เมื่อหัวใจมีโรค
  จำนวนคนเข้าชม  9719

เมื่อหัวใจมีโรค


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


          มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

          ผู้ศรัทธาต้องหมั่นดูแลหัวใจให้ปลอดจากโรคต่างๆ เพราะหัวใจนั้นอาจมีโรคได้เช่นเดียวกับที่ร่างกายมีโรค และหัวใจนี่เองคือจุดสำคัญที่อัลลอฮฺทรงใช้พิจารณาบ่าวของพระองค์ อวัยวะส่วนอื่นๆ จะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับหัวใจ

อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

 “ในหัวใจของพวกเขานั้นมีโรค ดังนั้นอัลลอฮฺจึงได้ทรงเพิ่มโรคนั้นให้มากขึ้น”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 10)

และพระองค์ตรัสว่า

“ในหัวใจของพวกเขามีโรคกระนั้นหรือ หรือว่าพวกเขาสงสัย หรือว่าพวกเขากลัวว่าอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์จะลำเอียงออกจากพวกเขา”

(อัน-นูรฺ : 50)

และพระองค์ตรัสว่า

“..ก็ไม่ควรพูดจาเพราะพริ้งนัก เพราะจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีโรคเกิดความโลภ”

(อัล-อะหฺซาบ: 32)

อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี กล่าวว่า

“อัลลอฮฺจะไม่ทรงพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกหรือทรัพย์สมบัติของพวกท่าน

 แต่พระองค์จะทรงพิจารณาหัวใจของพวกท่าน และการงานที่พวกท่านปฏิบัติเป็นสำคัญ”

(บันทึกโดย มุสลิม: 2564)

อัน-นุอฺมาน บิน บะชีร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี  กล่าวว่า

“พึงทราบเถิดว่าในร่างกายเรานั้นมีก้อนเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าส่วนดังกล่าวดี ร่างกายทุกส่วนก็จะดีตามไปด้วย

 แต่ถ้าส่วนดังกล่าวไม่ดี ร่างกายส่วนอื่นๆก็จะไม่ดี ก้อนเนื้อที่ว่านั้นก็คือ หัวใจ นั่นเอง”

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์: 52 และ มุสลิม: 1599)

           หะดีษบทนี้อธิบายชี้ชัดว่าอิริยาบถความเคลื่อนไหวต่างๆ ของบ่าวจะดีหรือไม่ และเขาจะสามารถงดเว้นสิ่งต้องห้ามพร้อมทั้งออกห่างสิ่งที่คลุมเครือได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความดีงามของหัวใจ ถ้าหากว่าหัวใจของเขามีความบริสุทธิ์ และได้รับการเติมเต็มด้วยความรักที่มีต่ออัลลอฮฺและทุกสิ่งที่พระองค์ทรงรัก และด้วยความยำเกรงอันเต็มเปี่ยมต่อพระองค์อันส่งผลให้เกิดความเกรงกลัวที่จะทำในสิ่งที่พระองค์ทรงรังเกียจ เช่นนี้แล้วอิริยาบถและการกระทำทุกอย่างที่เขาแสดงออกก็จะดีตามไปด้วย และเขาก็จะหลีกเลี่ยงสิ่งต้องห้ามทั้งหมด พร้อมทั้งพยายามออกห่างจากสิ่งที่คลุมเครือเพราะเกรงว่าจะพลาดไปกระทำสิ่งที่เป็นข้อห้าม

          แต่ถ้าหากว่าหัวใจไม่ดี ถูกครอบงำโดยอารมณ์ใฝ่ต่ำและมุ่งแสวงหาแต่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของตน โดยไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกริ้วหรือไม่ เขาก็จะลุ่มหลงอยู่กับการฝ่าฝืนและความคลุมเครือไม่ชัดเจน อันเป็นผลให้การงานตลอดจนอิริยาบถต่างๆ ของเขาไม่ดีตามไปด้วย

 

         ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้กล่าวว่า หัวใจนั้นเปรียบดังราชา ซึ่งมีอวัยวะส่วนอื่นๆ เป็นไพร่พลบริวารที่อยู่ใต้การปกครอง พร้อมจะรับคำสั่งและปฏิบัติตามคำบัญชาของราชาในทุกๆเรื่อง ดังนั้น หากว่าราชาผู้นี้ดี ไพร่พลทั้งหลายก็จะดีตามไปด้วย และในทางกลับกัน ถ้าหากว่าราชาไม่ดี ไพร่พลบริวารเหล่านั้นก็จะเสื่อมเสียไปด้วย

ลักษณะของหัวใจที่ดีในมุมมองของอัลลอฮฺ คือหัวใจที่บริสุทธิ์ (القلب السليم) ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

“วันที่ทรัพย์สมบัติและลูกหลานจะไม่อำนวยประโยชน์ได้เลย เว้นแต่ผู้มาหาอัลลอฮฺด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส”

(อัช-ชุอะรออ์: 88-89)

 ท่านนบี ได้เคยกล่าววิงวอนขอในดุอาอ์บทหนึ่งว่า

« أَسْأَلُكَ قَلْبا سَلِيْمًا » [رواه أحمد برقم 17114] 

 “โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้ฉันมีหัวใจที่บริสุทธิ์ด้วยเถิด”

(บันทึกโดย อะหมัด: 17114)

         ซึ่ง หัวใจที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริงนั้น คือ หัวใจที่ปราศจากโรคและความสกปรกโสมมต่างๆ เป็นหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ และต่อสิ่งที่พระองค์ทรงชอบ มีแต่ความยำเกรงพระองค์ และมุ่งมั่นที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ห่างไกลจากพระองค์ (ญามิอุลอุลูม วัลหิกัม โดย อิบนุเราะญับ หน้า 94-95)

 

 

 

แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse