พลังแห่ง อัลฮัจญ์ มับรูร์
  จำนวนคนเข้าชม  4726

พลังแห่ง อัลฮัจญ์ มับรูร์


นิพล  แสงศรี


          อัลฮัจญ์  คือ ๑ ใน ๕ ของโครงสร้างพื้นฐานของอัลอิสลามได้แก่  การกล่าวชะฮาดะฮ์  การละหมาด  การถือศีลอด การจ่ายซะกาต และการประกอบพิธีฮัจญ์  ณ  ประเทศซาอุดิอาระเบีย   โดยอัลฮัจญ์ต้องอาศัยทั้งร่างกาย  จิตใจ  ทรัพย์สิน  และความปลอดภัยในการเดินทาง  ในเวลาเดียวกัน  ขณะที่  การกล่าวชะฮาดะฮ์  การละหมาด  และการถือศีลอด อาศัยจิตใจกับร่างกาย    ส่วนการจ่ายซะกาตขึ้นอยู่กับทรัพย์สิน  ทุกประการต่างมีความสำคัญในตัวเอง  เพราะสามารถทำให้มุสลิมเป็นคนที่มีคุณภาพในตัวเองได้ในระดับหนึ่ง  แต่เมื่อนำทั้ง ๕ ประการมาร่วมไว้ในคนๆเดียว คุณภาพยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นในอีกระดับ  และหากประชากรมุสลิมกว่า ๑,๕๐๐ ล้านคนมีคุณภาพเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน  ย่อมจะส่งผลต่อโลกมุสลิมมีศักยภาพในด้าน การศึกษา  ศาสนา  สังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง การปกครอง และอื่นๆ

           โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  อัลฮัจญ์ ที่มีรูปแบบมาจากท่านนะบีมุฮัมมัด   นอกจากจะทำให้การประกอบพิธีฮัจญ์ถูกต้องและเป็นเส้นทางแห่งฮัจญ์ มับรูร์ แล้ว หากเราใช้สติปัญญาไตร่ตรองเราจะพบว่า อัลฮัจญ์ มี  "พลังแฝง" หลายประการที่เป็นประโยชน์ต่ออุมมะฮ์ท่านนะบีมุฮัมมัด  ได้แก่

 

          ๑. อัลฮัจญ์  คือ การแสดงออกถึงเอกภาพของการศรัทธาและการปฏิบัติ  การยืนหยัดและจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ และท่านนะบีมุฮัมมัด ตามคำกล่าวกะลีมะฮ์ชะอาดะฮ์อย่างแท้จริง  เนื่องจากต้องอาศัยพลังศรัทธา  ความตั้งใจจริง  และความแน่วแน่ที่จะกระทำอย่างบริสุทธิ์ใจ เจริญรอยตามท่านนะบีมุฮัมมัด วางไว้  

นอกจากนั้น อัลฮัจญ์ ยังเป็นเวทีของการแสดงออกถึงเอกภาพทางการปฏิบัติตามขั้นตอนที่เหมือนกัน  เงื่อนไขแบบเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ณ สถานที่แห่งเดียวกัน และการแต่งกายที่เหมือนกัน  อีกทั้งยังต้องตระเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย  จิตใจ  ทรัพย์  และความปลอดภัยขณะเดินทาง  ตลอดจนตระเตรียมความรู้  ความเข้าใจ  และข้อมูลเกี่ยวกับอัลฮัจญ์ที่ถูกต้องที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  อัลฮัจญ์ ที่มีรูปแบบมาจากท่านนะบีมุฮัมมัด 


         ๒. อัลฮัจญ์  คือ การรำลึกถึงความเกรียงไกรของอัลอิสลามในอดีต  แหล่งกำเนิดของทางนำที่ได้เจิดจรัสไปทั่วโลก  สัมผัสร่องรอยการเสียสละของท่านนะบีมุฮัมมัด และเหล่าเศาะฮาบะฮ์   ตลอดจนการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของนะบีอิบรอฮีม นะบีอิสมาอีล  และพระนางฮาญัร  ซึ่งเป็นต้นแบบของการประกอบพิธีฮัจญ์ ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานับพันๆ ปี

สิ่งเหล่านี้สามารถพิสูจน์ด้วยตนเองได้จากสถานที่จริง  เพื่อนำมาเป็นบทเรียน และเป็นกำลังสำหรับการดำเนินวิถีชีวิตตามรูปแบบอัลอิสลาม


          ๓. อัลฮัจญ์ คือ  กระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณและขัดเกลาจิตใจ  เนื่องจากเป็นสนามฝึกขนาดย่อมสำหรับมุสลิม เพื่อฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพ  เข้มแข็งทั้งด้านจิตใจและร่างกาย    และเพื่อให้เป็นผู้ที่มีภารดรภาพ มีความเอื้ออาทร  มีความเสมอภาค และเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นและสังคม  โดยผ่านกระบวนการทดสอบท่ามกลางขั้นตอนและเงื่อนไขต่างๆมากมาย ตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งจบ  โดยผู้ประกอบพิธีทุกคนต่างมีอุดมการณ์ร่วมกันและเป้าหมายเดียวกัน 

แม้รายละเอียดทางการปฏิบัติจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยก็ตาม  แต่ทุกคนต่างอยู่ในสถานะเดียวกันที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกัน พึ่งพากัน  แบ่งปันกัน  อภัยให้กัน  อดทนและอดกลั้นต่อกัน เชื่อฟังผู้นำ  อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักควบคุมอารมณ์มิให้พลาดพลั้งกระทำสิ่งต้องห้ามโดยเฉพาะการร่วมหลับนอนกับภรรยา  ตลอดจนร่วมฟันฝ่าอุปสรรคและผ่านบททดสอบจากอัลลอฮ์ ร่วมกัน ก่อนจะบรรลุถึงจุดหมายของ อัลฮัจญ์ มับรูร์  สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยพื้นฐานสำหรับการยืนหยัดความเป็นมุสลิม ซึ่งจะส่งผลทำให้โลกอิสลามเกิดศักยภาพขึ้นในด้านต่างๆ ตามมา  


          ๔. อัลฮัจญ์ คือ  ความพยายามที่จะรวมประชาติอิสลามให้เป็นหนึ่งเดียว  ภายใต้คำสั่งของอัลลอฮ์ และนะบีมุฮัมมัด   โดยพยายามขจัดปัญหาความขัดแย้ง  การปฏิเสธความเหลื่อมล้ำและวรรณะของมนุษย์  โดยเฉพาะเส้นแบ่งเขตระหว่างชนชาติ  เชื้อชาติ  ภาษา  สีผิว ชนชั้น  ตามที่โลกตะวันตกหยิบยื่นมาให้หลังอาณาจักรอุสมานียะฮฺ (ออตโตมาน) ล่มสลาย 

ความพยายามดังกล่าวเรายังสามารถพบได้ในบัญญัติว่าด้วยเรื่องการละหมาดญะมาอะฮฺ (ประจำวัน)  การละหมาดญุมอะฮฺ (ประจำสัปดาห์) และการละหมาดอีด (ประจำปี) ดังนั้นความพยายามข้างต้นจึงถือว่าเป็นผลตอบแทนอันยอดเยี่ยมที่ท่านนะบีมุฮัมมัด มอบให้เป็นของขวัญแก่ทุกคน เพื่อเป็นโล่ปกป้องอัลอิสลามให้พ้นจากการถูกรุกรานในด้านต่างๆ


         ๕. อัลฮัจญ์ คือ  งานท้าทายความสามารถด้านบริหารจัดการระดับโลก  เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา  ท่านนะบีมุฮัมมัด เคยนำคนกว่า ๑  แสนคนเดินเท้าจากนครมะดีนะฮ์ มายังนครมักกะฮ์ (ประมาณ ๔๗๐ กิโลเมตร)  เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์   ตลอดระยะเวลาการประกอบพิธีฮัจญ์ท่านสามารถบริหารและจัดการทุกอย่าง  ทุกขั้นตอนให้ดำเนินไปอย่างสงบและเรียบร้อยปราศจากปัญหา  โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องมืออันทันสมัย  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสำเร็จของท่านนะบีมุฮัมมัด ด้านการบริหารจัดการ 

ปัจจุบัน อัลฮัจญ์ จึงถือเป็นงานท้าทายความสามารถระดับโลกสำหรับประเทศเจ้าภาพหากเปรียบเทียบกับการประชุมอาเซียนที่จัดขึ้นในประเทศไทย  หรือโอลิมปิคเกมส์ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ  ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของประเทศเจ้าภาพ และศักยภาพของโลกมุสลิมได้เป็นอย่างดี  โดยมีน้ำมัน  ทรัพยากร และเทคโนโลยีอันทันสมัยเป็นตัวสนับสนุน


          ๖. อัลฮัจญ์ คือ มหกรรมการค้าและการลงทุนของโลกไร้พรมแดน  เนื่องจากบรรดาผู้เดินทางประกอบพิธีฮัจญ์จากทั่วโลก คือ อาคันตุกะผู้มีเกียรติของอัลลอฮ์    มาจากอาชีพและหน้าที่การงานที่แตกต่างกัน  ดังนั้นเทศกาลฮัจญ์ จึงถือเป็นการรวมตัวของบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ และนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกครั้งเดียวในรอบปี  และถือเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน  ทั้งด้านธุรกิจ  การเงินอิสลาม และการลงทุน ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจุลภาคและมหภาคของโลกมุสลิม หรือที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจแบบพึ่งพากัน 

นอกจากนั้นยังถือเป็นการชุมนุนของอาคันตุกะผู้มีเกียรติของอัลลอฮ์   2-3 ล้านคนต่อปี โดยแต่ละคนมีกำลังซื้อมากกว่า 20,000 - 30,000 บาทต่อคน มีเม็ดเงินไหลหมุนเวียนจากภาคการลงทุนกว่า 4,000 ล้านต่อปีโดยยังไม่รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่องทางอื่นๆ  สิ่งเหล่านี้อัลอิสลามเปิดทางไว้ให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ควบคู่การประกอบพิธีฮัจญ์ เช่นเดียวกับหลังละหมาดญุมอะฮ  โดยเฉพาะยุคโลกาภิวัฒน์ที่กลุ่มประเทศทุนนิยมกำลังประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ  จึงได้พยายามหาช่องทางครอบงำระบบเศรษฐกิจมุสลิมและเข้ามามีอิทธิพลในโลกมุสลิมด้วยวิธีการที่ไร้จริยธรรม