พ่อครับ แม่ขา...หนูเครียด!!
  จำนวนคนเข้าชม  9401

พ่อครับ แม่ขา...หนูเครียด!! 
 
 

       ในโลกยุคปัจจุบันนี้เราต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดอยู่บ่อยครั้ง หากเรารู้ตัวว่าเกิดความเครียดขึ้นแล้วก็ควรรีบหาทางแก้ไข ความเครียดในผู้ใหญ่อาจจะเข้าใจได้ว่าตนเองกำลังเกิดความเครียดขึ้นมาแล้ว เมื่อเรามีอาการเจ็บป่วยขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือใจสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ
      
       อาการเหล่านี้แสดงถึงความเครียดที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น แต่หากความเครียดนี้เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนาน จะส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเกิดโรคเรื้อรัง
      
       เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ โรคตับฯลฯ เพราะเมื่อเราเกิดความเครียด ต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายสามารถทนต่อความเครียดออกมามากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดความอ่อนแอลงจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมน เกิดการเสื่อมของร่างกายก่อนวัยอันควร หรือที่เรียกว่า แก่ง่าย ตายเร็ว ซึ่งการเผชิญกับความเครียดของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่สามารถรับรู้ความเครียดและหาหนทางแก้ไขได้ด้วยตัวเอง อาจโดยการพักผ่อนหย่อนใจ หรือออกห่างไปจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด
      
       แต่สำหรับเด็กล่ะคะ เมื่อเด็กเกิดความเครียดขึ้น เด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากความเครียดได้ ดังนั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กเกิดความเครียด และเราจะมีวิธีช่วยเหลือลูกรักได้อย่างไรให้พ้นจากความเครียด
      
       "หนูปวดท้อง หนูไม่อยากไปโรงเรียน" ทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน น้องเอ อายุ 3 ขวบ จะนั่งลงและอาเจียนบ่นไม่อยากไปโรงเรียน
      
       "หนูทำไม่ได้ หนูทำไม่ได้ หนูกลัวทำผิด" น้องบี อายุ 4 ขวบครึ่ง พูดไป ร้องไห้ไป ขณะที่ทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์กับคุณครู
      
       คำพูดเหล่านี้ของเด็กเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าเด็กเริ่มมีอาการของความเครียดเกิดขึ้นแล้ว เราควรจะมาทำความรู้จักกับความเครียดของเด็กกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเครียด

   
  
       พ่อแม่ทราบได้อย่างไรว่าลูกเครียด
      
       ความเครียด คือ ความกังวล ไม่สบายใจเมื่อเด็กต้องเผชิญต่อปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านอารมณ์ ปัญหาด้านความต้องการ ปัญหาด้านการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม เพื่อให้ทนอยู่ในสังคมหรือในสภาวะแวดล้อมนั้นๆ ได้ เมื่อเด็กต้องเผชิญต่อปัญหาจะเกิดการปรับตัวเพื่อลดความกังวลและความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น เมื่อปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดความเครียดขึ้น
      
     
  ทั้งนี้ ความเครียดนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ
      
       * ความเครียดระดับต่ำ (Mild Stress) มีความเครียดน้อยและหมดไปในระยะเวลาภายใน 1 ชั่วโมง
      
       * ความเครียดระดับกลาง(Moderate Stress) ระดับนี้มีความเครียดอยู่นานหลายชั่วโมงจนเป็นวัน
      
       * ความเครียดระดับสูง (Severe Stress) ความเครียดระดับนี้จะอยู่นานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปีได้ เช่นการตายจาก หรือการมีความเจ็บป่วยรุนแรง
 
 
       อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กมีความเครียด เด็กไม่สามารถบอกเราได้ว่า "โอ้ย! หนูเครียด" "หนูไม่สบายใจ" หรือ "หนูกลุ้มใจ" แต่เมื่อเด็กมีความเครียดเด็กจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรมหลายๆ แบบ ในเด็กเล็กจะมีอาการให้ผู้ใหญ่สังเกตเห็นได้ดังต่อไปนี้
      
       * ร้องไห้งอแงหงุดหงิด ไม่เชื่อฟังพ่อแม่จนกลายเป็นเด็กดื้อ
      
       * มีพฤติกรรมที่ผิดแปลก เช่น ดูดนิ้วมือ ดึงผม เช็ดจมูก
      
       * มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน
      
       * นอนหลับยาก ตื่นนอนในเวลากลางคืน ละเมอเดิน ปัสสาวะรดที่นอน
      
       * บางคนอาจแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก เอาแต่ใจตนเอง
      
       * แยกตัวไปอยู่ตามลำพัง เก็บตัว และอาจมีอาการซึมเศร้า
      
       * เด็กมีลักษณะไม่นิ่ง บางคนอาจอาละวาดไม่ยอมหยุด ไม่มีเหตุผล
      
       * เด็กเริ่มโกหก นิสัยก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น จะพบในเด็กที่โตขึ้น
      
       * ในบางคนที่มีภาวะสมาธิสั้นอยู่แล้วจะทำให้มีอาการมากขึ้น ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่มากระตุ้น และวิธีการปรับตัวของเด็ก
 
     
       แล้วความเครียดมีผลกระทบต่อเด็กอย่างไร
      
       มนุษย์เราสามารถปรับตัวและควบคุมให้ทนต่อความเครียดได้ในระดับหนึ่ง โดยปรับให้จิตใจอยู่ในระดับที่สมดุล (Psychological equilibrium) หรือเป็นปกติเหมือนกับคนทั่วไป แต่ถ้าความเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และปล่อยให้มีอยู่นานจนเกินไปเป็นเดือนเป็นปี ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย จิตใจ และชีวิตความเป็นอยู่ได้
      
       สำหรับเด็กเล็ก ความเครียดจะมีผลต่อจิตใจและอารมณ์ของเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กเล็กจะมีความกลัวและความวิตกกังวลจะแสดงออกให้เห็นเราได้อย่างเปิดเผย
      
       ความเครียดส่งผลต่อร่างกายให้สร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียด (Cortisone) ที่ส่งผลให้สมองส่วน cortex และพื้นที่สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความฉลาด สูญเสียไป อาจกล่าวได้ว่า ความเครียดมีผลขัดขวางต่อการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งยังทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวหรือไม่มั่นใจในตนเอง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีผลทำให้บุคลิกภาพที่ดีเสียไป
 
 
       ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กเกิดความเครียด
      
       ความเครียดนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ แนวคิดของจิตแพทย์ ฟรอยด์และอีริคสันมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าความรักความอบอุ่นและการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กวัยต่อมา เด็กจะมีการพัฒนาความรู้สึกเชื่อมั่น ความไว้วางใจบุคคลรอบข้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่นจากครอบครัว ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กเล็กเกิดความเครียด ได้แก่

      
       ปัญหาสุขภาพ
      
       การที่เด็กมีสุขภาพไม่แข็งแรง ขาดอาหาร ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเจ็บป่วยบ่อยๆ จะทำให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้ เอาแต่ใจตนเอง ไม่รู้จักรอคอย และก้าวร้าวต่อคนอื่น
 
    
       การอบรมเลี้ยงดู
      
       การเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมากเกินไป (Authoritarian Control) พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเด็กให้อยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัดไม่ยืดหยุ่น หรือตั้งความคาดหวังกับลูกไปกว่าความสามารถของเด็กในวัยนี้ เช่น คาดหวังว่าเด็กจะต้องสอบแข่งขันเข้าเรียนในโรงเรียนดังๆ ได้ หรือคาดหวังให้ลูกเล่นกีฬา เล่นดนตรีอย่างเป็นเลิศ ถ้าลูกไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้พ่อแม่จะรู้สึกหงุดหงิด บางคนพาลไม่พูดกับลูก ไม่ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างที่เคยปฏิบัติมาก่อน ก็จะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดขึ้นมา เด็กอาจแสดงออกโดยมีปัญหาการกิน การพูด เช่น กลายเป็นเด็กที่อาจพูดติดอ่างได้
      
       การเลี้ยงดูแบบย้ำคิดย้ำทำมากเกินไป พ่อแม่ที่มีความกังวลกับลูก คอยย้ำถามย้ำปฏิบัติกับเด็ก ทั้งที่เด็กต้องการและไม่ต้องการ มีผลทำให้เด็กต้องอยู่ในบรรยากาศที่ต้องระวังตลอดเวลา ทำให้เด็กมีความวิตกกังวลอย่างมาก จนทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา เมื่อโตขึ้นอาจกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ ทำให้บุคลิกภาพเสียไป
      
       การเลี้ยงดูแบบตามใจมากเกินไป พ่อแม่ที่ตามใจลูกมากเกินไป ให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการโดยไม่คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ อาจเกิดจากพ่อแม่คิดว่าหากขัดใจลูกแล้วลูกจะร้องสร้างความรำคาญ หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูกจึงทดแทนด้วยสิ่งของที่ลูกต้องการ เมื่อเด็กถูกตามใจมากๆ จะกลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง เมื่อเด็กถูกขัดใจจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และเมื่อไปอยู่ในสังคมกับบุคคลอื่น เด็กจะเกิดความเครียดคับข้องใจ ไม่สามารถปรับตัวได้ และแสดงออกด้วยพฤติกรรม อาจจะลงมือลงเท้า กรีดร้อง เต้นเร่าๆ พ่อแม่ไม่ควรรีบโอ๋เด็ก ควรอยู่เฉยๆและไม่ควรเดินจากไปจนกระทั่งทั่งเด็กสงบลง การดูแลอย่างใกล้ชิดจะมีผลให้เด็กค่อยๆ สงบลง
 
    
       สภาพแวดล้อม
      
       สภาพแวดล้อมในครอบครัว เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น พ่อแม่หย่าร้างกัน เด็กถูกทอดทิ้ง พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่ดุด่าลูกเป็นประจำ หรือสภาพครอบครัวที่มีแต่ความตึงเครียด มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ บุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยหรือพิการ พ่อแม่ที่มีแต่ความเครียดทำให้ลูกเครียดด้วย เพราะเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะส่งผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์อย่างมาก หากต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปนานๆ จะส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรัง เด็กจะแสดงออกโดยมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง แยกตัว และซึมเศร้าได้
      
       สภาพแวดล้อมที่โรงเรียน กฎระเบียบของโรงเรียนที่เข้มงวดมากเกินไป การให้เด็กทำกิจกรรมที่ยาวนานและยากเกินความสามารถของเด็ก เด็กที่เรียนในโรงเรียนที่สอนวิชาการมากเกินไป เช่น สอนคณิตศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ อีกทั้งให้เด็กอยู่กับการเขียน และการอ่านมากเกินไปแทนที่จะได้ทำกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมเด็กตามวัย จะทำให้เด็กไม่ได้พักผ่อน เกิดความเหนื่อยล้า ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดขึ้นมาและไม่อยากไปโรงเรียนซึ่งจริงๆ แล้วผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรศึกษาวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดให้แก่เด็กๆ ไว้ด้วยค่ะ…

 
       8 วิธีลดความเครียดให้แก่เด็ก
      
       1. การให้เด็กได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การกระโดด ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตทางร่างกายเหมาะสมตามวัย แต่จะทำให้เด็กมีจิตใจสดชื่นและช่วยลดความตึงเครียดได้ เพราะขณะออกกำลังกายร่างกายจะได้รับออกซิเจนมากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น สมองได้หยุดคิดเรื่องที่เครียดชั่วคราว และภายหลังการออกกำลังกายแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ทำให้รู้สึกคลายความเครียด
      
       2. การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ครอบครัวควรมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ปลูกต้นไม้ ให้ลูกได้ช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ หรือทำอะไรก็ได้ที่ครอบครัวชื่นชอบ ทำแล้วเพลิดเพลินมีความสุข ทำให้เด็กๆ ลืมเรื่องเครียดได้อีกทั้งยังทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัวด้วย
      
       3. การพูดอย่างสร้างสรรค์ พูดในทางบวก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดจากับลูกให้มากคือการพูดในทางบวก การชมเชยลูก การให้กำลังใจ เช่น “เก่งจังเลย” “สวยจัง” “ทำได้เยี่ยมไปเลย” เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสอนลูก ควรใช้คำพูดที่สุภาพ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีและช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณและลูกมีความสุขมากขึ้น
      
       4. การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป อาจให้เด็กร้องไห้บ้าง แล้วเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กได้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย เพราะการร้องไห้เป็นการระบายความเครียดได้ดีอย่างหนึ่ง เด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดไว้
      
       5. พ่อแม่ควรมีความยืดหยุ่นในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ควรทำกิจกรรมที่รีบเร่งหรือเร่งรัดเด็กเกินไป แต่ควรฝึกให้ลูกรู้จักวินัยและมีความรับผิดชอบ โดยพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนเด็ก วันหยุดให้เด็กได้พักผ่อน ทำกิจกรรมที่เด็กชอบ การเรียนศิลปะ ดนตรีกีฬาที่พอเหมาะ จะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น
      
       6. การยอมรับในความสามารถของเด็ก และ ไม่ควรบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ยังไม่พร้อม เช่น การสอนให้คัด ก.ไก่ ข.ไข่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 4 ปี การให้นั่งเรียนอยู่ที่โต๊ะเรียนเป็นเวลานานเกินไป เป็นต้น
      
       7. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นควรหาสาเหตุก่อนเพื่อทำการแก้ไข ก่อนที่จะลงโทษเด็ก ควรถามถึงเหตุผลที่เด็กกระทำสิ่งนั้นว่าคืออะไร? ทำไมจึงทำ? เมื่อเราทราบสาเหตุแล้วจะทำให้เราเข้าใจการกระทำของเด็ก ส่งผลให้เราสามารถพูดคุยและสอนเด็กได้อย่างถูกต้องและส่งเสริมให้เด็กได้แก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีผลดีหรือเสียอย่างไร
      
       8. การให้เด็กได้พบกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่อันตราย การรู้จักความผิดพลาดบ้าง ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัว และรู้จักแก้ไขปัญหาได้
      

 

       ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก เฮลท์ ทูเดย์

Manager online