การเยี่ยมเยียนกุบูรฺหรือสุสาน
  จำนวนคนเข้าชม  89888

 

การเยี่ยมเยียนกุบูรฺหรือสุสาน

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

การเยี่ยมเยียนสุสาน

          ส่งเสริมให้มีการเยี่ยมเยียนสุสานสำหรับผู้ชาย เนื่องจากมันจะช่วยให้คิดถึงอาคิเราะฮฺและความตาย  และการเยียมนั้นต้องมีจุดประสงค์เพื่อทบทวนให้เป็นบทเรียน ใคร่ครวญ เพื่อให้สลามกับผู้ตายทั้งหลายที่อยู่ในกุบูรฺและขอดุอาอ์ให้กับพวกเขา มิใช่ไปเพื่อหวังขอดุอาอ์ ณ สุสานของพวกเขา หรือเพื่อการขอตะบัรรุกกับพวกเขา หรือตะบัรรุกกับทรายของสุสานพวกเขา เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นเครื่องมือสู่การชิริกต่ออัลลอฮฺ

 


การขอดุอาอ์ต่อผู้เสียชีวิต

         ห้าม(ฮะรอม)สำหรับผู้ที่มีชีวิตทุกคนทำการขอดุอาอ์วิงวอนต่อผู้ที่เสียชีวิต หรือขอความช่วยเหลือกับพวกเขา หรือการขอให้พวกเขาจัดการเรื่องต่างๆ หรือปลดความทุกข์ยากต่างๆ หรือการเฏาะวาฟรอบๆ สุสานของบรรดานบีและบรรดาศอลิฮีนหรือคนอื่นๆ  หรือการเชือดสัตว์ ณ สุสาน หรือใช้สุสานสร้างเป็นมัสยิด ทุกๆ สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นการชิริกที่อัลลอฮ์ได้สัญญาไว้จะต้องรับการตอบแทนเป็นไฟนรก

عَنْ عَائِشَةَ رضي الله عنها قَالَتْ: قال رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم فِي مَـرَضِهِ الَّذِي لَـمْ يَـقُمْ مِنْـهُ: «لَعَنَ الله اليَـهُودَ وَالنَّصَارَى، اتَّـخَذُوا قُبُورَ أنْبِيَائِهِـمْ مَسَاجِد». قَالَتْ: فَلَوْلا ذَاكَ أُبْرِزَ قَبْرُهُ، غَيْرَ أنَّـهُ خُشِيَ أنْ يُتَّـخَذَ مَسْجِدًا. متفق عليه.

     จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่าน รอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในขณะที่ท่านมีอาการป่วยก่อนเสียชีวิตว่า

“อัลลอฮฺ ได้สาปแช่งชาวยะฮูดีและนัศรอนีย์ พวกเขาได้นำเอาสุสานของบรรดานบีพวกเขาเป็นมัสยิด

(หมายถึงเป็นสถานที่อิบาดะฮฺ)

     ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวว่า หากมิใช่เหตุดังกล่าวแล้ว สุสานของท่านย่อมต้องทำให้ดูเด่น หากแต่ท่านกลัวว่าจะมีการนำสุสานของท่านไปทำมัสยิด

 (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1330 และ มุสลิม หมายเลข 529 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)

 
สิ่งที่ควรกล่าวเมื่อเข้าสู่บริเวณกุบูรฺและเยี่ยมเยียนกุบูรฺ

     1. «السَّلامُ عَلَى أَهْلِ الدِّيَارِ مِنَ المُؤْمِنِينَ وَالمُسْلِـمِينَ، وَيَرْحَـمُ الله المُسْتَقْدِمِينَ مِنَّا وَالمُسْتَأْخِرِينَ، وَإنَّا إنْ شَاءَ الله بِكُمْ لَلَاحِقُونَ». أخرجه مسلم

“ขอความสันติจงมีแด่เจ้าของที่พำนักทั้งหลายเหล่านี้ จากหมู่บรรดามุอ์มินีนและมุสลิมีน

ขออัลลอฮฺทรงเมตตาชนรุ่นก่อนของพวกเราและชนรุ่นหลัง และพวกเรา อินชาอัลลอฮฺ จะได้ตามพวกท่านไปในภายหลัง”

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 974)

     2. «السَّلامُ عَلَيكُمْ دَارَ قَومٍ مُؤْمِنِينَ، وَإنَّا إنْ شَاءَ الله بِكُمْ لاحِقُونَ». أخرجه مسلم.

“ขอความสันติสุขจงมีแด่ครอบครัวชนชาวมุอ์มินีนผู้ศรัทธา และพวกเรา อินชาอัลลอฮฺ จะได้ตามพวกท่านไปในภายหลัง”

(บันทึกโดย มุสลิม หมายเลข 249)

     3. «السَّلامُ عَلَيكم أَهْلَ الدِّيَارِ مِنَ المُؤْمِنِينَ وَالمُسْلِـمِينَ، وَإنَّا إَنْ شَاءَ الله للَاحِقُون، أَسْأَلُ الله لَنَا وَلَكُمُ العَافِيَةَ». أخرجه مسلم

“ขอความสันติจงมีแด่เจ้าของที่พำนักทั้งหลายเหล่านี้ จากหมู่บรรดามุอ์มินีนและมุสลิมีน

และพวกเรา อินชาอัลลอฮฺ จะได้ตามพวกท่านไปในภายหลัง

ฉันขอต่ออัลลอฮฺให้ทรงประทานความปลอดภัยแก่พวกเราและแก่พวกท่านทั้งหลาย”

(บันทึกโดย มุสลิม หมายเลข 975)


การเยี่ยมเยียนกุบูรฺสำหรับมุสลิมะฮฺ

          การเยี่ยมเยียนกุบูรฺสำหรับมุสลิมะฮฺนั้นถือว่าเป็นบาปที่ใหญ่ ดังนั้นเป็นการห้ามสำหรับมุสลิมะฮฺในการเยี่ยมเยียนสุสาน หากแต่กรณีที่มีการเดินผ่านมายังสุสานโดยไม่ได้มีเจตนาเยี่ยมเยียนแล้ว ก็ส่งเสริมให้มีการให้สลามต่อชาวกุบูรฺ และขอดุอาอ์ให้กับพวกเขาด้วยดุอาอ์ที่มีระบุในรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยไม่เข้าไปข้างในบริเวณสุสานนั้น

 


ลักษณะต่างๆ ของผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนกุบูรฺ

     1.  ผู้เข้าไปเยี่ยมกุบูรฺแล้วขอดุอาอ์ให้กับบรรดาผู้เสียชีวิตและขออภัยโทษให้กับพวกเขา และเพื่อนึกถึงชีวิตหลังความตายและรำลึกถึงอาคิเราะฮฺ นี่คือการเยี่ยมเยียนที่ส่งเสริมตามที่ชะรีอะฮฺได้กำหนด

     2.  ผู้ที่เยี่ยมแล้วขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้กับตัวเขาเองและผู้อื่นตรงกุบูรฺ โดยมีความเชื่อว่าการขอดุอาอ์  ณ ที่ตรงนั้นดีกว่าขอดุอาอ์ที่มัสยิด  ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการอุตริ(บิดอะฮฺ)ที่มุงกัน(ชั่วร้ายและถูกปฏิเสธ)

     3.  ผู้ที่เยี่ยมแล้วขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺโดยวิงวอนผ่านเกียรติยศของศพในกุบูรฺหรือสิทธิของเขา เช่น การกล่าวด้วยดุอาอ์ที่ว่า “ข้าขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺด้วยเกียรติของของชายผู้นี้” เป็นต้น การกระทำเช่นนี้ถือว่าหะรอม เนื่องจากเป็นสื่อสู่การชิริก

     4.  ผู้ที่มาเยี่ยมแต่เขาไม่ได้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ หากแต่เขาขอดุอาอ์ต่อเจ้าของกุบูรฺ เช่นกล่าวว่า (โอ้ นบีของอัลลอฮฺ) หรือ (โอ้ วะลีของอัลลอฮฺ) หรือ  (โอ้ ท่านผู้นี้ ขอจงมอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ฉัน หรือ ขอจงทำให้ฉันหายจากโรคนี้) ประเภทนี้ถือเป็นการกระทำเช่นนี้ถือเป็นชิริกอักบัร หรือการตั้งภาคีที่ทำให้หลุดออกจากศาสนา

 

การเยียมเยียนสุสานของผู้ไม่ใช่มุสลิม

          อนุญาตให้มีการเยี่ยมเยียนสุสานของผู้ที่เสียชีวิตที่ไม่ใช่มุสลิมเพื่อเป็นบทเรียนเท่านั้น โดยไม่มีการดุอาอ์ให้กับผู้ตายหรือการขออภัยโทษให้กับผู้ตายแต่อย่างใด ทว่าให้แจ้งข่าวถึงผลตอบแทนที่เป็นนรกแก่เขาเท่านั้น

     * สุสานและกุบูรฺเป็นสถานที่สำหรับระลึกถึงความตาย ดังนั้น ห้ามมีการตกแต่งให้กับสุสาน ไม่ว่าจะเป็นด้วยการปลูกต้นไม้ หรือปูกระเบื้อง หรือประดับไฟ หรือทุกๆ อย่างที่จะนำมาใช้เพื่อการตกแต่งสุสานให้สวยงาม

 

สิ่งที่จะติดตามผู้ตายหลังจากที่เขาตายไป

عن أنس بن مالك رضي الله عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم  «يَتْبَـعُ المَيِّتَ ثَلاثَةٌ، فَيَرْجِعُ اثْنَانِ، وَيَبْقَى مَعَه وَاحِدٌ، يَتْبَـعُهُ أَهْلُـه وَمَالُـهُ وَعَمَلُـه، فَيَرْجِعُ أَهْلُـهُ وَمَالُـهُ، وَيَبْقَى عَمَلُـهُ» متفق عليه.

          จากอะนัส บิน มาลิก กล่าวว่า รอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

“สิ่งที่จะตามผู้ตายไปนั้นมีสามอย่าง สองอย่างจะกลับไปและจะคงอยู่กับผู้ตายนั้นหนึ่งอย่าง

สิ่งที่ตามผู้ตายไปนั้นคือ ครอบครัว ทรัพย์สิน และอะมัลหรือการงานของผู้ตาย

แล้วครอบครัวกับทรัพย์สินของเขาจะกลับไป เหลือเฉพาะอะมัลของเขาที่จะคงอยู่”

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6514 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 296)

 
การทำกุร็อบ หรืออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย

          ไม่อนุญาตให้มีการทำกุร็อบ หรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศล จากมุสลิมให้กับมุสลิมทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว นอกจากในขอบเขตที่อิสลามได้กำหนดให้เท่านั้น เช่น การขอดุอาอ์ให้กับเขา การขออภัยโทษให้กับเขา การทำหัจญ์และอุมเราะฮฺแทนเขา การเศาะดะเกาะฮฺแทนเขา และการถือศีลอดที่วาญิบให้กับผู้ที่ตายและยังมีภาระต้องถือศีลอดวาญิบค้างอยู่ เช่น การถือศีลอดจากการนะซัร(บนบาน) ส่วนการจ้างพวกใดพวกหนึ่งให้อ่านอัลกุรอานเพื่อบริจาคผลบุญดังกล่าวให้ผู้ตายนั้นถือเป็นบิดอะฮฺหรือการอุตริขึ้นมาใหม่

 

แปลโดย : รุสดี การีสา  / Islam House