เสียงของมุสลิมะฮฺเป็นเอาเราะหฺหรือไม่ ?
  จำนวนคนเข้าชม  10796

 

เสียงของมุสลิมะฮฺเป็นเอาเราะหฺหรือไม่ ?



 

โดย ซัยคฺ มูฮำหมัด บิน ศอลิหฺ อัลอุศัยมีน




 

คำถาม

 

         จริงหรือไม่ที่ว่าการเปล่งเสียงของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ฮารอม ถึงขั้นว่าเธอไม่สามารถพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า ในการซื้อสิ่งต่างๆที่เธอต้องการ แม้ว่าเสียงที่เปล่งออกมาจะไปยั่วยวนหรือทำให้อ่อนหวานก็ตาม ?

 

 

คำตอบ

 

         การเปล่งเสียงของผู้หญิงมิใช่สิ่งที่ฮารอมและมิใช่เอาเราะหฺ(สิ่งพึงสงวน) แต่ว่าเมื่อผู้หญิงทำให้เสียงของเธอยั่วยวนและอ่อนหวาน และพูดในรูปแบบที่อ่อนหวานที่อาจทำให้คนอื่นหลงใหล(ในตัวเธอ) นี่แหละ คือ สิ่งที่ฮารอม ด้วยหลักฐานจากโองการของอัลลอฮฺ ที่ว่า
 

“อย่าพูดจาอ่อนหวานจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีโรคเกิดความโลภ แต่จงพูดด้วยถ้อยคำที่พอเหมาะพอควร”
 

 (อัลอะหฺซาบ : 32)

        จากโองการข้างต้น อัลลอฮฺมิได้ตรัสความว่า “พวกนางอย่าพูดคุยกับผู้ชาย” แต่อัลลอฮฺ ตรัสความว่า “อย่าพูดจาอ่อนหวานจนเกินไป”

        ดังนั้นจึงไม่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามใดๆสำหรับผู้หญิงที่จะพูดคุยกับผู้ชาย ตราบใดที่ไม่เกิดฟิตนะฮฺ (เช่น ความวุ่ยวาย ความเข้าใจผิด เป็นต้น-ผู้แปล)

         ครั้งหนึ่งมีผู้หญิงได้มาหาท่านรอซูลุลลอฮฺ และได้พูดคุยกับท่าน และผู้คนก็ได้ยินการพูดคุยของผู้หญิงคนนั้นกับท่านรอซูลุลลอฮฺ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี้ไม่ถือว่าเป็นความชั่วแต่อย่างใด

         ที่สำคัญ คือ ไม่อนุญาตให้อยู่กันสองต่อสองในขณะพูดคุยกับผู้หญิง เว้นแต่ต้องมีมะหฺรอม(ผู้ปกครองดูแล)ของผู้หญิงและมั่นใจว่าจะไม่เกิดฟิตนะฮฺ และฝ่ายชายต้องไม่รู้สึกดีใจที่ได้ยินเสียงของผู้หญิง และต้องรู้สึกเฉยๆเท่านั้น



 

แปลและเรียบเรียง มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์