สุนัน อบี ดาวูด
  จำนวนคนเข้าชม  13504

สุนัน อบี ดาวูด


          สุนัน อบี ดาวูดเป็นหนังสือหะดีษอีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการสรรเสริญชมเชยจากบรรดาอุละมาอ์หะดีษทุกภูมิภาค และอุละมาอ์ส่วนใหญ่มีมติว่าหนังสือสุนัน อบี ดาวูดมีลำดับความสำคัญและความประเสริฐเป็นที่สามรองจากเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์และเศาะฮีหฺ มุสลิม

 

ชื่อผู้แต่ง

         ท่านคือ อบู ดาวูด สุลัยมาน บิน อัล-อัชอัษฺ บิน อิสหากฺ บิน บะชีรฺ บิน ชัดด๊าด บิน อัมรฺ บิน อามิรฺ อัล-อัซฺดีย์ อัส-สิญิสตานีย์ เกิดที่เมืองสิญิสตาน (ทางตอนเหนือของกรุงคาบูลปัจจุบัน ซึ่งมีพรมแดนติดกับแคว้นสินธุและอินเดีย) เมื่อปี ฮ.ศ. 202 และเสียชีวิตที่เมืองบัศเราะฮฺเมื่อปี ฮ.ศ. 375 เมื่ออายุได้ 73 ปี

 

ชื่อหนังสือและสาเหตุของการเขียน

         หนังสือของท่านเป็นที่รู้จักกันในนามของ "สุนัน อบี ดาวูด" ส่วนสาเหตุของการเขียนนั้นเพื่อคัดสรรและรวบรวมหะดีษที่บรรดาอุละมาอ์อิสลามใช้เป็นหลักฐานในด้านศาสนบัญญัต(ฟิกฮฺ) ต่างๆ เพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้า ดังจะได้เห็นจากข้อแม้ในการเขียนของท่านต่อไป

 

ความสำคัญของหนังสือ

     1. อบู ดาวูดเองกล่าวว่า

"ฉันไม่ทราบว่ายังมีหนังสืออื่นจากอัลกุรอานที่มนุษย์จำเป็นต้องศึกษานอกจากหนังสือสุนันเล่มนี้"

     2. มุหัมมัด บิน มัคลัด กล่าวว่า

 "หลังจากที่อบู ดาวูดได้แต่งหนังสือสุนันและอ่านแก่ประชาชนแล้ว ทำให้หนังสือของท่านเปรียบเสมือนคัมภีร์สำหรับนักรายงานหะดีษ"

     3. ซะกะรียา อัส-สาญีย์ กล่าวว่า

"อัลกุรอานเป็นรากฐานของอิสลาม ส่วนหนังสือสุนัน อบี ดาวูดเป็นเงื่อนไขของอิสลาม"

     4. อิมาม อัล-เฆาะซาลีย์กล่าวว่า

"เพียงพอแล้วสำหรับมุจตะฮิดที่จะทำการศึกษาหะดีษของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากสุนันอบีดาวูด"

 

จำนวนหะดีษในสุนันอบีดาวูด

         อบู ดาวูดกล่าวว่า "ฉันได้รวบรวมหะดีษของท่านรสูลุลลอฮฺจำนวน 500,000 หะดีษ และฉันได้คัดเฟ้นเพื่อบันทึกไว้ในหนังสือสุนันของฉันเล่มนี้ เพียง 4,800 หะดีษ บวกกับหะดีษมุรสัลอีกประมาณ 600 หะดีษ" ซึ่งรวมทั้งหมด 5,400 หะดีษ

 

ข้อแม้และวิธีการเขียนของอบูดาวูด

อบู ดาวูดได้กล่าวถึงข้อแม้ไว้ในหนังสือของท่านที่เขียนถึงชาวนครมักกะฮฺพอสรุปใจความสำคัญดังนี้

     1. ท่านจะบันทึกหะดีษต่างๆ ที่เกี่ยวกับหุก่มฟิกฮฺ(บทบัญญัติทางกฎหมายอิสลาม)เท่านั้น

     2. ในแต่ละหมวดท่านจะบันทึกหะดีษเพียงหนึ่งหรือสองหะดีษเท่านั้น ถึงแม้ว่าในหมวดดังกล่าว จะมีหะดีษเศาะฮีหฺมากมายก็ตาม เพื่อความสะดวกในการใช้ประโยชน์

     3. บางครั้งท่านจะคัดย่อหะดีษยาวๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายและทราบถึงจุดที่เกี่ยวข้องกับหุก่มฟิกหฺในหมวดนั้น

     4. เมื่อใดที่ไม่มีหะดีษมุสนัด ท่านจะยกหะดีษมุรสัลมาบันทึกเป็นหลักฐานแทน เพราะตามทัศนะของท่านหะดีษมุรสัลนั้น สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ถึงแม้ว่าความแข็งของมันจะไม่เท่ากับหะดีษมุสนัดก็ตาม

     5. ท่านจะไม่รายงานหะดีษในสุนันของท่าน จากนักรายงานที่บรรดาอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าเขาผู้นั้นเป็นนักรายงานที่ถูกเมิน(มัตรูก)

     6. ท่านจะคุยและชี้แจงเกี่ยวกับหะดีษที่มีสายรายงานอ่อนมากๆ และสายรายงานที่ไม่ถูกต้อง

     7. หะดีษใดที่ท่านนิ่งเงียบและไม่กล่าวชี้แจงใดๆ แสดงว่าหะดีษนั้นเป็นหะดีษที่ดี(ศอลิหฺ) และส่วนหนึ่งอาจจะมีความถูกต้องมากกว่าอีกส่วนหนึ่ง

 

การนิ่งเงียบของอบูดาวูดต่อหะดีษในหนังสือสุนัน

          มีอุละมาอ์ไม่น้อยที่หลงประมาทกับข้อแม้ของอบู ดาวูดตามข้อ 7 ทำให้พวกเขาหลงเข้าใจว่า ทุกหะดีษที่อบู ดาวูด ได้นิ่งเงียบและไม่กล่าวชี้แจงใดๆ นั้นเป็นหะดีษที่ดีสามารถใช้เป็น(หุจญะฮฺ) หลักฐานได้ และหะดีษนั้นไม่ตกไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหะดีษหะสัน และบางครั้งอาจจะถึงระดับเศาะฮีหฺด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัล-มุนซิรีย์ และอิบนุลก็อยยิม ต่างก็นิ่งเงียบตามอบูดาวูดด้วย ความจริงแล้วการนิ่งเงียบของอบูดาวูดดังกล่าวไม่ได้แสดงว่าหะดีษนั้นมีสายรายงานที่ดีเสมอไป


อิมามอัน-นะวะวีย์กล่าวว่า

         "แท้จริง หะดีษใดก็ตามที่เราพบเห็นในสุนันอบีดาวูดที่ท่านไม่ได้ระบุถึงระดับของหะดีษ(ว่าถูกต้องหรือไม่) และไม่มีอุละมาอ์ที่น่าเชื่อถือคนใดกล่าวว่าหะดีษนั้นถูกต้อง(เศาะฮีหฺ) หรือดี(หะสัน) ก็แสดงว่าเป็นหะดีษที่ดี (หะสัน) และหากว่ามีอุละมาอ์คนใดได้ชี้แจงและกล่าวว่าเป็นหะดีษอ่อน หรือมีผู้รู้พบเห็นว่าสายรายงานนั้นอ่อนและไม่มีหะดีษสายอื่นที่มาผนวกกันให้แข็งขึ้น ดังนั้น เราต้องให้คำชี้ขาดว่าหะดีษนั้นเป็นหะดีษที่อ่อน และจงอย่าหลงประมาทกับการนิ่งเงียบของท่านอบูดาวูดอีก"


อิบนุ หะญัรฺกล่าวว่า

           "ถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่า การอาศัยการนิ่งเงียบของอบูดาวูดเพื่อเป็นข้ออ้างหะดีษนั้นดีสามารถใช้เป็นหลักฐานได้นั้น เป็นวิธีการที่อ่อน(และไม่ถูกต้อง) เพราะท่านได้บันทึกหะดีษจำนวนไม่น้อยจากนักรายงานที่อ่อนและท่านไม่ได้ชี้แจงหรือระบุไว้... ดังนั้น ผู้ศึกษาหะดีษจึงไม่สมควรคล้อยตามท่านอย่างปิดหูปิดตา และรับหะดีษที่มาจากนักรายงานที่อ่อน ซึ่งอบู ดาวูดได้นิ่งเงียบไว้ และใช้มันเป็นหลักฐานอ้างอิง แต่ทว่า วิธีการที่ถูกต้องนั้น คือต้องไตร่ตรองถึงหะดีษและสายรายงานดังกล่าวว่ามีสายรายงานอื่นมาตาม(มุตาบะอะฮฺ) ที่สามารถยกระดับมันให้แข็งขึ้นหรือเปล่า? หากไม่แล้วก็จงหยุดจากการใช้มันเป็นหลักฐานอ้างอิงเสีย"

 

 

 

อุษมาน อิดรีส / Islamhouse