จริยธรรมกับการศรัทธา
  จำนวนคนเข้าชม  10672

จริยธรรมกับการศรัทธา


โดย  อิจรลาลีย์


จริยธรรมกับการศรัทธา  

          หากมองในด้านหลักศรัทธาแล้ว จริยธรรมนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก  เพราะอิสลามได้โยงความสำคัญระหว่างการศรัทธาและการมีจริยธรรมไว้อย่างแน่นแฟ้น ดังปรากฏในวจนะรอซูล  เมื่อท่านถูกถามว่า ผู้ศรัทธาใดที่ถือว่าเป็นผู้มีศรัทธาสูงสุด ?  ท่านตอบว่า “ คือผู้มีจริยธรรมดีงามที่สุด ” 

           อิสลามจึงไม่แยกจริยธรรมออกจากการศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า การยกระดับจริยธรรมให้เกี่ยวพันกับการรู้จักพระองค์นั้น นับเป็นหนทางในการสร้างฐานะอันสูงส่งแก่มนุษย์ และในขณะเดียวกันก็เป็นการประกันสังคมให้ได้รับความปลอดภัย ร่มเย็นสงบสุข

          อิสลามถือว่าการศรัทธานั้นเป็นความดี   เพราะการศรัทธานั้นครอบคลุมในกิจการศาสนาเอาไว้ทั้งหมด ศรัทธาในอิสลามแทรกซึมอยู่ที่หัวใจ ลิ้น และอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย กล่าวคือ การศรัทธาในศาสนาอิสลาม  หมายถึง การเชื่อมั่นด้วยหัวใจ เอ่ยด้วยคำพูด และ ประจักษ์จริงบนการกระทำ ทั้งสามต่างยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน และอยู่ควบคู่กันเสมอ พระคัมภีร์ระบุว่า

           
"หาใช่คุณธรรมไม่ การที่พวกเจ้าผินหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก     แต่ทว่าคุณธรรมนั้น

คือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ และวันปรโลก  และศรัทธาต่อมลาอิกะฮฺ ( เทวทูต ) ต่อบรรดาคัมภีร์ และต่อนบีทั้งหลาย" 

( อัลบะเกาะเราะฮ 2 / 177 )

          ท่านศาสดามุฮัมหมัด  กล่าวว่า  “ คุณธรรม คือ การมีจริยธรรมอันดีงาม ” (บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ อิมามมุสลิมและอิมามติรมีซีย์ )
                                                                            
          ความดีเป็นคุณลักษณะของการกระทำที่ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม  และครอบคลุมทุกสิ่งอย่างที่เป็นความดีงาม

 

จริยธรรมกับการประกอบศาสนกิจ

           ในด้านการอิบาดะฮฺ ( การแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระเจ้า ) อิสลามถือว่า การแสดงออกถึงการจงรักภักดี เป็นจิตวิญญาณของจริยธรรม เพราะการประกอบศาสนกิจนี้ถือเป็นการกระทำตามบัญชาของพระเจ้า จริยธรรมจึงเป็นอีกครึ่งหนึ่งของศาสนาบัญญัติ จึงเห็นได้ว่าอิสลามได้เชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง การศรัทธา การจงรักภักดีด้วยสายสัมพันธ์ของจริยธรรม เพื่อให้จุดมุ่งหมายของจริยธรรมเด่นชัดและประจักษ์จริง
  
          ณ ที่นี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า หลักการปฏิบัติในศาสนาอิสลาม ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมจริยธรรมเป็นที่ตั้ง เสมือนดั่งสนามฝึกฝนให้คุ้นเคย และเคยชิน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติบนพื้นฐานคุณธรรมจริยธรรม พระคัมภีร์อัลกุรอานได้ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงเหตุผลอันแยบยลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดศาสนกิจต่างๆเพื่อเป็นข้อบังคับใช้แก่ผู้ศรัทธาในพระองค์ ตัวอย่างเช่น      
 

เรื่อง การละหมาด

 อัลลอฮ ตรัสว่า

"และจงดำรงการละหมาด (เพราะ) แท้จริงการละหมาดนั้นจะยับยั้งการทำลามกและความชั่ว"

 ( อัลอังกะบูต / 45 )

          การออกห่างจากสิ่งชั่วช้า ละเว้นจากคำพูดและการกระทำที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ถือเป็น แก่นแท้ของการละหมาดที่แท้จริง หาใช่สักแต่ว่าละหมาดให้ผ่านเลยจะได้ชื่อว่าละหมาด หากยังคงไม่ละทิ้งจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ก็ถือว่าถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงของการละหมาดไม่  ท่านศาสดามุฮัมหมัด กล่าวไว้ในฮะดีส กุ๊ดซีย์    มีความว่า 

“ แท้จริงข้า ( อัลลอฮ ) จะรับละหมาดของผู้ที่ถ่อมตนในความยิ่งใหญ่ของข้า ไม่แสดงอาการโอหัง ด้วยการละหมาด เพื่อโอ้อวดมนุษย์ทั้งหลาย

ไม่นอนในสภาพที่ยังคงฝ่าฝืนข้า ใช้กลางวันในการรำลึกถึงข้า เขาเอ็นดูเมตตาคนยากจน คนเดินทาง หญิงหม้าย และผู้ประสบเคราะห์กรรม

บุคคลประเภทดังกล่าวมานี้ รัศมีของเขาเช่นเดียวกับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ “                       


เรื่อง การชำระซะกาต ( บริจาคทานบังคับ )       

            จุดมุ่งหมายของการบริจาคหาใช่เพียงการหยิบยื่นแก่คนที่มีฐานะด้อยกว่า แต่จุดมุ่งหมายประการแรกนั้นคือ การบ่มเพาะความรู้สึกรักใคร่ สงสาร เอ็นดูเมตตา และเชื่อมสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชนชั้นที่แตกต่าง เพื่อสร้างความใกล้ชิด ปิดความอิจฉาริษยา และลดช่องว่างในสังคม  พระคัมภีร์ได้ระบุเป้าหมายข้อนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังดำรัสที่ว่า

"(มุฮัมหมัด)จงเอาจากทรัพย์ของพวกเขาเป็นทาน เพื่อการขัดเกลาและซักฟอกเขาให้สะอาดบริสุทธิ์"

 ( อัตเตาบะฮฺ  / 103 ) 

           การบริจาคทาน ถือเป็นการพัฒนาจิตใจ ให้รู้จักเสียสละ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ อีกทั้งยังนำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจของผู้รับ เป็นการรักษาเกียรติของเพื่อนมนุษย์ ขจัดความเป็นศัตรู และความเกลียดชัง สร้างความมั่นคงในสังคม ทำให้ระบบสังคมมีความสูงส่งและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


เรื่อง การถือศีลอด 

            อิสลามไม่ได้พิจารณาการถือศีลอดว่าเป็นเพียงแค่ การอดอาหารและเครื่องดื่มในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น  แต่ยังคำนึงถึงการหักห้ามจิตใจไม่ให้ประกอบความชั่วต่างๆอีกด้วย  ท่านนบีมุฮัมหมัด   กล่าวเน้นในเรื่องนี้ว่า

“ ใครที่ไม่ละทิ้งคำพูดเท็จและ การกระทำที่เป็นเท็จ อัลลอฮก็ไม่ทรงประสงค์สิ่งใดจากการที่เขาละทิ้งอาหารและเครื่องดื่ม ”

( บันทึกโดย อิมาม บุคอรีย์ ) 
     

เรื่อง การประกอบพิธีฮัจญ์

อัลลอฮตรัสว่า            

"(เวลา) การทำฮัจญ์นั้นมีหลายเดือนอัน เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ใดที่ได้ให้การทำฮัจญ์จำเป็นแก่เขาในเดือนเหล่านั้นแล้ว

ก็ต้องไม่มีการสมสู่ และไม่มีการละเมิด และไม่มีการวิวาท ใดๆ ใน (เวลา) การทำฮัจญ์ และความดีใดๆ ที่ พวกเจ้ากระทำนั้น อัลลอฮทรงรู้ดี

และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้น คือความยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงข้าเถิด โอ้ ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ! "

( อัลบะเกาะเราะฮ 2 / 197 )  

           จากดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อประกอบพิธีฮัจญ์ มุสลิมต้องอยู่ในสภาพที่สงบเสงี่ยม  อดทน อดกลั้น  ควบคุมอารมณ์และความโกรธ ไม่กระทำการใดที่ส่อไปในทางเกี้ยวพาราสี การละเมิดขอบเขตของศาสนาหรือ การทะเลาะวิวาทใดๆ
             
            ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาสนบัญญัติอันเป็นเสาหลักของศาสนานั้น แม้ภายนอกจะแสดงออกถึงการปฏิบัติของร่างกาย แต่เหตุผลที่แฝงอยู่ในข้อบังคับใช้เหล่านั้นล้วนนำพาสู่จุดมุ่งหมายที่ท่านนบีมุฮัมหมัด   ได้วาดไว้  ดังที่กล่าวว่า

 “ แท้จริง ฉันถูกส่งมาเพื่อทำให้จริยธรรมอันประเสริฐสมบูรณ์ ” 

 

          ดังนั้น ศาสนกิจทั้งหลายทั้งมวล ล้วนแต่เป็นขั้นตอนสู่จริยธรรมอันสมบูรณ์ เพื่อธำรงรักษาและปกป้องชีวิตมนุษย์  มุสลิมที่ยึดมั่นกับคุณค่าจริยธรรมเหล่านี้ เขาก็จะได้รับฐานะอันมีเกียรติของศาสนา และหากเขาไม่ได้รับคุณค่าใดๆจากจริยธรรมทีอิสลามมอบให้ หัวใจของเขาก็จะไม่ได้รับการขัดเกลาเพราะตกเป็นทาสของกิเลสนั่นเอง    อัลลอฮ  ตรัสว่า

               
"แท้จริง เราได้ศรัทธาต่อพระเจ้าของเราเพื่อพระองค์จะทรงอภัยความผิดต่าง ๆ ของเราให้แก่เรา

และทรงอภัยสิ่งที่ท่านได้บังคับให้เรากระทำเกี่ยวกับเรื่องมายากล และอัลลอฮนั้นทรงเป็นผู้ดีเลิศยิ่งและทรงยั่งยืนตลอดไป *

 ความจริงนั้น ผู้ใดมาหาพระเจ้าของเขาในสภาพของผู้กระทำความผิด แน่นอน เขาจะได้รับนรกเป็นการตอบแทน โดยที่เขาจะไม่ตายและไม่เป็นในนั้น*

และผู้ใดมาหาพระองค์โดยเป็นผู้ศรัทธาเขาได้กระทำความดีต่าง ๆ ไว้ ชนเหล่านี้แหละสำหรับพวกเขานั้นจะมีสถานะอันสูงส่ง *

สวนสวรรค์หลากหลายอันสถาพร ณ เบื้องล่างของมันมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน พวกเขาเป็นผู้พำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล

และนั่นคือการตอบแทนสำหรับผู้ขัดเกลาตนเอง (ให้พ้นจากความชั่ว)"

( ฏอฮา / 73-76 )