วิกฤติดูไบเวิล์ด
  จำนวนคนเข้าชม  9195


วิกฤติดูไบเวิล์ด


นิพล  แสงศรี

          ดูไบมีประชากรท้องถิ่นเพียง 200,000 คน ขณะที่มีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยถึง 1 ล้านคน  แม้ดูไบจะเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  แต่ดูไบ "ไม่มีบ่อน้ำมัน"  ดังนั้นเมืองที่มีรายได้จากบ่อน้ำมันและเป็นเมืองเศรษฐีตัวจริงของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือ  "อาบูดาบี"

          รายงานจากกระทรวงเศรษฐกิจ UAE ชี้ให้เห็นว่า  อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ในปี 2008 โตขึ้นถึง 7.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2007 ที่เศรษฐกิจโตขึ้น 5.2 เปอร์เซ็นต์   รายงานดังกล่าวขัดกับการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF  ซึ่งประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจ UAE จะโตเพียง3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  

          ปัจจุบันแม้ภาพรวมเศรษฐกิจ UAE จะมีอัตราการเติบโตที่น่าดีใจด้วย  แต่ธุรกิจและการลงทุนหลายบริษัทของ UAE   โดยเฉพาะระบบธุรกิจและการลงทุนที่ฝากฝั่งตะวันตกมีหนี้มากถึง 80,000 ล้านดอลลาร์ (ราว  2.8 ล้านล้านบาท)  จนทำให้ดูไบเกิดวิกฤติฟองสบู่แตก  เพราะโครงการก่อสร้างต่างๆ  มากมายล้วนได้กู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนในอภิมหาโปรเจ็ค  ไม่ว่าจะเป็นตึกสูงที่สุดในโลก  ห้างใหญ่สุดในโลก  โรงแรมใหญ่โตหรูหรา  ชายหาดติดแอร์  และโครงการขนาดยักษ์อีกมากมาย  ซึ่งครบกำหนดชำระหนี้ก้อนโตในปีนี้    และทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องของเมืองดูไบ  ตลาดอสังหาฯ อยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนัก  เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบตกต่ำลงมากถึง 50% ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนแทบไม่มีไฟแนนส์และธนาคารใดปล่อยเงินกู้ให้กับเจ้าโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าวมาทั้งหมด  จนกลายเป็นที่มาของ  วิกฤติดูไบเวิล์ด


ต้นตอวิกฤติดูไบเวิล์ด

          วิกฤติดูไบเวิล์ด  เป็นผลพวงจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) หรือเรียกกันว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลก  กล่าวคือ  เป็นผลพวงมาจากปัญหาธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ  เช่น บ้านพัก  ที่อยู่อาศัย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001  ซึ่งจะไม่ค่อยพบในกลุ่มประเทศ OIC  ยกเว้นธุรกิจบางประเภท  โครงการบางโครงการ  และการลงทุนของบางบริษัทที่อ้างอิงตามระบบเศรษฐกิจตะวันตก  และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดูไบเวิล์ดได้รับพิษสงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้แก่ 

     1) การที่บางบริษัท  สถาบันการเงิน  และธนาคารเข้าไปพัวพันธ์กับระบบการเงินตะวันตกและไว้วางใจกับระบบธุรกิจและการลงทุนของตะวันตกมากเกินไป  และยังรวมไปถึงบริษัท  สถาบันการเงิน  และธนาคารหวังผลกำไรจากฟากตะวันตกมากเกินไป  จนลืมคำนวณเรื่องความเสี่ยง  ความซับซ้อน  และการขาดทุน  ตลอดจนการละเลยข้อห้ามข้อใช้บางประการตามกฎหมายอิสลาม
 
     2)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ  โดยธนาคารและสถาบันการเงินตะวันตกจะปล่อยเงินกู้แก่ทุกคน  โดยหวังเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยจากการผ่อนชำระเพียงอย่างเดียว  สิ่งนี้เองดึงดูดนักธุรกิจ  นักลงทุน และเจ้าของโปรเจคต่างๆ ให้มีความโลภ และคาดหวังว่าจะได้กำไรสูงหากกู้เงินมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

     3) การกู้ได้คนละมากกว่า 1 ครั้ง  กล่าวคือ บางครั้งการกู้เกินกำลังผ่อนของนักธุรกิจ  นักลงทุน และเจ้าของโปรเจคต่างๆ จนกลายเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเรียกกันว่า Sub-prime Mortgage loan  นอกจากนั้นนักธุรกิจ  นักลงทุน และเจ้าของโปรเจคบางราย ยังสามารถกู้เพิ่มขึ้นด้วยการชำระหนี้เก่าและกู้หนี้ใหม่ด้วยจำนวนเงินที่สูงขึ้นตามราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตีราคาสูงขึ้น

      4) การขายบัญชีเงินกู้ทั้งหมดให้กับวานิชธนกิจ (Investment  Bank)  โดยวานิชธนกิจได้นำบัญชีลูกหนี้รวมเป็นกองหนุนหลังการออก MBS (Mortgage Backed Securities) ซึ่งถือเป็น  CDO (Collateralized Debt Obligation)  ประเภทหนึ่ง  และ  MBS    จะมอบให้กับสถาบันจัดอันดับเครดิต  โดย   MBS  ที่ได้อันดับที่ดีจะใช้หนุนหลังการออก  CDO  อีกที่หนึ่ง  โดยอาศัยตราสารเป็นหลักประกันในการกู้เท่านั้น

     5)  การซื้อขายตราสารหนี้  กล่าวคือ  วานิชธรกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาได้ออก  CDO  ขายให้กับสถาบันการเงินและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ทั้งในสหรัฐ  ยุโรป  ออสเตรเลีย  ญี่ปุ่น  และจีน  เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง  และออกโดยสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ  จึงมีการซื้อขายกันทั่วโลก  การซื้อขายตราสารหนี้กับสถาบันการเงินด้วยเงินจำนวนมากนั้นส่งผลกระทบต่อธนาคารและสถาบันการเงิน  เพราะถ้าราคาอสังหาริมทรัพย์และมูลค่าหลักประกันลดลง  ราคาตราสารและความน่าเชื่อถือย่อมลดลงตามหรืออาจไม่มีสภาพคล่อง  ปัญหาหนี้เสียจึงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

           จะเห็นได้ว่า  ธุรกิจสินเชื่อและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อาศัยระบบเงินกู้และดอกเบี้ยจากตะวันตกจนเป็นที่มาของปัญหา  นักวิชาการและนักวิจัยอิสลามได้เตือนทุกคนว่า ไม่ควรหลงเล่ห์เหลี่ยมจนตกหลุมพรางหรือเห็นแก่ผลประโยชน์  โดยพิจารณาเปลือกภายนอกของเงินปันผล  และเมินเฉยต่อส่วนลึก  สาเหตุหรือความเป็นจริงที่นะบีมุฮัมมัด ได้ประกาศห้ามมากว่า  1431  ปี  หรืออาศัยความเสียดายของตน และผลประโยชน์นำมาเป็นข้ออ้างในการอนุมัติให้ทุกคนนำมาใช้  (al-Ashqari, Muhammad, et.al., 1998, หน้า  122, เล่ม 1)  หากสถาบันการเงินและธนาคารจะหลีกเลี่ยงจริงๆ  ควรใช้หลัก Madharabah and Murabahah หรือเรียกว่า  การถือหุ้นและการลงทุนร่วมแบบแบ่งปันผลกำไร  ตลอดจนให้ความสำคัญกับระบบการลงทุนแบบ  Isthimar และ Tamweel   จึงจะสามารถลดความเสี่ยงและการขาดทุนลงได้เหมือนในกลุ่มประเทศ OIC 

          กรณีสถาบันการเงินในตะวันตก ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้กู้ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน  (Sub-prime Mortgage loan) เพื่อหวังเก็บเกี่ยวผลกำไรจากดอกเบี้ย  และเปิดโอกาสให้ผู้กู้สามารถขอกู้ได้คนละหลายครั้ง  หรือสามารถกู้ยืมเพิ่มขึ้นด้วยการชำระหนี้เก่า และกู้หนี้ใหม่ด้วยจำนวนเงินที่สูงขึ้นตามการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น  หรือหากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้  ผู้ให้กู้สามารถยึดอสังหาริมทรัพย์มาขายชดเชยได้  วิธีการเช่นนี้นอกจากจะขัดกับระบบเศรษฐกิจอิสลามแล้ว ยังทำให้สถาบันการเงินดังกล่าวยังคงแบ่งรับความเสี่ยง  เพราะ

1) การปล่อยให้กู้เกินกำลังผ่อนของผู้กู้จะทำให้เกิดลูกหนี้เกรดสอง

2) ถ้าตลาดอสังหาริมทรัพย์ถึงจุดอิ่มตัว  ราคาอสังหาริมทรัพย์และมูลค่าของหลักประกันจะลดลง และจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทันที   

          ตามหลักเศรษฐศาสตร์อิสลาม สถาบันการเงินและการลงทุนจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเพื่อหวังเก็บเกี่ยวต้นทุนและคาบเกี่ยวดอกเบี้ย  เช่นเดียวกับไม่ส่งเสริมนักลงทุนนำอัตราดอกเบี้ยต่ำมาเก็งกำไรจากธุรกิจสินเชื่อและการลงทุน  หากละทิ้งสิ่งเหล่านี้ได้ ปัญหาความเสี่ยงและผลกระทบตามมาจะลดน้อยลง  และโอกาสที่  Sub-prime Mortgage loan  จะกลายเป็นหนี้เสียค่อนข้างน้อย  ส่วนผู้กู้เองก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบหรือชดใช้ในสิ่งที่ตนเองกู้มา  เพราะ  แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงใช้พวกท่านให้คืนสิ่งที่รับอะมานะฮ์แก่เจ้าของ (อันนิซาอฺ 58)  เช่นเดียวกับนะบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า ชีวิตของผู้ศรัทธาถูกแขวนบนไว้กับเรื่องหนี้สินจนกว่าเขาจะได้ชดใช้คืน (บันทึกโดยอัษติรมีษีย์และได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากเชคอัลบานีย์)

          ส่วนสถาบันการเงินตะวันตกที่ปล่อยสินเชื่อได้นำบัญชีเงินกู้ทั้งหมด ขายให้กับวานิชธนกิจ (Investment  Bank) และวานิชธนกิจได้นำบัญชีลูกหนี้เหล่านี้มารวมเป็นกองทุนเพื่อออก MBS  ซึ่งถือเป็น  CDO   ประเภทหนึ่ง  ก่อนมอบให้กับสถาบันจัดอันดับเครดิตเข้ามาจัดลำดับ โดย MBS  ใดได้อันดับดีจะใช้หนุนหลังการออก  CDO  อีกที่หนึ่ง  สิ่งเหล่านี้ทำให้การซื้อขายเป็นโมฆะตามทัศนะอัลอิสลาม  เพราะ

1) การซื้อขายตราสารหนี้เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และซับซ้อน  รวมทั้งมีความเสี่ยงแอบแฝงอยู่ค่อนข้างมาก 

2) ไม่มีการส่งมอบตัวตัวสินค้าหรืออสังหาริมทรัพย์กันจริงๆ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ถ้าราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มลดลง ตราสารหนี้จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือและไม่มีสภาพคล่องไปด้วย และส่งผลให้  Sub-prime Mortgage loan  จำนวนมากจะกลายเป็นหนี้เสียและมีผลต่อเนื่องไปถึง CDO  ที่หนุนหลังอยู่  ซึ่งจะไม่ค่อยพบในกลุ่มประเทศ OIC  ยกเว้นธุรกิจบางประเภท  โครงการบางโครงการ  และการลงทุนของบางบริษัทที่อ้างอิงตามระบบเศรษฐกิจตะวันตก 

          บันทึกของอัตติมิษีย์, อิบนุมาญะฮ และอันนะซาอีย์ระบุว่า  ท่านนะบีมุฮัมมัดเคยกล่าวว่า  “ไม่มีการซื้อขายในสิ่งที่ท่านไม่มี”  หมายถึง สิ่งที่ผู้ขายไม่มีสิทธิหรือไม่ได้ครอบครองหรือไม่สามารถส่งแก่ผู้ซื้อได้  (al-Shawkani, 1973,  หน้า 252 เล่ม 5)