ระหว่างปัญญากับวะห์ยู
  จำนวนคนเข้าชม  6641

 

ระหว่างปัญญากับวะห์ยู

 

อับดุลอะซีซ บิน มัรซูก อัฏ-เฏาะรีฟีย์


 

          ด้วยพลังของหลักฐานจากตัวบทที่ถูกถ่ายทอดมารวมกันกับการใช้สติปัญญา ก็จะทำให้เราทราบถึงข้อเท็จจริงทางบทบัญญัติ  ดังนั้น ตัวบทไม่สามารถยังประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่ใช้สติปัญญาได้ และเช่นเดียวกันปัญญาก็ไม่สามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่ยอมรับในตัวบท  และสองสิ่งข้างต้นนั้นหากอย่างหนึ่งอย่างใดบกพร่อง มันก็จะทำให้เกิดความบกพร่องในการรับรู้ถึงสัจธรรมด้วย หากมองดูแล้วตัวบทและสติปัญญามันค้านกันโดยรวมๆ ก็ให้ถือตัวบทก่อนสติปัญญา เนื่องจากตัวบทนั้นเป็นความรู้ที่มาจากพระผู้สร้างที่สมบูรณ์  ส่วนสติปัญญาเป็นความรู้ที่มาจากมนุษย์ผู้มีความบกพร่อง
 

          สติปัญญาเปรียบเสมือนดวงตา  ตัวบทเปรียบเสมือนแสงสว่าง  ดังนั้นผู้ที่มีสายตานั้นไม่สามารถจะทำให้ดวงตาทั้งสองของเขาเกิดประโยชน์ได้ภายใต้ความมืดสนิท  เช่นเดียวกับผู้ที่มีสติปัญญาอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะทำให้สติปัญญาของเขาเกิดประโยชน์ได้โดยปราศจากวะห์ยู ปริมาณของแสงสว่างมีมากเท่าใดก็จะส่งผลให้แก่ดวงตาเห็นชัดเท่านั้น เช่นเดียวกับปริมาณของวะห์ยูมีมากเท่าใดมันก็จะชี้นำสติปัญญามากเท่านั้น และหากส่วนผสมที่สมบูรณ์ของสติปัญญาและตัวบทมีมากเท่าใด ก็จะเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับทางนำและความเข้าใจมากเท่านั้น เฉกเช่นการได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจนในช่วงเวลาเที่ยงวัน


﴿ أَوَ مَن كَانَ مَيۡتٗا فَأَحۡيَيۡنَٰهُ وَجَعَلۡنَا لَهُۥ نُورٗا يَمۡشِي بِهِۦ فِي ٱلنَّاسِ كَمَن مَّثَلُهُۥ فِي ٱلظُّلُمَٰتِ﴾ [الأنعام: ١٢٢]  

“หรือว่าผู้ที่ได้ตายไปแล้ว จากนั้นเราก็ได้ให้เขามีชีวิตขึ้นมาและเราได้ให้แสงสว่างแก่เขา เพื่อใช้เดินอยู่ท่ามกลางหมู่มนุษย์

มีหรือที่เขาจะเหมือนกับผู้ที่อยู่ในความมืดมิดหลายชั้น”
 

(อัล-อันอาม:122)

 

          คนที่มีปัญญาจะได้รับประโยชน์จากปัญญาของเขาในการมีชีวิตในโลกนี้ เหมือนกับการรับรู้ของบรรดาปศุสัตว์ บรรดานก และสัตว์อื่นๆ ทั้งหลาย  พวกมันจะเดินทางและหยุดพักตามฤดูกาล พวกมันจะรู้จักพวกของมันเอง รู้จักถิ่นฐานของมัน  รู้วิธีการสร้างรัง และยังสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรที่เป็นศัตรูของมันด้วย

 

          แต่ว่า มนุษย์ไม่สามารถที่จะใช้เพียงแค่สติปัญญา เพื่อที่จะให้รู้จักพระเจ้าของเขาได้ (ในระดับรายละเอียดปลีกย่อย) เว้นแต่ต้องอาศัยวะห์ยูที่ถูกประทานผ่านนบีของพระองค์ มนุษย์ไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อไปยังพระองค์ได้เว้นแต่ด้วยหนทางของวะห์ยูจากท่านนบีเท่านั้น  หนทางที่ว่านั้นจะมืดมนหากปราศจากวะห์ยู  

 

﴿ ٱللَّهُ وَلِيُّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ يُخۡرِجُهُم مِّنَ ٱلظُّلُمَٰتِ إِلَى ٱلنُّورِۖ وَٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْ أَوۡلِيَآؤُهُمُ ٱلطَّٰغُوتُ يُخۡرِجُونَهُم مِّنَ ٱلنُّورِ إِلَى ٱلظُّلُمَٰتِۗ﴾ [البقرة: ٢٥٧]  

“อัลลอฮฺคือผู้ปกป้องดูแลบรรดาผู้ที่ศรัทธา พระองค์ได้นำพวกเขาออกจากความมืดมาสู่แสงสว่าง

ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธนั้น ผู้ให้การช่วยเหลือพวกเขาก็คืออัฏ-ฏอฆูต มันจะนำพวกเขาออกจากแสงสว่างมาสู่ความมืด”
 

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 257)

 

          พระองค์ได้ตรัสว่า “ทรงนำพวกเขาออกมาจากความมืด” เพราะพวกเขาจะถูกรวมให้เข้าอยู่ในความมืดถ้าหากไม่มีพระองค์ และถ้าหากว่าแสงสว่างนั้นมีแค่อันเดียว ถึงแม้ว่าชนิดของมันจะต่างกันเช่น รัศมีหรือไฟ (แต่ต่างก็ให้ความสว่างได้) วะห์ยูก็เช่นเดียวกัน  มันมีแค่อันเดียว ถึงแม้ว่าชนิดของมันจะแบ่งออกเป็นอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺก็ตามที 

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า


﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ﴾ [النساء: ٥٩]  

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา พวกท่านจงเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ และจงเชื่อฟังต่อเราะสูล”

(อัน-นิสาอ์ 59)

         และใครที่อ้างว่า “แท้จริงเขา ได้รับทางนำไปสู่อัลลอฮฺด้วยกับสติปัญญาของเขาอย่างเดียว โดยไม่ต้องพึ่งพาวะห์ยูแต่อย่างใด” ก็เหมือนกับบุคคลที่กล่าวว่า “แท้จริงเขาได้รับการนำทางไปบนเส้นทางของเขาโดยอาศัยสายตาของเขาเท่านั้น  โดยไม่ต้องพึ่งพาแสงสว่าง”  ทั้งสองกรณีที่กล่าวมานั้น ถือว่าเป็นการปฏิเสธความจำเป็นพื้นฐานที่มิอาจค้านได้ คนแรกนั้นประเภทไปหาอัลลอฮฺแบบไม่มีศาสนา ส่วนคนที่สองนั้นประเภทแสวงหาโดยไม่คำนึงปัจจัยทางโลก 

อัลลอฮฺได้เรียกวะห์ยูของพระองค์ว่าเป็นแสงสว่างที่ใช้นำทางมวลมนุษยชาติ



﴿فَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ بِهِۦ وَعَزَّرُوهُ وَنَصَرُوهُ وَٱتَّبَعُواْ ٱلنُّورَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ مَعَهُۥٓ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ١٥٧ ﴾ [اللأعراف: ١٥٧]   

“ดังนั้น บรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อเขา(นบีมุหัมมัด) และให้ความสำคัญแก่เขา และช่วยเหลือเขา

และปฏิบัติตามแสงสว่างที่ถูกประทานลงมาแก่เขาแล้วไซร้ ชนเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ที่สำเร็จ” 


(อัล-อะอฺรอฟ 157)

 

          เพราะฉะนั้น พระองค์นั่นแหละคือผู้ที่ได้ให้ทางนำแก่บรรดานบีและบรรดาผู้ติดตามนบีทั้งหลาย เราจะยอมรับโดยดุษฎีในสิ่งที่อัลลอฮฺได้มีคำสั่งใช้เราให้ปฏิบัติ และสิ่งที่พระองค์ได้ห้าม และเราเชื่อในสิ่งพระองค์ได้บอก หากเราทราบถึงเหตุผลเราก็ศรัทธา และหากเราไม่ทราบถึงเหตุผลเราก็ศรัทธาและยอมรับ เพราะขนาดทุกสิ่งที่รู้ได้ด้วยปัญญาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นที่รับรู้ของทุกคนที่มีปัญญาได้ ดังนั้น นับประสาอะไรกับสิ่งที่ปัญญาไม่สามารถล่วงรู้ แต่เรากลับดันทุรังต้องการจะให้ทุกปัญญาเห็นด้วยและรับรู้เหมือนกันหมดทุกคน !

         และใครที่กล่าวว่า “ฉันจะไม่ศรัทธานอกจากในสิ่งที่สติปัญญาสามารถรับทราบได้จากหุก่มของอัลลอฮฺ ส่วนอะไรที่สติปัญญาไม่สามารถรับได้ ฉันจะไม่ศรัทธาต่อมัน” หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือว่าเขาได้ใช้ยึดเอาสติปัญญามาก่อนตัวบท และไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่สติปัญญาไม่สามารถล่วงรู้ได้จะหมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง แต่อาจจะเป็นเพราะมันเข้าไม่ถึงต่างหาก

         เนื่องจากสติปัญญานั้นมีขอบเขตจำกัด เหมือนกับที่สายตามีระยะทางจำกัดในการมองเห็น  ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าจักรวาลและสิ่งที่มีอยู่นั้นจะหมดอยู่แค่สุดเขตที่สายตาสามารถมองไปถึงเท่านั้น  และการได้ยินก็มีระยะทางจำกัดของมัน  ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าสิ้นระยะทางการได้ยินตรงไหนเสียงก็หยุดอยู่ตรงนั้นไปต่อไม่ได้อีก เพราะแม้แต่มดก็มีเสียงที่เราไม่ได้ยิน และในจักรวาลก็ยังมีห้วงเวหาและหมู่ดาวอีกมากมายที่เรามองไม่เห็น 


 


ที่มา  : ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับหลักความเชื่อของมุสลิม 

 
แปลโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์