อบายมุขทำลายสังคม
  จำนวนคนเข้าชม  25367

 

อบายมุขทำลายสังคม


          ความแพร่หลายทางด้านอบายมุขในสังคมปัจจุบัน นับเป็นปัญหาหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของสมาชิกสังคม ที่จะต้องช่วยกันรณรงค์ให้มีการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง เราจะสังเกตได้ว่า ในชุมชนต่างๆ ยอมรับการแพร่หลายของอบายมุข จนบางอย่าง สังคมให้การสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา และบางอย่างก็ถูกยึดถือเป็นสัญลักษณ์ของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นอบายมุขที่นำชีวิตไปสู่ความหายนะ

          เช่น การดื่มสุรา สังคมยอมรับและให้การสนับสนุน งานเลี้ยงที่มีเกียรติจะใช้สุรา และการดื่มอวยพรก็ใช้สุรา เหมือนกับเป็นลางบอกเหตุว่า สังคมยุคใหม่นี้ พร้อมแล้วที่จะพาตัวเองไปสู่จุดดับและจุดจบ นั่นคือความหายนะของสังคม เพราะเมื่อสังคมยอมรับสิ่งที่ทำลายสมองและสติปัญญา สมาชิกสังคมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างไร้สติปัญญา ขาดคุณธรรม และตั้งมั่นอยู่บนความประมาท

          การพนันก็เหมือนกัน งานแต่งงาน หรืองานศพ เจ้าหน้าที่ทางราชการทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้นักการพนันเปิดบ่อนเล่นกันโดยเปิดเผย และเจ้าหน้าที่เองก็เข้ามาร่วงวงไพบูลย์ด้วย ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองในบางระดับ เปิดบ่อนการพนันใหญ่โต พร้อมทั้งใช้อำนาจบารมีและคนคุ้มกันสวัสดิภาพของนักเล่นการพนันทุกคน

          สถานที่มอมเมาเยาวชนที่สร้างขึ้นอย่างมากมายเป็นดอกเห็ดมีทุกรูปแบบ และเบื้องหลังสถานบันเทิงเหล่านั้น คือแหล่งค้ายาเสพติดและค้ากามารมณ์ เยาวชนชายเตรียมพร้อมที่จะทำการโจรกรรมทุกรูปแบบเพื่อหารายได้สำหรับการท่องเที่ยวในแหล่งบันเทิงเหล่านั้น เยาวชนหญิงก็พร้อมเสมอที่จะทอดกายให้ผู้ชายเชยชม เพื่อแลกกับรายได้เตรียมไว้สำหรับการท่องเที่ยว


          ในสังคมของเรา มีปืนเถื่อนระบาด ใครอยากจะฆ่าใคร สามารถทำได้ไม่ยากนัก หาซื้อปืนราคาถูก ใช้แล้วทิ้งไปเลย และมีนักฆ่าที่เรียกค่าจ้างไม่มากนัก การฆาตกรรมในสังคมของเรา จึงปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันทุกวัน เป็นกระจกสะท้อนภาพสังคมได้เป็นอย่างดี

          สังเกตแล้วจะพบการทำลายสังคมเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่อง และสัมพันธ์ต่อกัน คือ เริ่มต้นด้วยความบันเทิง ต่อเนื่องด้วยอบายมุข แล้วจบลงด้วยอาชญากรรม เป็นอย่างนี้เสมอ  ลูกโซ่ที่คล้องกันสามห่วง หากสังคมใดเริ่มต้นด้วยการสนับสนุนการบันเทิงที่ไร้ขอบเขต ก็จะขยายไปสู่อบายมุข และผลที่สุดก็จบลงด้วยอาชญากรรม เป็นสัจธรรมที่ค้นพบในสังคมปัจจุบัน

          สมมติว่ามีการจัดงานชุมนุมเพื่อหารายได้ ก็จะนำภาพยนตร์ไปฉายเพื่อความบันเทิง คนดูภาพยนตร์จะนำสุราเข้าไปดื่ม หรือฉวยโอกาสตั้งวงเล่นการพนัน แน่นอนผลที่สุดก็จะมีเรื่องทะเลาะวิวาท จนถึงขั้นใช้กำลังและอาวุธเข้าเข่นฆ่ากัน หากเราต้องการมิให้อาชญากรรมเกิด เราต้องขจัดอบายมุขออกไป และหากไม่ต้องการให้มีอบายมุข ก็จำต้องตัดสิ่งบันเทิงอันเกินขอบเขตทิ้งไป วิธีการขจัดปัญหาดังกล่าว เราจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลกันอย่างจริงจัง


          สังคมที่ดี ต้องเป็นสังคมที่สมาชิกช่วยกันตักเตือน ช่วยกันสอดส่องดูแล มิให้สิ่งเหล่านั้นอุบัติขึ้น พร้อมทั้งช่วยกันชี้นำให้สมาชิกสังคมทำแต่ความดีงาม สมาชิกสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ดูดายซึ่งกันและกัน อัลกุรอานซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 104 ระบุว่า

“จงมีจากเจ้าซึ่งประชาชนกลุ่มหนึ่ง ทำหน้าที่เรียกร้องผู้คนไปสู่ความดี ใช้ให้ทำคุณธรรม

และห้ามการทำความชั่ว และพวกเหล่านั้นเป็นผู้สมหวัง”


          เราต้องช่วยกันเรียกร้องเชิญชวนให้คนทำความดี อย่างเช่น การเชิญชวนผู้คนให้เข้ามัสยิด ชวนกันทำละหมาด และชี้นำผู้คนแต่ในเรื่องคุณงามความดี สังคมแบบนี้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ เป็นสังคมที่ดีที่ประเสริฐ อัลกุรอานซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 110 ระบุว่า

 

“สูเจ้าเป็นประชาชาติที่ดีที่สุดที่ถูกอุบัติมาเพื่อมนุษยชาติ สูเจ้าใช้ให้ทำความดี และห้ามมิให้ทำชั่ว และมีศรัทธาต่ออัลลอฮฺ”


         แต่การเรียกร้องคนมาสู่ความดีนั้น เราจะต้องเรียกร้อง เชิญชวนด้วยความสุภาพอ่อนโยน อย่าตำหนิติเตียนใคร อย่าลงโทษใคร อย่าให้ร้ายใคร ใช้เหตุผลและหลักการที่ชัดเจนแสดงต่อเขา ด้วยหัวใจอันเปี่ยมล้น ด้วยความห่วงใย ด้วยความเมตตา และด้วยความรัก อันเป็นวิธีการของท่านนบีมุฮัมหมัด . ดังปรากฏในซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 159 ว่า

 

“แท้จริงโดยความเมตตาจากอัลลอฮฺ เจ้าจึงอ่อนโยนต่อประชาชน

และหากเจ้าใช้วาจาก้าวร้าว มีหัวใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอน พวกเขาก็ต้องเผ่นหนีออกไปจากรอบๆ เจ้า”

 

          ความอ่อนโยน จึงเป็นลักษณะเฉพาะของผู้ชี้นำ หากเราจะใช้ความก้าวร้าวชี้นำ แน่นอนที่สุด ไม่มีใครอยู่รอรับคำชี้นำของเราหรอก เขาพบแต่คำพูดอันแสลงหู คำพูดดูถูกดูแคลน สบประมาท และก้าวร้าว เขาจะทนฟังอยู่ได้อย่างไร เมื่อเขาทนฟังไม่ได้ ไม่นานเขาก็ต้องเผ่นหนีออกไป ไม่มีใครทนอยู่ได้หรอก


          การแนะนำตักเตือนของเราบางคน กระทำอย่างไม่ถูกต้องตามลักษณะที่กุรอานได้บัญญัติไว้ เมื่อมีการตักเตือนกัน เราก็มีเรื่องวิวาทกัน และในที่สุดก็แตกแยกกัน แบ่งเป็นหมู่ เป็นคณะ เป็นพรรค เป็นพวก รวมกันไม่ได้ เอกภาพของสังคมสูญหายไปในพริบตา วิธีการเช่นนี้ต้องรีบหยุดกันทันที มิฉะนั้น สังคมของเราจะถึงซึ่งความพินาศ

เราต้องแนะนำกันด้วยความสุภาพอ่อนโยน มีเหตุมีผล ดังอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนะหฺลิ อายะฮฺที่ 125 ความว่า

 

“เจ้าจงเชิญชวนไปสู่ทางแห่งองค์อภิบาลของเจ้า ด้วยวิทยปัญญา และด้วยคำเตือนที่ดีงาม”

 

         สังคมของเราจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ชื่นบานด้วยมิตรภาพ อาบอิ่มไปด้วยความหวังดีต่อกัน สังคมอย่างนี้น่าอยู่อาศัยเหลือเกิน

 

 

ที่มา: หนังสือคุตบะฮฺวันศุกร์ โดยสำนักจุฬาราชมนตรี
(สมัยจุฬาราชมนตรีประเสริฐ มะหะหมัด) หน้า 31-35