คนจนที่ประเสริฐคือคนอย่างไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  9620

คนจนที่ประเสริฐคือคนอย่างไร ?


โดย... เชคญะมาล อับดุรเราะฮฺมาน  


        คนจนที่ว่านี้ คือ ผู้นั้น ยินดีน้อมรับ ส่วนแบ่งเท่าที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ และอดทน ไม่พูดไม่ทำในสิ่งที่อัลลอฮฺ  ทรงโกรธ ไม่ละทิ้งการแสวงหาการทำงาน นี่แหละคือความจนที่ประสริฐ คนจนสมัยนี้ลักษณะตามที่กล่าวไม่มีให้เห็นมากนัก  มิใช่ว่าจน แล้วไม่ชอบทำงานแต่ชอบออกไปขอคนอื่น คนจนอย่างนี้นี่แหละที่ท่านนบี  ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ

มีรายงานจากท่าน สะฮฺลฺ อิบนิ อัสฺซาอิดี้ยฺได้เล่าว่า

ชายคนหนึ่งเดินผ่านท่านร่อซูล ท่านร่อซูล  จึงถามผู้ที่นั่งอยู่กับท่านว่า ท่านเห็นว่าชายคนนี้เป็นอย่างไร?

เขาตอบว่า คนนี้เป็นคนที่ใครๆก็ยกย่อง เป็นคนที่มีคุณค่า ถ้าหากเขาสู่ขอก็จะได้แต่งงาน ถ้าหากขอความช่วยเหลือก็จะได้รับความช่วยเหลือ

เขาเล่าต่อไปว่า ท่านร่อซูล  ก็เฉยๆ ไม่นานนักก็มีชายอีกคนหนึ่งเดินผ่านมา

ท่านร่อซูล จึงถามว่า ชายคนนี้เป็นอย่างไรตามวามเห็นของท่าน?

เขาตอบว่า คนนี้เป็นคนยากจนเป็นคนที่มีคุณค่า แต่ถ้าหากไปสู่ขอก็ไม่มีใครเอาไป ขอความช่วยเหลือก็ไม่มีใครช่วยเหลือ พูดอะไรก็ไม่มีใครฟัง

ท่านร่อซูล  จึงกล่าวขึ้นว่า คนนี้ดี กว่าแม้จะมีเหมือนคนนั้นมากมายเต็มแผ่นดิน”

(บันทึกโดย บุคอรีย์ มุสลิม)


ขอความพอเพียงต่ออัลลอฮฺ อดทน และน้อมรับ

มีรายงาน จากท่าน สะอี๊ด อัลคุฎรีย์ ว่า

"ชาวอันศอรฺมาขอจากท่านร่อซูล ท่านก็ให้ และมาขออีกที ท่านก็ให้ จนกระทั่งสิ่งที่มีอยู่หมด

และท่านกล่าวว่า ฉันไม่มีทรัพย์สิ่งของอะไร ฉันไม่ได้เก็บกักตุนไว้ โดยไม่ได้ให้พวกท่านหรอก

ผู้ใดขอความพอเพียง อัลลอฮฺก็จะให้ความพอเพียงผู้ใด ขอให้รวย อัลลอฮฺก็จะให้รวย 

ผู้ใดขอให้มีความอดทน เขาก็จะมีความอดทน และอัลลอฮฺจะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ใคร ที่จะประเสริฐยิ่งกว่าการให้เขามีความอดทน”

(บันทึกโดย อบูดาวุด)

คำอธิบาย

ท่าน อัล ญุชะรีย์ อธิบายว่า

     คำว่า“ผู้ใดขอความพอเพียง”หมายถึง ผู้นั้นงดเว้นสิ่งที่เป็นของฮะรอม และงดการออกไปขอจากคนอื่น และมีบางท่านอธิบายว่า หมายถึง อดทน

     ส่วนคำว่า “อัลลอฮฺก็จะให้ความพอเพียง” หมายถึง อัลลอฮฺจะทรงคุ้มครองรักษาผู้นั้น เช่นให้เขามีอาหารหลักอย่างพอเพียง ไม่ออกไปขอจากผู้ใด และให้เขาพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่

     สำหรับคำว่า “ผู้ใดขอความอดทน” หมายถึงขอให้ประสบความสำเร็จ ในการอดทนของเขา ในอัลกุรอาน กล่าวถึงการอดทนไว้ว่า

(โอ้มุฮัมมัด) เจ้าจงอดทนในสิ่งที่มาประสบกับเจ้าเถิด และการอดทนของเจ้านั้น มิใช่เพื่อสิ่งอื่นใด เว้นแต่เพื่ออัลลอฮ์เท่านั้น”

(อันนะฮฺลฺ  16 อายะฮฺ127)

         หรือมีความหมายว่า ใช้ให้ตนเองมีความอดทนแบกรับความยากลำบาก เพราะความอดทนนั้น จะต้องอดทนในการเป็นผู้ที่เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่ง และจะต้องอดทนในการงดเว้นความชั่ว อดทนต่อภัยบะลา หรืออดทนในการไม่ออกไปขอจากผู้อื่น ไม่อยากได้ในสิ่งที่อยู่ในมือของผู้อื่น กล้ำกลืนความขมขื่นไว้ ไม่ร้องทุกข์  และในช่วงท้าย ฮะดีษได้กล่าวว่า

 

“และอัลลอฮฺ จะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ใครที่จะประเสริฐยิ่งกว่าการให้เขามีความอดทน”

 

         หมายความว่า ตำแหน่งการอดทนนั้น นับเป็นตำแหน่งอันสูงส่ง เพราะในนั้นจะถูกรวมไว้ด้วยคุณลักษณะและสถานภาพอันประเสริฐยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ในอัลกุรอาน จึงกล่าว ถึงความอดทนไว้คู่กับการละหมาด

“พวกเจ้าจงขอในกิจการทุก ๆ อย่างด้วยความอดทน และในการละหมาดก็ต้องอดทนเช่นเดียวกัน”

(อัลบะก่อเราะฮฺ 2 อายะฮฺ 45)


นอกจากนี้ท่านนบี  ยังได้แนะนำ สิ่งซึ่งจะทำให้มนุษย์ สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงจนกระทั่งผ่านพ้นภาวะวิกฤตได้ ท่านกล่าวว่า

“จงระมัดระวังตนไม่ให้ตกลงไปเกลือกกลั้วของฮะรอมทุกอย่าง ท่านก็จะเป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเคร่งครัดในอิบาดะฮฺ

(เพราะการทิ้งของฮะรอมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่ง)

และจงพึงพอใจ ในสิ่งที่อัลลอฮฺ ทรงจัดสรรปันส่วน ริสกี ให้แก่ท่าน ท่านก็จะเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุด

(หมายถึงร่ำรวยด้วยจิตใจ)

(บันทึกโดย ติรมีซีย์)

♥ ผู้ใดพึงพอใจในสิ่งที่ตนมี ผู้นั้นเป็นคนรวย

♥ คนร่ำรวยไม่ใช่คนที่มีข้าวของเครื่องใช้มากมาย แต่คนรวยคือ รวยด้วยน้ำใจ

♥ ความพึงพอใจ เป็นความรวยขนานแท้ มีเกียรติ ด้วยการมีอัลลอฮฺ  ทรงเป็นที่พึง

♥ ผู้ใดไม่พึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ผู้นั้นจะหิวโหย ตลอดไป

♥ ความพึงพอใจทำให้มีเกียรติร่ำรวยและมีอิสรภาพ

♥ ผู้ใดไม่มีความพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ผู้นั้นจะตกต่ำ ตกเป็นทาสผู้อื่น

♥ ความพินาศจะประสบกับผู้ตกเป็นทาสของดุนยา ตกเป็นทาสของเงินตรา

♥ ผู้มีสติปัญญาย่อมมั่นใจริสกีนั้นจะได้มาจากการจัดสรรปันส่วนของอัลลอฮฺ ไม่ใช่ด้วยความรู้และสติปัญญา

♥ นักปราชญ์ กล่าวว่า ถ้าหากการจัดสรรริสกีของอัลลอฮฺ ขึ้นอยู่กับการมีปัญญาดีแล้ว สัตว์ทั้งหลาย คงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างแน่แท้

 

ขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ หวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ให้มากๆ ปัญหาต่างๆจะหมดไป

         การขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺเป็นอิบาดะฮฺ การที่เราหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เป็นหนทางที่ดีพร้อมทั้งขอดุอาอฺด้วยและรอคอยความสำเร็จ การปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ท่านนบี  สอนเอาไว้

มีรายงาน จากท่านหญิง อาอิชะฮฺ กล่าวว่า “ท่านร่อซูล  ได้สอน ดุอาอฺ ให้แก่เธอว่า

 

         โอ้อัลลอฮฺ....ฉันขอความช่วยเหลือ จากท่านในสิ่งที่ดีงามทุกอย่างทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ สิ่งทีฉันรู้และไม่รู้ ... ฉันขอความคุ้มครองต่อท่านให้พ้นจากความชั่วทุกอย่างทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ สิ่งที่ฉันรู้และไม่รู้

         โอ้อัลลอฮฺ.... ฉันขอความช่วยเหลือจากท่านในสิ่งที่ดีงาม ตามที่บ่าวของท่าน และ นบีของท่านได้ขอต่อท่านมาแล้ว ...ฉันขอความคุ้มครองให้พ้นจากความชั่ว ในสิ่งที่บ่าวของท่าน และนบีของท่านได้ขอความคุ้มครองต่อท่านมาแล้ว

         โอ้อัลลอฮฺ.... ฉันขอต่อท่าน ให้ฉันได้เป็นชาวสวรรค์ และขอให้ฉันพูดเละกระทำ ในสิ่งที่จะทำให้ได้ใกล้ชิดกับสวรรค์...ฉันขอความคุ้มครองต่อท่านให้พ้นจากนรกและขอให้พ้นจากการพูด และการกระทำในสิ่งที่ ใกล้กับนรก ... ฉันขอต่อท่าน ในสิ่งท่านกำหนดไว้ให้ฉันนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งดีๆด้วยเถิด

 


และท่านนบี  ได้ขอดุอาอฺ ว่า

โอ้อัลลอฮฺ ... ฉันขอความช่วยเหลือจากท่านให้ได้รับความโปรดปรานและความเอ็นดูเมตตาจากท่านด้วยเถิด

แท้จริงไม่มีใครมีสิทธิ์ในสิ่งดังกล่าว เว้นแต่ท่านเท่านั้น”

 

         สาเหตุของดุอาอฺบทนี้ ก็คือครั้งหนึ่งท่านนบี  มีแขกมาหา ท่านก็ส่งคนไปถามตามบ้านภรรยาของท่านว่า มีอาหารพอที่จะรับแขกบ้างหรือไม่ แต่ก็ไม่พบว่ามีอาหารอยู่เลย และแล้วก็มีผู้หนึ่งได้ให้แกะย่างตัวหนึ่งแด่ท่านนบี ท่านนบี  จึงกล่าวดุอาอฺบทดังกล่าว ผู้ใดต้องการให้อัลลอฮฺ ดูแลรักษา ต้องการจะได้รับสิ่งที่อยู่ในคลังของอัลลอฮฺ  ก็จงกล่าวดุอาอฺ ตามที่ท่านนบี สอนไว้ดังนี้


“โอ้อัลลอฮฺ ... โปรดรักษาฉันให้อยู่ในอิสลามขณะฉันยืน โปรดรักษาฉันให้ฉันอยู่ในอิสลามขณะฉันนั่ง 

โปรดรักษาฉันให้อยู่ในอิสลามขณะฉันนอน โปรดอย่าให้ศัตรูกล่าวร้ายเหยียดหยามฉันเพราะความอิจฉาเลย ...

 

โอ้อัลลอฮฺ... ฉันขอความช่วยเหลือต่อท่านให้ได้รับความดีทุกอย่างเพราะคลังแห่งความดีนั้นอยู่ในมือของท่าน

และฉันขอความคุ้มครองต่อท่าน ให้พ้นจากความชั่วทุกอย่าง เพราะคลังแห่งความชั่วนั้นอยู่ในมือของท่าน”

 

 

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์ยะห์ยา อับดุลกะรีม

อัลอิศลาห์ สมาคม เอกสารฉบับพิเศษ มุฮัรรอม 1430