ช่วยเจ้าตัวเล็กก้าวพ้น"ความผิดพลาด"
  จำนวนคนเข้าชม  4693

ช่วยเจ้าตัวเล็กก้าวพ้น "ความผิดพลาด"

 
 
       เชื่อว่าวันนี้ ผู้ปกครองหลายคนคงได้รับรายงานผลการเรียนของเด็ก ๆ มานอนกอดกันแล้วใช่ไหมคะ ผลเป็นอย่างไรบ้างคะ คงมีผู้ปกครองหลายคนที่ยิ้มแก้มปริกับผลการเรียนของลูก ๆ ขณะที่ผู้ปกครองอีกหลายคนก็อาจมีแจกไม้เรียวกันไปบ้างแล้วก็เป็นได้ (แต่ถ้าเป็นไปได้อย่าพึ่งตีนะคะ อ่านบทความจากเราให้จบก่อนค่อยตัดสินใจก็ได้ค่ะ)
      
       ทุกคนล้วนเคยเผชิญหน้ากับความล้มเหลวมากันทั้งนั้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคนระดับผู้นำประเทศ หรือนักวิชาการชื่อดัง ส่วนจะมากบ้างน้อยบ้างนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมพวกเขาขึ้นมา ซึ่งความผิดพลาดนี้ก็รวมถึงเด็กตัวเล็ก ๆ ที่แบกเป้ใบโตไปเรียนหนังสือในประเทศไทยทุกวันนี้ด้วยค่ะ
      
       แต่อาจเป็นโชคไม่ดีนักของเด็ก ๆ ในทุกวันนี้ ที่พวกเขาไม่ได้เติบโตขึ้นมาง่าย ๆ เหมือนในอดีต โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารวิ่งวนรอบตัวไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ โอกาสที่เขาจะหยิบข้อมูลผิดชุดมาใช้ นำไปสู่การตัดสินใจผิดแบบมีมากขึ้นกว่าคนในยุคก่อนมากทีเดียวค่ะ แถมสิ่งยั่วยวนใจเด็ก ๆ ทุกวันนี้ก็ยิ่งมีมากมาย นั่นทำให้คุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ นอกจากจะต้องหูไวตาไว คอยระแวดระวังความผิดพลาดของเด็ก ๆ ให้ดีแล้ว ยังต้องเตรียมตัวรับมือกับความเสียใจ และความผิดหวังของเด็ก ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วยค่ะ ซึ่งแนวทางในการป้องกันปัญหานี้ ทำได้ไม่ยากค่ะ โดยอาจจะเริ่มจาก
      
       1. กำหนดนิยามใหม่ของความล้มเหลว
      
       เหตุที่บอกว่าครอบครัวอาจต้องมองหานิยามของความล้มเหลวใหม่ก็เพราะนิยามความสำเร็จ - ล้มเหลวแบบเก่า ๆ อาจใช้ไม่ได้ผล หรือไม่สอดคล้องกับแนวทางการใช้ชีวิตในปัจจุบันแล้วก็เป็นได้ค่ะ
      
       เมื่อลูก ๆ ในบ้านเผชิญหน้ากับความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการทำเกรดไม่ดีอย่างที่ผู้ปกครองตั้งความหวัง หรือมีความประพฤติไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ทุกวันนี้ไม่ควรรีบหยิบ “ไม้เรียว” หรือหาถ้อยคำโหดร้ายมาขู่ลูกให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ควรใจเย็นให้มาก และพิจารณาดูว่า ลูก ๆ เกิดการเรียนรู้จากเหตุการณ์ หรือความผิดพลาดนั้น ๆ หรือไม่ ถ้ามีการเรียนรู้ เขาก็ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเด็กที่ล้มเหลวค่ะ หรือถ้าหากเด็ก ๆ ยังไม่เข้าใจว่าเขาพลาดในจุดไหน พ่อแม่ก็แค่เข้ามาให้คำแนะนำในทางที่ถูกต้องกับพวกเขา ถึงตอนนั้น สิ่งที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับเด็กคนหนึ่งให้เขามีก้าวต่อไปที่มั่นคงยิ่งขึ้นค่ะ
      
       2. บอกลูกว่าคนล้มเหลวคือคนที่ไม่กล้าแม้แต่จะลงมือทำ
      
       มีเด็กหลายคนที่กลัวว่าตัวเองจะผิดหวัง ผิดพลาด จนไม่กล้าทำอะไรเลย แต่จริง ๆ แล้ว ทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาเป็นเด็กที่ “ล้มเหลว” ก็คือ การที่พวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะลงมือทำอะไรเลยนั่นเอง ซึ่งในกรณีนี้พ่อแม่มีส่วนอย่างมาก หากพ่อแม่เป็นผู้กระตุ้น สนับสนุนลูก ๆ ในทางที่สร้างสรรค์ ให้เด็กกล้าที่จะทำตามความฝันของตัวเอง แม้จะไม่สามารถทำได้ดีเลิศ หรือเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ก็จะทำให้เด็กคนนั้นกล้า และมีความสุขที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
      
       อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความสำเร็จในมุมมองของพ่อแม่อยู่บ้างเช่นเดียวกัน พ่อแม่บางส่วนจินตนาการภาพของคำว่า “ความสำเร็จ” เอาไว้สวยหรู ด้วยการต้องเป็นเบอร์หนึ่งในสาขานั้น ๆ ดังนั้นการผลักดันของพ่อแม่ที่มีทัศนคติดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จในมุมมองตามที่ตัวเองต้องการ และอาจเป็นการผลักให้ลูกก้าวไปพบกับความล้มเหลวได้รวดเร็วกว่าพ่อแม่ที่ไม่ได้คาดหวัง หรือมีมุมมองเช่นนี้ก็เป็นได้ค่ะ
      
       3. แบ่งปันความผิดพลาดของพ่อแม่ให้ลูกฟัง
      
       เด็กบางคนมีพ่อแม่เป็นฮีโร่ในดวงใจ เขาอยากเก่ง อยากเลียนแบบพ่อแม่ แต่ด้วยขีดจำกัดบางประการ เด็กบางคนไม่อาจทำได้ในเหมือนกับฮีโร่ของพวกเขาค่ะ นั่นเป็นเหตุให้พวกเขาต้องเสียใจ ผิดหวังกับมัน แต่นาทีนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่พ่อแม่จะได้ใช้เวลาแห่งความเสียใจของลูก ๆ เป็นช่วงเวลาในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความผิดพลาดของตัวเองในวัยเด็กให้ลูกฟัง และสอนให้เขาเข้าใจว่า เมื่อเขาทำดีที่สุดแล้ว แม้อาจไม่สำเร็จก็ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีกว่าการไม่ยอมพยายามทำอะไรเลย
       เวลาเราดูการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ต่าง ๆ เรามักจะพบว่า ฮีโร่เหล่านั้นก็มีจุดอ่อนใชไหมคะ เช่นเดียวกันค่ะ การที่เด็ก ๆ ได้เข้าใจว่า พ่อแม่ที่เปรียบเหมือนฮีโร่ในดวงใจของพวกเขาก็มีจุดอ่อน มีข้อผิดพลาดตลก ๆ มันก็ช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกดีกับตัวเองได้มากขึ้นเช่นกันค่ะ
      
       4. ให้ความเชื่อมั่นกับลูก ๆ
      
       ความเชื่อมั่นจากคนในครอบครัวเป็นเหมือนกำลังใจที่มองไม่เห็นส่งตรงถึงตัวลูก ๆ ค่ะ บอกให้ลูกทราบว่าพ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นในเรื่องอะไร เช่น เขาจะเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน และเติบโตอย่างมีความสุข ฯลฯ ความเชื่อมั่นเหล่านี้จะยิ่งเป็นพลังส่งให้เด็กคนนั้นมากขึ้นและมากขึ้นค่ะ และการทำแบบนี้ก็ดีกว่าการค่อนขอด การบ่นว่า การตำหนิติเตียนลูกด้วยค่ะ
  

   
       ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก more4kids.info