สถานะของผู้นำตามระบบอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  24115

สถานะของผู้นำตามระบบอิสลาม


 โดย... อาจารย์วิสุทธิ์  บิลล่าเต๊ะ


ความสำคัญ

               มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของกันและกัน ในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันนี้ จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบทางสังคมขึ้น เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ  กดขี่ข่มเหง หรือทำร้ายกันและกันระหว่างผู้คนในสังคม ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ดำเนินการให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ก็คือ ผู้นำของสังคมนั้น ๆ

                สถาบันการปกครองในสังคมทุกสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็น และหากสังคมทั่วไปจำเป็นต้องอาศัยสถาบันการปกครองเพื่อควบคุมผู้คนให้ปฏิบัติตนตามระเบียบแบบแผน และให้การเสนอสนองผลประโยชน์ระหว่างกัน เป็นไปด้วยความยุติธรรมแล้ว สังคมมุสลิมยิ่งจำเป็นต้องมีสถาบันการปกครองของตนเองมากกว่านั้น เนื่องจากระเบียบทางสังคมและกฎกติกาต่าง ๆ ในสังคมมุสลิม ต้องเป็นปัจจัยที่นำไปสู่เป้าหมายที่ไกลและล้ำลึกมากกว่าสังคมทั่วไป กล่าวคือต้องนำไปสู่ความพึงพระทัยแห่งองค์อัลลอฮ์  เจ้านั่นเอง

 “และเราไม่ได้รังสรรค์มนุษย์และญินขึ้นมาเพื่อการอื่นใด นอกจากจะให้พวกเขาแสดงความจงรักภักดีต่อเราเท่านั้น”

(อัซซาริยาต : 56)

สถาบันการปกครองในสังคมมุสลิมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งในแง่ของปัญญาและหลักธรรมแห่งศาสนา ทั้งนี้ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระบุถึงหน้าที่ของมุสลิมในสังคม ความว่า

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกท่านจงภักดีต่ออัลลอฮ์ จงภักดีต่อศาสนทูตและผู้นำของพวกเจ้า”

(อันนิซาอฺ : 59)

 “และหากว่าพวกเขาให้มันกลับไปยังเราะซูล และยังผู้ปกครองการงานในหมู่พวกเขาแล้ว แน่นอนบรรดาผู้วินิจฉัยมันในหมู่พวกเขาก็ย่อมรู้มันได้”

(อันนิซาอฺ : 83)


ความสำคัญของผู้นำยังปรากฏในวจนะแห่งศาสดาหลายที่หลายตอน เช่น ในประมวลวจนะฉบับอิหม่ามอะห์มัด  ความว่า

การอยู่ร่วมกันของบุคคลสามคนในดินแดนเปลี่ยวร้าง จะไม่เป็นที่อนุมัติ ยกเว้นเมื่อพวกเขาตั้งคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้นำ”

 

 “แท้จริงแล้ว มนุษย์อันเป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ์ และจะได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์มากที่สุดในวันแห่งการพิพากษา คือ ผู้นำผู้ทรงความยุติธรรม

และมนุษย์อันเป็นที่รังเกียจยิ่งของอัลลอฮ์ และจะถูกอัปเปหิออกไปไกลจากพระองค์มากที่สุดก็คือผู้นำที่อยุติธรรม”

(หะดิษซอเฮี้ยะฮ์ 3 : 399)

“นอกจากนี้ผู้ที่ตายไปโดยไม่มีสัตยาบันต่อผู้นำคนใด ถือเป็นการตายอันป่าเถื่อนยิ่ง”

(ประมวลวจนะฉบับอิหม่ามมุสลิม)

 

ความรับผิดชอบต่อหน้าที่

         อันภาระหน้าที่ของผู้นำในสังคมมุสลิมนั้นใหญ่หลวงนัก เนื่องจากเป็นการรับมอบความไว้วางพระทัย (อะมานะฮ์) จากองค์อัลลอฮ์ เพื่อนำพาผู้คนสู่สิ่งที่ดีในชีวิตทั้งในภพนี้และปรภพตามแบบแผนที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ 

(อิบนุค็อลดูน : 134)

         นักวิชาการได้กล่าวถึงภาระหน้าที่ของอิหม่ามหรือผู้นำไว้มากมาย อิหม่ามอัลมาวัรฺดีระบุไว้ถึง 10 ข้อ แต่โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ 2 ประการใหญ่ ๆ คือ ดำรงไว้ซึ่งหลักธรรมคำสอนแห่งศาสนา พร้อมกับปกครองผู้คนให้ประพฤติตนอยู่ในร่องรอยของหลักธรรมนั้น บริหารกิจการของสังคมไปตามกรอบที่ศาสนากำหนด หากทำหน้าที่ 2 ประการนี้ได้แล้ว รางวัลใหญ่ที่รอผู้นำอยู่ก็คือ "ร่มเงาอันรื่นรมย์แห่งราชบัลลังก์ของอัลลอฮ์ในวันที่มนุษย์ไม่อาจหาร่มเงาใด ๆ ได้อีกท่ามกลางความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ "   อีกทั้งตำแหน่งอันใกล้ชิดที่อัลลอฮ์  จะมอบให้ดังที่ได้กล่าวในหะดิษที่ล่วงมาแล้ว

(หะดิษซอเฮี้ยะฮ์ 3:398)

                อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลจะปฏิบัติหน้าที่อันหนักหน่วงนี้ได้ ย่อมต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติหลายประการ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่ในยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับอิสลามอ่อนแอเช่นในปัจจุบัน เราพบว่าผู้ที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งจำนวนไม่น้อยเพิกเฉยละเลยต่อภาระหน้าที่ของตนเอง จนกระทั่งในชุมชนมุสลิมบางแห่งแทบจะหาสัญลักษณ์แห่งอิสลามไม่ได้

                อันผู้นำที่อ่อนแอนั้น นอกจากจะทำให้สังคมเต็มไปด้วยความชั่วร้ายในภพนี้แล้ว ยังจะต้องพบเจอกับการสอบสวนอันหนักหน่วงในปรภพ แล้วตำแหน่งที่อยากได้ใคร่ดี ณ วันนี้ ก็จะกลายเป็นความอัปยศอดสูและเจ็บปวดทรมานไม่มีใดเปรียบปานในวันนั้น

                “อบูซัรฺเอย ท่านนี้เป็นคนอ่อนแอ และแท้จริงแล้วตำแหน่งการปกครองผู้คนนั้นจะเป็นความอัปยศและโศกาอาดูรยิ่งในวันแห่งการพิพากษา ยกเว้นก็แต่เฉพาะคนที่ได้ตำแหน่งมาโดยความชอบธรรม และปฏิบัติหน้าที่ของตนในตำแหน่งนั้นอย่างเต็มความสามารถ”

(หะดิษซอเฮี้ยะฮ์ 3 : 391)


หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ ในความเจ็บปวดทรมานที่ได้พบ จะหาความรื่นรมย์แม้เพียงกลิ่นอายแห่งสวรรค์ก็ยากเย็น ทั้งนี้ ศาสดามุฮัมมัด  ระบุว่า

“บุคคลใดที่องค์อัลลอฮ์ได้ให้ก้าวขึ้นไปปกครองประชาชน แล้วเขาก็ไม่ได้คุ้มครองประชาชนด้วยการอบรมสั่งสอน บุคคลนั้นจะไม่ได้ลิ้มรสแม้กลิ่นของสวรรค์”

 (หะดิษซอเฮี้ยะฮ์ 3 : 397)

                ผู้นำจึงต้องตระหนักในภารกิจแห่งตนอยู่เสมอว่า เป็นภารกิจที่ไม่ได้มีเฉพาะการนำละหมาดหรือนำประชาชนในพิธีกรรมอื่น ๆ เท่านั้น แต่ภารกิจที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การส่งเสริมผู้คนให้ดำรงอยู่บนความถูกต้องดีงาม ขณะเดียวกันก็ขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากและความชั่วร้ายต่าง ๆ ที่จะทำให้ความดีถดถอยด้วย ทั้งนี้  เพราะตำแหน่งการปกครองทุกตำแหน่งในอิสลามล้วนพุ่งเป้าไปที่จุดหมายนี้ 

(อิบนุตัยมียะฮ์ 1990 : 14)

                การกล่าวชะฮาดะฮ์ (ปฏิญาณตนยอมรับการดำรงอยู่แห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า และน้อมรับพระบัญชาแห่งพระองค์มาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต) การละหมาด, การถือศีลอด, การจ่ายซะกาต และการจาริกไปเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ล้วนเป็นสุดยอดแห่งการแสดงออกซึ่งความภักดีต่ออัลลอฮ์ (อิบาดะฮ์) การธำรงไว้ซึ่งอิบาดะฮ์เหล่านี้ ต้องอาศัยความเข้าใจของประชาชนเป็นหลัก 

          หากอิหม่ามหรือผู้นำคนใดคิดจะให้ประชาชนทำอิบาดะฮ์เหล่านั้น แต่มิได้กระทำการใด ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ทั้งมิได้ดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืน ขณะที่ในสังคมก็เต็มไปด้วยอบายมุขและความชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งมิให้ผู้คนเข้าใจในคุณงามความดี และผู้นำก็มิได้ดำเนินการขจัดปัดเป่าสิ่งเหล่านี้ ก็ถือว่าผู้นำนั้นบกพร่องต่อหน้าที่ ควรพิจารณาตนเองว่าจะตอบคำถามของอัลลอฮ์ เมื่อพระองค์ทรงสอบสวนว่าอย่างไร ? และจะคุ้มค่ากันหรือไม่กับการเหนี่ยวรั้งตำแหน่งไว้กับตัวเพียงชั่วขณะหนึ่งบนโลกและกับความอัปยศอดสูและเจ็บปวดทรมานในปรภพ?

 

 

 

 
สำนักจุฬาราชมนตรี