ตัมวีล ธุรกิจสินเชื่อในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  10819

ตัมวีล ธุรกิจสินเชื่อในอิสลาม


นิพล แสงศรี


         ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อกำลังได้รับความนิยมและได้รับความชื่นชมจากลูกค้าและทางตลาดค่อนข้างมาก จนทำให้สถาบันการเงินแข่งขันกัน เพื่อแย่งชิงลูกค้ากันขนาดหนักและสร้างกำไรกันอย่างครึกโครม โดยใช้ทั้งเทคนิคการตลาดและเทคติคการตลาดโดยไม่คำนึงถึง ความเสี่ยง ความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือ

          แต่สำหรับตัมวีล ซึ่งเป็นระบบธุรกิจสินเชื่อในอิสลามมีหลักการและกลไกเฉพาะตัวอันน่าสนใจยิ่ง ธนาคาร al-Rajhi ก่อตั้งขึ้นในกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปี ค.ศ. 1978 โดยเชค ซอและฮฺ บิน อับดุลอะซีซ อัลร็อจญ์ฮีย์ ผ่านการระดมเงินทุนจากบรรษัทร่วมลงทุนของประเทศ จนมีเงินกองทุนมากถึง 15.000.000.000 ริยาลซาอุดิอาระเบีย (SR) ปัจจุบันธนาคารอัลร็อจญ์ฮีย์ มีสาขาทั่วราชอาณาจักรกว่า 500 สาขา, มีพนักงานมากกว่า 14,500 คน และมีเครือข่ายเอทีเอ็มกว่า 1,850 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนมีบริการทางการเงินผ่านเว็บไซต์กว่า 9500 เว็บไซต์ นอกจากนั้นธนาคารอัลร็อจญ์ฮีย์ ยังมีสาขาในประเทศมาเลเซีย 19 แห่ง มูลค่าช่วงแรกๆ กว่า 300 ล้านริยาลซาอุฯ ข้อสำคัญระบบการเงินและการลงทุนของธนาคารอยู่ภายใต้กฎหมายชะรีอะฮฺ

          ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารอัลร็อจญ์ฮีย์ มีทั้งฝากประจำ ฝากเพื่อการลงทุน สินเชื่อส่วนบุคคลที่ครอบคลุมตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ ปลูกสร้างบ้านใหม่ การศึกษา การสมรส สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการทำธุรกิจและการลงทุน ทั้งขนาดย่อมไปจนถึงโครงการใหญ่ๆ อีกมายมาย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่วนใหญ่อนุมัติภายใน 30 นาทีโดยสามารถใช้บริการได้ประชาชนและชาวต่างชาติหากเอกสารพร้อม

al-Tamwel ในระบบการเงินอิสลามจึงหมายถึง บริการด้านสินเชื่อที่สอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม ได้แก่

(1) สินเชื่อเพื่อบุคคล เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ และอื่นๆ

(2) สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

        (3) สินเชื่อธุรกิจ เช่น เอสเอ็มอี เป็นต้น และมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจและการลงทุน เช่น ธุรกิจอาหารฮะลาล ธุรกิจทางการเงิน ประกันภัย การศึกษา การท่องเที่ยว การแพทย์ และการบริการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลาม


         โดยระบบ al-Tamwel มีข้อแตกต่างจากระบบสินเชื่อทั่วไปในหลายประการ หากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์อิสลามจะพบว่า ตัมวีลจะยึดสินค้าและการลงทุนทางตรงเป็นหลัก เพื่อเป็นการกระจายสินทรัพย์และขยายการลงทุน และให้ความสำคัญกับความสามารถในการจ่ายคืนของผู้กู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับ 2 ประการได้แก่

1) การได้นำทรัพย์ไปใช้เพื่อสร้างกำไร

2) ความเหมาะสมและความเป็นไปได้

         ดังนั้นเราจึงไม่พบว่า สถาบันการเงินอิสลามปล่อยกู้แก่ลูกค้าโดยเรียกเก็บดอกเบี้ยแบบระบบการเงินทั่วไป แต่จะใช้ระบบ al-Tamwel แทน กล่าวคือ ร่วมหุ้นกับลูกค้า หรือลงทุนร่วมกับลูกค้า (แบกรับความเสี่ยงและแบ่งผลกำไรร่วมกัน) หรือเป็นตัวแทนดำเนินงานและโครงการแทนลูกค้า หรือในรูปแบบเช่าซื้อ โดยลูกค้ายังมีสิทธิได้รับสิ่งของ (สินค้า) ทันทีเมื่อทำสัญญาผ่อนชำระเสร็จ หรือจ่ายเงินล่วงหน้าแต่ทยอยรับสิ่งของ (สินค้า) ภายหลัง เช่นเดียวกันจะได้รับสิ่งที่มีตัวตนจริง ประโยชน์จริง และบริการจริง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปการเช่าใช้งานและอื่นๆก็ได้


          เดิมทีการทำธุรกิจด้วยการซื้อขายสินค้า หรือการให้บริการ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ถือว่าเป็นที่อนุญาต ยกเว้นธุรกิจที่ขัดกับหลักกฎหมายอิสลาม หรือมีความเสี่ยง หรือสัญญาซื้อขายสิ่งที่มิได้ครอบครองด้วย ธุรกิจและการลงทุนที่กล่าวมา นักนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่า สัญญาหลอกลวงและเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อห้ามดังกล่าว ช่วยลดความเสี่ยงและลดสาเหตุการเกิดวิกฤติด้านเศรษฐกิจได้ค่อยข้างมาก เพราะตลาดการเงินอิสลามไม่ใช่ตลาดแห่งความเสี่ยงหรือวัดดวง แต่เป็นตลาดที่มีปัจจัยทางการเงินหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ห่างไกลจากการลงทุนแบบเรื่อยเปื่อย หรือทุ่มเทจนเกินไป ตลาดการเงินอิสลามก็มิใช่ตลาดของนักเก็งกำไรจะฉกฉวยโอกาสโดยไม่ลงทุน หรือหวังร่ำรวยภายในพริบตาและข้ามคืน

          ขณะที่สถาบันการเงินอิสลามปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะในรูปแบบร่วมหุ้นกับลูกค้า หรือลงทุนร่วมกับลูกค้า หรือเป็นตัวแทนดำเนินงานและโครงการแทนลูกค้า หรือในรูปแบบเช่าซื้อผ่อนชำระ สถาบันการเงินอิสลามแถบจะไม่มีสิทธินำบริการด้านสินเชื่อดังกล่าวไปขายต่อแก่บุคคลอื่น เพราะถือว่าเป็นการซื้อขายหนี้ ไม่ว่าจะขายต่อด้วยราคาเท่าเดิม หรือบวกกำไรเพิ่มก็ตาม

 

ความอยู่รอดของระบบ al-Tamwel จึงไม่ได้ยึดติดระบบสินเชื่อหมุนเวียนและหนี้สินซับซ้อน โดยมีข้อห้ามบางประการสำหรับธุรกิจสินเชื่อได้แก่


1. ดอกเบี้ย (Riba)

        กล่าวคือ สัญญา ธุรกรรม และการลงทุนทุกประเภทจะต้องไม่เกี่ยวพันธ์กับระบบดอกเบี้ย (Excess) โดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องไม่หวังผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดๆที่งอกเงยขึ้นมาเมื่อวันเวลาผ่านไป ดอกเบี้ยสามารถเกิดขึ้นทั้งจากการซื้อขายและเงินกู้ ¹ นักเศรษฐศาสตร์อิสลามได้แบ่งดอกเบี้ยออกเป็น 2 ชนิดได้แก่

         (1) al-Nasi’ah หมายถึง ดอกเบี้ยที่เกิดจากการขยาย (เลื่อน) เวลาโดยดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาผ่อนชำระ ดอกเบี้ยชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งการซื้อขายและการกู้ยืมเงินซึ่งพบมากในระบบทุนนิยม

          (2) al-Fadl หมายถึง ดอกเบี้ยที่เพิ่มปริมาณขึ้นจากทรัพย์ชนิดเดียวกัน หรือดอกเบี้ยที่เกิดจากการทำธุรกิจ การซื้อขาย หรือการแลกเปลี่ยนสิ่งของชนิดเดียวกัน แต่มีการเพิ่มปริมาณให้อีกฝ่ายหนึ่งตามข้อตกลงโดยทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้แยกจากสถานที่ตกลงกัน เช่น การซื้อขายทองคำเก่าจำนวน 100 กรัมกับทองคำใหม่ 90 กรัมในสถานที่เดียวกัน ²

          การทำธุรกรรมหรือการลงทุนใดๆ ที่มาจากการสนันสนุนของตัมวีล จึงไม่มีการคิดดอกเบี้ยกับลูกค้า แต่จะใช้หลัก Profit Sharing ทดแทน หรือเรียกตามกฎหมายอิสลามว่า al-Murabahah ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เช่น ลูกค้าสนใจจะนำเงินที่กู้ไปซื้อบ้าน รถยนต์ และอื่นๆ เจ้าหนี้ สถาบันการเงิน หรือนักลงทุนจะใช้วิธีซื้อสิ่งนั้นมาก่อนจะนำสิ่งนั้นไปขายต่อให้ลูกค้า หรือคิดค่าเช่ากับลูกหนี้ในอัตราที่รวมกำไรแล้ว

 

2. การเสี่ยง (Khatar)

         การเสี่ยง ถือเป็นความเสี่ยงที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตและเป็นสาเหตุทำให้ธุรกิจสินเชื่อและการลงทุนกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เมื่อเราลงมือทำธุรกิจและลงทุนย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะความเสี่ยงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความเสี่ยงจึงถูกมองออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

     (1) Speculative Risk หมายถึง ความเสี่ยงที่จะสูญเสียหรือเสียหายพร้อมกับคาดหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ในเวลาเดียวกัน

     (2) Pure Risk หมายถึง ความเสี่ยงที่จะสูญเสียและเสียหายเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีโอกาสได้รับผลประโยชน์ เช่น ความเสี่ยงในการผลิตกระเบื้อง ทั้งๆที่รู้ว่ามีโอกาสแตกเสียหาย

         ความเสี่ยงประเภท 2 ถือเป็นความเสี่ยงที่มีสาระสำคัญทางธุรกิจและเป็นกระบวนการทางสังคมที่จะนำไปสู่การการผลิตและตอบสนองความต้องการทางสังคม แต่บางครั้งก็ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความหวาดกลัว ความไม่กล้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการทำธุรกิจ จนทำให้เกิดระบบรับรองความปลอดภัยและจ่ายค่าชดเชยตามมา หรือเรียกกันว่า ระบบประกันภัยแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือระบบประกันภัยแบบแสวงผลกำไร

         เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้ห้ามการเก็งกำไรแต่ประการใดทั้งสิ้นเพียงแต่ระบุว่า ให้เก็งกำไรได้เฉพาะในกรณีที่สามารถตัดสินใจได้ และตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ฉะนั้นจึงนับได้ว่า หลักการข้อนี้ไม่แตกต่างกับหลักการลงทุนของนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investors) และหลักการบริหารธุรกิจทั่วไป

          ท่าน Ibn Qayyim กล่าวว่า การลังเลระหว่างคำว่า มี และคำว่า ไม่มี (ไม่แน่ใจ) ก็คือ ความเสี่ยง (Khatar) ชนิดหนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันในรูปการพนัน ³ เช่น การพนันม้า การพนันฟุตบอล เป็นต้น โดยรวมถึงผลกำไรที่ได้มาจากการขายสินค้าซึ่งพ่อค้าไม่ได้รับสินค้าขณะที่บอกขายต่อกับคนอื่น การขายสินค้าก่อนพ่อค้ารับสินค้าหรือขายในสิ่งที่พ่อค้าไม่มีและการซื้อขายโดยการตั้งข้อแม้และเงื่อนไข และข้อห้ามดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการค้า การประกอบธุรกิจ และการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงในปัจจุบันด้วย เช่น สลากกินแบ่งประเภทต่างๆ ทรัพย์สินหรือข้าวของที่ทุกคนสละเงินซื้อไป ไม่ใช่เพื่อการค้าแต่เพื่อมีสิทธิได้รับรางวัลหลังประกาศผลการจับฉลากหรือรางวัล เป็นต้น

 

3. การหลอกลวง (Gharar)

         ก็เช่นเดียวกัน Gharar หมายถึง สิ่งหนึ่งที่ผลลัพธ์ของมันยังไม่ชัดเจน4 เช่น การขายปลาในน้ำ การซื้อนกในอากาศ และการลงทุนซื้อข้าวในรวงหรือสัตว์ในท้อง ธุรกิจเหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างที่เต็มไปด้วย “ความไม่ชัดเจน” และถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะมีลักษณะการหลอกลวงแฝงอยู่

         และคำว่า การหลอกลวง ยังรวมถึงการทำธุรกิจและการลงทุนที่มี “ความสลับซับซ้อน” เช่น การซื้อขาย การจำนำ และการจำนองกันเป็นทอดๆ หรือการทำธุรกิจใน “สิ่งที่ไม่ได้ครอบครองสิทธิ” อย่างถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม5 เช่น การซื้อขายตราสารหนี้ และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกันในการกู้ เป็นต้น โดยธุรกิจและการลงทุนเหล่านี้แอบแฝงไปด้วยความคลุมเครือและความไม่ชัดเจน

          ข้อกำหนดเกี่ยวกับน้ำหนักแน่นอน ปริมาณชัดเจน ระยะเวลาที่ตายตัว และมีสิทธิอย่างชัดเจนปราศจากการคลุมเครือนั้น ถือเป็นการจำกัดความเสี่ยง ขจัดความไม่แน่นอน ลดความเสียหายหรือการขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นขณะประกอบธุรกิจและการลงทุน หรือทั้งฝ่ายผู้ปล่อยสินเชื่อและฝ่ายลูกค้า หากสถาบันการเงินใดปล่อยสินเชื่อไม่รอบคอบ ประเมินหลักประกันเกินจริง และไม่มีการติดตามหนี้ที่ดีพอ ก็ย่อมจะประสบปัญหาทางการเงินและหนี้เสียเช่นดียวกับยุโรปเคยประสบมา และนั้นก็คือบทลงโทษจากพระเจ้าในฐานะผู้ฝ่าฝืนหรืออวดดี

 

 

 

 

 


 

อ้างอิง...

1 al-Gamal M., 2001. An Economic Explication of the Prohibition of Riba in Classical. Islamic Jurisprudence. s.l. s.n. หน้า 9

2 al-Qahtan M. 2002. al-Nisam al-Iqtisadi Fi al-Islam. (Riyadh : al-Malik Fahd University), หน้า 14.

3 Ibn Qayyim, Muhammad Abi Bakr. 1968. Alam al-Muqian Ind Rab al-Alamin. (al-Qahirah : al-Kulliyat), หน้า 357 (เล่ม 1).

4 al-Sharkhasi, M. Abi Sahl. 1985. al-Mabsut. (Lebanon : Dar al-Ma arif),หน้า 68.

5 รายงานจากอับดุลลอฮฺ บุตร อัมรฺ ว่า นบีมุฮัมมัดห้ามแสวงหากำไรในสิ่งที่ไม่มีการรับประกัน การซื้อขายในสิ่งที่ยังมิได้รับ...บันทึกโดยอะบูดาวุดและอัตติรมิษีย์