ข้อชื้แจง(หุก่ม) เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์
  จำนวนคนเข้าชม  6807

ข้อชื้แจง(หุก่ม) เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์

 

คำถาม :     วันแห่งความรัก (วันวาเลนไทน์) มีหุก่มว่าอย่างไร?
 

คำตอบ :

          หนึ่ง : วันแห่งความรักเป็นวัฒนธรรมของชาวโรมันโบราณ ซึ่งได้ปฏิบัติกันเรื่อยมาจนถึงสมัยที่ชาวโรมันได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ วันดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับนักบวชผู้ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งมีชื่อว่า วาเลนไทน์ ซึ่งผู้นี้ได้มีคำตัดสินให้ประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 270 คริสต์ศักราช วันแห่งความรักดังกล่าวเป็นวันที่บรรดาผู้ไม่ใช่มุสลิมเฉลิมฉลองและถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งมีการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ดีงามระหว่างหญิงชายจนถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์

          สอง : ไม่อนุญาตให้มุสลิมคนใดร่วมในวันรื่นเริงใดๆ ของผู้ไม่ใช่มุสลิมแม้จะด้วยวิธีใดก็ตาม เพราะเหตุที่ว่าวันรื่นเริ่งเป็นพิธีการที่บัญญัติไว้โดยศาสนาจำเป็นที่จะต้องยึดตามหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและหะดีษเท่านั้น

            ท่านอิบนุ ตัยมิยยะฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า

          วันอีดหรือวันรื่นเริงใดๆ นั้นถือเป็นศาสนบัญญัติ แนวพิธีการ หรืออิบาดะฮฺอย่างหนึ่งที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลาได้กล่าวไว้ว่า

« لِكُلٍّ جَعَلْنَا مِنكُمْ شِرْعَةً وَمِنْهَاجاً» (المائدة : 48 )

"สำหรับแต่ละประชาชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้"

(อัลมาอิดะฮฺ : 48)

«لِكُلِّ أُمَّةٍ جَعَلْنَا مَنسَكاً هُمْ نَاسِكُوهُ» (الحج : 67 )

"สำหรับทุกๆ ประชาชาติเราได้กำหนดพิธีทางศาสนาขึ้นโดยที่พวกเขาปฏิบัติพิธีนั้น..."

(อัลหัจญ์ : 67)
 

          ซึ่งเป็นเสมือนกับสัญลักษณ์ทางศาสนาอื่นๆ เช่นกิบละฮฺ การละหมาด หรือการถือศีลอด ไม่มีความแตกต่างระหว่างการเข้าร่วมกับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาในวันรื่นเริงหรือการเข้าร่วมในพิธีการอื่นๆ ทางศาสนาของพวกเขา แท้จริงการยอมรับในวันรื่นเริงทั้งหมดของพวกเขาก็เป็นการยอมรับต่อการฝ่าฝืน(กุฟร์)ทั้งหมด และการยอมรับในวันรื่นเริงเพียงบางส่วนก็เป็นการยอมรับในบางส่วนของการฝ่าฝืนนั้น

          และยิ่งกว่านั้นวันรื่นเริงถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่เจาะจงยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในจำนวนสัญลักษณ์ทางศาสนา และยังเป็นสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดกว่าสิ่งอื่นใดในศาสนาอีกด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้นการยอมรับวันรื่นเริงใดๆ ก็ถือเป็นการยอมรับในวัฒนธรรมที่เจาะจงยิ่งและที่ปรากฏเด่นชัดกว่าสิ่งอื่นใดในจำนวนสัญลักษณ์ทางศาสนา จึงไม่เป็นที่สงสัยอีกว่า การยอมรับในเรื่องนี้จะนำไปสู่คุณสมบัติของการฝ่าฝืนโดยภาพรวมในที่สุด
 
           โดยหลักแล้ว อย่างน้อยที่สุดการเข้าร่วมก็เป็นการกระทำบาป คำกล่าวข้างต้นนี้ท่านนะบี ศอลลอลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ชี้ว่า

"แท้ที่จริงแล้วทุกๆชนชาติจะมีอีดเป็นของตนเอง และนี่คืออีดของพวกเรา" 

         การร่วมวันรื่นเริงเช่นนี้ร้ายแรงกว่าการสวมใส่เสื้อผ้าอัซซุนารฺ (เสื้อผ้าอัซซุนารฺเป็นเสื้อผ้าเฉพาะที่ผู้ไม่ใช่มุสลิมสวมใส่เป็นเอกลักษณ์) หรืออื่นๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกเขา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งที่คิดประดิษฐ์กันขึ้นมาและไม่ใช่เป็นวิถีปฏิบัติที่มาจากศาสนา หากแต่มีเป้าหมายเพียงแค่เพื่อการแยกแยะระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ไม่ใช่มุสลิมเท่านั้น  แต่ทว่าวันรื่นเริงเฉลิมฉลองและสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวันดังกล่าวนั้นเป็นวิถีปฏิบัติส่วนหนึ่งทางศาสนา ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าไม่พอพระทัยทั้งตัวของมันเองและผู้ที่เฉลิมฉลองมันด้วย ดังนั้นการยอมรับในสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาเป็นสาเหตุไปสู่ความโกรธกริ้วและการลงโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ

(ดู อิกติฎออุ อัศศิรอฏิ อัลมุสตะกีม, เล่ม 1 หน้า 207)

     
           ท่าน อิบนุ ตัยมิยะฮฺได้กล่าวอีกว่า

          “ไม่อนุญาตให้มุสลิมคนใดลอกเลียนแบบผู้ไม่ใช่มุสลิมในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับวันรื่นเริงของพวกเขา แม้จะในเรื่องอาหารการกิน การอาบน้ำชำระร่างกาย การก่อไฟ การงดเว้นในสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำในชีวิตประวันหรือในเรื่องที่เกี่ยวกับอิบาดะฮฺอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสิ่งใดก็ตาม ไม่อนุญาตให้จัดงาน เลี้ยงฉลองหรือการให้ของขวัญ การขายสิ่งของใดๆ เพื่อใช้ในวันดังกล่าว หรือการให้เด็กๆ ละเล่นใดๆ หรือประดับประดาอย่างสวยงามเพื่อวันดังกล่าว

          สรุปแล้ว ไม่อนุญาตให้มุสลิมมีการเน้นเป็นพิเศษในวันรื่นเริงของผู้ไม่ใช่มุสลิมด้วยสิ่งใดก็ตามที่เป็นเอกลักษณ์ของวันดังกล่าว หากแต่ว่า วันดังกล่าวเป็นเพียงวันธรรมดาทั่วไปสำหรับมุสลิม โดยไม่มีการเน้นอะไรที่แปลกออกไปจากวันอื่นๆ” (มัจญ์มูอฺ อัลฟะตาวา เล่มที่ 25 หน้า 329)
 
               อัลหาฟิซ อัซซะฮะบีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า 

         “หากว่าสำหรับชาวนะศอรอ(ชาวคริสต์)มีวันรื่นเริงสำหรับพวกเขา สำหรับชาวยิวก็มีรื่นเริงสำหรับพวกเขา พวกเขาเหล่านั้นมีไว้เฉพาะสำหรับวันรื่นเริงเหล่านั้น  ดังนั้นมุสลิมจึงไม่มีการร่วมในวันรื่นเริงกับพวกเขา ดังเช่นที่มุสลิมไม่ได้ร่วมในศาสนบัญญัติต่างๆ และกิบละฮฺของพวกเขา”

(ตะชับบุฮุ อัลเคาะสีส บิอะฮฺลิ อัลเคาะมีส, เล่มที่ 4 หน้าที่ 193 ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร อัลหิกมะฮฺ ฉบับที่ 4 หน้า 193)

                หะดีษที่อิบนุตัยมียะฮฺได้ยกอ้างนั้น เป็นหะดีษที่บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ หมายเลขที่ 952 และอิมามมุสลิม หมายเลขที่ 892 จากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮาได้กล่าวว่า

دَخَلَ أَبُو بَكْرٍ وَعِنْدِي جَارِيَتَانِ مِنْ جَوَارِي الأَنْصَارِ تُغَنِّيَانِ بِمَا تَقَاوَلَتْ الأَنْصَارُ يَوْمَ بُعَاثَ ، قَالَتْ : وَلَيْسَتَا بِمُغَنِّيَتَيْنِ ، فَقَالَ أَبُو : بَكْرٍ أَمَزَامِيرُ الشَّيْطَانِ فِي بَيْتِ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ! وَذَلِكَ فِي يَوْمِ عِيدٍ ، فَقَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ :    ( يَا أَبَا بَكْرٍ إِنَّ لِكُلِّ قَوْمٍ عِيدًا وَهَذَا عِيدُنَا ).

          อบู บักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้เข้ามาในบ้านฉัน ในขณะที่ตอนนั้นมีทาสหญิงของชาวอันศอรฺสองคนกำลังร้องรำทำเพลงเป็นทำนองที่ชาวอันศอรฺร้องกันในวันบุอาษ (วันที่เผ่าเอาซ์และค็อซรอจญ์ทำสงครามในอดีต)

อาอิชะฮฺได้บอกว่า ทั้งสองคนมิได้เป็นนักร้องเพลงแต่อย่างใด(คือไม่ได้ร้องประจำเป็นกิจวัตรหรือเป็นการเป็นงาน)

ท่านอบู บักรฺ จึงกล่าวขึ้นว่า (พวกเจ้าปล่อยให้)มีเสียงขลุ่ยแห่งชัยฏอนในบ้านของท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กระนั้นหรือ?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันอีดหนึ่ง ท่านรอซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  กล่าวว่า

"โอ้ อบู บักรฺ แท้จริงแล้ว สำหรับทุกกลุ่มชนจะมีวันอีด(วันรื่นเริง)สำหรับพวกเขา และนี่เป็นวันอีด(วันรื่นเริง)ของพวกเรา(ชาวมุสลิมทุกคน)"

            
           อบู ดาวูด ได้บันทึกหะดีษในหมายเลขที่ 1134 จากอะนัส เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า

َقدِمَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْمَدِينَةَ وَلَهُمْ يَوْمَانِ يَلْعَبُونَ فِيهِمَا ، فَقَالَ : مَا هَذَانِ الْيَوْمَانِ ؟ قَالُوا كُنَّا نَلْعَبُ فِيهِمَا فِي الْجَاهِلِيَّةِ. فَقَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : ( إِنَّ اللَّهَ قَدْ أَبْدَلَكُمْ بِهِمَا خَيْرًا مِنْهُمَا : يَوْمَ الأَضْحَى ، وَيَوْمَ الْفِطْرِ )

          ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ได้มาถึงมะดีนะฮฺในขณะที่ชาวเมืองมะดีนะฮฺมี(วันอีด)สองวันซึ่งเป็นวันที่พวกเขามีการละเล่นรื่นเริงเฉลิมฉลองในวันดังกล่าว ท่านรอซูลุลลอฮฺจึงได้ถามขึ้นมาว่า "สองวันนี้เป็นวันอะไร?"

          พวกเขาจึงตอบว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่พวกเราจัดให้มีการละเล่นสืบทอดมาตั้งแต่สมัยญาฮิลียะฮฺ ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงกล่าวว่า 

"แท้จริงอัลลอฮฺได้เปลี่ยนวัน(อีด)ที่ดีกว่าวันอีดดังกล่าวสำหรับพวกท่านทุกคนแล้ว นั่นคือ วัน(อีด)อัลอัฎฮาและ(อีด)อัลฟิฏรีย์"

(อัล-อัลบานีย์วินิจฉัยว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺในหนังสือเศาะฮีหฺ อบี ดาวูด)
 
               

          สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงว่าวันอีดหรือวันรื่นเริงนั้นเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะของชนชาติ เพราะฉะนั้นจึงไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าร่วมในวันอีดหรือวันรื่นเริงของผู้ไม่ใช่มุสลิม

 

ผู้แปล : อิบรอเฮง อาลหูเซ็น  / Islam House

 

 http://islamqa.com/index.php?ref=73007&ln=ara