เสบียงที่หนึ่ง : ความรู้
  จำนวนคนเข้าชม  4817

เสบียงนักดาอีย์ผู้เชิญชวนสู่อัลลอฮฺ


เชค มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน


เสบียงที่หนึ่ง : ความรู้


          เสบียงแรกที่นักดาอีย์พึงจะต้องตระเตรียมไว้ คือ มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังเผยแพร่อยู่ ความรู้ที่ถูกต้องคือความรู้ที่วางอยู่บนบรรทัดฐานของอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านเราะสูล เนื่องจากความรู้ต่าง ๆ ที่ได้มานอกเหนือจากสองแหล่งนี้ จำเป็นที่จะต้องนำมาเทียบเคียงก่อนว่ามีความสอดคล้องหรือขัดแย้งประการใดกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺ หากว่ามีความสอดคล้องกันเราก็รับ แต่ถ้าหากมีความขัดแย้งกันเราก็ปฏิเสธไม่ว่าผู้ที่กล่าวจะเป็นใครก็ตาม

 ดังที่มีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านได้กล่าวว่า:

يوشك أن تﻨﺰل عليكم حجارة من السماء ، أقول قال رسول الله وتقولون قال
أبو بكر وعمر

"ก้อนหินจากท้องฟ้าเกือบหล่นใส่พวกท่านแล้ว (เพราะพวกท่านแย้งฉัน)

ขณะที่ฉันกล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺได้กล่าวอย่างนี้ แต่พวกท่านกลับพูดว่าท่านอบูบักรฺและอุมัรฺได้กล่าวอย่างนั้น"


         เป็นที่ชัดเจนว่า คำพูดใดๆ ก็ตามที่ค้านกับท่านนบี ต่อให้เป็นคำพูดของท่านอบูบักรฺและท่านอุมัรฺก็ยังต้องปฏิเสธ แล้วนับประสาอะไรหากคำพูดที่ค้านกับท่านนบี และอัลกุรอานนั้นมาจากผู้ที่มีสถานะต่ำกว่าท่านทั้งสอง ทั้งในด้านความรู้ ความยำเกรง การเป็นเศาะหาบะฮฺของท่านนบี และการเป็นเคาะลีฟะฮฺ ทำไมจึงมิอาจปฏิเสธได้เล่า ?

อัลลอฮฺตรัสว่า:

"พวกเจ้าอย่าทำให้การร้องเรียกของเราะสูลในหมู่พวกเจ้า เป็นเช่นเดียวกับการร้องเรียกระหว่างพวกเจ้าด้วยกันเอง

 แน่นอนอัลลอฮฺทรงรู้บรรดาผู้ที่แอบหลีกออกไปในหมู่พวกเจ้า

ดังนั้นบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา (มุหัมมัด) จงระวังตัวเถิดว่า ฟิตนะฮฺจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน"

(อัน-นูรฺ, 24 : 63)

ท่านอิหม่ามอะหฺมัดได้กล่าวว่า:

         "ท่านรู้หรือไม่ว่าฟิตนะฮฺนั้นคืออะไร ? ฟิตนะฮฺคือการตั้งภาคี เมื่อเขาปฏิเสธบางคำพูดของท่าน (นบีมุหัมมัด ) ความหลงทางอาจติดตรึงในหัวใจของเขา แล้วเขาก็จะประสบกับความหายนะในที่สุด"

        ดังนั้น เสบียงแรกที่นักดาอีย์ควรตระเตรียมไว้ คือ ความรู้ที่สืบสายมาจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ด้วยสายสืบที่ถูกต้อง หากการดะอฺวะฮฺตั้งอยู่บนหลักของอวิชชา แท้จริงแล้ว มันคือการดะอฺวะฮฺสู่ความเขลา และการดะอฺวะฮฺที่ตั้งอยู่บนหลักของอวิชชานั้นโทษของมันย่อมมากกว่าประโยชน์ เนื่องจากนักดาอีย์อยู่ในสถานะของผู้ชี้แนะ หากเขาเป็นผู้ไม่มีความรู้ ใช่เพียงแต่เขาเท่านั้นที่จะหลงทาง แต่ทว่าเขายังนำพาผู้คนอีกหลายๆ คนสู่การหลงทางอีกด้วย –ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองเราด้วยเถิด-

          ความอวิชชาของเขานี้ เรียกว่า “ญะฮฺลุน มุร็อกกับ” ( ب􀈠 جهل مر ) หรือ “ตัวเองไม่รู้ แต่ไม่รู้ตัวว่าตนนั้นไม่รู้”ซึ่งเป็นอันตรายยิ่งกว่าการไม่รู้แบบธรรมดาหรือการไม่รู้แล้วรู้ว่าตัวเองไม่รู้ เพราะการไม่รู้แบบธรรมดานั้นเขาจะเงียบและไม่พูดอะไร และยังพอที่จะสั่งสอนได้ แต่คนที่ไม่รู้แล้วยังอวดฉลาดนั้นเป็นปัญหายิ่ง คนประเภทนี้จะไม่นิ่งเงียบแต่เขาจะพูดแม้แต่ในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความรู้ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเขาก็คือผู้บ่อนทำลายมากกว่าจะเป็นผู้ที่นำแสงสว่าง

 

พี่น้องทั้งหลาย !

         การดะอฺวะฮฺสู่อัลลอฮฺโดยไม่มีเสบียงความรู้นั้น มันขัดแย้งกับแนวทางของท่านนบี และแนวทางของผู้เจริญรอยตามท่านพวกท่านจงสดับฟังคำตรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ทรงสั่งใช้แก่นบี ของพระองค์ว่า:

 " จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน

และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮฺ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี"

(ยูสุฟ, 12 : 108)

         พระองค์ได้ตรัสว่า "ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน" นั่นคือปฏิบัติตามท่านนบี ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้ง (ด้วยความรู้) มิใช่อย่างไม่มีความรู้

 

นักดาอีย์ทั้งหลาย !

ท่านจงสังเกตและใคร่ครวญคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “อย่างประจักษ์แจ้ง” นั่นคือประจักษ์แจ้งในสามประการ


หนึ่ง ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เขากำลังดะอฺวะฮฺอยู่

         นั่นคือการที่เขาจำเป็นจะต้องมีความรู้อย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับบทบัญญัติต่างๆ ในสิ่งที่กำลังเผยแพร่อยู่ เนื่องจากบางทีเขาอาจกำลังเชิญชวนสู่สิ่งที่เขาคิดว่าเป็นวาญิบ(ความจำเป็นบังคับ) ทั้งๆ ที่ในบทบัญญัติของอัลลอฮฺแล้วไม่ได้เป็นสิ่งที่วาญิบ

           เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็เท่ากับว่าเขากำลังบังคับบ่าวของอัลลอฮฺให้ถือปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ไม่ได้บังคับใช้ และบางทีเขาอาจเชิญชวนให้ละทิ้งบางสิ่งบางอย่างโดยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่หะรอม(ความจำเป็นต้องละทิ้ง) ทั้งๆที่ในบทบัญญัติของอัลลอฮฺไม่ได้เป็นสิ่งที่หะรอมแต่ประการใด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเขากำลังห้ามบ่าวของพระองค์ในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุมัติ

 

สอง ประจักษ์แจ้งถึงสภาพของผู้ที่จะถูกดะอฺวะฮฺ(กลุ่มเป้าหมายที่เขาทำการดะอฺวะฮฺ)

        เมื่อครั้งที่ท่านนบี ได้ส่งท่านมุอาซฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ไปยังประเทศเยเมน ท่านได้กล่าวกำชับแก่ท่านมุอาซฺว่า “แท้จริงแล้วท่านกำลังจะเผชิญกับชนกลุ่มหนึ่งจากชาวคัมภีร์”

         ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มุอาซฺได้รับรู้ถึงสภาพของบุคคลที่เขากำลังจะเชิญชวนเพื่อจะได้เตรียมตัว ฉะนั้นแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องรู้ถึงสภาพของบุคคลที่ท่านจะเชิญชวนว่าระดับความรู้และระดับการตอบโต้ของเขาอยู่ในเกณฑ์ใด ทั้งนี้ ก็เพื่อที่ท่านจะได้เตรียมพร้อมและตอบโต้เขาได้ เพราะเมื่อท่านถลำสู่การโต้เถียง แล้วเขาเหนือกว่าท่าน เช่นนี้แล้วมันทำจะให้เกิดเคราะห์ร้ายอันใหญ่หลวงแก่สัจธรรมและท่านก็คือต้นเหตุในเรื่องนั้น ท่านอย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งที่บาฏิล(ไม่ถูกต้อง)จะต้องมลายหายไปเสมอ เพราะท่านเราะสูล ได้กล่าวว่า :


 
“แท้จริงพวกท่านได้ยกข้อพิพาทมาให้ฉันตัดสิน บางที คนบางคนในหมู่พวกท่านอาจมีวาทศิลป์ดีกว่าในการพูดยกอ้างหลักฐาน

ดังนั้น ฉันจึงตัดสินให้กับเขาด้วยเพราะสิ่งที่ฉันได้ยิน(ด้วยเกณฑ์ผิวเผินที่คู่กรณียกอ้างมา ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่อย่างใด)

 

สาม ประจักษ์ถึงกลยุทธ์ในการดะวะฮฺ

อัลลอฮฺ สุบหานะฮู วะตะอาลา ตรัสว่า:

"จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยหิกมะฮฺ(วิทยปัญญา, หลักฐานอันชัดเจนตามกาลเทศะของมัน)และด้วยการตักเตือนที่ดี

 และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า

แท้จริง พระเจ้าของเจ้านั้นพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงผู้ที่หลงออกจากทางของพระองค์ และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง"

(อัน-นะหฺลุ, 16 : 125)

         บางคนเมื่อเห็นสิ่งที่เป็นมุงกัรฺ (สิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา) เขาก็โหมโจมตีอย่างรุนแรง โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา มิใช่เฉพาะแก่ตัวเขาเท่านั้นแต่ยังจะส่งผลต่อนักดาอีย์ผู้เชิญชวนสู่สัจธรรมคนอื่นๆ อีกด้วย

         ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักดาอีย์ทุกคนก่อนที่จะขับเคลื่อนใดๆ ต้องใคร่ครวญให้มากถึงผลกระทบที่จะตามมาและพิเคราะห์พิจารณาเปรียบเทียบช่างน้ำหนักเสียก่อน ฉะนั้น ฉันจึงใคร่ขอให้พี่น้องนักดาอีย์ทุกคนใช้หิกมะฮฺ(วิทยปัญญา) ค่อยเป็นค่อยไปอย่าได้รีบร้อนถึงแม้ว่าผลของมันอาจจะไม่รวดเร็วทันใจ แต่มันจะเป็นผลสำเร็จอย่างแน่นอนในที่สุด –ด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ-

          เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว –ฉันหมายถึงการที่นักดาอีย์ต้องตระเตรียมเสบียงของความรู้ที่ถูกต้องซึ่งอยู่บนฐานของอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี - สิ่งที่มาบ่งชี้ว่านักดาอีย์จำเป็นจะต้องมีความรู้อยู่บนฐานของอัลกุรอานและสุนนะฮฺมิได้มีเฉพาะหลักฐานจากศาสนบัญญัติเท่านั้น หากแต่หลักการทางสติปัญญาก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้เช่นกัน เมื่อท่านใช้สติปัญญาใคร่ครวญจะพบว่า ท่านจะดะอฺวะฮฺสู่หนทางของอัลลอฮฺได้อย่างไรหากท่านยังไม่มีความรู้อย่างชัดแจ้งถึงเส้นทางที่จะนำไปสู่พระองค์ อีกทั้งยังไม่รู้ถึงบทบัญญัติของพระองค์ แล้วท่านจะเป็นนักดาอีย์สู่อัลลอฮฺได้อย่างไร ?


         ดังนั้น เมื่อไม่มีความรู้ สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือควรพยายามขวนขวายหาความรู้เสียก่อน บางทีอาจมีบางคนท้วงติงว่า

การกล่าวเช่นนี้ไม่ค้านกับคำพูดของท่านนบี  ดอกหรือที่ว่า: “พวกท่านจงเผยแพร่จากฉันถึงแม้ว่าจะหนึ่งอายะฮฺก็ตาม”

คำตอบคือ ไม่ ,

เพราะท่านเราะสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า : "จากฉัน"

          สิ่งที่เราจะเผยแพร่จำเป็นต้องที่จะต้องมาจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ และนี่คือความหมายของคำพูดเรา(ที่บอกว่าต้องมีความรู้เสียก่อน นั่นคือความรู้ที่มาจากท่านนบี ) และเมื่อเราบอกว่านักดาอีย์จำเป็นจะต้องมีความรู้ เรามิได้หมายความว่าเขาต้องบรรลุถึงความรู้ทั้งหมด แต่เราหมายถึงเขาจะไม่เผยแพร่นอกจากสิ่งที่เขารู้ และไม่พูดนอกจากสิ่งที่เขาทราบเท่านั้น

 

 

แปลโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี / islamhouse.com