การแบกศพและการฝังศพ
  จำนวนคนเข้าชม  41629

การแบกศพและการฝังศพ


ลักษณะการแบกศพ

          อนุญาตให้เฉพาะมุสลิมีนเท่านั้นที่สามารถแบกศพได้ และส่งเสริมให้มีผู้คนเดินข้างหน้าและข้างหลังของผู้ที่คอยแบกศพ ส่วนยานพาหนะนั้นให้ตามข้างหลัง กรณีที่สุสานนั้นอยู่ไกลหรือมีปัญหาในการแบกศพอนุญาตให้นำขึ้นรถได้


สถานที่สำหรับฝังศพมุสลิม

          ให้ทำการฝังศพมุสลิม ณ สุสานของบรรดาชาวมุสลิม ทั้งชายและหญิง ผู้ใหญ่หรือเด็ก และห้ามทำการฝังศพที่มัสยิดหรือสุสานของบรรดาผู้ไม่ใช่มุสลิม


ลักษณะการฝังศพ

          การขุดหลุมเพื่อทำการฝังศพนั้นจำเป็นจะต้องขุดให้ลึกและกว้างพอ และตกแต่งหลุมให้เรียบร้อยดี เมื่อขุดไปถึงส่วนลึกของสุสานแล้วให้ทำช่องสำหรับวางศพทางทิศของกิบลัต โดยให้ขนาดของช่องดังกล่าวมีความพอดีกับศพเพื่อที่สามารถวางศพไว้ข้างในได้ ซึ่งเรียกช่องดังกล่าวว่า ละหัด ซึ่งเป็นการดีกว่าการสร้างหลุมแบบธรรมดาไม่มีละหัด และให้ผู้ที่นำศพลงหลุมได้กล่าวดุอาอ์ว่า

«باِسْمِ الله، وَعَلَى سُنَّةِ رَسُولِ الله -وفي رواية- وَعَلَى مِلَّةِ رَسُولِ ا٬لله». أخرجه أبو داود والترمذي

คำอ่าน บิสมิลลาฮฺ วะอะลา สุนนะติ เราะสูลิลลาฮฺ อีกรายงานหนึ่งมีว่า วะอะลา มิลละติ เราะสูลิลลาฮฺ

ความว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ และบนแนวทางของท่านรอซูลุลลอฮฺ – ในรายงานอื่นมีว่า และบนศาสนาของท่านรอซูลุลลอฮฺ”

(หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด หมายเลข 3213 และอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 1046)

          แล้วให้นำศพไปวางในช่องละหัด โดยให้ศพตะแคงขวาหันไปทางทิศของกิบลัต หลังจากนั้นให้วางเรียงก้อนอิฐเพื่อปิดช่องละหัด และทำการปิดช่องลมระหว่างก้อนอิฐนั้นด้วยดินเหนียว หลังจากนั้นจึงทำการกลบด้วยดินโดยให้ถมลงไปในหลุมศพและทำให้ดินพอกสูงขึ้นจากระดับพื้นประมาณหนึ่งคืบ


การก่อสร้างหรือก่อปูนบนสุสาน

          ห้ามไม่ให้ทำการสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ บนหลุมศพ หรือการก่อปูน หรือการเหยียบลงบนหลุมศพ หรือทำการละหมาด ณ หลุมศพ หรือใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นมัสยิด หรือจุดตะเกียงให้ความสว่าง หรือทำการโปรยดอกไม้บนหลุมศพ หรือทำการเฏาะวาฟรอบสุสาน หรือเขียนข้อความต่างๆ ที่สุสาน หรือใช้เป็นสถานที่สำหรับอีด เป็นต้น


การสร้างมัสยิดบนกุบูรฺหรือหลุมศพ

          ห้ามทำการสร้างมัสยิดบนสุสานอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกันนี้ ห้ามทำการฝังศพในบริเวณมัสยิด และหากมัสยิดดังกล่าวสร้างขึ้นมาก่อนจะมีกุบูรฺนั้นให้ทำการปรับเกลี่ยพื้นที่กุบูรฺนั้นออกไป หรือกรณีที่ศพเพิ่งถูกฝังใหม่ๆ ให้ทำการขุดนำศพออกเพื่อย้ายไปฝังที่สุสาน กรณีที่มีการสร้างมัสยิดบนกุบูรฺที่มีอยู่ก่อนแล้ว ให้เลือกระหว่างการรื้อถอนมัสยิดหรือรื้อถอนรูปลักษณ์ที่แสดงถึงการเป็นกุบูรฺนั้นออกไปเสีย และทุกๆ มัสยิดที่สร้างขึ้นเหนือกุบูรฺห้ามไม่ให้ทำการละหมาดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดฟัรฎูหรือสุนัตก็ตาม

     * ส่งเสริมให้ทำการขุดหลุมฝังศพให้ลึกพอที่มิให้ศพส่งกลิ่นออกมาได้ และลึกพอที่จะไม่ให้สัตว์มาขุดคุ้ยศพได้ ให้ทำช่องสำหรับวางศพทางด้านฝั่งของกิบลัตซึ่งเรียกว่าช่องละหัด ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งดีกว่าการทำช่องแบบชักก์หรือการขุดช่องให้ลึกลงไปกลางหลุมศพแบบปกติให้พอดีกับร่างของศพ จากนั้นให้ทำการปิดช่องดังกล่าวด้วยก้อนอิฐ(หรือแผ่นไม้)แล้วจึงทำการกลบด้วยดิน

     * ส่งเสริมให้ทำการฝังศพในเวลากลางวัน และอนุญาตให้ทำการฝังศพในเวลากลางคืนได้


ลักษณะการฝังศพของผู้เสียชีวิต

          ไม่อนุญาตให้ทำการฝังศพในหลุมฝังศพมากกว่าหนึ่งศพ นอกเสียจากกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่นกรณีที่มีการตายหมู่และผู้ที่จะทำการขุดหลุมและฝังศพนั้นมีไม่เพียงพอ ซึ่งวิธีการก็คือนำศพของผู้เสียชีวิตที่คิดว่าเป็นคนที่ดีที่สุดในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมดวางไว้ในช่องละหัดสำหรับวางศพที่อยู่ทางฝั่งกิบลัต และไม่อนุญาตให้ใครก็ตามทำการขุดหลุมฝังศพเตรียมไว้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต หรือทำการเตรียมผ้าขาวเพื่อใช้ห่อศพตัวเองก่อนที่จะเสียชีวิต

การย้ายศพจากสุสานเดิม

          อนุญาตให้ทำการย้ายศพจากสุสานเดิมไปยังสุสานอื่น กรณีที่การย้ายนั้นเป็นผลดีต่อศพเอง เช่น สุสานเดิมเกิดมีน้ำท่วม หรือ สุสานเดิมอยู่บริเวณสุสานของกาฟิร เป็นต้น เนื่องจากสุสานนั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของผู้เสียชีวิตและเป็นที่สำหรับการไปเยี่ยมเยียนพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้จากไปและอยู่ ณ ที่สุสานดังกล่าวก่อน ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ทำการย้ายจากสุสานเดิมของพวกเขา นอกจากในกรณีที่เป็นผลดีต่อตัวผู้ตายเท่านั้น


ใครจะเป็นผู้ที่นำศพลงในสุสาน

          การนำศพลงในสุสานนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น และบรรดาผู้ปกครองและเครือญาติของผู้เสียชีวิตมีสิทธิมากที่สุดในการทำหน้าที่นี้ และสำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่นำศพของผู้หญิงลงในหลุมศพจะต้องเป็นผู้ที่มิได้ทำการร่วมเสพกับภรรยาของเขาในคืนก่อนวันทำการฝังศพ และส่งเสริมให้นำศพลงในสุสานจากทางท้ายของหลุม โดยให้ค่อยๆ นำส่วนที่เป็นศรีษะของศพลงไปก่อน และอนุญาตให้นำศพลงในสุสานจากด้านไหนก็ได้ และห้ามไม่ให้ทำการหักกระดูกของศพ


การเดินตามญะนาซะฮฺสำหรับผู้หญิง

          ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเดินตามญะนาซะฮฺ เนื่องจากความอ่อนแอ ความอ่อนไหว การไม่อดกลั้นที่มีในพวกเธอทั้งหลาย และไม่สามารถแบกรับและกลั้นความรู้สึกทุกข์ได้ ซึ่งจะทำให้คำพูดและการกระทำต้องห้ามต่างๆ หลุดออกจากพวกเธอ ซึ่งขัดแย้งกับความอดทนที่จำเป็นต้องมี


การทำเครื่องหมายที่หลุมศพ

          ส่งเสริมบรรดาวะลีของผู้เสียชีวิตให้ทำเครื่องหมายที่หลุมศพด้วยก้อนหินหรืออื่นๆ ที่คล้ายกัน เพื่อทำการฝังศพญาติในครอบครัวของเขาไว้ใกล้ๆ ที่ดังกล่าวต่อไป และสามารถรู้ตำแหน่งของหลุมศพดังกล่าวได้

     * กรณีที่มีการเสียชีวิตท่ามกลางทะเลและกลัวว่าศพจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ทำการอาบน้ำให้กับศพแล้วทำการห่อและละหมาดให้กับศพ หลังจากนั้นให้ปล่อยศพดังกล่าวให้จมลงไปในทะเล และหากสามารถเก็บศพดังกล่าวไว้โดยที่ศพไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้รอจนกระทั่งถึงฝั่งแล้วให้นำศพไปฝังในสุสานต่อไป

     * อวัยวะที่ขาดวิ่นของมุสลิมที่ยังมีชีวิตนั้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ ไม่อนุญาตให้ทำการเผา และไม่ต้องทำการอาบน้ำให้หรือละหมาดให้แต่อย่างใด หากแต่ให้ทำการห่อด้วยชิ้นผ้าแล้วทำการฝังที่สุสาน

     * ส่งเสริมให้มุสลิมยืนขึ้นให้เกียรติแก่ศพเมื่อมีขบวนญะนาซะฮฺผ่านมา หรือหากจะนั่งอยู่ก็ถือว่าไม่เป็นไรทั้งสิ้น


การตักเตือนหรือการให้โอวาท ณ สุสาน

           ส่งเสริมให้นั่งเมื่อมีการวางศพและขณะที่ทำการฝังศพ และบางครั้งก็ให้มีการตักเตือนและกล่าวโอวาทแก่ผู้คนเพื่อให้รำลึกเกี่ยวกับการตายและชีวิตหลังความตาย โดยผู้อาวุโสและผู้รู้ในบรรดาผู้คนที่มาด้วยทั้งหลาย


มุสลิมควรทำอะไรหลังการฝังศพ

          ส่งเสริมให้ผู้คนที่มาหลังจากทำการฝังศพเรียบร้อยแล้วนั้นยืนอยู่ ณ หลุมศพเพื่อขอดุอาอ์ให้กับผู้เสียชีวิตดังกล่าวได้ยืนหยัดมั่นคงต่อการทดสอบในกุบูรฺ และขออภัยโทษให้กับเขา พร้อมกับสั่งผู้ที่อยู่ร่วมด้วยนั้นขออภัยโทษ(อิสติฆฟาร)ให้กับผู้ตาย และขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้เขายืนหยัดมั่นคงต่อการทดสอบ และห้ามทำการตัลกีนหลังจากการฝัง เนื่องจากตัลกีนนั้นให้กระทำขณะที่กำลังจะเสียชีวิตก่อนที่ผู้ตายจะสิ้นลม

 

 


มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

 

แปลโดย : รุสดี การีสา  / Islam House