียง หรือคำสรรเสริญใดๆ การกระทำนั้นเพื่ออัลลอฮ์ องค์เดียว ดังนั้นผลประโยชน์ในโลกดุนยา จึงไม่สามารถสร้างความสั่นคลอนให้กับความศรัทธา และความยำเกรง(ตักวา) ที่มีอยู่ในหัวใจของท่านได้