วัยรุ่นดี-ร้าย พ่อแม่คาดหวังอย่างไร..ก็ได้เช่นนั้น
  จำนวนคนเข้าชม  7043

"วัยรุ่นดี-ร้าย" พ่อแม่คาดหวังอย่างไร..ก็ได้เช่นนั้น
 

 
 
       หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดเคยเข้าใจว่า การที่ลูกช่วงวัยรุ่นมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย กลายเป็นเด็กร้ายอารมณ์ฉุนเฉียวนั้นเป็นเรื่องปกติ หรือการที่พ่อแม่บางส่วนทำใจยอมรับเอาไว้ล่วงหน้าว่า ลูกแสนน่ารักของตนเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็คงไม่แคล้วกลายเป็นเด็กมีปัญหา ชอบแสดงพฤติกรรมในแง่ลบ เป็นเด็กแบดบอย - แบดเกิร์ล เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ขอบอกว่า "คุณกำลังจะได้สิทธินั้น ในไม่ช้านี้ค่ะ"
      
       จากการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศาสตราจารย์คริสตี้ บูชานาน (Christy Buchanan) จากมหาวิทยาลัย Wake Forest ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้สำรวจพฤติกรรมเด็กจำนวน 250 คนที่เรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กับแม่ของเขา และติดตามพฤติกรรมไปจนถึงตอนที่พวกเขาเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ความคาดหวังของผู้ปกครองมีผลต่อการประพฤติปฏิบัติตนของเด็กไม่ใช่น้อยเลย
      
       "การที่พ่อแม่คาดหวังว่าลูกจะมีพฤติกรรมในแง่ลบ มีส่วนทำให้ลูกประพฤติตัวตามความคาดหวังของพ่อแม่จริง ๆ ในทางตรงกันข้าม หากพ่อแม่เป็นคนมองโลกในแง่ดี และคาดหวังพฤติกรรมในแง่บวกจากลูกวัยรุ่น ก็พบว่า เด็กจะมีภูมิต้านทานต่อแรงกดดันต่าง ๆ ในชีวิต และสามารถปรับพฤติกรรมให้เป็นเด็กดี หลีกเลี่ยงการทำตัวแย่ ๆ ให้พ่อแม่ปวดหัวได้เช่นกัน" 

       
       ทั้งนี้ ผู้วิจัยยังได้ยกพฤติกรรมแย่ ๆ ของพ่อแม่ขึ้นมาเป็นตัวอย่างด้วย เช่น ถ้าพ่อแม่ชอบพูด หรือคาดการณ์พฤติกรรมลูกในทางที่เลวร้ายว่า ลูกฉันจะต้องดื่มเหล้าแน่ ๆ หรือลูกฉันจะต้องทำตัวแย่เหมือนเด็กวัยรุ่นคนอื่น ๆ แน่นอน ในสมองของเด็กจะรับทัศนคตินี้ไป และเด็กจะรู้สึกว่าหากเขาไม่ทำตัวแย่ ๆ ก็จะกลายเป็นเด็กที่ผิดปกติ ดังนั้นเขาจึงพร้อมที่จะลอง หรือประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทาง อีกทั้งคำพูดแย่ ๆ ยังทำให้ภูมิคุ้มกันในชีวิตของเด็กต่ำ และสามารถชักจูงให้มีพฤติกรรมไม่ดีได้ง่ายกว่าเด็กที่ได้รับกำลังใจจากพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอด้วย
      
       "มีพ่อแม่บางส่วนที่คิดว่าการที่ลูกมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือดื้อรั้นนั้นเป็นเรื่องปกติ และพวกเขาได้ถ่ายทอดความคิดนี้สู่ลูกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในสมองของเด็กจะรับทัศนคตินี้ไปและประพฤติตัวเช่นนั้นในที่สุด" 

       
       อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับมามองที่สังคมไทย ไม่เฉพาะคำพูดหรือความคิดจากพ่อแม่เท่านั้นที่ควรใส่ใจและระมัดระวัง แต่ยังต้องระวังไปถึงคำพูดและความคิดจากบุคคลรอบข้างของเด็ก โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง ตลอดจนสื่อวิทยุโทรทัศน์ด้วย โดยเฉพาะครอบครัวที่ฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยง เพราะเด็กอาจถูกคนเหล่านั้นทำร้ายจิตใจด้วยถ้อยคำ และความคาดหวังที่ไม่เหมาะสมต่อพัฒนาการก็เป็นได้
 
 


manager online / life & family