การบริหารความขัดแย้ง
  จำนวนคนเข้าชม  6698

 

 

การบริหารความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลาม


 วิทยานิพนธ์ อ.มูฮัมหมัด   เชื้อดี


 อิสลามมีแบบบริหารความขัดแย้งสรุปได้ 5 แบบดังนี้

 1.  การต่อสู้  หมายถึง  การเอาแพ้-เอาชนะ  การทำให้ความจริงปรากฏ
 2.  การประนีประนอม  หมายถึง  การเจรจา  การต่อรอง  การปองดอง  และการไกล่เกลี่ย
 3.  การร่วมมือ  หมายถึง  การระดมความคิดเห็น   การผสานความร่วมมือร่วมใจเข้าด้วยกัน
 4.  การขออภัย- การให้อภัย  หมายถึง  การยกโทษ  ไม่ถือโกรธ  การไม่ติกอกติดใจเมื่อตนเองเป็นฝ่ายถูก  การขออภัย    การยอมรับผิดและรับผิดชอบในกรณีที่ตนเองเป็นฝ่ายผิด
 5.  การนิ่งเฉย  หมายถึง การไม่แสดงออกด้วยประการใดๆไม่ใช่แสดงถึงการหลีกเลี่ยงปัญหาแต่เป็นการแสดงให้ทุกฝ่ายรับรู้ว่าไม่มีฝ่ายใดผิด เป็นการบอกให้รู้ถึงทุกฝ่ายถูกต้องไม่ควรที่จะมาขัดแย้งหรือโต้เถียงกัน

(พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านพร้อมความหมายภาษาไทย, 1419)

สามารถอธิบายได้ดังนี้


1.  การต่อสู้  

อัลลอฮ์ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านดังนี้

บทที่ 2 โองการที่ 190 มีความว่า

 "และพวกเจ้าจงต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ต่อบรรดาผู้ที่ทำลายพวกเจ้าและจงอย่ารุกราน  แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน" (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 60)

บทที่ 2  โองการที่  191  มีความว่า

 "และจงประหัตประหารพวกเขา(ศัตรูผู้รุกราน) ณ  ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขาและจงขับไล่พวกเขาออกจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออก" (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419: 60)

บทที่  37  โองการที่  26  มีความว่า

"ดังนั้นเจ้าจงตัดสินกรณีพิพาทระหว่างมนุษย์ทั้งหลายด้วยสัจจะเถิด(ตามความเป็นจริง)และอย่าได้ตัดสินตามอารมณ์ของเจ้าเป็นอันขาดอันจะทำให้เจ้าหลงออกจากทางของอัลลอฮ์ " (ต่วน   สุวรรณศาสน์.มบป,23 : 2088 )
  
           จารึกเซ็นเจริญ  มุฮัมมัด  พายิบ( 2540,  3:566) กล่าวว่า  ท่านอีหม่ามบุคอรี (191) ได้กล่าวว่า  เมื่อผู้ปกครองแนะนำให้ปรองดองกัน  แต่เขา(จำเลย)ปฏิเสธกรณีเช่นนี้ให้ผู้ปกครองชี้ขาดไปตามพยานหลักฐาน

           ดังนั้นการต่อสู้เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลาม  เพราะบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการอื่น  อิสลามจึงได้วางกรอบของการต่อสู้ไว้ว่าคือต้องไม่ละเมิด ไม่รุกราน ไม่ใช้อารมณ์  อันจะนำไปสู่ความไม่ถูกต้องและชอบธรรมเนื่องจากการต่อสู้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่เด็ดขาดและรุนแรง


 

2.   การประนีประนอม  

อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านดังนี้

บทที่  4  โองการที่  114  มีความว่า

 "ไม่มีความดีในส่วนใหญ่จากการซุบซิบของพวกเขา  นอกจากผู้ที่ใช้ให้บริจาคทาน  หรือใช้ให้ทำความดี  หรือไกล่เกลี่ยในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน   และผู้ใดกระทำการดังกล่าวนั้นโดยแสวงหาความพอใจของอัลลอฮ์ ดังนั้นต่อไปเราจะให้ผลบุญแก่เขาอย่างใหญ่หลวง" (อรุณ  บุญชม.  2529,  3:414)

บทที่  4  โองการที่  128  มีความว่า

 "และหากหญิงใดเกรงว่าจะมีการปึ่งชาหรือมีการผินหลังให้จากสามีของนางแล้วก็ไม่มีบาปใดๆ  แก่ทั้งสองที่จะตกลงประนีประนอมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง    และการประนีประนอมนั้นเป็นสิ่งดีกว่า"  (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย,1419 :220)

บทที่  8  โองการที่  1  มีความว่า

 "ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์และจงไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท "(อรุณ  บุญชม. มบป, 2:87)

บทที่  48  โองการที่  9  มีความว่า

 "และหากคนทั้งสองกลุ่มจากพวกที่มีศรัทธา  ได้ทำการรบกันหรือพิพาทกัน  พวกเจ้าต้องปรองดองในระหว่างทั้งสองกลุ่มนั้นเถิด  ดังนั้นถ้ากลุ่มใดจากทั้งสองเป็นผู้ล่วงละเมิดแก่อีกกลุ่มหนึ่ง  คือไม่รับฟังคำเตือน  และไม่ยอมรับในการปรองดองซึ่งเป็นหลักการที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดไว้  พวกเจ้าก็จงช่วยเหลือฝ่ายที่ถูกละเมิดรบกับฝ่ายที่ล่วงละเมิดจนกระทั้งฝ่ายนั้นกลับคืนสู่คำบัญชาแห่งอัลลอฮ์โดยดุษฎี  ครั้นเมื่อฝ่ายนั้นคืนสู่คำบัญชาแห่งอัลลอฮ์แล้ว   พวกเจ้าก็จงประนีประนอมในระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม   และพวกเจ้าก็จงยุติธรรมเพราะแท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ยุติธรรม"  (ต่วน  สุวรรณศาสน์. มบป,  26:2333)

บทที่ 49 โองการที่ 9  มีความว่า

"และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกันพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่ายคือหาทางให้ทั้งสองฝ่ายยุติข้อขัดแย้งและประนีประนอมด้วยความยุติธรรม"

 "และหากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง  คือไม่ยอมรับการไกล่เกลี่ยและยังดื้อรั้นที่ปฏิบัติตามอารมณ์ของตนแล้ว  พวกเจ้าจงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮ์ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮ์แล้ว  พวกเจ้าจงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม  และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเถิด   แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม  " (สมาคมนักเรียนเก่าประเทศไทย,1419  :1349-1350)

บทที่  49  โองการที่  10  มีความว่า

 "แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน  ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า  และจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด  เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา"   (สมาคมนักเรียนเก่าประเทศไทย,1419 :1350)

           ดังนั้นการประนีประนอมเป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลาม  อิสลามสนับสนุนส่งเสริมอย่างยิ่งให้ใช้วิธีการนี้ในการแก้ไขความขัดแย้งแม้ในบางประเด็นที่ได้มีการตัดสิน พิพากษาไปแล้ว   เพราะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกผ่อนคลายความรู้สึก  เกิดความปรองดอง  สามารถที่จะปฏิบัติงานร่วมกันต่อไปได้อย่างราบรื่นภายใต้บรรยากาศที่ดี


 

3.  การร่วมมือ 

อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีรอัลกุรอ่านไว้ดังนี้

บทที่  3  โองการที  159  มีความว่า

 "และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย  ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว  ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย" (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 153)

บทที่  4  โองการที่  35  มีความว่า

 "และหากพวกเจ้าหวั่นเกรงการแตกแยกระหว่างเขาทั้งสอง  (สามี-ภรรยา)ก็จงส่งผู้ตัดสินคนหนึ่งจากครอบครัวของฝ่ายชาย  และผู้ตัดสินอีกคนจากครอบครัวฝ่ายหญิง  หากทั้งสองปรารถนาให้มีการประนีประนอมกันแล้ว  อัลลอฮ์ ก็จะทรงให้ความสำเร็จในระหว่างทั้งสอง  แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้รอบรู้ทรงสัพพัญญู(รอบคอบ)" (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 186-187)

          ขณะที่ต่วน   สุวรรณศาสน์( มบป,5 : 354)ได้ให้ความหมายว่า   และถ้าพวกเจ้ารู้ว่าเกิดมีความไม่ลงรอยกันระหว่างทั้งสอง(สามี-ภรรยา)นั้นแล้วไซร้  ก็จงตั้งตัวแทนขึ้นคนหนึ่งจากฝ่ายชาย  และอีกคนจากฝ่ายหญิงหากตัวแทนทั้งสอง  ปรารถนาจะไกล่เกลี่ยกันแล้ว  อัลลอฮ์จะทรงกำหนดให้ทั้งสอง(สามี-ภรรยา)นั้นปรองดองกัน  เพราะแท้จริงอัลลอฮ์คือองค์ผู้ทรงรู้ยิ่ง  ทรงรู้แจ้ง

         และอรุณ   บุญชม (2529, 3 : 413)   ได้ให้ความหมายว่า  และถ้าหากพวกเจ้ากลัวจะเกิดแตกแยกระหว่างคนทั้งสอง  (สามี-ภรรยา)  ก็ให้พวกท่านตั้งอนุญาโตตุลาการคนหนึ่งจากครอบครัวของเขา  (สามี)  และอนุญาโตตุลาการจากครอบครัวของหล่อน  (ภรรยา)  ถ้าหากคนทั้งสอง(อนุญาโตตุลาการ)ปรารถนาจะไกล่เกลี่ย  อัลลอฮ์ก็จะแนะแนวทางให้คนทั้งสอง   แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรอบรู้ทรงรอบคอบ

บทที่  42  โองการที่  38  มีความว่า

 "และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา" (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 1252)

          ดังนั้นการร่วมมือเป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลาม  อิสลามสนับสนุนส่งเสริมอย่างยิ่งให้ใช้วิธีการนี้ในการแก้ไขความขัดแย้งในลำดับต้นๆ  เพราะเป็นการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย  ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ได้เสนอแนะ ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  การมีส่วนร่วมถือเป็นหลักสำคัญอย่างยิ่งของการปฏิบัติงานร่วมกัน


 

4.   การขออภัย- การให้อภัย 

อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านไว้ดังนี้

บทที่  3  โองการที่  134  มีความว่า

" คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบาย  และในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทษะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์  และอัลลอฮ์นั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย"  (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 142)

บทที่  7  โองการที่  199  มีความว่า

 "เจ้า(มูฮัมมัด) จงยึดถือไว้ด้วยการอภัย  และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ(ความดี) และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลา(ดื้อรั้นบนความชั่ว)ทั้งหลายเถิด"  (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 406)

บทที่  15  โองการที่  85  มีความว่า

 "ดังนั้นเจ้าจงอภัยด้วยการอภัยที่ดี" (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 624)

บทที่  24  โองการที่  22  มีความว่า

 "และพวกเขาจงอภัย  และยกโทษ(ให้แก่พวกเขาเถิด)  พวกเจ้าจะไม่ชอบหรือที่อัลลอฮ์ จะทรงอภัยให้แก่พวกเจ้า  และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย  ผู้ทรงเมตตาเสมอ " (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 :  851)

         อรุณ  บุญชม (มบป,  2:58)  กล่าวว่า  ศาสดามูฮัมมัด ได้ทรงกล่าวไว้ว่า ใครที่ทุจริต(ละเมิด)  สิ่งใดมาจากพี่น้องของเขา  ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศของเขา หรือสิ่งใดก็ตามเขาจะต้องขอคำยินยอม(ขออภัย  ขอโทษ)จากพี่น้องของเขาตั้งแต่วันนี้(ยังมีชีวิตอยู่)ก่อนที่จะไม่มีเหรียญทองและเหรียญเงิน(ก่อนสิ้นชีวิตลง)

          ดังนั้นการขออภัย - การให้อภัยเป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลาม  อันแสดงถึงการรู้จักแยกแยะระหว่างความผิดกับความถูกต้องโดยผู้กระทำผิดเป็นฝ่ายขออภัยและขอโทษผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายให้อภัยและไม่เอาผิด   ไม่มีการขออะไรที่น่ายกย่องน่าชมชยและน่าสรรเสริญยิ่งกว่าการขออภัยและการขอโทษ ไม่มีการให้สิ่งใดที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าทางจิตใจมากกว่าการให้อภัยและการยกโทษภายใต้ความเป็นพี่เป็นน้องร่วมศาสนาเดียวกัน


 

5.  การนิ่งเฉย 
 
อัลลอฮ์ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านไว้ดังนี้

บทที่  7  โองการที่  199  มีความว่า

 "และเจ้า มูฮัมมัด จงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด"  (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย,1419 : 406)

           จารึก  เซ็นเจริญและมูฮำมัด  พายิบ(2539, 2 : 40)  กล่าวว่ามีรายงานที่ถูกบันทึกไว้สรุปได้ว่า  เมื่อครั้งที่ศาสดามูฮัมมัด กลับจากการทำศึกกับกลุ่มชนหลายเผ่าที่รวมตัวกัน(อัลอะห์ซาบ)  ท่านได้กล่าวกับพวกเราไว้ว่า ใครคนใดอย่าได้ละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)เว้นแต่เมื่อเดินทางไปถึงตำบลหนึ่งที่มีชื่อว่าบนีกูรอยซะฮ์   แต่แล้วได้มีคนส่วนหนึ่งละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)ในระหว่างการเดินทางเพราะได้เข้าเวลาของการละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)แล้ว  แต่อีกส่วนหนึ่งยืนยันที่จะไปละหมาด ณ สถานที่ที่ศาสดามูฮัมมัด สั่งไว้   ซึ่งทั้งสองกลุ่มโต้แย้งกันและยืนยันว่าสิ่งที่ตนเองทำคือสิ่งที่ถูกต้อง  เมื่อศาสดามูฮัมมัด ทราบเหตุการณ์ดังกล่าว  ท่านได้นิ่งเฉย


สรุปได้ว่า

          การผินหลังนั้นมิได้หมายถึง การหลีกเลี่ยงปัญหาโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ   หากแต่เป็น การแสดงออกถึงความไม่เห็นดีเห็นงามและไม่เห็นชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการยับยั้งห้ามปรามและตักเตือนไปก่อนหน้านี้แล้ว

         และการโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนสองกลุ่มเกิดจากการเข้าใจที่แตกต่างกันถึงจุดประสงค์ของศาสดามูฮัมมัด ที่สั่งไว้   กลุ่มหนึ่งเข้าใจว่าคำสั่งของศาสดามูฮัมมัด ดังกล่าวจุดมุ่งหมายคือให้ทุกคนรีบเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวโดยเร็ว  เพื่อจะได้ละหมาดอัสริ(ตอนเย็น) พร้อมกันที่นั่นทันทีที่ได้เวลาละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)  แต่แล้วทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คาดคิดเพราะการเดินทางยังไม่ถึงที่หมายก็ได้เวลาละหมาดอัสริ(ตอนเย็น) คนกลุ่มนี้จึงตัดสินใจละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)ทันที  โดยไม่มีเจตนาที่จะขัดขืนคำสั่งของศาสดามูฮัมมัด แต่อย่างใด   อีกกลุ่มเข้าใจว่าคำสั่งของศาสดามูฮัมมัด จุดมุ่งหมายคือให้ทุกคนไปละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)พร้อมกันที่นั่น  ถึงแม้ว่าจะได้เวลาการละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)ระหว่างการเดินทาง   เพราะทุกคนก็ยังสามารถไปละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)ที่นั่นได้  เนื่องจากยังมีเวลาเหลือพอที่จะละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)กันที่นั่น   ดังนั้นสองกลุ่มจึงเกิดการโต้แย้งกัน  ต่างฝ่ายยืนยันสิ่งที่ตนเองทำนั้นคือเจตนาที่แท้จริงของศาสดามูฮัมมัด   แต่การนิ่งเฉยของศาสดามูฮัมมัด  ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองกลุ่มนั้น  แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครกระทำผิดแต่อย่างใด  เพราะอย่างน้อยทั้งสองกลุ่มก็ได้ละหมาดอัสริ(ตอนเย็น)ในเวลาที่อนุญาตให้ละหมาดแล้ว   การเข้าใจเจตนาของคำสั่งดังกล่าวที่แตกต่างกันนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ ถือเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยและไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ

 

          ดังนั้นการนิ่งเฉยเป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางของอิสลามคือ การเอาความเงียบสยบความเคลื่อนไหว ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจประเด็นที่ขัดแย้งกันนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ใช่สาระสำคัญที่ต้องนำมาถกเถียงเพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

 

@@@@@@@@@@@@@