วัคซีนสำหรับเด็ก 22 เข็ม มากไปไหม?
  จำนวนคนเข้าชม  21610

วัคซีนสำหรับเด็ก 22 เข็ม มากไปไหม? 
 
 

 
 
       โดยทั่วไปเด็ก จะได้รับวัคซีนฟรีจากรัฐบาล 16 เข็ม เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันพื้นฐานให้กับร่างกายอยู่แล้ว แต่ด้วยปัจจุบัน พ่อแม่หลายคน เป็นห่วงลูกต่อสถานการณ์โรคลุกลามที่จะเกิดขึ้นกับลูกมากขึ้น จึงให้ลูกรับวัคซีนเสริม เพื่อป้องกันการเกิดโรคในอนาคต รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 22 เข็ม ส่งผลเกิดประเด็นคำถามตามมาว่า วัคซีนสำหรับเด็กไทย 1 คน ต่อ 22 เข็ม มากเกินไปหรือไม่?
      
       ประเด็นนี้ “พญ.ปวินทรา หะริณสุต สมนึก” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า พ่อแม่บางคนอาจสงสัยว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องให้วัคซีนเสริม เพราะบางคนไม่อยากให้ลูกเจ็บ ไม่อยากให้ลูกถูกฉีดยาบ่อยๆ ซึ่งถ้านับดู ตั้งแต่แรกเกิด-12 ปี เด็กจะได้รับวัคซีนประมาณ 20-22 เข็ม
      
       อย่างไรก็ดี โรคติดเชื้อบางอย่าง อาจมีอาการรุนแรงได้ในเด็กบางราย การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค และลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ราคาของวัคซีนในกลุ่มที่เป็นวัคซีนทางเลือกค่อนข้างสูงในปัจจุบัน หากต้องการให้เด็กได้รับวัคซีนเผื่อเลือก ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน รอให้วัคซีนลดราคาลงเสียก่อน
      
       เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจ และมีข้อมูลเกี่ยวกับการรับวัคซีนของลูก "พญ.ปวินทรา" ได้อธิบายการรับวัคซีนในแต่ละช่วงวัยของเด็กให้ฟังว่า ปกติจะแบ่งวัคซีนสำหรับเด็กออกเป็น 2 ชนิด คือ วัคซีนพื้นฐาน และวัคซีนทางเลือก ซึ่งวัคซีนพื้นฐานคือ วัคซีนที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามที่ตามกระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีบริการฉีดให้ฟรีหรือบริการในราคาถูกในสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
      
       ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (DTP) วัคซีนป้องกันโปลิโอ (OPV) วัคซีนหัด (Measle) หรือ ในบางสถานพยาบาลอาจให้วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) รวมกันในเข็มเดียว วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี (HB) และ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) เป็นต้น
      
       ส่วนวัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม คือ วัคซีนที่มีประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งพ่อแม่สามารถให้ลูกได้รับเพิ่มเติมได้ เพื่อป้องกันโรคบางโรคที่อาจเสี่ยงต่อเด็ก อาทิ วัคซีนป้องกันไวรัสโรตา (Rota virus) วัคซีนป้องกันโรคฮิบ หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (HIB) วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสหรือวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี (IPD) วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น”
 
     
       *** วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก
      
       คุณหมอให้ความรู้ว่า วัคซีนพื้นฐานแรกเกิด-1 ปี เมื่อทารกคลอด วัคซีนชนิดแรก คือวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต ฉีดให้กับทารกแรกเกิดในประเทศทุกคนเพื่อป้องกันการเกิดวัณโรครุนแรง พร้อมกันนี้ ที่แรกคลอดจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเข็มที่ 1 รวมเป็น 2 เข็ม ในช่วงหลังคลอด
 
       อายุ 1-2 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเพิ่มอีก 1 เข็ม
      
       อายุ 2 เดือน แนะนำให้พ่อแม่พาลูกมาฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งเป็นวัคซีนรวมในเข็มเดียว พร้อมกับให้วัคซีนโปลิโอ ซึ่งมีทั้งแบบหยอดทางปาก (OPV) และแบบฉีด (IPV) ในรูปแบบของวัคซีนแบบฉีดนั้นเป็นชนิดรวมกับวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และอาจรวมกับวัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบ HIB ในเข็มเดียวกันเป็นแบบวัคซีนรวม 5 โรค และ 6 โรค
      
       อายุ 4 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เข็มที่ 2 และหยอด หรือฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอครั้งที่ 2
      
       อายุ 6 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เข็มที่ 3 และหยอดหรือฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอครั้งที่ 3 รวมทั้งควรได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี เข็มที่ 3
      
       อายุ 9 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันหัด หรือ หัด หัดเยอรมัน คางทูม เข็มที่ 1
      
       อายุ 1 ปี-1 ปี 6 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน 2 ชนิดได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อตาย จะให้ตอนอายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 ห่างกัน 1-4 สัปดาห์ จากนั้นอีก 1 ปี เข็มที่3 เป็นการฉีดกระตุ้นอีกครั้ง และฉีดเข็มสุดท้ายอีก3- 4 ปีถัดมา เท่ากับฉีดรวม 4 เข็ม ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อเป็น มีปฏิกิริยาข้างเคียงน้อยกว่า ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือน และกระตุ้นเข็มที่ 2 ในอีก 3 เดือนถึง 1 ปีถัดมา เท่ากับรวม 2 เข็ม แต่ราคาแพงกว่า
      
       อายุ 1 ปี 6 เดือน กระตุ้นฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เข็มที่ 4 และหยอดหรือฉีดโปลิโอครั้งที่ 4
      
       อายุ 2 ปี -2 ปี 6 เดือน กระตุ้นวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี
      
       อายุ 4 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เข็มที่ 5 พร้อมทั้งหยอดหรือฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอครั้งที่ 5 รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม เข็มที่ 2 และพอเด็กอายุ 10-12 ปี พาลูกมาฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (dT)
      
       สำหรับพ่อแม่ท่านใด ไม่สามารถพาลูกมารับวัคซีนได้ คุณหมอบอกว่า สามารถเลื่อนได้เล็กน้อย แต่ขอให้มาฉีดกระตุ้นให้ครบตามที่กำหนด

 
       *** วัคซีนทางเลือกเสริมสำหรับเด็ก
      
       วัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส แนะนำให้ในผู้ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เด็กอายุ 1-13 ปี ให้ 1 เข็ม หรือ 2 เข็ม โดยการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ซ้ำที่อายุ 4-6 ปี จะเพิ่มประสิทธิภาพ การป้องกันโรคได้ ถ้าอายุมากกว่า 13 ปี ให้ 2 เข็มห่างกัน 4-8 สัปดาห์
      
       วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ สาเหตุทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ทำให้เด็กมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ตัวเหลือง อ่อนเพลีย การติดเชื้ออาจไม่มีอาการ อาการไม่มากจนถึงรุนแรงได้ แต่ก่อนฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี แต่ปัจจุบัน สามารถเริ่มได้ที่อายุตั้งแต่ 1 ปี โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน
      
       วัคซีนป้องกันโรคฮิบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย HIB (Hemophilus Influenza Bacteria) ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น พบบ่อยที่สุดในเด็กอายุ 2 เดือนถึง 5 ปี ส่วนใหญ่แนะนำให้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ส่วนจำนวนครั้งที่ฉีดขึ้นกับอายุที่เริ่มฉีด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวัคซีน HIB นี้มักอยู่รวมกับวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนรวมเข็มเดียวชนิด 5 โรค หรือ 6 โรค แต่ราคาค่อนข้างแพง
      
       วัคซีนป้องกันเชื้อโรตาไวรัส อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กทั่วโลก ซึ่งยังไม่มีการรักษาจำเพาะ ส่วนใหญ่ก็จะให้การรักษาตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง โดยวัคซีนนี้เป็นวัคซีนแบบรับประทาน (หยอดทางปาก) เริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 2 เดือน โดยให้ทั้งหมด2-3 ครั้ง ที่ 2, 4 เดือน หรือ 2, 4, 6 เดือน แล้วแต่ชนิดของวัคซีน หรือ สามารถให้ได้ครั้งแรกที่อายุ 6 สัปดาห์ และอายุมากสุดของการให้วัคซีนครั้งแรก คือ 14 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ครั้งที่ 2 หรือ 3 ถ้าอายุมากกว่า 32 สัปดาห์
      
       เชื้อโรตาไวรัส พบบ่อยในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว และอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ในรายที่รุนแรง อย่างไรก็ดี วัคซีนนี้ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 85-96 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นได้รับวัคซีนแล้วก็อาจเป็นโรคนี้ เพียงแต่ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยลง นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถเป็นได้หลายครั้ง เนื่องจากเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางระบบหายใจและทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออื่นๆ ได้
      
       วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมค็อกคัส หรือวัคซีนไอพีดี เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีเมื่อติดเชื้อมักเข้าสู่กระแสเลือดได้ อาจทำให้เกิดปอดอักเสบ หูอักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พิการทางสมองหรือเสียชีวิตได้ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคติดเชื้อนิวโมค็อกคัส เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
      
       สำหรับวัคซีนนี้ให้ได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน สามารถให้พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ ถ้าเริ่มให้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน จะให้ทั้งหมด 4 เข็ม ที่ 2, 4, 6 เดือน และ 1 ปี เป็นต้น การให้วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคที่ติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดที่บรรจุในวัคซีนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ยังมีราคาค่อนข้างแพง
      
       “สุขภาพของลูก” ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องดูแลเอาใจใส่ ดังนั้นวิธีที่จะป้องกันโรคได้ดีที่สุด ควรให้ลูกกินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้สุขภาพกาย และใจก็จะเกิดความสมดุล โรคต่างๆ ก็จะไม่กล้าเข้ามารบกวน ลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น

 
 
Life & Family / Manager