ธาตุแท้ชัยฏอน
  จำนวนคนเข้าชม  14349

ธาตุแท้ชัยฏอน


ดร.อับดุลลอฮฺ  อัล-คอฏิรฺ


เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักในหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ)

- ชัยฏอนคืออะไร?!

- ชัยฏอนมีรูปร่างตัวตนจริงๆ หรือเป็นแค่นามธรรม?!

- หรือคือความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดีและการกระซิบกระซาบของหัวใจ ดังที่บางคนเข้าใจ?!

- หรือมันคือเชื้อโรคดังที่บางคนกล่าวอ้าง?!

- หรือชัยฏอนคือสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย เราวาดมันเพื่อเป็นแค่สัญลักษณ์ เพื่อเราจะได้พูดถึง?!


แล้วอะไรคือหลักความเชื่อของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺเกี่ยวกับเรื่องนี้?  หลักความเชื่อของเราคือ ชัยฏอนนั้นมาจากญิน

อัลลอฮฺ ตรัสว่า:

﴿وَإِذۡ قُلۡنَا لِلۡمَلَٰٓئِكَةِ ٱسۡجُدُواْ لِأٓدَمَ فَسَجَدُوٓاْ إِلَّآ إِبۡلِيسَ كَانَ مِنَ ٱلۡجِنِّ فَفَسَقَ عَنۡ أَمۡرِ رَبِّهِۦٓۗ﴾ (الكهف : 50)

 “และเมื่อเราได้กล่าวแก่มลาอิกะฮฺว่า จงสุญูดคารวะต่ออาดัม พวกเขาก็แสดงคารวะเว้นแต่อิบลีส มันอยู่ในจำพวกญิน”

(อัล-กะฮฺฟฺ, 18 : 50)
 

         เราศรัทธาต่อการมีอยู่จริงของญินและมนุษย์ และชัยฏอนนั้นก็มาจากญิน และมันก็อยู่กับมนุษย์ทุกๆ คน ทุกคนจะมีชัยฏอนติดตัวอยู่ และหลักฐานเรื่องดังกล่าวนี้คือ คำพูดของท่านนบี ในหะดีษบทหนึ่งที่บันทึกโดยมุสลิม จากท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

«وَمَا مِنْكُمْ مِنْ أَحَدٍ إِلاَّ وَقَدْ وُكِّلَ بِهِ قَرِينُهُ مِنَ الْجِنِّ، وَقَرِينُهُ مِنَ الْمَلاَئِكَةِ». قَالُوا: وَإِيَّاكَ يَا رَسُولَ اللَّهِ؟، قَالَ: «وَإِيَّاىَ، إِلاَّ أَنَّ اللَّهَ عَزَّ وجَلَّ أَعَانَنِى عَلَيْهِ، فَلاَ يَأْمُرُنِى إِلاَّ بحَقٍّ». (رواه مسلم برقم 2814)

“ไม่มีใครคนใดจากหมู่พวกท่านนอกเสียจากว่าจะมีสหายติดตามตัวจากญินและจากมลาอิกะฮฺ

 เศาะหาบะฮฺถามว่า: แล้วท่านล่ะท่านเราะสูลุลลอฮฺ ?

ท่านตอบว่า: ฉันก็เช่นเดียวกัน แต่ทว่าอัลลอฮฺ  ทรงคุ้มครองฉันจากมัน ดังนั้น มันจะไม่สั่งใช้ฉันนอกจากในเรื่องที่ดีเท่านั้น”

(บันทึกโดยมุสลิม, บท: สัญลักษณ์ต่างๆ ของพวกมุนาฟิก, บรรพ: การยุยงของชัยฏอน, เลขที่: 2814)
 

         ดังนั้น ทุกๆ คนจะมีสหายติดตามตัวจากญิน แม้กระทั่งท่านเราะสูลุลลอฮฺ  เองก็ตาม แต่ทว่าญินที่ติดตามตัวท่านนั้น อัลลอฮฺได้คุ้มครองท่านจากมัน ดังนั้น มันจะไม่สั่งใช้ท่านนอกจากแต่ความดีเท่านั้น

อัลลอฮฺ ตรัสว่า:

﴿قُلۡ أَعُوذُ بِرَبِّ ٱلنَّاسِ ١ مَلِكِ ٱلنَّاسِ ٢ إِلَٰهِ ٱلنَّاسِ ٣ مِن شَرِّ ٱلۡوَسۡوَاسِ ٱلۡخَنَّاسِ ٤ ٱلَّذِي يُوَسۡوِسُ فِي صُدُورِ لنَّاسِ ٥ مِنَ ٱلۡجِنَّةِ وَٱلنَّاسِ ٦﴾ (سورة الناس)

“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ พระราชาแห่งมนุษย์ชาติ พระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ

ให้พ้นจากความชั่วร้ายของผู้กระซิบกระซาบที่หลอกล่อ ที่กระซิบกระซาบในหัวอกของมนุษย์ จากหมู่ญินและมนุษย์”

(อัน-นาส, 114 : 1-6)

และชัยฏอนก็มีลูกหลานสืบตระกูลและมีการสืบพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน

อัลลอฮฺ  ตรัสว่า:

﴿أَفَتَتَّخِذُونَهُۥ وَذُرِّيَّتَهُۥٓ أَوۡلِيَآءَ﴾ (الكهف : 50)

 “แล้วพวกเจ้าจะยึดเอามันและวงศ์วานของมันเป็นผู้คุ้มครองอื่นจากข้ากระนั้นหรือ”

(อัล-กะฮฺฟฺ, 18 : 50)

 ลูกหลานของชัยฏอนและบริวารของมันพยายามที่จะทำให้มนุษย์หลงทางในชีวิตบนโลกนี้

 

แผนปฏิบัติการของชัยฏอน

         ชัยฏอนใช้วิธีการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการหลอกล่อมนุษย์ ท่านอิบนุ ก็อยยิม อัล-เญาซียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้ระบุหกลำดับวิธีการของชัยฏอนในการหลอกล่อมนุษย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้


• ลำดับแรก: “กุฟรฺ” หรือ “ชิรกฺ”

          พยายามที่จะให้มนุษย์ปฏิเสธศรัทธา (กุฟรฺ) หรือไม่ก็ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ (ชิรกฺ) แต่ถ้าหากเป้าหมายนั้นเป็นมุสลิมอยู่แล้ว มันจะใช้กลยุทธลำดับต่อๆ ไป


• ลำดับที่สอง: “บิดอะฮฺ”

          คือลำดับ “อุตริกรรม” หรือ “บิดอะฮฺ” กล่าวคือชัยฏอนจะพยายามให้มุสลิมอุตริกิจการงานต่างๆ ขึ้นมาในศาสนา และให้ปฏิบัติอุตริกรรมนั้นๆ แต่ถ้าหากเป้าหมายเป็นชาวสุนนะฮฺที่ไม่ทำบิดอะฮฺ ชัยฏอนก็จะใช้แผนลำดับขั้นที่สาม


• ลำดับที่สาม: “บาปใหญ่”

          คือลำดับความผิดที่เป็นบาปใหญ่ แต่ถ้าหากคนนั้นอัลลอฮฺได้คุ้มครองให้เขารอดพ้นจากบาปใหญ่ ชัยฏอนก็ยังไม่หมดหวัง แต่มันจะเริ่มแผนการในขั้นตอนต่อไปคือ ...


• ลำดับที่สี่: “บาปเล็ก”

         และหากอัลลอฮฺให้คนนั้นรอดพ้นจากบาปเล็ก ชัยฏอนก็จะเริ่มใช้แผนปฏิบัติการอื่น นั่นคือ


• ลำดับที่ห้า: “หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นมุบาหฺ (หมายถึงสิ่งที่เราปฏิบัติหรือละทิ้ง ก็จะไม่ได้รับผลบุญและบาปใดๆ ทั้งสิ้น)

          คือการที่ชัยฏอนให้มุสลิมหมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นมุบาหฺต่างๆ และหมดเวลาไปกับมัน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ใช้เวลากับสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าและสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ให้เราปฏิบัติ


• ลำดับที่หก: “หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่ประเสริฐน้อยกว่า”

          คือ การที่ชัยฏอนจะให้มุสลิมหมกหมุ่นปฏิบัติในสิ่งที่ประเสริฐหรือดีน้อยกว่า และทิ้งการปฏิบัติสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่เขาได้ปฏิบัติคือการงานที่ดี แต่การงานที่เขาละทิ้งนั้นดีกว่าและประเสริฐกว่า เช่น หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นสุนัตและละทิ้งสิ่งที่เป็นฟัรฎู เป็นต้น !?


         จะเห็นได้ว่า ชัยฏอนมีความอุตสาหะในการเชิญชวนและล่อลวงของมัน และปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้น โดยใช้วิธีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า:

﴿كُلُواْ مِمَّا رَزَقَكُمُ ٱللَّهُ وَلَا تَتَّبِعُواْ خُطُوَٰتِ ٱلشَّيۡطَٰنِۚ إِنَّهُۥ لَكُمۡ عَدُوّٞ مُّبِينٞ﴾ (الأنعام : 142)

“จงบริโภคจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าเถิด และจงอย่าตามก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริง มันคือศัตรูอันชัดแจ้งของพวกเจ้า”

(อัล-อันอาม, 6 : 142)

 

         ชัยฏอนจะพยายามล่อลวงมนุษย์ทีละนิดละหน่อยและค่อยเป็นค่อยไปจนถึงเป้าหมายของมัน และมันจะเข้าหามนุษย์ทุกประเภทด้วยวิธีเฉพาะที่เหมาะสมกับคนนั้นๆ

- เข้าหาผู้ที่มีความสมถะ ด้วยรูปแบบสมถะ

- เข้าหานักวิชาการผ่านประตูความรู้

- และเข้าหาคนโง่อวิชาผ่านประตูความขลาดเขลา

 


แปลโดย : ฟัยซอล  อับดุลฮาดีย์  / Islamhouse.com