การจัดงานเลี้ยงรำลึกถึงนักวิชาการบางท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว
  จำนวนคนเข้าชม  6582


 

การจัดงานเลี้ยงรำลึกถึงนักวิชาการบางท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว


คำถาม 

         อะไรคือข้อชี้ขาดของการจัดงานเลี้ยงครบรอบสี่สิบวัน ของการสิ้นชีวิตของนักวิชาการ ?

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ


คำตอบ

         ส่วนหนึ่งของเรื่องราวอุตริที่ได้อุบัติขึ้นในสังคมมุสลิม นั่นคือ การจัดงานเลี้ยงเพื่อรำลึกถึงผู้ตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การจัดงานเลี้ยงเพื่อรำลึกถึงนักวิชาการที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ซึ่งการจัดงานนั้นจะตรงกับวันที่ผู้นั้นเสียชีวิตเป็นเวลาหนึ่งปี หรือมากกว่านั้น การจัดงานจะมีสภาพแตกต่างกันไป บ้างเป็นการจัดให้แก่สามัญชนคนธรรมดา บ้างจัดให้แก่บุคคลที่มีความรู้  จนเมื่อครบสี่สิบวันหลังจากการสิ้นชีวิตของบุคคลนั้นๆ  คนในครอบครัวผู้ตายจะจัดงานเลี้ยงระลึกถึงผู้ตาย โดยเรียกงานนี้ว่า "สี่สิบ" ผู้คนจะมารวมตัวกันในเต้นท์ที่ถูกกางไว้โดยเฉพาะ บ้างก็รวมตัวกันที่บ้านผู้ตาย แล้วเชิญคนมาอ่านอัลกุรอาน ทำการเลี้ยงฉลองประหนึ่งการเลี้ยงฉลองงานแต่งงาน พวกเขาจะตกแต่งสถานที่นั้นด้วยดวงไฟ มีฟูกมีเตียง ใช้จ่ายกันเกินตัว โดยมีจุดประสงค์เพื่อโอ้อวด ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรื่องนี้เป็นที่ต้องห้าม

          เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพย์สินผู้ตายให้มลายไปกับเรื่องที่มีเป้าหมายผิดๆ ซึ่งผู้ตายจะไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากการนี้ อีกทั้งครอบครัวของผู้ตายยังจะได้พบกับการขาดทุน นี่สำหรับกรณีทายาทที่พอจะมีทรัพย์สิน    ส่วนทายาทที่ไม่มีทรัพย์สินเล่าจะเป็นอย่างไรกัน พวกเขาต้องหันไปกู้เงินด้วยวิธีที่มีดอกเบี้ย!!!! เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากความโกรธกริ้วของพระองค์

(อัล-อิบฺดาอฺ หน้า๒๒๘)

ท่านอิบนุ ก็อยยิม อัล-เญาซียะฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) ได้กล่าวว่า

 “และส่วนหนึ่งจากแนวทางของท่านนบี  คือ การปลอบโยนญาติผู้ตายให้มีความอดทน  ส่วนสิ่งที่ไม่นับว่าเป็นแนวทางของท่านนบี  คือ  การรวมตัวกันเพื่อปลอบใจญาติผู้ตายเป็นการเฉพาะ  โดยการอ่านกุรอานให้แก่ผู้ตาย ไม่ว่าจะที่กุโบรหรือที่อื่นๆ ถือว่าทั้งหมดนี้เป็นอุตริกรรมอันน่าเกลียด

 (ซฺาดุ้ลมะอฺาด๑/๕๒๗)

อลี มัฮฟูฎ  (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) ได้กล่าวว่า

“สิ่งที่ผู้คนในทุกวันนี้ทำกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงอาหารของเจ้าบ้าน(บ้านผู้ตาย) การจับจ่ายในคืนงานเลี้ยง  และคืนอื่นๆหลังจากนั้น เช่น คืนสี่สิบ ทั้งหมดนี้ถือเป็นอุตริกรรมอันน่าตำหนิ เป็นสิ่งที่ค้านกันกับสิ่งที่ท่านร่อซูล   และชนรุ่นก่อน (สลัฟซอและฮฺ) ได้กระทำกันไว้"

(อัล-อิบฺดาอฺ หน้า๒๓๐)


          งานเลี้ยงเช่นนี้ ถือเป็นอุตริกรรม ไม่มีแบบอย่างมาจากท่านร่อซูล  และบรรดาศ่อฮาบะฮฺ และสลัฟซอและฮฺ ส่วนแนวทางที่ท่านร่อซูล  ได้ปฏิบัติไว้ นั่นคือ ท่านได้นำอาหารไปให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย  ไม่ใช่ว่าครอบครัวของผู้ตายทำอาหารและเชิญผู้คนมาร่วมรับประทาน  ซึ่งท่านร่อซูล  ได้กล่าวไว้ในช่วงมีข่าวการเสียชีวิตของท่านญะอฺฟัร ว่า

 

" พวกท่านทั้งหลายจงทำอาหารให้แก่ครอบครัวของญะอฺฟัรเถิด เพราะพวกเขามีสิ่งที่ต้องง่วนกันอยู่"

 

 บันทึกโดยอะฮหมัด ในมุสนัดของท่าน(๑/๒๐๕)  อบูดาวูด ในซุนันของท่าน(๓/๔๙๗) ในบทพิธีศพ และฮดีษหมายเลข(๓๑๓๒)  อัต-ติรมิซี ในซุนันของท่าน(๒/๒๓๔)ในบทพิธีศพ และฮดีษหมายเลข(๑๐๐๓)  โดยท่านกล่าวว่า นี่เป็นฮดีษฮซัน  อิบนุ่ มาญะฮฺ ในซุนันของท่าน(๑/๕๑๔) ในบทพิธีศพ และฮดีษหมายเลข(๑๖๑๐)  อัล-ฮากิม ในอัล-มุสตัดฺร๊อก (๑/๓๗๒) ในบทพิธีศพ ซึ่งท่านกล่าวว่า ฮดีษนี้มีสายรายงานที่ศ่อฮี้ฮ  หากแต่ท่านอิมามบุคอรีและมุสลิมไม่ได้บันทึกไว้  โดยท่านอัซซะฮะบีก็เห็นตรงกันกับท่านฮากิม ในหนังสือตัลคีศุลมุสตัดฺร๊อก

ท่านญะรีร บิน อับดิลลาฮฺ อัล-บะญะรี กล่าวว่า

 "เราเห็นว่าการรวมตัวกันของญาติผู้ตาย และการประกอบอาหารของบ้านที่มีผู้ตาย เป็นหนึ่งใน นิยาฮะฮฺ" (นิยาฮะฮฺ คือการร้องไห้ครวญครางเมื่อมีคนเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านร่อซูล  ได้ห้ามเอาไว้-ผู้แปล)

 บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ ในซุนันของท่าน(๑/๕๑๔) ในบทพิธีศพ ฮะดีษหมายเลข(๑๕๑๒)

 ท่านอบูซอยรีได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือ ซะวาอิดฺ อิบนิ่ มาญะฮฺ ว่า(๒/๕๓)

"สายรายงานนี้ศ่อฮี้ฮ ผู้รายงานของสายรายงานแรกตรงตามเงื่อนไขของอิมามบุคอรีย์ ส่วนรายงานที่สองนั้นตรงตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิม"


        การจัดงานเลี้ยงเพื่อรำลึกถึงนักวิชาการเมื่อครบรอบวันสิ้นชีวิต พร้อมทั้งมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ประมวลไว้ด้วยชีวประวัติ แนวทางการประพันธ์หนังสือ และอื่นๆที่เกี่ยวกับผู้ที่ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว อีกทั้งยังมีการแจกจ่ายหนังสือดังกล่าวในงานเลี้ยง หรือตามท้องตลาด เพื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึงผลงาน การทุ่มเทเสียสละในการเผยแพร่ความรู้และประพันธ์หนังสือ ตามคำกล่าวอ้างของพวกเขา รวมทั้งการจัดงานเลี้ยงเพื่อระลึกถึงเหล่ากษัตริย์ หัวหน้า ผู้มีอำนาจทั้งหลาย อันเนื่องจากครบรอบวันเสียชีวิต พร้อมการจัดพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึก และการที่บุคคลหนึ่งไปที่กุโบร แล้ววางช่อดอกกุหลาบ อ่านฟาติฮะฮฺให้แก่วิญญาณผู้ตาย ทั้งหมดนี้ถือเป็นอุตริกรรมทั้งสิ้น อัลลอฮฺไม่ได้ทรงประทานหลักฐานใดลงมาเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ฉะนั้น การจัดงานเลี้ยงรำลึกถึงผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักปกครอง หรือบุคคลทั่วไป เป็นเรื่องอุตริกรรม ซึ่งการตำหนิในเรื่องนี้ก็นับว่าพอเพียงแล้ว

 

         เพราะไม่มีใครจะมีความรู้มากมายเท่ากับท่านนบี  ไม่มีใครจะใช้วิถีการเชิญชวนผู้คนสู่ศาสนาได้ดียิ่งเท่าท่าน    และไม่มีใครจะมีฐานะอันมีเกียรติไปมากกว่าท่าน  เพราะท่านนั้นคือบุคคลที่ประเสริฐที่สุด และถึงแม้กระนั้นก็ตาม บรรดาศ่อฮาบะฮฺไม่ได้จัดงานเลี้ยงรำลึกให้แก่ท่าน   ทั้งๆที่ความรักของมนุษย์ด้วยกันก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับความรักของศ่อฮาบะฮฺ ตาบิอีน และสลัฟซอและฮฺ ที่มีต่อท่านร่อซูล  และหากเรื่องนี้ดีจริง พวกท่านเหล่านั้นก็คงรุดหน้ากันไปแล้ว

 

          ส่วนการเผยแพร่หนังสือของนักวิชาการที่ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว การเขียนถึงชีวประวัติ แนวทางการประพันธ์ การตีพิมพ์หนังสือ ดังกล่าวนี้ ถือว่าไม่เป็นไร อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้กระทำหากสมควร หากแต่อย่าได้เจาะจงว่าต้องมีขึ้นในงานเลี้ยงครบรอบการเสียชีวิต เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ กษัตริย์ ผู้มีอำนาจ หรือใครก็ตาม
 
 
          การให้เกียรติผู้ตายจึงไม่จำเป็นที่ต้องแสดงออกด้วยการจัดงานเลี้ยงรำลึก หากแต่เป็นการฝักใฝ่หาประโยชน์จากสิ่งที่ท่านเหล่านั้นได้ประพันธ์เขียนแต่งขึ้นมา  ด้วยการแจกจ่ายเป็นวิทยาทาน อ่านขยายความ อธิบายเพิ่มเติม  และเราจะทำเช่นนั้นได้ หากผู้ตายท่านนั้นมีสิทธิสมควร กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ที่เดินตามรอยทางของชนรุ่นก่อนที่ถูกต้อง(สลัฟศ่อฮี้ฮ)  ไม่ใช่พวกที่ตามรอยกลุ่มที่หลงผิด หรือเดินตามหลังพวกตะวันตก

          นักวิชาการจากชนรุ่นก่อน และถัดจากนั้น  ความรู้และการรายงานของพวกเขาได้ถูกจารึกไว้ในความทรงจำของชนรุ่นหลัง อันเนื่องมาจากความรู้ที่พวกเขาถ่ายทอดส่งต่อมาถึงเรา    ซึ่งความจริงคือทุกคนต้องตายและจากโลกนี้ไป มีแต่ความรู้เท่านั้นที่จะถ่ายทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น และเพราะผู้คนต่างได้รับประโยชน์จากความรู้ของผู้ตาย นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ผู้ตายนั้นได้รับความเอ็นดูเมตตา ได้รับการขอพรจากผู้คนให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีงาม เช่นนี้ต่างหาก จึงจะเป็นการแสดงออกถึงการระลึกถึงพวกเขา
 
          การจัดงานระลึกถึง การขอความจำเริญจากพวกเขา การเวียนรอบกุโบรพวกเขา ทั้งหมดนี้เป็นอุตริกรรม ซึ่งบางอย่างจากการนี้ ถึงขั้นเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺเลยทีเดียว เราขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากเรื่องดังกล่าว และหากว่าบรรดาผู้ตาย(ที่ถูกขอความจำเริญ)มีชีวิตอยู่ พวกเขาคงปฏิเสธเรื่องดังกล่าวต่อผู้ทำอุตริกรรมเหล่านี้ขึ้นมา
 
          หากแต่ว่ามีบางคน ที่ชัยฏอนได้ล่อลวงและชักชวนเขาไปสู่การอุตริ เพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือตำแหน่งในดุนยา จนเขาได้ถลำตัวไปสู่การอุตรินี้ ซึ่งเขาไม่สามารถจะผละตัวออกมาได้ เว้นแต่ด้วยการกลับมาหาคัมภีร์ของอัลลอฮฺและแนวทางของท่านร่อซูล พร้อมยืนหยัดอยู่บนสองสิ่งนี้  และหลีกห่างจากสิ่งที่บรรดานักวิชาการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ไว้(อิจญมาอุ้ลอุมมะฮฺ) พร้อมทั้งละทิ้งสิ่งที่เป็นอุตริกรรม ซึ่งตัวมันเองก็มีแต่เรื่องร้ายๆ และอาจนำพาไปสู่สิ่งที่ร้ายยิ่งกว่านั้น

          เราขอต่ออัลลอฮฺ ให้พระองค์ทรงชี้นำเราและพวกเขาสู่หนทางอันเที่ยงตรง คือหนทางที่พระองค์ทรงประทานความโปรดปรานให้แก่บรรดานบี บรรดาผู้สัจจริง บรรดาผู้เสียชีวิตในหนทางของพระองค์ และบรรดาคนดีๆ และขอพระองค์ทรงหันห่างจากหนทางของผู้ที่ถูกกริ้ว และผู้ที่หลงทาง ออกไปจากเราด้วย และพระองค์นั้น คือผู้ทรงปรีชาญานในทุกสิ่ง


อุตริกรรมรอบตัว โดย เชค อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลอฺซีซ บิน อะฮหมัด อัต-ตุวัยญิรี (หน้า๓๕๐)

 

 

ที่มา  ...http://www.islamqa.com/ar/ref/9055

แปลและเรียบเรียง  ซาตุลนิฏอกัยน์