ต้องรักษาสัญญา
  จำนวนคนเข้าชม  16222

ต้องรักษาสัญญา


โดย....อ.อับดุลลอฮฺ มานะ


          การจะเป็นผู้รักษาสัญญานั้น เรียกร้องให้เราได้รำลึกถึงอดีตที่ผ่านมา เราจึงจะได้บทเรียนที่ดีสำหรับปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยจน แล้วอัลลอฮฺทรงให้เรารวย หรือครั้งหนึ่งเราเคยอ่อนแอ เจ็บป่วย แล้วอัลลอฮฺทรงให้เรามีสุขภาพแข็งแรง
 
         อิสลามไม่ต้องการให้เราหลงลืม ทำตัวเหมือนคนไม่เคยจน หรือไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน จนกลายเป็นคนหยิ่งผยอง จนคิดว่าการได้ดีมีสุขเกิดจากความสามารถ หรือความเก่งกาจของตัวเอง และลืมความเมตตาของอัลลอฮฺโดยสิ้นเชิง  การกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการผิดสัญญา ซึ่งชักนำไปสู่ความเสียหาย อันเป็นเหตุทำให้เราหลุดพ้นจากความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  และจะไม่มีโอกาสได้รับทางนำที่จะได้เข้าสู่ร่มเงาแห่งความเมตตา


         ในมะดีนะฮฺ มีชายคนหนึ่งชื่อ สะอฺละบะฮฺ ได้ไปที่ประชุมของชาวอันศอร และเรียกร้องให้ชาวอันศอรเป็นสักขีพยานว่า หากอัลลอฮฺให้เขาร่ำรวย เขาจะบริจาคและช่วยเหลือเครือญาติ บังเอิญญาติสนิทของเขาได้เสียชีวิตลง และเขาเป็นผู้รับมรดกแต่เพียงผู้เดียว เขาจึงกลายเป็นคนรวยขึ้นมาทันที แต่เขาก็ไม่ได้รักษาสัญญาและไม่ได้สนใจสิ่งที่เขาเคยประกาศเอาไว้

ในเรื่องนี้อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ว่า 
 

"وَمِنْهُمْ مَنْ عَاهَدَ اللَّهَ لَئِنْ آتَانَا مِنْ فَضْلِهِ لَنَصَّدَّقَنَّ وَلَنَكُونَنَّ مِنَ الصَّالِحِينَ"

“และในหมู่พวกนั้น มีผู้ที่ได้สัญญาแก่อัลลอฮฺ ว่า ถ้าหากพระองค์ได้ทรงประทานแก่พวกเรา ซึ่งส่วนหนึ่ง จากความโปรดปรานของพระองค์

เมื่อนั้น แน่นอนเราจะบริจาคทาน และแน่นอนพวกเราจะได้อยู่ในหมู่ของผู้ทำความดี”

(อัลกุรอาน /75)

"فَلَمَّا آتَاهُمْ مِنْ فَضْلِهِ بَخِلُوا بِهِ وَتَوَلَّوْا وَهُمْ مُعْرِضُونَ"

“ครั้นเมื่อ พระองค์ได้ทรงประทานให้แก่พวกเขา ซึ่งส่วนหนึ่ง จากความโปรดปรานของพระองค์

 พวกเขาก็ตระหนี่ ในส่วนนั้น และผินหลังให้ โดยที่พวกเขาเป็นผู้ผินหลังให้อยู่แล้ว”

(อัลกุรอาน /76) 

         การรักษาสัญญายังมีความหมายในการค้า ธุรกิจ การเงิน และเศรษฐกิจ เมื่อมีการรักษาสัญญาบรรยากาศ แห่งความมั่นใจก็จะเกิดขึ้น ตรงกันข้ามหากมีการบิดพลิ้วสัญญา ก็จะขาดบรรยากาศแห่งความมั่นใจ และการทำธุรกิจ ก็จะอยู่บนความระแวง อันเป็นเหตุให้เกิดการซบเซา 
 
          อิสลามให้ความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับสัญญา ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน เพราะเป็นการทำให้ผู้ชายกับผู้หญิง ได้รับอนุมัติให้มีเพศสัมพันธ์กันได้อย่างถูกต้อง  ดังนั้น จึงไม่มีสิทธิใดที่สามีจะเอาเงินมะฮัร (สินสอด) คืนแม้แต่บาทเดียว นอกจากนางได้มอบให้ด้วยความเสน่หา
 

ในเรื่องนี่้ท่านนบี ได้กล่าวไว้ว่า 
 

“หากชายคนหนึ่ง แต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง โดยให้มะฮัร (สินสอด) ไม่ว่า มากหรือน้อย แต่เขาตั้งใจว่า จะไม่ยอมจ่ายมะฮัรนั้นโดยการหลอกลวงเธอ หากเขาตายลง และไม่จ่ายสิทธิของเธอ ในวันกิยามะฮฺ เขาจะต้องถูกนำมาต่อหน้าพระพักตร์แห่งอัลลอฮฺ ในสภาพของผู้ชำเรา

ส่วนคนหนึ่งที่พอยืมเงินทองจากคนอื่นแล้ว ตั้งใจไม่ใช้คืนโดยการหลอกลวงเขา หากเขาตาย โดยไม่ได้ใช้หนี้ เขาจะได้พบอัลลอฮฺ ในสภาพของขโมย”

(บันทึกโดย ต๊อบรอนีย์)

        ทำไม ? อิสลาม ถึงกำชับเกี่ยวกับการรักษาสัญญา ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะมนุษย์จะต้องถูกสอบสวน ในเรื่องของสัญญา ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า 
 
 

"وَأَوْفُوا بِالْعَهْدِ إِنَّ الْعَهْدَ كَانَ مَسْئُولا"
 
“จงรักษาสัญญาให้ครบถ้วน เพราะสัญญานั้น ถูกสอบสวน”

 (อัลกุรอ่าน 17/34)

          ผลของการไม่รักษาสัญญาและไม่ภักดี ได้ทำลายความเชื่อมั่น สร้างความวุ่นวายและความสับสน ตัดความเป็นเครือญาติ ลดพลังทำให้อ่อนแอ และตกต่ำ
 
เพราะเหตุใด ผู้ที่ทำสัญญาแล้วไม่รักษาสัญญา เหตุก็คือ ความละโมบในผลประโยชน์ที่ดีกว่าและมากกว่า อิสลามถือว่า การกระทำดังกล่าว เป็นสิ่งที่ต้องปฏิเสธ ที่จะเห็นแก่ผลประโยชน์ชั่วคราว โดยใช้วิธีหลอกลวง และคดโกงในการทำธุรกิจ
 
เมื่ออิสลามเข้าสู่กิจการใดๆ ก็ตามจะต้องยึดหลักความซื่อสัตย์ความรับผิดชอบ ความบริสุทธิ์และความโปร่งใส  หรือสุภาษิตไทยที่ว่า  “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”

 

 

มูลนิธิ ชี้นำสู่สันติสุข