ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา
  จำนวนคนเข้าชม  15214

ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา


โดย : ซุฟอัม อุษมาน


         คุณค่าที่แท้จริงของการนับถือศาสนาในมุมมองอิสลาม คือ ต้องมาจากความเข้าใจ ความปรารถนา และความพอใจของผู้นับถือ ไม่ใช่ด้วยการบังคับข่มขู่ หรือนับถือโดยผิวเผินปราศจากความรู้ความเข้าใจในศาสนาอย่างแท้จริง

         ด้วยเหตุนี้ หลักประการสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีการบังคับผู้ใดทั้งสิ้นให้นับถือศาสนาอิสลาม หากแต่สิ่งที่ผู้เผยแผ่อิสลามต้องทำ คือเชิญชวนให้ผู้อื่นสู่อิสลามด้วยการชี้แจงและอธิบายเนื้อหาของศาสนาให้ชัดเจนจนเป็นที่เข้าใจ โดยอาศัยวิธีการที่ดีที่สุด และเหมาะสมกับความคิดความอ่านของผู้รับฟัง ใช้หลักเผื่อแผ่ความรัก ความเมตตา และไม่ใช้วิธีการรุนแรง หรือหลอกล่อด้วยกลลวงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่อนุญาตให้นำวิธีการที่ไม่ถูกต้องหรือสกปรกมาใช้ ถึงแม้ว่าจะมีจุดประสงค์ที่ดีก็ตาม ทั้งนี้เป้าหมายก็คือให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเนื้อหาคำสอนที่ถูกต้องของอิสลามให้ได้มากและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้นสิทธิในการเชื่อและนับถือจะคืนกลับไปยังคนผู้นั้นว่าจะศรัทธาหรือไม่ ตามความพอใจของตน

อัลกุรอานได้ชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนที่สุด ด้วยโองการต่างๆ เหล่านี้

"ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา (อิสลาม)"

 (อัล-กุรอาน 2 : 256)

"และจงกล่าวเถิด (มูฮัมมัด) ว่าสัจธรรมนั้นมาจากองค์อภิบาลของเจ้า

ดังนั้น หากผู้ใดประสงค์จะศรัทธาก็ให้เขาศรัทธา หรือถ้าหากผู้ใดประสงค์จะปฏิเสธก็ปล่อยให้เขาปฏิเสธ"

(อัลกุรอาน18 : 29)

         โองการนี้ไม่ได้หมายถึงว่าการศรัทธาและการปฏิเสธนั้นมีค่าเท่ากัน หากแต่มันหมายถึง คนคนหนึ่งมีสิทธิที่จะเลือกศรัทธาหรือปฏิเสธ  เพราะเขาจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาเลือกเองในภายหลัง หากเขาศรัทธาเขาก็จะได้รับผลจากการศรัทธาของเขา ในทางกลับกันถ้าเขาปฏิเสธที่จะยอมรับ เขาก็จะเป็นผู้แบกรับผลกรรมนั้นด้วยตัวเอง ดั้งนั้น อิสลามจึงให้สิทธิเพื่อเขาได้คิดเลือกเอง ว่าจะศรัทธาหรือปฏิเสธโดยไม่มีการบังคับ

 

"และหากมีผู้หนึ่งผู้ใดจากบรรดาผู้ตั้งภาคีขอรับจ้างพวกเจ้า ก็จงจ้างเขา เพื่อเขาจะได้ฟังดำรัสแห่งอัลลอฮฺ

 แล้วจงจัดการให้ความปลอดภัยแก่เขา นั่นเป็นเพราะพวกเขาเป็นชนผู้ไม่รู้ (ความจริงของอิสลาม)"

(อัลกุรอาน 9 : 6)

"อาหรับชาวชนบทได้กล่าวว่า "เราได้ศรัทธาแล้ว" จงกล่าวเถิด(มูฮัมมัด) พวกท่านยังไม่ได้ศรัทธา

แต่พวกท่านจงพูดว่าเราได้ยอมมอบตนแล้ว และความศรัทธายังไม่ได้ซึมซับเข้าไปในใจของพวกท่าน"

 (อัล-กุรอาน 49 : 14)

          โองการสุดท้ายนี้บอกเป็นนัยว่า ฐานหลักของการนับถืออิสลามคือการทำให้เข้าถึงคำเชิญชวนและใช้วิจารณญาณ ส่วนการตามและเชื่อฟังอย่างหน้ามืดตามัวโดยปราศจากความเข้าใจในแก่นของศาสนาไม่ใช่หลักการที่ถูกต้อง และไม่ได้เป็นสารบบของอิสลามแม้แต่น้อย ยิ่งถ้าเป็นการบังคับด้วยแล้ว ย่อมต้องผิดหลักนี้อย่างมิต้องคิดสงสัย คำพูดของคนที่ถูกบังคับนั้นอิสลามไม่คิดถือความ และไม่เป็นผลตามหลักศาสนบัญญัติ

 

         อิสลาม เป็นศาสนาที่ใช้ปัญญาและสิทธิเสรีภาพเป็นหลักในการยึดถือความเชื่อและรับผิดชอบ สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของการศรัทธาที่แท้จริงคือความปรารถนาและพอใจในศรัทธานั่นเอง

         ดังนั้น สิ่งที่อิสลามปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงคือการปิดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าสู่คำสอนของอิสลาม การบิดเบือนคำสอนอิสลามหรือการใช้วาทกรรมต่างๆ ใส่ร้ายอิสลาม เพื่อให้เกิดความคลางแคลงและความหวาดกลัว เพราะการกระทำเช่นนั้นถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้คนในการค้นหาสัจธรรมและนับถือศาสนาตามที่ตนพอใจ

         ชาวมุสลิมไม่ได้กลัวว่าใครจะนับถืออิสลามหรือไม่ มากกว่าที่กลัวว่าพวกเขาจะถูกปิดกั้นสิทธิหรือถูกกลั่นแกล้งเพื่อไม่ให้ดำเนินชีวิตตามครรลองอิสลาม หรือปิดโอกาสไม่ให้ผู้อื่นได้เข้าใจอิสลามตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในหลักคำสอนดั้งเดิมของอิสลาม

 

 

 

Islamhouse