ฮาลาล-แบรนด์ใหญ่ที่ไม่อาจมองข้าม
  จำนวนคนเข้าชม  19914

 

ฮาลาล-แบรนด์ใหญ่ที่ไม่อาจมองข้าม

 

 

นิพล แสงศรี


 

         ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เพราะเป็นตลาดมิได้จำกัดเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปด้วย จึงเป็นตลาดอาหารที่มีเม็ดเงินไหลหมุนเวียนมหาศาล ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกหลายประเทศทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางเพื่อเจาะตลาดฮาลาลกันอย่างจริงจังและดุเดือด ตลาดอาหารฮาลาลสามารถดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลมากขึ้นทุกปีแม้ไม่ใช่ประเทศมุสลิม เช่น จีน เพื่อแย่งชิงตลาดและกำไรจากการลงทุน แม้แต่ประเทศแคนาดาก็ยังประกาศตัวเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลของโลกมุสลิม ขณะที่มีมุสลิมอาศัยเพียง 300,000 คนเท่านั้น ประเทศเหล่านี้ทำได้อย่างไรและใครตรวจสอบ ! !


♥ บทบัญญัติเกี่ยวกับอาหารฮาลาล

 
         อาหารที่มุสลิมทานหรือสิ่งบริโภคนั้น หากแบ่งตามพระบัญญัติใช้และห้ามที่ปรากฎในอัลกุรอานและซุนนะห์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 

 
(1) อาหารฮาลาล หมายถึง อาหารที่ศาสนาอนุมัติ 

 
(2) อาหารหะรอม หมายถึง อาหารที่ศาสนาไม่อนุมัติ ทั้งสองประการชัดเจนตามที่ปรากฎในบทบัญญัติ 

 
       (3) อาหารมัชบูฮฺ หรือ ชุบฮาต หมายถึง อาหารที่ยังมีข้อเคลือบแคลงหรือน่าสงสัย ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าฮาลาลหรือหะรอมต้องรอจนกว่าจะผ่านการตรวจสอบ พิสูจน์ และวินิจฉัย ช่วงรอตรวจสอบให้หลีกเลี่ยงรับประทานไว้ก่อน เช่น อาจจะผ่านกระบวนการเชือดไม่ถูกต้อง หรือปนเปื้อนนะยีส หรือปะปน/มีส่วนผสมกับเนื้อสัตว์และสิ่งต้องห้ามบางชนิด (แต่ละข้อมีรายละเอียดค่อนข้างมากควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้)


♥ การตรวจสอบ

 
          สมัยก่อนการตรวจสอบว่าอาหารฮาลาลหรือไม่ ผู้รู้ทางศาสนาได้ทำหน้าที่ติดต่อสอบถามก่อนจะมาวินิจฉัยตามข้อมูลที่ได้มาจากผู้ผลิตเท่านั้น โดยยึดหลักพื้นฐานฮาลาลและฮารอม แต่ไม่ได้มุ่งเข้าไปพิสูจน์ค้นหาความจริงในตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ และตัวอาหาร เนื่องจากขาดเครื่องมือและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อกระบวนการผลิตผ่านระบบเทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากขึ้น 

 
          นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาโปรแกรม ฮาลาล-จีเอ็มพี/เอชเอซีซีพี (Halal-GMP/HACCP) ขึ้น เพื่อตรวจสอบ ควบคุมสุขลักษณะที่สำคัญ และคุณภาพฮาลาล ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบเรื่อยไปตลอดจนถึงขั้นสุดท้ายคือผู้บริโภค Good Manufacturing Practice (GMP) ในแต่ละขั้นตอนจะตามหลักเกณฑ์ของการวิเคราะห์อันตรายและควบคุมจุดวิกฤต Hazard Analysis Critical Control Point (HACC) สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยทั้งผู้รู้ทางศาสนาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อช่วยให้การตรวจสอบผู้ผลิต ตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ และตัวอาหาร เป็นไปด้วยความง่ายดายและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคที่ได้ของดี ฮาลาล และมีคุณภาพ

 


♥ ตลาดอาหารฮาลาล
 

 

          เนื่องจากประชากรมุสลิมในโลกนี้มีประมาณ 1,800–1,900 ล้านคน กลุ่มผู้บริโภคอาหารฮาลาลนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพค่อนข้งสูง ดังนั้นมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลในโลกน่าจะประมาณ 6,000,000 ถึง 8,000,000 ล้านบาท (ประมาณ 150,000–200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่สำคัญตลาดอาหารฮาลาลมิได้จำกัดเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปด้วย ดังนั้นมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลน่าจะมีขนาดใหญ่กว่าที่ประมาณไว้ข้างต้น

 

          เฉพาะตลาดอาหารฮาลาลของกลุ่มความร่วมมือของอ่าวเปอร์เชีย (GCC) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรราว 45.5 ล้านคน และคาดว่าในปี 60 จะมีประชากรรวมประมาณ 50 ล้านคน แม้จะเป็นตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่แต่ผู้บริโภคก็มีกำลังซื้อสูงมาก โดยอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในช่วง 2-3 ปีอยู่ในอัตรา3-5% ยกเว้นอิรักเติบโต 8-9% ต่อปี เนื่องจากการฟื้นตัวภายหลังสงคราม

          ส่วนกลุ่มประเทศ OIC จำนวนสมาชิก 57 ประเทศ ประชากรราว 1,300 ล้านคน มีเม็ดเงินประมาณ 5,506 พันล้านเหรียญสหรัฐ , กลุ่มประเทศ ASEAN จำนวนสมาชิก 10 ประเทศ ประชากรราว 537 ล้านคน มีเม็ดเงิน 4,190 พันล้านเหรียญสหรัฐ , กลุ่มประเทศ EU จำนวนสมาชิก 25 ประเทศ ประชากรราว 453 ล้านคน มีเม็ดเงิน 10,483 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มประเทศ USA จำนวนสมาชิก N/A ประเทศ ประชากรราว295 ล้านคน มีเม็ดเงิน12,370 พันล้านเหรียญสหรัฐ


♥ ประเทศส่งออก


         ที่น่าแปลกใจคือ ขณะที่กลุ่มประเทศผู้บริโภคส่วนใหญ่คือโลกอาหรับและมุสลิม แต่ที่ผ่านมากลุ่มประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมากที่สุดได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา อินเดีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและไม่ใช่กลุ่มประเทศมุสลิม และเป็นกลุ่มประเทศที่มีเงินทุนและศักยภาพในด้านเทคโนโลยี มาตรฐาน และวิสัยทัศน์ แม้แต่ประเทศแคนาดาก็ยังประกาศตัวเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล Halal Food Hub ของโลกมุสลิมในขณะที่มีประชากรที่เป็นมุสลิมเพียง 300,000 คนเท่านั้น


         ประเทศเหล่านี้ลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารฮาลาล โดยอาศัยการฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานจากคณะผู้เชี่ยวชาญของสถาบันฮาลาลของมุสลิม ที่มีศูนย์กระจายอยู่ทั่วยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ เช่น ยุโรปไปที่ Halal International Authority (HIA) ในอิตาลี, อเมริกาและแคนาดาไปที่ Islamic Food and Nutrition Council of America (IFANCA), บราซิลไปที่ Federation of Muslim Association in Brazil (FAMBRAS)



♥ นักลงทุนหน้าใหม่
 

 

         อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เพราะกลุ่มผู้บริโภคมีทั้งผู้ที่เป็นชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม จนทำให้มีนักลงทุนทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมรายใหม่ๆ หันเข้ามาลงทุนในตลาดอาหารฮาลาลโลกมากขึ้นในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลกหลายประเทศที่ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางเพื่อเจาะตลาดนี้กันอย่างจริงจังและดุเดือดตามลำดับ


          ล่าสุดกลุ่มยุโรปรวมตัวกันจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล (European Halal Food Park) ขึ้นที่เขตแบนแฮม นอร์ฟอล์คประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแบบครบวงจรเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรป โครงการดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือระหว่าง IGM และ NPE Services ดำเนินงานมานานกว่า 2 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายและพร้อมที่จะเปิดโรงงาน โดยรับผู้ที่จะร่วมธุรกิจ SME ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่สนใจของประชากรชาวมุสลิมในประเทศฝรั่งเศสกว่า 8 ล้านคน และในประเทศอังกฤษอีกประมาณ 4 ล้านคน


          ส่วนรัฐบาลกลางของจีน ก็วางเป้าหมายให้เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย เป็นพื้นที่ศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุสลิมอื่นๆ รวมไปถึงการส่งเสริมให้หนิงเซี่ยเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลไปทั่วโลก ปัจจุบันมีวิสาหกิจแปรรูปอาหารฮาลาลรวมทั้งสิ้นกว่า 655 แห่ง โดยเป็นวิสาหกิจแปรรูปอาหารฮาลาลขนาดใหญ่จำนวน 124 แห่ง มีมูลค่าการผลิตรวม10,300 ล้านหยวน ตั้งเป้ามูลค่าการผลิตเมื่อถึงปีพ.ศ.2558 มูลค่าการผลิตและแปรรูปอาหารฮาลาลต้องถึง 20,000 ล้านหยวน รวมไปถึงการพัฒนาให้อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหารฮาลาลของหนิงเซี่ยเป็น ศูนย์กลางแห่งการพัฒนา 5 รูปแบบได้แก่ การสร้างศูนย์การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์การผลิต ศูนย์การรับรองและออกเอกสารสิทธิ์ ศูนย์การกระจายสินค้า และศูนย์การจัดแสดงสินค้า


         ส่วนชาติสมาชิกอาเซียน ต่างแย่งกันประกาศตัวเป็นฮาลาลฮับของโลก เพื่อแชร์ตลาด 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมาเลย์ใช้ทางลัดผุด 21 นิคมฯ ฮาลาลรองรับนักลงทุน เพื่อหวังช่วยเพิ่มยอดส่งออก ส่วนสิงคโปร์ประกาศสร้างองค์กร และเร่งสร้างมาตรฐานฮาลาล รองรับลูกค้าจากกลุ่มอ่าวอาหรับ ขณะที่ไทยเร่งแผนปรับตนเองเป็น ฮับอาเซียน ให้ได้ในปี 59


♥ ฮาลาลไทยแลนด์


ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฮะลาลใน 2 เรื่องคือ 


(1) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 


       (2) และระบบการธนาคารและการเงินอิสลาม ซึ่งต้องไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ฮารอม เช่น ดอกเบี้ย สิ่งมึนเมา การพนัน การผูกขาด การกักตุนสินค้า การทำลายสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมอื่นๆ ที่แสดงออกถึงการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความเสียหายแก่สังคมส่วนรวม


          ประเทศไทยที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่าร้อยละ 80 และมีผู้ประกอบการผลิตอาหาร สินค้า และบริการฮาลาลมากกว่า 400 ราย ตลาดสินค้าฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้โตขึ้นเป็น 5,000-10,000 ล้านบาท ตัวเลขสินค้าฮาลาลส่งออกไทยปีละเกือบ 25,000 ล้านบาท ขณะที่ส่งออกมาเลเซียมีมูลค่าเพียง 600-700 ล้านบาท

          ไทยส่งออกอาหารไปยังประเทศรอบอ่าวเปอร์เชีย มูลค่าส่งออกรวมเกือบ 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.28% แนวโน้มมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้านำเข้าที่สำคัญจากไทย ได้แก่ ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย ข้าวโพดหวานแปรรูป ไก่แช่แข็ง ปลาน้ำจืดแช่แข็ง ครีมเทียม ประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย อิรัก สัดส่วน52.7% ของมูลค่าการส่งออกไป รองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย 21.8% และ ยูเออี 17.8%


         นอกจากนั้นยังพบความพยายามของคณะกรรมการอิสลามในเขตพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบนที่ ผลักดันให้เขตพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเป็นเขตเศรษฐกิจฮาลาล โดยเฉพาะในส่วนการสนับสนุนด้านแปรรูปสินค้าประเภทสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาศาสนา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง


 

 

 

 


อ้างอิง

 

-คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, พฤษภาคม 2548

-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,849 วันที่ 2 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

-ศูนย์อัจฉริยะ เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร

-สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ -http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?SECTION_ID=462&ELEMENT_ID=10850