เงินตราในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  9051

เศรษฐศาสตร์อิสลาม

ประเด็นที่สาม : เงินตราในอิสลาม


เขียน : ดร.มุสฏอฟา อัลอับดุลลอฮฺ อัลกิฟรีย์


          ในยุคที่อิสลามได้อุบัติขึ้น ชาวอาหรับในสมัยนั้นได้ใช้ทองคำและเงิน เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนทางการค้าโดยการชั่งน้ำหนักจากทองคำและเงิน ซึ่งในสมัยนั้นอาหรับได้ใช้เหรียญทองคำ(ดีนารฺ) และเหรียญเงิน (ดีรฺอัม) ของเปอร์เซียกันอย่างแพร่หลาย เหรียญทองคำและเหรียญเงินได้แพร่หลายในระหว่างพวกเขาและกับชาวเปอร์เซียโดยการทำธุรกิจการค้าระหว่างกัน จนกระทั่งได้เกิดวิกฤติการปลอมทองคำ (ดีนารฺ) และเหรียญเงิน(ดีรฺฮัม) ระบาดอย่างหนัก ซึ่งมาจากการขาดการเอาใจใส่ต่อการผลิตเหรียญ จนเป็นเหตุให้คอลิฟะฮ์ อับดุลมาลิก อัลหัจญ์ญาจญ์   ออกคำสั่งให้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์เงิน (ดีรฺฮัม) ขึ้นมาเพื่อเป็นการแยกแยะระหว่างเหรียญปลอมและเหรียญแท้บริสุทธิ์


          ในปีฮิจเราะฮ์ที่ 74 ต่อมาได้มีคำสั่งให้ใช้เหรียญกษาปณ์ดังกล่าวทั่วอาณาจักรอิสลามในปีฮิจเราะฮ์ที่ 76 โดยเขียนไว้บนเหรียญกษาปณ์ด้วยข้อความที่ว่า “อัลลอฮฺทรงเอกะ อัลลอฮฺทรงเป็นที่พึ่งแห่งสรรพสิ่งทั้งมวล” ซึ่งถือเป็นเหรียญกาษปณ์ของอิสลามที่ได้ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในสมัยของคอลีฟะฮ์อับดุลมาลิก อิบนุ มัรวาน โดยมีการกำหนดค่าความเป็นเอกภาพ และคุณภาพของเหรียญเงิน(ดีรฺฮัม)และเหรียญทองคำ(ดีนารฺ) บนพื้นฐานเดียวกันกับการกำหนดค่าของคอลีฟะฮ์อุมัร อิบนุ อัลค็อฎฎ็อบ  (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ)


          นักประวัติศาสตร์ ได้บอกให้เรารู้ว่า รัฐอิสลามมีความหวงแหนและให้ความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาเสถียรภาพและคุณภาพของเงินตรา ตัวอย่าง เหรียญทองคำ(ดีนารฺ)ถูกผลิตมาอย่างละเอียด ด้วยกับเนื้อทองคำแท้โดยการชั่งในหน่วยการชั่ง มิษกอล


          เมื่อเหรียญกษาปณ์ของรัฐอิสลามได้ถูกผลิตออกมา และมีการนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยน คอลีฟะฮฺอับดุลมาลิก อิบนุ มัรฮวาน (รอฮิมาะฮุลลอฮฺ) ได้ออกคำสั่งให้ยกเลิกการใช้เหรียญกษาปณ์ของเปอร์เซีย,โรมัน และของชาติอื่นๆ ทำให้เงินตราของอิสลามถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (คือเหรียญดีนารฺของอิสลามที่เป็นทองคำบริสุทธิ์และอัตราย่อยของเหรียญตามลำดับ) จนเป็นเหตุให้มีการตั้งแหล่งผลิตเหรียญกษาปณ์ของอิสลามแพร่หลายอยู่ทั่วอาณาจักรรัฐอิสลามในสมัยนั้น

          จนพูดได้ว่าในทุกหัวเมืองใหญ่ของรัฐอิสลามจะมีแหล่งผลิตเหรียญกษาปณ์ทุกแห่ง เช่น ในกรุงแบกแดด กรุงไคโร กรุงดามัสกัส เมืองบัสเราะห์ และคอนโดวา โดยที่รัฐบาลกลางของรัฐอิสลามในสมัยนั้นต้องเก็บภาษีการผลิตเหรียญกษาปณ์กับแหล่งผลิตทุกแห่งที่มีการผลิตในอัตราร้อยละ 1% (คือ ในทุกๆ 100 ดิรฺฮัม จะต้องจ่ายภาษี 1 ดิรฺฮัม) จนเป็นเหตุให้รัฐอิสลามมีรายได้ที่ดีจากภาษีดังกล่าว จึงขอยกตัวอย่างในเรื่องนี้ คือ ตามที่ได้ระบุอยู่ในหนังสือ “นัฟหุตตัยยิบ”ของอัลมัครีซีย์ ได้ระบุว่า เฉพาะสถาบันการผลิตเหรียญกษาปณ์ของอันดาลูเซีย  มีการผลิตเหรียญกษาปณ์เงินแท้และเหรียญดีนารฺทองคำแท้ในยุคสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์(อะมาวียะฮ์)"

           ในช่วงฮิจเราะฮ์ศตวรรษที่ 14 ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำแท้ (ดีนารฺ)ถึง 200,000 เหรียญ ต่อปี  ดังนั้นย่อมหมายถึงเฉพาะในภูมิภาคอันดาลูเซียอย่างเดียวมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำแท้ซึ่งไม่นับรวมภูมิภาคอื่นๆ ของอาณาจักรอิสลาม มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำ (ดีนารฺ) ถึง 20,000,000 เหรียญดีนารฺ ต่อปี

 


แปลโดย : มุหำหมัด บินต่วน