การละอายต่ออัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  11172

การละอายต่ออัลลอฮฺ


เขียนโดย อับดุรเราะฮ์มาน บินอับดิลลาฮ์ อัลละอ์บูน


         ความละอายเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา และระดับที่สูงที่สุดของการละอายก็คือ การละอายต่ออัลลอฮฺนั่นเอง พระองค์คือผู้ทรงประทานความเมตตาทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นอย่างมากมาย จนยากที่จะแสดงการขอบคุณต่อพระองค์ได้ครบถ้วน

        ดังนั้น หากมนุษย์ใช้ความเมตตา (เนียะฮฺมัต) ที่อัลลอฮฺให้มาไปในทางที่ผิด และออกห่างจากความพึงพอพระทัยของพระองค์แล้วไซร้ ย่อมเป็นหนทางแห่งความหายนะแน่นอน (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราให้รอดพ้นด้วยเทอญ)


        ถึงแม้นผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) จะใช้เวลาตลอดชีวิตให้หมดไปกับการภักดี (อิบาดะฮฺ) เพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถทดแทนความเมตตาเพียงหนึ่งของพระองค์ได้ แต่เนื่องด้วยความกรุณาปราณีของอัลลอฮฺ ที่ทรงตอบแทนการกระทำเพียงน้อยนิดจากความบริสุทธิ์ใจของบ่าวด้วยภาคผลมหาศาล

        การภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺนั้น ย่อมมีพลังยิ่งใหญ่ในจิตใจของทุกคน หากเกิดจากความรู้สึกส่วนลึกภายใต้จิตสำนึกที่ผูกพันอยู่กับอัลลอฮฺ และมีความละอาย หากบกพร่องต่อหน้าที่ของบ่าวที่มีต่อพระองค์

 

ท่านรอซูล กล่าวว่า “พวกท่านจงละอายต่ออัลลอฮฺ ตามสิทธิที่พึงละอายต่อพระองค์เถิด”

พวกเรา (ศอฮาบะฮฺ) กล่าวขานรับว่า  “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ แท้จริงเรามีความละอายแล้ว อัลฮัมดุลิลลาฮฺ”

ท่านรอซูลกล่าวอธิบายว่า “หาใช่เช่นนั้นไม่…แต่ทว่า การละอายต่ออัลลอฮฺตามสิทธิที่แท้จริงก็คือ จงรักษาศีรษะและสิ่งที่มีอยู่ในนั้น (หมายถึง ความนึกคิด) และจงรักษาท้อง และสิ่งที่บรรจุอยู่ในนั้น (อาหารที่บริโภค)

และจงระลึกถึงความตายและความหายนะ และผู้ที่ต้องการอาคิเราะฮฺ เขาก็ต้องละทิ้งความสวยงามของโลก (ดุนยา) ผู้ใดทำได้ดังกล่าว จึงถือว่าเขามีความละอาย”

(หะดีษหะซัน, เศาะเฮียะฮฺ สุนัน อัตติรมิซีย์, จากอับดุลลอฮฺ บินมัสอูด, หะดีษเลขที่ 2000)


         ดังนั้น ผู้ใดมีความละอายต่ออัลลอฮฺ ย่อมมีความดีงามรวมอยู่ในตัวเขา แต่ในทางกลับกัน มีผู้คนมากมายที่รู้สึกละอายเพียงแค่สายตาของมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ตามระดับมากน้อยต่างกันไป ซึ่งในจำนวนนั้นมีทั้งผู้ที่เรียกตัวเองว่ามุสลิม และไม่ใช่ พวกเขาจะอายหากคนอื่นเห็นสิ่งที่ไม่ดีของตน เกรงว่าอาจถูกตำหนิหรือเป็นที่ครหาได้ จึงมักจะแสแสร้งต่อหน้าผู้อื่นว่าตัวเองนั้นเป็นผู้ดีมีคุณสมบัติอันเลอเลิศ ทั้งๆ ที่จริงแล้วหาใช่เช่นนั้นไม่ ในขณะเดียวกันพวกเขากลับไม่มีความรู้สึกละอายต่อสายตาของอัลลอฮฺเลย ทั้งๆ ที่พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ทั้งสิ่งที่เปิดเผยและปกปิด ผู้ทรงประจักษ์แจ้งต่อการกระทำทุกอย่างตลอดจนสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในใจของมนุษย์ แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงปราณีให้เกียรติและประทานความเมตตาของพระองค์แก่เขาตลอดเวลา

         ฉะนั้น ความประเสริฐที่เหนือกว่าคนทั่วไปในฐานะผู้ศรัทธา ก็คือ การทำทุกอย่างเพื่ออัลลอฮฺไม่ว่าจะเป็นข้อใช้หรือข้อห้ามไม่ใช่ทำตามใจที่ตนเองต้องการ

ท่านอัลอัสวัด บินยะซีด  เป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในการทำศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) มาก เขาถือศีลอดจนร่างกายซูบผอมซีดเซียว ครั้นเมื่อใกล้เสียชีวิตเขาก็ร้องไห้ออกมา

มีคนถามว่า “ท่านมีเรื่องเศร้าอันใดหรือ…?”

เขาตอบว่า “ฉันไม่ได้โศกเศร้าหรอก ขอสาบาน หากฉันได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ฉันละอายต่อพระองค์อย่างยิ่งในสิ่งที่ฉันได้กระทำไป

เพราะแท้จริง คนสองคนเมื่อเขากระทำความผิดเล็กน้อยต่อกัน แล้วอีกคนก็อภัยให้ เขายังมีความละอายต่อกันเลย”

 

         ผู้ศรัทธาย่อมมีความรู้สึกว่าอัลลอฮฺทรงอยู่กับเขาตลอดเวลา เขาจะมีความละอายหากกระทำสิ่งที่พระองค์ไม่พอพระทัย ความรู้สึกนี้จะมากำหนดสิ่งที่คนอื่นต่างละเลยให้เป็นฟัรดู(ข้อบังคับ)สำหรับเขา และปฏิบัติมันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ควบคุมพฤติกรรมของเขา และจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เขามีความมุมานะ พยายามสรรค์สร้างผลงานเพื่อสนองพระประสงค์ของพระองค์ ผู้ทรงอภิบาลแห่งชั้นฟ้าและผู้ทรงรอบรู้ในความเร้นลับทั้งหลาย

สิ่งนี้เองที่ท่านฮาติม อัลอัศม์ ได้ยึดมั่นเอาไว้ตลอดชีวิตเช่น เมื่อมีผู้ถามท่านว่า “…ไฉนความรู้ของท่านถึงได้มากมายเช่นนี้? ”

ท่านตอบว่า “มันมาจาก  4 ประการ” ต่อไปนี้ คือ

1) สิ่งที่คนอื่นละเลย แต่ฉันปฏิบัติไม่ขาด

2) ริสกี ปัจจัยที่ถูกกำหนดไว้เป็นของฉัน ย่อมมิอาจผ่านเลยไปเป็นของผู้อื่นได้ ดังนั้น ฉันจึงได้เชื่อมั่นและไม่กังวลในสิ่งใด

3) ฉันตระหนักเสมอว่า ฉันไม่สามารถรอดพ้นไปจากอัลลอฮฺ แม้แต่สักพริบตาเดียว ดังนั้น ฉันรู้สึกละอายต่อพระองค์อยู่ตลอดเวลา

4) ฉันทราบดีว่า แท้จริงความตาย (อะญัล) กำลังแข่งกับฉัน ดังนั้น ฉันจึงแข่งขันกับมัน (โดยรีบเร่งทำความดี)


ดั่งคำกลอนหนึ่งที่ว่า

“หากท่านอยู่ท่ามกลางความมืดอย่างสับสน

ขณะอารมณ์ก็เรียกร้องให้ทำชั่ว

จงละอายต่อสายตาพระเจ้าเถิด

และจงกล่าวว่า แท้จริงผู้สร้างความมืดนั้นทรงมองฉันอยู่”

 

 


ที่มา: หนังสือเมื่อผู้ศรัทธาร้องไห้

แปลโดย นัศรุลลอฮ์ ต็อยยิบ