การลงโทษที่ไม่รู้สึกตัว
  จำนวนคนเข้าชม  7221

 

การลงโทษที่ไม่รู้สึกตัว


เขียนโดย อับดุรเราะฮ์มาน บินอับดิลลาฮ์ อัลละอ์บูน


         สิ่งที่นับว่าร้ายแรงกว่าความชาชินต่อความชั่วช้านั้น ก็คือ การที่เรามีพฤติกรรมเฉยเมยต่อการลงโทษของพระเจ้าในดุนยา ถึงขนาดไม่มีความรู้สึกอันใดเลยว่าสภาพที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ตอนนี้ แท้จริงแล้วมันคือการลงโทษในความผิดที่ตัวเองก่อขึ้นมา

มีเรื่องเล่าว่า มีบาทหลวงชาวบนีอิสรออีลท่านหนึ่งได้วิงวอนขอต่อพระเจ้าว่า


“โอ้พระเจ้าของข้า ข้าพระองค์เคยฝ่าฝืนพระองค์ตั้งมากมายเท่าใดแล้ว และพระองค์ก็ยังไม่ทรงลงโทษต่อข้า…?”

มีเสียงกล่าวออกมาว่า

“ข้าลงโทษเจ้าตั้งมากมายเท่าไหร่แล้ว โดยที่เจ้าไม่รู้สึกตัว ก็เพราะข้าได้ตัดความหอมหวานแห่งการใกล้ชิดต่อข้าไปจากเจ้าแล้วมิใช่หรือ?...”

         ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ..…วันเวลาผ่านไปสักเท่าใดแล้ว โดยที่เราไม่เคยคิดใคร่ครวญและไม่เคยทำอะไรเลย เราชาชินกับมัน เราเผลอเรอ ลุ่มหลงไปแต่ละวันๆ ทั้งๆ ที่ไม่ทราบเลยว่า แท้จริงมันคือการลงโทษที่ถอดถอนเกียรติของเราให้หมดไปทีละเล็กทีละน้อย และยิ่งกว่านั้น ก็คือ บททดสอบ (บะลาอฺ) แห่งความดีใจและสนุกสนานอย่างลืมตนต่อการลงโทษที่กำลังจะเกิดขึ้น มิหนำซ้ำเจ้าตัวยังรังแต่จะหาเพิ่มให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก การสนุกกับการหาเงินทองด้วยวิธีการที่หะรอม (ต้องห้าม) หรือประกอบการงานที่ทุจริตหรือเสื่อมเสีย ซึ่งสิ่งดังกล่าวเหล่านี้ยิ่งกระทำก็ยิ่งทำให้จิตใจของผู้คนมืดบอดลง อันเป็นการกระทำที่ผู้ศรัทธาทั้งหลายพึงยำเกรงให้มาก

ท่านอบูดาวูด อัลหัฟรีย์ เล่าว่า

“ครั้งหนึ่ง ฉันได้ไปหาท่านอาลี บินวิบเราะฮฺที่บ้าน เมื่อฉันเข้าไปก็เห็นเขาร้องไห้อยู่ มีคนถามว่า ท่านร้องไห้ทำไม?”

เขากล่าวว่า

“แท้จริงประตูห้องฉันถูกปิด และม่านก็ถูกดึงลง เลยทำให้ฉันพลาดจากการอ่านกุรอานยุซฮฺหนึ่งไปเมื่อวานนี้ (เพราะเผลอนอนหลับ) มันคงไม่ใช่อื่นใด นอกจากความผิดที่ฉันได้ก่อขึ้นแท้ๆ…”

         สำหรับคนที่อยู่ในสภาพใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินสนุกสนานด้วยความสุขสบาย และรู้สึกชาชินต่อข้อบกพร่องในเรื่องของอิบาดะฮฺ

 

         ลองมาฟังคำกล่าวหนึ่งของท่านอิบนุ อัลเญาซีย์  เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ดูบ้าง ท่านกล่าวไว้ว่า

         “พึงทราบเถิดว่า การทดสอบที่ยิ่งใหญ่นั้นก็คือ การประกอบความชั่วเอาไว้ แต่ (แทนที่จะรีบกลับตัว) กลับประมาทและเลินเล่อด้วยความสุขสบาย เพราะแท้จริง การลงโทษนั้นย่อมจะค่อยมีมาในไม่ช้า และการลงโทษที่ใหญ่หลวงยิ่ง ก็คือ การลงโทษที่เกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่รู้สึกตัว และมันจะค่อยๆ ทำให้ศาสนานั้นถูกถอดถอนออกจากจิตใจ เอาความชั่วช้ามาแทนที่ซึ่ง (สังเกตได้) จากร่องรอยของมัน ก็คือ การมีสุขภาพที่สบายและการสมหวังในเป้าหมายทางโลก”

         ตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ เช่นการที่บางคนขาดละหมาดศุบฮิเป็นประจำจนกระทั่งพฤติกรรมนี้ติดเป็นนิสัย และตัวเขาเองไม่รู้สึกเดือดร้อนหรือทุกข์ใจในความผิดนั้น ถือเป็นสิ่งเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่บรรพชนยุคแรกมีการเข้มงวดกับการพลาดนมาซวันศุกร์แค่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

         ดังนั้น บุคคลใดตกอยู่ในสภาพเฉยเมยไม่มีความรู้สึกต่อการลงโทษในความชั่วที่ตนก่อขึ้น ถือได้ว่า ผู้นั้นกำลังอยู่ในอันตรายมหันต์ มันอาจเป็นสาเหตุสู่หนทางที่หลงผิดอย่างถลำลึกได้
นี่คือสิ่งที่ท่านอิบนุอัลก็อยยิม เราะฮิมาฮุลลอฮฺ หมายถึงในคำกล่าวที่ว่า

“ความชั่วทั้งหลายนั้นปรียบเสมือนบาดแผล ซึ่งเจ้าของของมันย่อมตกอยู่ในอันตรายอย่างแน่นอน”

ท่านกล่าวอีกเช่นกันว่า

“จงพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้ท่านหลุดออกไปจากการยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ ขณะที่ท่านกำลังทำความชั่วอยู่นั้น และแท้จริงอัลลอฮฺจะทรงยับยั้ง(เพื่อไม่ให้)การปกป้องของพระองค์แก่ท่าน”

         จงพิจารณาดูว่า เมื่อตอนที่สามารถเอาชนะความชั่วได้ ท่านมักรู้สึกหลงตัวเอง ภูมิใจจนชะล่าใจ แน่ใจว่าตัวเองอยู่บนสัจธรรมแล้วบ้างหรือเปล่า? ทั้งนี้ บ่าวคนหนึ่ง หากเขายึดมั่นต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง เขาย่อมไม่ประมาทจนหลุดออกจากการเชื่อฟัง (ฎออะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ เป็นอันขาด

ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“ผู้ใดยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ แน่นอน เขาก็ได้รับคำแนะนำไปสู่ทางอันเที่ยงตรง”

(ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 101)

ดังนั้น หากใครยึดมั่นต่อพระองค์อย่างสมบูรณ์ พระองค์ก็จะไม่ทรงปล่อยให้เขาตกต่ำอย่างแน่นอน ดังที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ว่า

“และจงยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ พระองค์เป็นผู้คุ้มครองพวกเจ้า เพราะพระองค์คือผู้คุ้มครองที่ดีเลิศ และผู้ทรงช่วยเหลือที่ดีเยี่ยม” 

(ซูเราะฮฺอัลฮัจญ์ อายะฮฺที่ 78)

          เมื่อพวกท่านยึดมั่นต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง พระองค์ก็จะทรงให้การคุ้มครองและทรงช่วยเหลือพวกท่านให้มีชัยเหนืออารมณ์ของตนเอง และเหนือซัยฎอน (มารร้าย) ซึ่งทั้งสองประเภท คือศัตรูที่คอยติดสอยห้อยตามมนุษย์ตลอดเวลา เป็นศัตรูที่ร้ายกาจกว่าศัตรูภายนอกเสียอีก และแท้จริงอัลลอฮฺ คือผู้คุ้มครองเราเสมอ เพราะเมื่อใดก็ตามหากพระองค์ทอดทิ้งและปล่อยให้เราอยู่กับอารมณ์ตนเองแล้ว เมื่อนั้นย่อมหมายความว่า พระองค์ทรงปล่อยให้ท่านมีโอกาสทำความชั่วได้ และถ้าหากพระองค์ให้การคุ้มครอง ช่วยเหลือท่านแล้ว ความชั่วก็จะไม่มีทางครอบงำท่านได้เป็นอันขาด

 

 

 

ที่มา: หนังสือเมื่อผู้ศรัทธาร้องไห้

แปลโดย นัศรุลลอฮ์ ต็อยยิบ