ความรีบร้อน
  จำนวนคนเข้าชม  8952

 

ความรีบร้อน


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


         การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

หนึ่งในบรรดาคุณลักษณะไม่ดีที่อิสลามห้ามมิให้กระทำก็ คือ ความรีบร้อน

         อัร-รอฆีบ ได้กล่าวว่า : ความรีบร้อน คือ การอยากได้สิ่งหนึ่งและพยายามให้ได้รับก่อนถึงเวลาของมัน ซึ่งเป็นความกดดันทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ฉะนั้นจึงถูกจัดให้เป็นคุณลักษณะที่ไม่ดีที่มีระบุในคัมภีร์อัลกุรอาน กระทั่งได้รับการขนานนามว่า

“การรีบร้อนลุกลี้ลุกลนนั้นเกิดจากชัยฏอน”

(ดู มุอฺญัม มุฟเราะดาต อัลฟาซ อัลกุรอาน หน้า 334)

พระองค์อัลลอฮฺได้กล่าวแก่ท่านนบีมุหัมมัด ว่า :

“เจ้าจงอย่ากระดิกลิ้นอ่านอัลกุรอานเพราะรีบร้อนจะจดจำ”

(อัล-กิยามะฮฺ :16 )

         ท่านนบี นั้น กรอบมารยาทของท่านก็คืออัลกุรอาน ท่านประพฤติปฏิบัติตามทุกๆ มารยาทที่อัลกุรอานสั่งสอน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในคำเสนอแนะที่จำเริญนี้ ท่านไม่รีบร้อนลุกลี้ลุกลน แต่จะสุขุมรอบคอบ อดทนอดกลั้นและแนะนำประชาชาติของท่านปฏิบัติตามมารยาทเช่นนี้ ได้กล่าวว่า :

"ความสุขุมรอบคอบมาจากพระองค์อัลลอฮฺส่วนความเร่งร้อน เร่งรีบ ลุกลี้ลุกลนมาจากชัยฏอน”

 (มุสนัด อบียะอฺลา เล่มที่ 7 หน้า 247 หมายเลข 4256 อัล-อัลบานียฺได้ระบุในหนังสือ อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ เล่มที่ 4 หน้า 404 หมายเลข 1795 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

พระองค์อัลลอฮฺ ได้กล่าวอีกเช่นกันว่า :

         “ดังนั้น เจ้าจงอดทนเหมือนบรรดาเราะสูลผู้เข้มแข็ง(อุลุล อัซมิ) ได้อดทนมาแล้ว และอย่ารีบร้อนลุกลี้ลุกลน (ให้มีการด่วนลงโทษ) พวกเขา ซึ่งพวกเขานั้น ในวันที่ได้เห็นสิ่งที่ถูกสัญญาจะรู้สึกประหนึ่งว่าพวกเขาได้อยู่ในโลกนี้แต่เพียงแค่ยามหนึ่งของกลางวันเท่านั้น นี่คือคำประกาศตักเตือน แล้วคนที่ต้องถูกทำลายก็มีเพียงหมู่ชนผู้ฝ่าฝืนเท่านั้น”

(อัล-อะหฺกอฟฺ :35)

ท่านนบี- ได้เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีเลิศในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า :

โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ท่านเคยเจอวันที่เป็นทุกข์หนักยิ่งกว่าวันแห่งสงครามอุหุดไหม?

               ท่านตอบว่า : “ แท้จริงแล้ว ฉันเคยเจอกับ (การต่อต้าน) จากกลุ่มชนของเธอและที่ฉันได้รับ (การต่อต้าน) ที่รุนแรงที่สุดจากพวกเขาก็คือในวันอัล-อะเกาะบะฮฺ คือตอนที่ฉันแนะนำตัวต่อหน้าบุตรอับดุยาลีล บิน อับดิกุลาล แล้วเขาไม่ตอบรับข้อเรียกร้องของฉัน

              แล้วฉันก็ผละตัวออกไปอย่างเศร้าหมองและรู้สึกเครียดกับทิศทางที่ตัวเองกำลังจะเผชิญ แล้วฉันก็มาหยุดที่ควน “ก็อรนุลซะอาลิบ” ฉันเงยศรีษะขึ้นและพบว่ามีเมฆก้อนหนึ่งลอยมากำบังฉัน ฉันเพ่งมองออกไป ปรากฏว่ามีมลาอิกะฮฺญิบรีลอยู่ในนั้น

              ท่านเรียกฉันและบอกว่า “แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺทรงได้ยินคำพูดของพวกของท่านที่พูดต่อต้านท่านและสิ่งที่พวกเขาโต้แย้งกับท่าน และพระองค์ทรงส่งมะลาอิกะฮฺภูเขาเพื่อให้ท่านสั่งให้ทำสิ่งที่ประสงค์ต่อพวกเขาเหล่านั้น”

               ท่านเล่าต่อว่า : แล้วมะลาอิกะฮฺภูเขาก็เรียกฉันและให้สลามแก่ฉัน แล้วกล่าวว่า โอ้ มุหัมมัด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงได้ยินคำพูดของพวกของท่านที่พูดกับท่านและฉันนี้คือมะลาอิกะฮฺภูเขา ซึ่งพระเจ้าของท่านได้ส่งตัวฉันให้ท่านใช้ในงานของท่าน แล้วท่านต้องการอะไรบ้างล่ะ ? หากท่านต้องการให้ฉันนำภูเขาสองลูก (คือภูเขาอบีกุบัยสฺและภูเขาที่อยู่ตรงกันข้ามกัน) มาทับพวกเขา (ฉันก็จะทำ)

               ท่านเราะสูลุลลอฮฺ เลยตอบว่า : “ ไม่ต้องหรอก ฉันหวัง (ในภายภาคหน้า)ให้พระองค์อัลลอฮฺนำทายาทที่กราบไหว้พระองค์อัลลอฮฺเพียงผู้เดียวโดยไม่ตั้งภาคีใด ๆ กับพระองค์ ออกมาจากกระดูกสันหลังของพวกเขา”

(เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 3 หน้า1420, 1421 หมายเลข 1795 )

    ส่วนการเร่งรีบและแข่งขันทำความดีตลอดจนการรีบทำเมื่อถึงมีโอกาส ก็นับเป็นสิ่งที่ดีน่ายกย่องและไม่จัดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

“และจงรีบเร่งมุ่งสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้าและสู่สวรรค์ ที่ความใหญ่โตของมันนั้นเป็นเท่าชั้นฟ้าและแผ่นดิน มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง”

(อาลอิมรอน :133)

นบีมูซา -อะลัยฮิสสลาม- ได้กล่าวว่า :

“ฉันรีบมาหาพระองค์แล้ว โอ้ พระเจ้าแห่งข้า เพื่อพระองค์จะได้ทรงโปรดปราน”

(ฏอฮา : 84)

เนื่องจากความรีบร้อนลุกลี้ลุกลนเป็นการตัดสินกระทำการโดยไม่หยั่งคิด ไม่ปรึกษา และไม่อิสติคอเราะฮฺ(ขอความช่วยเหลือในการกลั่นกรองจากอัลลอฮฺ)

         อบูฮาติม -เราะหิมะฮุลลอฮฺ- จึงกล่าวว่า : ความลุกลี้ลุกลนนั้น คือ การที่คนหนึ่งพูดโดยไม่รู้สิ่งที่พูด ตอบโดยไม่เข้าใจ ยกยอโดยไม่ทันคลุกคลี ด่าทอหลังจากชื่นชม ความลุกลี้ลุกลนมักลงเอ๋ยด้วยความเสียใจและทำให้เกิดทุกข์ คนอาหรับจึงให้สมญานามว่าเป็น “แม่แห่งความโศกเศร้า”

 (เราเฎาะฮฺ อัล-อุเกาะลาอ์ หน้า 288 )

กวีอาหรับได้ร่ายกลอนว่า :

คนสุขุมอาจได้รับบางสิ่งที่ประสงค์     คนลุกลนอาจจะพบกับความมัวหมอง

        นอกจากนี้ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความผลีผลามลุกลี้ลุกลนก็คือ การผลีผลามในการขอดุอาอ์ให้เครือญาติ ลูกๆและทรัพย์สมบัติประสบความย่อยยับในยามที่เกิดโมโห ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

”และมนุษย์นั้นชอบวิงวอนขอความชั่วเหมือนกับวิงวอนขอความดี และมนุษย์นั้นเป็นคนรีบร้อนลุกลี้ลุกลนอย่างมากๆ”

(อัล-อิสรออ์ : 11)

มีรายงานจากท่านญาบิรฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ท่านนบี ได้กล่าวว่า :

“พวกท่านจงอย่าขอดุอาอ์ให้เกิดความวิบัติกับตัวเอง พวกท่านจงอย่าขอดุอาอ์ให้เกิดความวิบัติกับทรัพย์สิน

พวกท่านจงอย่าขอดุอาอ์ให้เกิดความวิบัติกับลูกๆ จงอย่าขอดุอาอ์ไม่ดี แล้วมันก็ตรงกับเวลาที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตอบรับ(โดยไม่ตั้งใจ)

แล้วพระองค์ทรงตอบสนองพวกท่าน (แล้วพวกท่านก็ต้องนั่งทุกข์เสียใจภายหลัง)”

 (เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 4 หน้า 3304 หมายเลข 3009 )

         และดูเหมือนว่าภัยพิบัติ โรคร้าย และการเสียผู้เสียคนของลูกหลานเรานั้น ส่วนมากจะเกิดขึ้นเพราะการที่เราขอดุอาอ์สาปแช่งพวกเขาเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยตระหนักในเรื่องนี้ แล้วจะมีกี่คนที่ครุ่นคิดไตร่ตรอง ?

         ความรีบร้อนนั้น บางทีอาจจะอยู่ในรูปของความลุกลี้ลุกนของคนๆ หนึ่งในการขอให้พระองค์อัลลอฮฺทรงตอบรับการดุอาอ์ ซึ่งท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้รายงานว่าท่านนบี ได้เคยกล่าวว่า :

“ดุอาอ์ของทุกคนย่อมจะได้การตอบรับตราบใดที่เขาไม่ด่วนรบเร้าให้สนองตอบ

 เช่นกล่าวว่า ฉันขอดุอาอ์ต่อพระเจ้าของฉันแล้ว แต่พระองค์ไม่ตอบรับฉันเลย”

(เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 4 หน้า 2095 หมายเลข 2735)

         บางทีอาจจะอยู่ในรูปของการผลีผลามในละหมาดโดยไม่รุกูอฺหรือสูญูดอย่างสมบูรณ์ เขาละหมาดโดยไม่มีฏุมะนีนะฮฺ หรือสมาธิและความสงบเสงี่ยม ดังที่มีระบุในหะดีษของอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ว่า : มีชายคนหนึ่งละหมาดข้างๆ ท่านนบี

     ท่านนบี จึงได้กล่าวกับเขาว่า : “ท่านจงละหมาดใหม่อีกครั้ง เพราะท่านเหมือนยังไม่ละหมาดเลย” ท่านทวนกล่าวเช่นนี้สามครั้ง จากนั้นได้กล่าวกับเขาว่า

     “เมื่อท่านจะลุกขึ้นละหมาด ท่านจงทำน้ำละหมาดให้ดี จากนั้นจงหันหน้าไปยังทิศทางที่ตั้งของกิบลัตแล้วกล่าวคำตักบีรฺ จากนั้น จงอ่านอายัตอัลกุรอานที่ท่านถนัด จากนั้นจงก้มรูกูอฺจนสงบนิ่ง จากนั้นก็จงเงยตัวขึ้นจนเหยียดตรงแน่นิ่ง จากนั้นจงก้มลงสุญูดจนสงบนิ่ง"

(เป็นส่วนหนึ่งของหะดีษในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 1 หน้า 287 หมายเลข 757 และเศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 1 หน้า 298 หมายเลข 397)


         ปัจจุบันนี้ ในสังคมของเรามีคนหลายคนที่ต้องเสียใจในเวลาที่สายเกินแก้เพราะการลุกลี้ลุกลนในสิ่งที่ต้องสุขุมรอบรอบ เช่น การที่สามีหย่ากับภรรยาด้วยสาเหตุที่ไร้สาระ แล้วเรื่องต่างๆ ก็พลอยเสียไปหมด ลูกๆ ต้องขาดที่พึ่ง บ้านต้องพังสลายและเขาต้องช้ำอกช้ำใจ พระองค์อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดี ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากความผลีผลามลุกลี้ลุกลน ..แล้วจะมีใครสักกี่คนเล่าที่ตระหนักคิด?

          บางทีจะเป็นในรูปของการขับรถอย่างรีบร้อน ข่าวคราวอุบัติเหตุอันน่าสะพรึงกลัวที่คร่าชีวิตคนมากมาย หรือโรคร้ายต่างๆ ที่ทำให้เกิดความพิการถาวรที่เราได้ยินส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากการผลีผลามสะเพร่าลุกลี้ลุกลนทั้งสิ้น

          บางทีอยู่ในรูปของการคนหนึ่งอาจจะได้รับริสกีช้าไปหน่อยแล้วเขาก็รีบร้อน จึงหาทางให้ได้มาด้วยหนทางที่หะรอมและผิดกฎหมาย

อบู อุมามะฮฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้รายงานว่าท่านนบี  ได้กล่าวว่า :

         “มลาอิกะฮฺญิบรีลได้ดลใจบอกฉันว่าคนๆ หนึ่งจะไม่ตายก่อนครบกำหนดอายุขัยของเขาและได้รับริสกีอย่างครบถ้วน ดังนั้น พวกท่านจงเกรงกลัวต่อพระองค์อัลลอฮฺเถิด จงขอดุอาอ์ให้งาม จงอย่าให้ความล่าช้าของการได้ริสกีทำให้เขาต้องขวนขวายด้วยวิธีที่เป็นการฝ่าฝืน เพราะพระองค์อัลลอฮฺนั้น ไม่มีใครได้รับริสกีจากพระองค์เว้นแต่ด้วยการภักดีต่อพระองค์เท่านั้น”

(หิลยะตุลเอาลิยาอ์ เล่มที่ 10 หน้า 27 อัล-อัลบานียฺได้ระบุในหนังสืออัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ เล่มที่ 1 หน้า 420 หมายเลข 2085 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

 


         ขอขอบคุณพระองค์อัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลโลก ขอพระองค์อัลลอฮฺจงทรงประทานความเมตตาและสันติสุขแด่นบีมุหัมมัดของเรา ครอบครัวและสหายของท่านทั้งมวล

 

 

 

แปลโดย : ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์ / Islamhouse