ทรัพย์ดีต้องอยู่กับคนดี
  จำนวนคนเข้าชม  6747

ทรัพย์ดีต้องอยู่กับคนดี       


โดย อ.วิทยา  วิเศษรัตน์    
 

 

           ในยุคนี้เรามักพูดถึงคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีพี่น้องกี่คนที่จะเข้าใจแก่นแท้ของมันว่าคืออะไร?  บางคนอาจเข้าใจว่ามันคือการประหยัด  บางคนอาจเข้าใจว่าต้องเก็บออมไว้ให้มากๆ  จะได้เกิดความพอเพียง

                ด้วยความจริงแล้วเราจะเข้าใจสิ่งใดต้องเข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งนั้น เช่นอยากรู้จักสีดำเป็นอย่างไรก็ควรจะรู้จักสีขาวเป็นอย่างไร  อยากจะรู้จักว่าคนๆ หนึ่งเป็นคนดีเป็นอย่างไรก็ควรจะทำความเข้าใจว่าคนชั่วเป็นอย่างไร?  เมื่อเรารู้จักคนชั่วแล้วทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับคนดีได้ดีขึ้น

                ดังนั้นศัตรูของความพอเพียงอันได้แก่

                - ความฟุ่มเฟือย
                - ความตระหนี่
                - ความจน
                - การกักเก็บเกินความจำเป็น
                - ความเกียจคร้าน
                - ความขยันเกินขอบเขต
                - การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ ที่ขาดหลักการ และเหตุผล และอื่นๆ

                อิสลามสอนมุสลิมให้เป็นมือบนมากกว่าการเป็นมือล่างให้ทำตัวเป็นผู้ให้  และไม่สนับสนุนการขอโดยไร้ความจำเป็น คนจนที่รักศักดิ์ศรีของตัวเองไม่ขอใครง่ายๆ มักจะถูกมองว่าเป็นคนรวยทั้งๆ ที่ยากจน

                อัลกุรอาน ได้กล่าวถึงพวกเขาไว้ว่า

ความว่า : (จงบริจาค) แก่บรรดาผู้ยากจนที่ถูกจำกัดตัวอยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ (ทำงานศาสนาเช่นญิฮาด) โดยพวกเขาไม่สามารถเดินทางไปในแผ่นดินได้ (ในการทำอาชีพเช่นค้าขาย) คนโง่เขลาคิดว่าพวกเขาเป็นผู้มีจะกิน (รวย) เนื่องจากความสงบเสงี่ยมของพวกเขา โดยที่เรารู้จักพวกเขาด้วยเครื่องหมายของพวกเขาที่ไม่ขอใครอย่างพร่ำเพรื่อ ซ้ำซาก (2,273)

           โองการข้างต้นได้กล่าวถึงคนที่มีความพอเพียงในตัวเอง คือคนที่ไม่คิดพึ่งพาใครง่ายๆ ทั้งๆ ที่ยากจน  และการที่พวกเขาจนก็เพราะว่าพวกเขาทำงานศาสนา  ไม่มีโอกาสที่จะเดินทางไปค้าขายหรือรับจ้างทำงานใดๆ  ฉะนั้นคนส่วนใหญ่จึงคิดว่าพวกเขามั่งมี เพราะไม่ได้แบมือของใคร

          สภาพของมุสลิมในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน  คนที่ทำงานศาสนาหรือโรงเรียนศาสนามักจะถูกละเลยจากการได้รับความช่วยเหลือ การเป็นผู้สอนศาสนานอกจากจะได้ค่าตอบแทนที่น้อยแล้ว  ยังไม่มีโอกาสที่จะประกอบอาชีพอื่นเพื่อเป็นรายได้ของครอบครัว  และ หากได้คู่ครองที่เห็นแก่ตัว  ผู้ที่มีความรู้ศาสนา ก็จะไม่มีโอกาสได้รับใช้งานของอัลลอฮ์     

         ในเรื่องเศรษฐกิจอิสลามได้มองความรวยอยู่ที่การมีทรัพย์สินจำนวนมาก  แต่มองที่จิตใจอันพอเพียงดังที่ท่านนะบี  ได้กล่าวไว้มีใจความว่า

                “ความรวยไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์มาก แต่ความรวยอยู่ที่ความรวยน้ำใจ” (หะดีษบุคคอรี และ มุสลิม)

                ความรวยน้ำใจก็คือการรู้จักพอเพียงไม่โลภมาก  รู้จักให้ไม่รู้จักแต่คำว่าเอา ทำตัวเป็นมือบนและไม่ทำตัวเป็นมือล่าง  เพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่า “การบริจาคจะไม่ทำให้ทรัพย์บกพร่อง”

                เชื่อหรือไม่ว่า “ยิ่งบริจาคยิ่งเพิ่มพูน” เมื่อเชื่อแล้วอย่าอยู่เฉยๆ สังคมจะหายนะเพราะคนรวยเห็นแก่ตัว และคนจนเห็นแก่เงิน
 

www.cicot.or.th