เรื่องของ"โลก" ในมุมที่คุณไม่รู้
  จำนวนคนเข้าชม  109528

เรื่องของ "โลก" ในมุมที่คุณไม่รู้


           โลกเกือบกลมใบนี้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณ 4,540 ล้านปีก่อน ในฐานะดาวเคราะห์ดวงหนึ่งของระบบสุริยะ (Solar system) ที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกมีสารพัดเรื่องราวให้มนุษย์ได้ศึกษาทำความเข้าใจกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น หลายๆ เรื่องราว หลายๆ ข้อมูลเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้หรือแทบจะนึกไม่ถึงมาก่อน แต่ถ้าได้ลองเก็บมานั่งทบทวนดูแล้ว เราจะพบความมหัศจรรย์ของโลกใบนี้ได้อีกมากเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นเรื่องดังต่อไปนี้

ลักษณะกายภาพ


          1. เริ่มกันตั้งแต่ขนาดของโลกก่อน โลก (Earth) มีเส้นรอบวงตามแนวนอน 40,075 กิโลเมตร และเส้นรอบวงตามแนวตั้ง 40,008 กิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของดาวเคราะห์ทั้งหมดในระบบสุริยะ แต่เล็กกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100 เท่า ถ้าเราไม่มีเงินไปเที่ยวรอบโลก ให้เดินทางจากเหนือสุดถึงใต้สุดของประเทศไทย 20 ครั้ง ก็จะเท่ากับเดินทางรอบโลก 1 รอบพอดี

          2. ถ้าเอาโลกวางลงบนเครื่องชั่งน้ำหนัก (ที่เครื่องใหญ่พอ) ตัวเลขมวลของโลกที่จะแสดงออกมาก็คือ 5,973,600,000,000,000,000,000,000 กิโลกรัม หรือเขียนให้ง่ายขึ้นกว่าเดิมว่า 5.9736×1024 กิโลกรัม

          3. ใครที่บอกว่า "โลกกลม" คนนั้นผิด เพราะด้วยขนาดตามข้อแรก ทำให้โลกมีรูป "ทรงรี" ที่เกือบๆ จะเป็นทรงกลม แต่สมัยหนึ่งมนุษย์เคยถูกประหารชีวิต เพราะไม่ยอมเชื่อว่า "โลกแบน" คนที่เกือบจะเป็นหนึ่งในนั้นก็คือ กาลิเลโอ (Galileo Galilei) แต่โชคดีที่เขาฉลาดพอจะแกล้งสาบานว่าเชื่อเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปได้

          4. ส่วนใครที่บอกว่า "ก็โลกมันเอียง" คนนั้นพูดถูก เพราะแกนโลกเอียงทำมุมจากแนวดิ่ง (แนวตั้ง) ประมาณ 23.5 องศา ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกว่าโลกเป็นลูกชิ้นปิ้งที่ถูกไม้เสียบอยู่กลางลูก แล้วเราถือไม้ให้มันเอียงจากแนวดิ่งไป 23.5 องศา โลกก็จะเอียงตามด้วยมุมที่เท่ากัน

          5. โลกหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็ว 1,674.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่าความเร็วสูงสุดของเครื่องบินโดยสารแอร์บัส A380 เสียอีก แต่เพราะขนาดของโลกมันใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดตัวของเรา จึงทำให้เราไม่รู้สึกเลยว่าโลกกำลังหมุนอยู่ (ยกเว้นคนกำลังเมาเหล้า) ด้วยความเร็วขนาดนี้ทำให้โลกใช้เวลาหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบเท่ากับ 23 ชั่วโมง 56 นาที 4.09 วินาที แต่เพื่อไม่ให้วุ่นวายจึงต้องปัดเศษเป็น 24 ชั่วโมงเต็ม

          6. ไม่ใช่แค่หมุนรอบตัวเองเท่านั้น แต่โลกยังหมุนรอบดวงอาทิตย์ไปด้วยพร้อมๆ กัน ที่ความเร็ว 107,218 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบเท่ากับ 365.24 วัน แต่ปัดเศษเหลือแค่ 365 วันเต็ม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุกๆ 4 ปี เดือนกุมภาพันธ์จะต้องมี 29 วัน ก็เพราะบวกเศษที่เหลืออีกปีละ 0.24 วัน รวมเข้าด้วยกันเป็นอีกหนึ่งวันนั่นเอง

          7. ทุกวันนี้โลกส่งแรงโน้มถ่วง 9.81 เมตรต่อวินาทีกำลังสอง มาดึงดูดเราเอาไว้ ในขณะที่ดาวพลูโตมีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่านั้นถึง 15 เท่า หมายความว่า ถ้าอยู่บนโลกเรากระโดดได้สูง 1 เมตร เมื่อไปอยู่บนดาวพลูโตเราจะกระโดดได้สูงถึง 15 เมตร

          8. จากแรงโน้มถ่วงดังกล่าวของโลก ทำให้เราต้องใช้จรวดที่มีความเร็วมากกว่า 40,269.60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้หลุดพ้นไปจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง และพุ่งทะยานออกไปนอกโลกได้

          9. ถ้าผ่ากลางโลกออกเป็น 2 ซีกเหมือนผ่าแตงโม เราจะเห็นภายในโลกแบ่งเป็นชั้นใหญ่ๆ 3 ชั้น ชั้นบนสุดคือ "เปลือกโลก" (Crust) ที่เราอาศัยอยู่ มีความหนาประมาณ 30-50 กิโลเมตร ลึกลงไปเป็นชั้น "เนื้อโลก" (Mantle) ซึ่งก็คือชั้นของหินหนืดที่พุ่งขึ้นมาเป็นลาวาบนพื้นโลกเมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิด ชั้นนี้มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร มีอุณหภูมิประมาณ 800-4,300 องศาเซลเซียส ชั้นในสุดของโลกคือ "แกนโลก" (Core) หนาประมาณ 3,300 กิโลเมตร มีอุณหภูมิประมาณ 4,300-6,400 องศาเซลเซียส ส่วนประกอบหลักของชั้นนี้คือธาตุเหล็ก รอบนอกจะเป็นเหล็กเหลว แต่ส่วนในสุดที่เป็นแก่นกลางของโลกมีความหนาแน่นมหาศาล จนทำให้เหล็กเหลวกลายเป็นเหล็กแข็ง

          10. และที่พูดกันว่า โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น แท้ที่จริงแล้วในชั้นบรรยากาศของโลกมี "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" อยู่เพียง 0.038% ส่วนก๊าซที่มีอยู่มากที่สุดก็คือ "ก๊าซไนโตรเจน" ซึ่งมีถึง 78.08% ของชั้นบรรยากาศ รองลงมาก็คือ "ก๊าซออกซิเจน" 20.95% และ "ก๊าซอาร์กอน" 0.93% แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนแค่นี้ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก จนนำมาสู่ภาวะโลกร้อนอย่างทุกวันนี้ได้แล้ว ส่วนประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดประจำปี พ.ศ.2549 แน่นอนต้องเป็นประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง "จีน" (21.5%) ตามมาด้วย "สหรัฐอเมริกา" (20.2%) ซึ่งทิ้งห่าง "รัสเซีย" ที่ได้อันดับ 3 อย่างขาดลอย (5.5%) และ "ไทย" อยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก (1.0%) เห็นกันหรือยังว่าใครคือตัวการหลักที่ทำให้สภาพอากาศโลกปั่นป่วนอยู่ในขณะนี้

          11. โลกมีพื้นที่ผิว 510,072,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 71% (361,132,000 ตารางกิโลเมตร) ที่เหลืออีกประมาณ 29% (148,940,000 ตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นดิน แต่ก็ใช่ว่าพื้นดินทั้งหมดมนุษย์จะสามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะพื้นดินประมาณ 13,720,000 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นทวีปแอนตาร์กติกา มีอากาศหนาวจัดจนไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร มีแต่พวกนักวิจัยจอมอึดเพียงประมาณพันคนเท่านั้นที่ทนอยู่ได้

          12. ถ้าเมื่อไรที่โลกขาดแคลนน้ำจืด "ทวีปแอนตาร์กติกา" (Antarctica) ตรงขั้วโลกใต้ สามารถช่วยเราได้ เพราะพื้นที่ 98% ของทวีปแอนตาร์กติกาปกคลุมไปด้วยแผ่นน้ำแข็งที่หนาเฉลี่ยถึง 1.6 กิโลเมตร น้ำแข็ง 90% ของโลกมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ซึ่งมันสามารถสร้างน้ำจืดให้เราได้ถึง 70% ของปริมาณน้ำจืดที่มีในโลก แต่ข้อเสียอย่างเดียวก็คือ ถ้ามันละลายหมด น้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นเฉลี่ย 60 เมตร หรือสูงประมาณตึก 20 ชั้น เวลานั้นภาคอีสานบ้านเราก็จะมีชายฝั่งทะเลเป็นของตัวเองแล้ว


          13. อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกอยู่ที่ 14 องศาเซลเซียส แต่ถ้าใครชอบอากาศหนาวๆ ต้องไปเที่ยวขั้วโลกใต้ เพราะที่ "สถานีวิจัยวอสต๊อก" (Vostok Station) ในทวีปแอนตาร์กติกา เคยวัดอุณหภูมิได้ต่ำที่สุดในโลกถึง - 89.2 องศาเซลเซียส วัดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2526 ส่วนอุณหภูมิที่สูงที่สุดบนพื้นผิวโลก คือ 57.8 องศาเซลเซียส ที่เมือง "อัลอซิซยา" (Al 'Aziziyah) ประเทศลิเบีย ในทวีปแอฟริกา วัดได้เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2465

          14. คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่ายอดเขาที่สูงที่สุดของไทยคือ "ดอยอินทนนท์" แต่ยอดเขาที่สูงที่สุดของโลกอยู่ที่ยอดเขา "เอเวอเรสต์" (Everest) ประเทศเนปาล มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 8,848 เมตร ซึ่งต้องเอาดอยอินทนนท์ 3.5 ลูก มาต่อกันถึงจะได้ความสูงเท่านี้ และแน่นอนว่าจุดนี้คือจุดที่สูงที่สุดของโลกเราแล้ว

          15. สำหรับจุดที่ต่ำที่สุดของโลกอยู่ใน "ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา" (Mariana Trench) ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับ "เกาะกวม" (Guam) ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ชาลเลนเจอร์ดีป" (Challenger Deep) รูปร่างหน้าตาเหมือนหุบเหวที่อยู่ใต้ท้องทะเล ก้นของหุบเหวนี้มีความลึกจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 10,923 เมตร ลึกกว่าความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์เสียอีก

          16. ผืนน้ำบนโลกนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 มหาสมุทร เรียงตามขนาดใหญ่ คือ "มหาสมุทรแปซิฟิก" (Pacific Ocean) "มหาสมุทรแอตแลนติก" (Atlantic Ocean) "มหาสมุทรอินเดีย" (Indian Ocean) "มหาสมุทรใต้" (Southern Ocean) และ "มหาสมุทรอาร์กติก" (Arctic Ocean) มหาสมุทรแปซิฟิกกินพื้นที่ถึง 169.2 ล้านตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 30% ของพื้นที่ผิวทั้งหมดของโลก ส่วนมหาสมุทรอาร์กติกกินพื้นที่เพียง 14.056 ล้านตารางกิโลเมตร ประเทศรัสเซียแค่ประเทศเดียวยังมีขนาดใหญ่กว่า

          17. ผืนดินบนโลกนี้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ทวีป (ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา) เรียงตามขนาดใหญ่ คือ "ทวีปเอเชีย" (Asia) "ทวีปแอฟริกา" (Africa) "ทวีปอเมริกาเหนือ" (North America) "ทวีปอเมริกาใต้" (South America) "ทวีปแอนตาร์กติกา" (Antarctica) "ทวีปยุโรป" (Europe) และ "ทวีปออสเตรเลีย" (Australia) ทวีปเอเชียกินพื้นที่ถึง 43.82 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็น 8.5% ของพื้นที่ผิวทั้งหมดของโลก แต่ทวีปออสเตรเลียกินพื้นที่แค่ 9,008,500 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.7% ของพื้นที่ผิวทั้งหมดของโลก เล็กกว่ากันเกือบ 5 เท่าตัว


https://www.myfirstbrain.com