ความเศร้าโศก
  จำนวนคนเข้าชม  16074

ความเศร้าโศก


แปลและเรียบเรียงโดย : ซาฮาร์


          ความเศร้าโศก คือ อาการของผู้ที่มี วาซวาซา ครอบงำอยู่ในความคิด หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง ผู้ที่รู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตและจมอยู่ในความเศร้าเสียใจนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้น บุคคลผู้นั้นยังไม่สามารถพาตัวเองออกมาจากวังวนของความเศร้าและความทุกข์ใจได้  หากวาซวาซาเกิดขึ้นกับผู้ศรัทธา เขาผู้นั้นอาจมีความคิดคำนึงว่าเป็นเพราะเหตุใดเขาจึงต้องมาเกิดบนโลก มันน่าจะดีกว่าถ้าเขาจะไม่มาเกิดบนโลกใบนี้ และจมอยู่ในความเศร้านั้น  แต่หากเขาผู้นั้นมิใช่ผู้ที่อยู่ในศาสนาและมิได้มีความเกรงกลัวในอัลลอฮ์ แล้ว ก็เป็นสิ่งง่ายดายที่เขาจะฆ่าตัวตายโดยไร้จิตคำนึงถึงสิ่งอื่นนอกจากจมอยู่กับความรู้สึกของตัวเอง และทำตามความรู้สึกนั้นอย่างไร้จิตสำนึกใดๆ

 "พึงทราบเถิด ! แท้จริง บรรดาคนที่อัลลอฮ์รักนั้น ไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ แก่พวกเขาและพวกเขาจะไม่เศร้าโศกเสียใจ"

(ซูเราะฮฺ ยูนุส : 62)


          ดังเช่นเหตุการณ์ที่เราเห็นเกิดขึ้นทั่วไปในประเทศตะวันตกและคนทั่วโลก และนี่คือพิษภัยของ วาซวาซา(ความสับสน) เมื่อมันดำรงอยู่ในความคิดและจิตใจของผู้ใด ผลกระทบหลักๆของมันคือ  การทำให้มนุษย์รู้สึกหลงทางและสับสนในความนึกคิดของตนเอง หลงเวียนวนในชีวิตของตนเอง และเมื่อไม่สามารถหาข้อสรุปให้แก่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้นั้น ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นในหัวใจและชีวิต และจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถหาทางออกให้กับชีวิตได้

 "และเมื่อเราได้ให้มนุษย์ลิ้มรสความเมตตา พวกเขาก็ดีใจต่อมัน

และเมื่อทุกข์ร้ายอันใดประสบแก่พวกเขา เนื่องด้วยสิ่งที่มือของพวกเขาประกอบไว้ แล้วพวกเขาก็หมดอาลัย"

(ซูเราะฮฺ อัรฺรูม : 36)


         มีคำถามหนึ่ง ซึ่งเป็นคำถามที่เด็กๆมักจะชอบถาม เรามาบนโลกนี้ทำไม? ทำไมเราถึงเกิดมา? ตามหลักจิตวิทยา คำถามแบบนี้มีต้นตอมาจากความคิดของ วาซวาซา เป็นคำถามที่มาจากคนที่จมอยู่กับความทุกข์และเบื่อหน่ายในชีวิต หากเราจะพยายามช่วยหาทางให้คนจำพวกนี้เข้าใจแล้วละก็ วาซวาซา(ความสับสน)จะทำให้พวกเขาไม่พึงพอใจกับคำตอบที่เราให้ไป และถึงแม้เราพยายามที่จะพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นด้วยหลักฐาน หรือการอธิบายใด ๆ พวกเขาก็จะยังคงยืนยันว่าพวกเขาไม่ควรเกิดมาบนโลกนี้ และที่นี่ไม่ใช่ที่ของพวกเขา

 "เปล่าเลย! พวกเขาปฏิเสธความจริงต่างหาก เมื่อมันได้มีมายังพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงอยู่ในภาวะที่สับสน"

(ซูเราะฮฺ ก็อฟ : 5)


           มีหนังสือเรื่องหนึ่งที่ผู้แต่งได้เล่าถึงเช้าวันหนึ่ง เขาตื่นมาพร้อมกับความเศร้าโศกและความมืดมนในชีวิต เขาเดินมาอ่านหนังสือพิมพ์พร้อมกับความรู้สึกที่ยังคงลอยอลวลอยู่ในห้วงคำนึง เขาได้เห็นข่าว 2 เรื่อง ซึ่งพาดหัวข่าวในหน้าเดียวกัน หากแต่เนื้อหานั้นช่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในเนื้อความของข่าวแรกนั้นกล่าวว่า

 

     1.- มีชายคนหนึ่งใช้มีดผ่าท้องตัวเองและลากไส้ออกมา เพราะเค้ารู้สึกว่าอยากอยู่โดยไม่มีลำไส้อยู่ในท้อง สักพักเขาก็เสียชีวิตหลังจากนั้นเพียงนาทีเดียว

     2.- อีกข่าวหนึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับหญิงสาวผู้หนึ่ง เธอกล่าวว่า ด้วยความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์  ในทุก ๆ เช้าที่เธอได้ลืมตาตื่นขึ้นมา เธอได้ตื่นมาพร้อมกับความรื่นรมณ์ในหนทางชีวิต เธอขอบคุณอัลลอฮ์  ที่ให้เธอได้มีชีวิตอยู่และได้ให้โอกาสในการมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์

 

           ในตอนนั้นเอง ผู้เขียนได้ตระหนักว่า อะไรที่เป็นสาเหตุใดที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้มีความสุข และสิ่งใดที่ทำให้ชายผู้นั้นมีความทุกข์ถึงขนาดฆ่าตัวตายด้วยความเศร้าโศกและท้อแท้กับชีวิตเช่นนั้น  เขาได้บทสรุปในตอนท้ายว่า ความคิดในด้านลบและการมองโลกในแง่ร้ายทั้งปวง มีต้นตอมาจาก วาซวาซา ของความคิด หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ความเหนื่อยหน่าย ความท้อแท้ การขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง คือ วาซวาซาทางความคิด และมันมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน


"พระองค์จะทรงประทานความรู้ให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดที่ได้รับความรู้ แน่นอนเขาก็ได้รับความความดีอันมากมาย

และไม่มีใครจะรำลึก นอกจากบรรดาผู้ที่มีสติปัญญาเท่านั้น"

(ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะ : 269)