อันตรายของชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ (1)
  จำนวนคนเข้าชม  3179

 

อันตรายของชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ (1)

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

          มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า


"บรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาในหมู่วงศ์วานอิสรออีลนั้นได้ถูกสาปโดยถ้อยคำของดาวูดและอีซาบุตรของมัรยัม

นั่นก็เนื่องจากการที่พวกเขาฝ่าฝืน และที่พวกเขาเคยละเมิดกัน

ปรากฏว่าพวกเขาต่างไม่ห้ามปรามกันในสิ่งไม่ชอบที่พวกเขาได้กระทำมันขึ้น ช่างเลวร้ายจริงๆ สิ่งที่พวกเขากระทำ” 

(อัล-มาอิดะฮฺ: 78-79)

อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“ผู้ใดในหมู่ท่านเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็จงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นด้วยมือของเขา ถ้าหากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้นของเขา

แต่ถ้าหากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นด้วยหัวใจของเขา และนั่นคือขั้นต่ำที่สุดของระดับความศรัทธา” 

(บันทึกโดยมุสลิม: 49)


          ทั้งนี้ ความชั่วร้ายที่เป็นอันตรายต่อหลักศรัทธาและคำสอนของศาสนามากที่สุดประการหนึ่ง คือฟิตนะฮฺความหลงผิดที่เกิดจากกลุ่ม “ชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ” ซึ่งเผยแพร่หลักความเชื่อของพวกเขาไปทั่วทุกหนแห่ง โดยที่พวกเขาแสดงออกให้ผู้คนเข้าใจว่าความเท็จความบิดเบือนของพวกเขานี่แหละคือหลักการอิสลามที่ถูกต้อง!

          ที่แย่ไปกว่านั้นคือมีผู้คนบางกลุ่มซึ่งรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ออกมาเรียกร้องเชิญชวนไปสู่การปรองดองสมานฉันท์ระหว่างชาวสุนนีย์และชาวชีอะฮฺ โดยอ้างว่าความแตกต่างระหว่างเรากับเขานั้นเป็นเพียงในส่วนของเรื่องปลีกย่อย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นความแตกต่างในประเด็นที่ถือเป็นแก่นสำคัญของหลักยึดมั่นศรัทธา เพราะแนวคิดของกลุ่มรอฟิเฎาะฮฺนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นการตั้งภาคีและปฏิเสธศรัทธา ซึ่งเข้าข่ายที่จะส่งผลให้สิ้นสภาพความเป็นมุสลิมเสียด้วยซ้ำ 

          และเป็นที่น่าเศร้าใจว่ายังมีชาวสุนนีย์ทั่วไปอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ เพราะอุละมาอ์ชีอะฮฺมิได้เผยแพร่ตำราสำคัญๆ ที่ระบุถึงหลักความเชื่อของพวกเขาให้คนทั่วไปได้ศึกษาหาอ่านได้ (หนังสือ บุฏลาน อะกออิด อัชชีอะฮฺ โดย มุหัมมัด อัต-ตูนิสีย์ หน้า 5-6)


          ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงหลักอะกีดะฮฺที่บิดเบือนหลงผิดบางประการของพวกเขาในภาพรวม โดยอ้างอิงข้อมูลจากตำรับตำราและหนังสือที่พวกเขาเชื่อถือและให้การยอมรับ



ประการแรก: แนวคิดและความเชื่อที่พวกเขามีต่ออิมามจำนวนสิบสองท่าน


          อัล-กุลัยนีย์ ได้ระบุใน อุศูล อัล-กาฟีย์ (أصول الكافي) ซึ่งเป็นตำราที่มีความถูกต้องมากที่สุดในมุมมองของพวกเขา เปรียบได้กับ เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ ของชาวสุนนีย์ ว่า 

          “บรรดาอิมามทั้งหลายนั้น หากว่าพวกท่านประสงค์ที่จะรู้สิ่งใดพวกท่านก็สามารถที่จะรู้ได้ และพวกท่านยังรู้ด้วยว่าตัวเองจะตายเมื่อไร ทั้งนี้ พวกท่านจะตายก็ต่อเมื่อพวกท่านสมัครใจที่จะตายเท่านั้น” (เล่ม 1 หน้า 258-260)


          ในขณะที่ ฮาชิม อัล-บะหฺรอนีย์ ได้มอบคุณลักษณะของความเป็นพระเจ้าแก่บรรดาอิมามเหล่านั้น โดยเขากล่าวในหนังสือชื่อ ยะนาบีอฺ อัล-มะอาญิซ วะ อุศูล อัด-ดะลาอิล (ينابيع المعاجز وأصول الدلائل) ว่า 

         “พวกท่านเหล่านั้นมีความรอบรู้ในสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้า และสิ่งที่อยู่บนพื้นดิน พวกท่านรอบรู้ในสิ่งที่เคยเกิดขึ้น และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น รู้สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินไปไม่ว่าจะเป็นเวลากลางคืนหรือกลางวันอย่างทันท่วงที นอกจากนี้พวกท่านเหล่านั้นยังมีความรู้เหมือนกับความรู้ของบรรดานบี และมีมากกว่าเสียอีก” (บทที่สี่ หน้า 35-42) 


          ส่วนอับดุล หุสัยนฺ อัล-อะมีนีย์ อัน-นะญะฟีย์ (นักวิชาการร่วมสมัยของพวกเขา) ได้กล่าวในหนังสือ อัล-เฆาะดีร (الغدير) ว่า “บรรดาอิมามคือลูกหลานของอัลลอฮฺ และเป็นทายาทผู้สืบสันดานของท่านอะลี” (เล่ม 1 หน้า 214-216)

          นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้ยินนักวิชาการของพวกเขาบางคนกล่าวในเทปเสียงตอนหนึ่งว่า “อัล-มะฮฺดีย์ได้ลงไปในชั้นใต้ดินตั้งแต่ท่านมีอายุได้ห้าขวบ โดยที่ท่านยังคงรับรู้ถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วอณูจักรวาล!”

 

 

ประการที่สอง: ความเชื่อที่พวกเขามีต่ออัลกุรอาน


          กลุ่มรอฟิเฎาะฮฺเชื่อว่าอัลกุรอานที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่อัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาแก่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม แต่เป็นอัลกุรอานที่ถูกบิดเบือนแก้ไขด้วยการเพิ่มเติมหรือตัดทอนแล้ว โดยอุละมาอ์ของพวกเขาส่วนใหญ่ยืนยันความคิดนี้ ดังที่ อัน-นูรีย์ อัฏ-ฏ็อบเราะสีย์ ได้ระบุไว้ในหนังสือ ฟัศลฺ อัล-คิฏอบ ฟี อิษบาต ตะหฺรีฟิ กิตาบ ร็อบบิล อัรบาบ (فصل الخطاب في إثبات تحريف كتاب رب الأرباب)ในขณะที่ อัล-กุลัยนีย์ ได้กล่าวในหนังสือ อุศูล อัล-กาฟีย์ ว่า “อัลกุรอานที่ญิบรออีลนำลงมายังมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นมีจำนวนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันอายะฮฺ” (เล่ม 2 หน้า 134-242) 


          นั่นก็หมายความว่าอัลกุรอานที่รอฟิเฎาะฮฺกล่าวอ้างนั้น มีความยาวมากกว่าอัลกุรอานที่เรามีอยู่ เพราะอัลกุรอานที่มีอยู่ มีเพียงหกพันกว่าอายะฮฺเท่านั้น ซึ่งเป็นอัลกุรอานที่อัลลอฮฺทรงสัญญาว่าจะปกปักษ์รักษา โดยพระองค์ตรัสว่า

“แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน” 

(อัล-หิจญรฺ: 9)

          ทั้งนี้ แม้จะมีอัลกุรอานบางส่วนที่พวกเขายอมรับ แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ทำการอรรถาธิบายความหมายไปในทางที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา ดังเช่นอายะฮฺต่อไปนี้

“แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีกับพระองค์

แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” 

(อันนิสาอ์: 116)


ซึ่ง อัศ-ศอฟีย์ ได้กล่าวอธิบายในตัฟสีรของเขาว่า พระดำรัสของพระองค์ที่ว่า

           “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีกับพระองค์” นั้น หมายถึง พระองค์จะไม่ทรงอภัยให้แก่ผู้ที่ปฏิเสธ ‘วิลายะฮฺ’ (อำนาจการปกครองและความเป็นผู้นำ – ผู้แปล)ของท่านอะลี ส่วนคำตรัสของพระองค์ที่ว่า “แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” นั้นหมายถึง สำหรับผู้ที่ยอมรับในวิลายะฮฺของท่านอะลี (เล่ม 1 หน้า 156-163)


และอีกตัวอย่างหนึ่งของการตีความอัลกุรอานตามอารมณ์ความต้องการของพวกเขาคือ ในอายะฮฺที่ว่า

“และได้มีวะฮีย์มายังเจ้า (มุหัมมัด) และมายังบรรดา นบีก่อนหน้าเจ้า

หากเจ้าตั้งภาคี แน่นอนการงานของเจ้าก็จะไร้ผล และแน่นอนเจ้าจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” 


(อัซ-ซุมัรฺ: 65)


          อัศ-ศอฟีย์ กล่าวอธิบายว่า “หากเจ้าใช้ให้ผู้ใดมีอำนาจการปกครองและเป็นผู้นำเคียงคู่กับอะลี แน่นอนการงานของเจ้าก็จะไร้ผล และแน่นอนเจ้าจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” (ตัฟสีรฺ อัศ-ศอฟีย์ เล่ม 1 หน้า 156-361 และ นูร อัษ-ษะเกาะลัยน์ เล่ม 1 หน้า 151-488)
 

ส่วนโองการที่ว่า

 
“โดยที่พวกเขาศรัทธาต่ออัล-ญิบตฺ (เจว็ดและทุกสิ่งที่ถูกเคารพสักการะ) และอัฏ-ฏอฆูต (ชัยฏอน)

(อันนิสาอ์: 51)

 

พวกเขากล่าวอธิบายว่า “หมายถึงอบูบักรฺและอุมัรฺ” (ฟุรูอฺ อัล-กาฟีย์ เล่ม 4 หน้า 416)

 

 

 

แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / islamhouse