ความกลัว
  จำนวนคนเข้าชม  8663

ความกลัว


อ.สุไลมาน   ลาตีฟี


           เราลองหันมาวิเคราะห์ดูทีซิว่า ความกลัวนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้เขียนเองก็รู้สึกหนักใจ เรื่อง กลัว ไม่กลัวนี่เป็นของพูดยาก ไม่มีคนหนึ่งคนใดที่จะสามารถหยิบยื่นหรือยัดเยียดความกลัว ไม่กลัว ให้กันและกันได้ เพราะมันเป็นลักษณะทางใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ความกลัวนั้นอาจเกิดขึ้นได้ด้วยสิ่งสองประการ

ก. บางทีเกิดจากบาปหรือความผิด เรียกว่ากลัวบาปหรือกลัวความผิด

ข. บางทีความกลัวนั้นเกิดขึ้นจากความรู้-ความรู้จัก

ประเภทหลังนี่ย่อมมีความสมบูรณ์เหนือกว่าประเภทแรก เพราะผู้รู้ย่อมมีความกลัวมากกว่า ดังอัลกุรอ่านระบุไว้มีความว่า

 “แท้จริงผู้เกรงกลัวอัลลอฮจากปวงบ่าวของพระองค์นั้นเพียงผู้รู้เท่านั้น”

ตามนัยแห่งโองการนี้แสดงให้เห็นว่า ความกลัวนั้นขึ้นอยู่กับความรู้ รู้น้อยก็กลัวน้อย รู้มากก็กลัวมาก ไม่รู้เลยก็ไม่กลัวเลย ตามปริมาณของความรู้ ท่านนบีมูฮัมหมัด ของเราเคยรับสั่งว่า

“ฉันมีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ มากกว่าท่านทั้งหลาย”

ทั้งนี้เพราะว่าท่านนบี มีความรู้มากกว่าคนทั้งหลาย ย่อมมีความกลัวเหนือกว่าคนทั้งหลายเป็นของธรรมดาอยู่นั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพ ความกลัวนั้นเป็นลักษณะหนึ่งที่ได้รับการยกย่องและได้รับการสรรเสริญ ผู้ที่มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ เรียกว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมสี่ประการคือ ฮิดายะห์ (ทางนำ) เราะห์มัต (ความเมตตา) อิลมุน (ความรู้) รีฎอ (ความปิติยินดี) หรือจะพูดให้สั้นขึ้นก็คือคุณธรรมสี่ประการดังกล่าวนั้น อัลลอฮได้ทรงรวบรวมไว้ในบุคคลที่มีความกลัวต่อพระองค์เท่านั้น จะสังเกตได้จากโองการต่างๆของอัลกุรอ่านดังต่อไปนี้

จากโองการ ๑๕๔ ซูเราะห์อัล-อะอรอฟ มีความว่า

  “ทางนำและความเมตตาสำหรับบรรดาที่พวกเขายำเกรงต่อผู้อภิบาลของพวกเขา”

โองการนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความกลัวนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งทางนำและความเมตตา หรือจะพูดว่าความกลัวนั้นเป็นฐานที่รองรับทางนำและความเมตตาก็ว่าได้

จากโองการ ๓๘ ซูเราะห์ ฟาฏิร มีความว่า

“แท้จริงผู้เกรงกลัวอัลลอฮจากปวงบ่าวของพระองค์นั้น เพียงผู้รู้เท่านั้น”

          โองการนี้ก็เช่นกันแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ความรู้นั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความกลัว และเป็นฐานที่รองรับความกลัวก็ได้ คือหมายความว่า ความกลัวนั้นย่อมมาทีหลังความรู้ ดังนั้นพอสรุปได้ความว่า บ่อเกิดแห่งความกลัวนั้นมี๒ ประการ

๑. เกิดจากความรู้ 

๒. เกิดจากการเห็นแบบอย่างเอง หรือเยี่ยงอย่าง

         ขอเปรียบเทียบเพื่อให้ท่านได้กระจ่างขึ้น สมมุติว่าเจ้าหนูน้อยคนหนึ่งแกไม่กลัวงู ก็เพราะแกไม่รู้ว่างูนั้นมีพิษอาจเป็นเหตุนำอันตรายถึงแก่ชีวิตมาสู่ตนได้ ซึ่งต่างกับพ่อของเจ้าหนูน้อยผู้นั้น กลัวงูเพราะรู้ว่างูนั้นมีพิษ หากถูกมันกัดหรือขบอาจเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในขณะเดียวกันถ้าเจ้าหนูน้อยผู้นั้นเห็นพ่อวิ่งอกตั้งสั่นเพราะความกลัว แกก็จะเกิดความกลัววิ่งตามพ่อไปด้วย ทั้ง ๆ ที่เจ้าหนูน้อยนั้นไม่รู้พิษสงของงูเลย นี่แหละที่ว่าความกลัวนั้นเกิดขึ้นจากการเห็นแบบอย่าง แล้วท่านมีความกลัวต่อ อัลลอฮ์  ด้วยความจริงใจหรือเปล่า? หรือกลัวแบบเจ้าหนูน้อยดังที่กล่าวมา


         และท่านรู้สึกกลัวบ้างไหมหรือคิดบ้างไหม ! การที่ปล่อยให้ลูกหลานเรียนสูง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงขั้นมหาวิทยาลัยคิดหรือว่าเขาสนใจใยดีต่อหลักการของอัลอิสลาม เพราะเคยเห็นตัวอย่างจากบรรดานิสิตนักศึกษา เมื่อเรียนสำเร็จกลับไปสมรสกับหญิงมุชริก และหันไปนับถือศาสนาอื่น หรือไม่ก็เป็นบุคคลประเภทหัวอีแปะท้ายสำปั้นอะไรทำนองนั้น ท่านจะกล่าวหาว่ามันเป็นความผิดของเขากระนั้นหรือ ? ตลอดอายุของเขา ท่านเคยปลูกฝังหลักการศรัทธาและหลักการต่าง ๆ ของอัลอิสลามแก่เขาบ้างหรือเปล่า ? 


          อัลกุรอ่านได้ยืนยันอย่างหนักแน่นแล้วว่า “แท้จริงผู้เกรงกลัวอัลลอฮจากปวงบ่าวของพระองค์นั้น เพียงผู้รู้เท่านั้น” เพราะฉะนั้นขอให้ท่านได้ปลูกฝังอัลอิสลามให้แก่ลูกหลานของท่านตั้งแต่เยาว์วัย โดยเสมอต้นเสมอปลาย จวบจนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คิดว่าปัญหาดังกล่าวคงจะหมดไปในที่สุด เปรียบดังต้นไม้ที่หยั่งรากลึกลงไปในหินจนเจริญ เติบโต ยากที่จะหักโค่นลงได้ ถึงแม้บางครั้งลมอาจจะพัดแรงบ้าง แต่จะหักโค่นต้นไม้ที่แข็งแรงต้นนั้นให้ล้มครืนได้ละหรือ เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด นอกเสียจากต้นไม้ต้นนั้นเป็นโพรง หรือเข้าใจหลักการของอัลอิสลามอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ มุสลิมชนิดนี้แหละที่ง่ายต่อการเป่าหูให้หลงผิด

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพ อันวิชาความรู้นั้น จะคงอยู่ได้ก็เพราะการเรียน ความเข้าใจในเรื่องศาสนาจะมีได้ก็เพราะการเผยแพร่และพร่ำสอนกัน มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสนาของตน พร้อมทั้งต้องทำหน้าที่เผยแพร่ด้วย แม้เป็นเพียงประโยคเดียวหรือโองการเดียวก็ตาม อัลกุรอ่านจึงกล่าวเนือง ๆ ว่า

“สูเจ้าจงกำชับในความดี และสูเจ้าจงห้ามปรามให้ละเว้นความชั่ว”

         เพราะเหตุนี้คำกล่าวชักชวนผู้คนสู่วิถีทางของอัลลอฮ์ จำเป็นต้องมีสถาบันหรือมีคณะขึ้น เพื่อทำหน้าที่ชักชวนสู่ความดีงาม และห้ามปรามให้ละเว้นความชั่ว อัลลอฮ์  ได้ตรัสว่า

“มุสลิมเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด”

        การดีที่สุดนั้นมิใช่เพียงแต่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมเท่านั้น หากต้องทำงานด้วย งานที่ดีที่สุดคือการสั่งสอนให้ผู้คนทำความดี และห้ามปรามผู้คนจากความชั่ว การจะบรรลุถึงจุดประสงค์นี้ ต้องมีการเสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์สิน การเสียสละในทางของอัลลอฮเพื่อเผยแพร่สารของพระองค์ไปให้ทั่ว ให้ไกล และให้ได้ผลมากที่สุด จึงเปรียบได้กับการไถหว่านพืชผลซึ่งจะได้ผลประโยชน์แก่ผู้นั้นเป็นผลดีสะท้อนกลับมา แม้ว่าในการงานเช่นนี้จะมีอุปสรรคนานาประการ แต่ความอิ่มเอิบในที่ได้รับนั้นจะเป็นพลังจิตอย่างเอกอุ ซึ่งจะเร้าให้มีความมานะบากบั่นจนบรรลุความสำเร็จได้ ดังที่อัลกุรอ่านสั่งไว้ว่า

 “เจ้าจงอดทนดั่งที่ผู้หนักแน่นแห่งร่อซู้ลทั้งหลาย”

จากซู-เราะห์ลุกมาน ความว่า

“ลูกเอ๋ย จงดำรงละหมาด และจงกระชับความดี และจงห้ามปรามความชั่ว และจงอดทนต่อทุกข์ภัยที่ประสบแก่เจ้า

 แท้จริงนั้นอยู่ในหมู่กรณีอันหนัก ต้องมีมานะบากบั่นจึงจะสำเร็จได้”

จากโองการที่ ๘ ซูเราะห์บัยยินะห์ มีความว่า

 “อัลลอฮทรงปิติต่อพวกเขา และพวกเราก็ยินดีในพระองค์ นั่นคือเป็นรางวัลสำหรับผู้เกรงกลัวพระผู้อภิบาลของพวกเขา”

         โองการนี้เช่นกันอีกแสดงให้เห็นว่า ความกลัวนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความปิติยินดี ความปิติยินดีย่อมมาหลังความกลัว สรุปแล้วความกลัวนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการที่จะให้ได้มาซึ่ง ทางนำ ความเมตตา ความรู้ และความปิติ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น....

          ท่านพี่น้องที่เคารพ เรื่องของความกลัวเท่าที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นท่านพอจะทราบแล้วว่าความกลัวเกิดขึ้นได้อย่างไรมิใช่หรือ? แต่หาได้เพียงพอแค่ความกลัวเพียงอย่างเดียวไม่ ที่จะนำเราไปสู่ความรอดในอาคิเราะห์ (ปรโลก)  ยังต้องประกอบด้วยความหวังในความเมตตาของอัลลอฮควบคู่กันไปอีกด้วย


         เพราะคนเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาใกล้จะตายความกลัวนั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรอีกแล้ว ยามที่เรายังแข็งแรงยังสุขสบายไม่คิดกลัว พอสิ้นท่าถึงทีจำนนจะหันมากลัว อย่างนี้อัลลอฮไม่เล่นด้วยแน่นอน เพราะฉะนั้นคนเราเวลาใกล้จะตาย ให้หวังในความเมตตาในการอภัยจากอัลลอฮ เจ้าเป็นการดีที่สุด ดังพระวัจจะนะของท่านนบีมูฮัมหมัด มีความว่า

“คนหนึ่งคนในในหมู่ท่านอย่าได้ตายในลักษณะหนึ่งใด เว้นไว้ด้วยความหวังที่ดีงามต่ออัลลอฮ เท่านั้น”

         โดยให้หวังในความเมตตาและการอภัยเป็นที่ตั้ง ความหวังคือ ความมุ่งเพื่อให้ได้มา ในสิ่งที่ตนพอใจ พร้อมด้วยขวนขวายปฏิบัติเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาในเวลาข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่นเราดำนา ปลูกข้าว ความหวังของเราคือต้องการข้าวเปลือก เมื่อถึงวันเวลาแห่งการเก็บเกี่ยว นี่เรียกว่าความหวัง ต่างกันกับเราที่ต้องการข้าวเปลือกโดยมิได้ดำนาปลูกข้าว หรือต้องการลูกโดยไม่ยอมแต่งงาน ต้องการไปสู่ความรอดโดยไม่ยอมศึกษาเล่าเรียน ไม่ยอมปฏิบัติอิบาดะห์ อย่างนี้จะเรียกว่าความหวังไม่ได้ ต้องเรียกว่าใฝ่ฝัน-เพ้อฝันถึงจะถูก ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้


          ทีนี้เราลองหันมาดูคุณประโยชน์ของความหวังและคุณประโยชน์ของของความกลัวดูบ้าง คุณประโยชน์ของความหวังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากทำในสิ่งที่ตนหวัง ส่วนคุณประโยชน์ของความกลัวนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากหนีในสิ่งที่ตนกลัว เพราะฉะนั้นผู้ใดเกิดความหวัง ก็จงทำในสิ่งที่ตนหวังเสียแต่วันนี้ และผู้ใดที่เกิดความกลัว ก็จงหนีจากความกลัวนั้นเสียแต่วันนี้เช่นกัน

 อัลลอฮ ตรัสว่า

 

 “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธา และบรรดาผู้อพยพและดิ้นรนต่อสู่ในหนทางของอัลลอฮ เหล่านี้แหละเป็นผู้เหมาะสมที่จะหวังในความเมตตาของอัลลอฮ

และอัลลอฮเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

 

 

 

โรงเรียนท่าอิฐ