มารยาทแพทย์มุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  10866

มารยาทแพทย์มุสลิม


โดย... ชัยคฺ มูฮำหมัด บิน ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด


          แพทย์ เป็นบุคคลที่ได้รับหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วย พร้อมกับรักษาความลับและเกียรติยศของพวกเขา เมื่อรู้ถึงความสูงส่งในความเป็นอยู่และอาชีพแล้ว จึงจำเป็นต้องปฏิบัติให้เหมาะสมกับอาชีพและความเป็นอยู่ที่สูงส่งของแพทย์

          แพทย์ต้องพยายามเพื่อให้ได้รับคุณลักษณะที่ดีต่างๆ ให้เหมาะสมกับความสูงส่งที่อัลลอฮฺประทานให้ และจำเป็นต้องป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากคุณลักษณะที่ไม่ดีต่างๆ ซึ่งไม่เหมาะสมกับจรรยาบรรณในวิชาอาชีพ เช่น การโกหก การผิดสัญญา หยิ่งยโสโอหัง การอวดรู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ และการแสวงหาทรัพย์สินในทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

          อิสลามสอนผู้คนให้มีมารยาทที่ดีงาม รวมถึงการประกอบอาชีพต่างๆด้วยความดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการแพทย์ ดังนั้นแพทย์มุสลิม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมารยาที่ดีงาม ดังต่อไปนี้


1. มีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ

         ♥ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแพทย์มุสลิม คือ การบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ นั้นคือ การปฏิบัติการงานต่างๆเพื่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺตรัสความว่า

“และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า”

(อัซซาริญาต : 56)

จากท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“ทุกๆงานการขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา และแท้จริงทุกๆคนจะได้รับ (การตอบแทน) ตามที่เขาได้ตั้งเจตนาไว้”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

        ดังนั้นจำเป็นสำหรับแพทย์มุสลิม ที่จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ ในการปฏิบัติงานการและหน้าที่ เพื่ออัลลอฮฺ และต้องรำลึกอยู่เสมอว่าอัลลอฮฺ กำลังมองเขาอยู่

         ความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺจะคอยกระตุ้นแพทย์ให้ ได้รับผลบุญ ก่อนที่เขาจะถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ทางโลก และด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺนั้น จะทำให้แพทย์สามารถทำงานนอกเหนือจากเวลาทำการปกติ หากว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม หรือภัยพิบัติ

 

2. มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ

         สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแพทย์มุสลิม คือ การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ จะทำให้เขาปฏิบัติแต่การงานที่ดีงาม และทำให้เขาไม่ละเลยต่อหน้าที่ เมื่อมีผู้คนเป็นจำนวนมากมาขอความช่วยเหลือ แต่จะยืนหยัดในการให้ความช่วยเหลือ และจะรักษาเกียรติของมุสลิม ส่วนหนึ่ง คือ แพทย์มุสลิมจะไม่มองที่อวัยวะพึงสงวนของผู้หญิง นอกเสียจากว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น เพราะเขาจะต้องปฏิบัติตามพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

“จงกล่าวเถิดมูฮำมัดแก่บรรดาผู้ศรัทธา ให้พวกเขาลดสายตาของพวกเขาต่ำลง”

(อันนูร : 30)

          ส่วนหนึ่งจากความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ คือ การรู้สึกกลัวต่อพระองค์ ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งจากการอยู่ร่วมกับเพศตรงข้าม หากว่ามีความจำเป็นจริงๆ ก็จะต้องมีคนอีกคนหนึ่ง หรืออยู่ในสถานที่ที่เปิดกว้างที่ผู้คนมีมากมาย

จากท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“ไม่มีชายคนใด อยู่ตามลำพังกับผู้หญิงคนหนึ่ง นอกจากชัยตอน (มารร้าย) จะเป็นคนที่สาม ที่อยู่ร่วมด้วย”

 (หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยติรมีซีย์)

 

3. มีมารยาทที่ดีงาม

          ทุกคนที่มีหน้าที่ในการบริการแก่บุคคลอื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมารยาทที่ดีงาม โดนเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาแพทย์

จากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (รอดิยัลลอฮฺฮุอันฮูมา) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“แท้จริงบุคคลที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน คือ บุคคลที่มีมารยาทดีงามที่สุด”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

          มนุษย์จะออกห่างจากบุคคลที่มีนิสัยก้าวร้าวและหยิ่งยโสโอหัง และจะชอบบุคคลที่มีความสุภาพอ่อนโยน และอ่อนน้อมถ่อมตน

จากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“จะไม่ได้เข้าสวรรค์ สำหรับบุคคลที่หัวใจของเขามีความหยิ่งยโสโอหัง แม้เพียงผงธุลีก็ตาม”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยมุสลิม)

จากท่านอบูฮูร็อยเราะห์ (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“เป็นการเพียงพอแล้วที่จะเรียกว่า คนชั่ว สำหรับคนที่ดูถูกเหยียดหยามพี่น้องมุสลิม”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยมุสลิม)

          แพทย์มุสลิม ควรมีคุณลักษณะอ่อนน้อมถ่อมตน ต่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ด้วยกัน หรือเพื่อนร่วมงานอื่นๆ และจำเป็นต้องเห็นความสำคัญต่อบทบาทของเพื่อนร่วมงาน ในการให้การรักษาและดูแลผู้ป่วย รวมถึงรักษาความสัมพันธ์บนพื้นฐานของการไว้ใจกัน และทำงานเป็นทีมในการดูแล รักษาผู้ป่วย

 

4. มีความซื่อสัตย์

          ♥ ความซื่อสัตย์ ถือเป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของผู้ศรัทธา  อัลลอฮฺตรัสความว่า

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้สัจจริง”

(อัตเตาบะห์ : 119)

          ความซื่อสัตย์ มิใช่เฉพาะในรูปแบบของคำพูดเพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงการตั้งเจตนาและการกระทำด้วย แพทย์มุสลิมต้องมีความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่ ซื่อสัตย์ในการรักษาและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย มีความซื่อสัตย์ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการวิจัย และซื่อสัตย์ในทุกๆด้าน

          และไม่เหมาะสมเลยสำหรับบุคคลที่เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นในเรื่องของความดีและวิทยปัญญา ที่จะกระทำในสิ่งที่ไม่ซื่อสัตย์ และไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า แพทย์มุสลิมนั้นจำเป็นจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ผู้ที่มาใช้บริการทางการแพทย์ และผู้ป่วยย่อมไว้วางใจ ในคำพูดและการปฏิบัติของแพทย์ ดังนั้นแพทย์มุสลิม จำเป็นที่จะต้องมีความซื่อสัตย์ จนได้รับความไว้วางใจจากทั้งเพื่อนร่วมงานและผู้ป่วย

 

5. มีความรับผิดชอบ

        ♥ แพทย์ได้รับหน้าที่เพื่อดูแลชีวิตและเกียรติของคน และจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่นั้น ด้วยความดีงาม อัลลอฮฺ ตรัสความเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้ศรัทธาว่า

“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้เอาใจใส่ต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมายของพวกเขา และสัญญาของพวกเขา”

 (อัลมุอฺมินูน : 8)

รายงานจากท่านอนัส อิบนุ มาลิก (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“จงรักษาความไว้วางใจแก่ผู้ที่ให้ความไว้วางใจแก่ท่าน และจงอย่าละเมิดต่อผู้ที่ละเมิดท่าน”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยติรมีซีย์)

         ท่านรอซูลุลลอฮฺ ห้ามมิให้ละเมิดต่อผู้ที่ละเมิดเรา แล้วไฉนเล่ากับการละเมิด ต่อผู้ที่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและให้เกียรติเรา ส่วนหนึ่งจากความรับผิดชอบของแพทย์มุสลิม คือ ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มาใช้บริการ, มีความซื่อสัตย์ในการให้คำแนะนำ และปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามในหน้าที่ และส่วนหนึ่งจากความรับผิดชอบ คือ การให้ยารักษาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด และสมบูรณ์ที่สุด

อิมาม อิบนุ ก็อยยิม อัซเญาซียะฮฺ กล่าวว่า

          “บรรดาแพทย์ต่างมีความคิดเห็นว่า หากเป็นไปได้ ให้รักษาโรคด้วยการให้อาหารเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา หากว่ามีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษก็ต้องเป็นยาที่เหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งไม่อนุญาตให้รักษาด้วยยาที่จะทำให้อาการยิ่งหนักขึ้น”

 

6. มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องศาสนา

        ♥ แพทย์มุสลิมจำเป็นต้องมีความเข้าใจในความรู้ศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเขา

จากท่านมุอาวียะห์ บิน อบีสุฟยาน (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เขาได้รับความดีงาม พระองค์ก็จะทรงให้เขาเข้าใจในเรื่องศาสนา”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

          แพทย์มุสลิม จำเป็นต้องศึกษาความรู้ศาสนา ที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย จะต้องเข้าใจบทบัญญัติว่าด้วย การทำความสะอาด เข้าใจบทบัญญัติว่าด้วยนะญิส และการชำระล้างนะญิส เข้าใจบัญญัติบทว่าด้วยการสัมผัสอวัยวะเพศ เข้าใจบทบัญญัติว่าด้วยการละหมาดรวมเมื่อมีความจำเป็น และบทบัญญัติศาสนาเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่

          ส่วนหนึ่งจากเรื่องที่แพทย์มุสลิมต้องทำความเข้าใจ คือ การที่ไม่อนุญาตให้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ขัดต่อบทบัญญัติอิสลาม เช่น การรักษาด้วยสิ่งที่ปะปนหรือปนเปื้อนนะญิส หรือการรักษาด้วยสิ่งของที่มึนเมา

 

7. มีความยุติธรรมและอยู่ในทางสายกลาง

การมีความยุติธรรม ถือเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของอิสลาม และต้องไม่หย่อนยานจนเกินไป และไม่เลยเถิดจนเกินไป  อัลลอฮฺ

“และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง”

(อัลบะกอเราะหฺ : 143)

          แพทย์มุสลิมต้องมีความยุติธรรมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมอบความไว้วางใจในกิจการต่างๆ แก่บรรดาแพทย์ เพื่อให้การรักษาแก่พวกเขา ดังนั้นจึงอย่าละเมิดในความไว้วางใจดังกล่าว ด้วยการไม่ให้สิทธิตามที่พวกเขาควรได้รับ ซึ่งมันจะเกี่ยวข้องกับการให้การรักษา และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จากผู้ป่วยและครอบครัว

          ไม่สมควรเลยที่แพทย์มุสลิม จะเลือกปฏิบัติในการรักษา หรือเลือกปฏิบัติในการให้บริการด้วยความรวดเร็ว หรือช้า (สำหรับบุคคลเฉพาะหรือใกล้ชิด-ผู้แปล) ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

          แพทย์มุสลิม ต้องมีความยุติธรรมในการรักษาผู้ป่วย ด้วยมาตรฐานเดียวกัน และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย เนื่องด้วยเหตุผลส่วนตัว


นี่คือมารยาทที่จำเป็นต้องมีสำหรับแพทย์มุสลิม !!!

 

 

 

แปลและเรียบเรียง มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์

(จากหนังสือ رسالة إلى الطبيب المسلم)