ประกันชีวิตในทัศนะของอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  26058

 

ประกันชีวิตในทัศนะของอิสลาม


คำถาม : ผมจำเป็นต้องเข้าโครงการประกันชีวิตในบริษัทที่ผมทำงานอยู่ ผมจึงอยากทราบว่า อิสลามมีทัศนะต่อการประกันชีวิตอย่างไร?


คำตอบ : ดร.มุนซิรฺ ค็อฟ นักเศรษฐศาสตร์มุสลิมและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ให้คำอิบายเรื่องนี้ว่า : -


          “ ในแวดวงนักวิชาการอิสลามร่วมสมัย มี 3 ทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องการประกันชีวิต ทั้งหมดยอมรับว่า สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันในประวัติศาสตร์ของนิติศาสตร์อิสลาม นักวิชาการบางส่วน ถือว่า เป็นที่ต้องห้าม และตั้งข้อโต้แย้งไว้มากมาย รวมถึงเรื่องริบา การพนัน ความไม่แน่นอน(เฆาะร็อรฺ) และการคาดเดาเจตนารมณ์ของพระเจ้า ”


          ทัศนะที่สอง มองว่าการประกันชีวิตมีเรื่องของความไม่แน่นอน(เฆาะร็อรฺ) เพราะไม่มีใครรู้ว่าภาระความรับผิดชอบของผู้ประกัน (บริษัทประกัน) จะเกิดขึ้นไหมและเมื่อใด ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้น นี่คือความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอนที่ทำให้เกิดความบกพร่องอย่างสำคัญในสัญญา ดังนั้น จึงเป็นที่ต้องห้าม


          ทัศนะที่สาม เป็นทัศนะของเชค มุสฏอฟา อัซซัรฺกอ ซึ่งแย้งว่า เหตุผลเรื่องความไม่ชัดเจนหรือความไม่แน่นอนในสัญญานั้นสามารถลบล้างได้โดยความจริงที่ว่า สัญญาประกันภัยอาศัยความรู้ทางสถิติและการใช้ทฤษฎีความน่าจะเป็น ที่ได้มีการศึกษากันมาอย่างดีจนเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ ความไม่ชัดเจนหรือความไม่แน่นอนจึงไม่มีในส่วนของผู้ประกัน และสัญญาเป็นที่อนุญาตโดยมีเงื่อนไขสองประการ นั่นคือ จะต้องไม่มีข้อความเกี่ยวกับดอกเบี้ยในสัญญาและสิ่งที่ถูกประกันจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เงื่อนไขสองประการนี้ จะลบล้างผลตอบแทนตายตัวในสัญญาประกันชีวิต เพราะมูลค่าของกรมธรรม์มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วย (แต่ถ้าผลตอบแทนมาจากเงินปันผลในธุรกิจที่ไม่ขัดต่อหลักชะรีอะอฺ มันก็เป็นที่อนุญาต) นอกจากนี้แล้ว มันยังป้องกันการประกันกิจกรรมต้องห้ามอย่างเช่น บ่อนการพนันอีกด้วย


          ผู้สนับสนุนทัศนะที่สองโต้แย้งว่า ปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนหรือความไม่แน่นอนนั้นใช้เฉพาะกับสัญญาแลกเปลี่ยนเท่านั้น ถ้าหากว่าสัญญาได้รับการแก้ไขและปรับปรุงใหม่บนพื้นฐานของความร่วมมือในหมู่ผู้เอาประกันแทนผลกำไรที่จูงใจบริษัทประกัน ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนก็เป็นที่รับได้ ทั้งนี้ เพราะความสัมพันธ์ในกลุ่มผู้เอาประกันวางพื้นฐานอยู่บนการบริจาคร่วมกัน(ตะบัรฺรุอ์)มากกว่าที่จะเป็นการแลกเปลี่ยน และการบริจาคนี้ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขบางประการได้ (นั่นคือ สมาชิกในกลุ่มจะชดเชยความเสียหายให้ในกรณีที่มีเคราะห์กรรมเกิดขึ้น) บนพื้นฐานแนวความคิดนี้เองที่บริษัทประกันภัย และประกันชีวิตอิสลามเกิดขึ้น ความร่วมมือในหมู่สมาชิกผู้เอาประกันนี้เองที่ในภาษาอาหรับเรียกว่า “ตะกาฟุล”

 

“ประกันภัย” กับ “ตะกาฟุล” ต่างกันอย่างไร?

คำถาม : ผมอยากทราบความแตกต่างระหว่างตะกาฟุล กับ การประกันภัยสมัยใหม่ อย่างสรุป เพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าสู่ตะกาฟุลครับ


คำตอบ :

         ประการแรก แนวความคิดของตะกาฟุล คือ การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์สมาชิกในกลุ่ม ผู้เข้าร่วมตะกาฟุลจึงต้องเริ่มต้นด้วยการมีเจตนาช่วยเหลือสังคมก่อน เจตนาเช่นนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมตะกาฟุลได้รับผลบุญด้วย เพราะในอิสลาม อัลลอฮฺทรงตัดสินมนุษย์จากเจตนา แค่คุณคิดดี อัลลอฮฺก็จะทรงตอบแทนคุณด้วยหนึ่งผลบุญแล้ว ถ้าคุณลงมือทำความดีนั้น อัลลอฮฺก็จะทรงเพิ่มผลบุญให้เป็นสิบเท่า ส่วนผลประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากสัญญาตะกาฟุลนั้นถือเป็นผลตอบแทนที่อัลลอฮฺให้คุณในโลกนี้ แต่ในระบบประกันภัยสมัยใหม่นั้น คนที่ซื้อประกันมักคำนึงถึงตัวเองเป็นที่ตั้ง


          ประการที่สอง ธุรกรรมประกันภัยมีลักษณะคล้ายกับการเสี่ยงโชคหรือการพนัน โดยเฉพาะประกันภัยที่ต้องจ่ายกันรายปี กล่าวคือ ถ้าคุณซื้อประกันภัยรถยนต์ และไม่เกิดอุบัติเหตุในระหว่างอายุกรมธรรม์ บริษัทก็ได้เบี้ยประกันคุณไป แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อใด และเสียหายมากน้อยแค่ไหน บริษัทก็จ่ายค่าเสียหายให้คุณมากกว่าที่คุณจ่ายเบี้ยประกัน แต่ในระบบตะกาฟุล ปัญหาตรงนี้ได้รับการแก้ไขด้วย เจตนาของตะกาฟุล กล่าวคือ เงินสมทบที่คุณจ่ายนั้นคือ การบริจาค (ตะบัรฺรุอ์) เพื่อช่วยเหลือคนอื่น มันจึงไม่ใช่การเสี่ยงโชคและการพนัน


          ประการที่สาม ตะกาฟุลมีข้อจำกัดในเรื่องการทำธุรกรรม กล่าวคือ ตะกาฟุลจะไม่นำเอาเงินสมทบของสมาชิกไปลงทุนในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ยธุรกิจต้องห้ามในอิสลาม

 

 

 

ที่มา : หนังสือปัญหาซะกาตและการเงินของมุสลิม

รวบรวมโดย : บรรจง บินกาซัน