มัสยิด : ความสว่างไสวที่ถูกบดบัง
  จำนวนคนเข้าชม  4212

 

มัสยิด : ความสว่างไสวที่ถูกบดบัง



         ความรุ่งโรจน์ของอิสลามแต่อดีตกาลนั้นวางอยู่บนรากฐานของการศรัทธามั่นอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อการเทิดทูนและภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยบริสุทธิ์ อาณาจักรอิสลามที่แผ่ขยายอารยธรรมกว้างไกลไปทั่วโลกได้ เป็นเพราะศรัทธาชนยุคนั้นขวนขวายวิทยาการอย่างเข้มแข็ง โดยธำรงไว้ซึ่งการก้มกราบต่ออัลลอฮฺ อย่างจริงจัง จึงพบว่า “มัสยิด คือ แหล่งรวม” ที่มีผลทุกกรณี ทำให้อิสลามยืนหยัดสืบเนื่องตลอดมา

 

         แต่จากสภาพปัจจุบัน ความรุ่งเรืองของอิสลามได้ถูกนำเอาความเสื่อมถอยเข้ามาแทนที่โดยน้ำมือของมุสลิมเอง เราพากันละทิ้ง “ความสมดุลแห่งชีวิต” อันดีงามดังกล่าว ต่างพากันละเลยถึงสมรรถนะของมัสยิดที่มีอยู่นานัปประการ ทั้งที่มัสยิดในยุคสมัยหลังนี้มีพร้อมซึ่งความโอ่อ่า ความหรูหรา ความวิจิตร ด้านศิลปกรรม และความพิสดารด้านสถาปัตยกรรม แต่กลับมิได้มีส่วนพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจของมุสลิมให้ก้าวทันวิวัฒนาการนั้นแต่อย่างใด


“ผู้คนจะเร่งแข่งขันกันสร้างมัสยิด แต่พวกเขาจะไม่ไปมัสยิดเลย”

         ข้อความจากฮะดิษนี้ปรากฏโฉมหน้าที่แท้จริงแล้วในปัจจุบัน มัสยิดถูกสร้างขึ้นมาราวกับดอกเห็ด แต่ประโยชน์ที่มีกลับถูกมองเหมือนดอกหญ้าที่ขึ้นอย่างไร้ค่าตามผืนดิน เรากล้าทุ่มเทเงินทองอย่างมหาศาล เพื่อบรรจงแต่งสถานที่อันบริสุทธิ์ เช่น มัสยิดให้งดงามราวกับปราสาทราชวัง แต่จะยอมเสียสละเวลาเพียงเล็กน้อย เพื่อใช้ศูนย์รวมแห่งนี้ให้สมราคาได้ลำบากเต็มที

 

         สัญญาณแห่งกาลอวสานประจักษ์ชัดขึ้นโดยการปฏิบัติของมนุษย์เอง แล้วเรายังไม่วิตกถึงการพิพากษาที่กำลังใกล้เข้ามาอีกหรือ “การประกวดประชันแข่งขันสร้างมัสยิดกันขึ้นมาเพื่อสิ่งใดกัน” เพื่อการยกย่องสรรเสริญ? หรือ เพื่อการแบ่งแยกความเป็นพี่น้องเพราะความขัดแย้งระหว่างกัน? หากสิ่งที่กล่าวอันหลังนี้เป็นจุดประสงค์แฝงเร้นที่มีอยู่ในส่วนลึกของเราแล้ว นั่นย่อมหมายถึง “ความสูญเปล่า” โดยสิ้นเชิง

 

        ทุกวันนี้เรามีมัสยิดมูลค่าหลายล้านบาท ตั้งอยู่เกลื่อนกลาดบนผืนแผ่นดิน แต่อัตราผู้ที่ร่วมละหมาดทุกเวลาในมัสยิดกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ มีไม่ถึง 30,000 คนต่อประชากรมุสลิมกว่า 10 ล้านคน นั่นเป็นความผกผันที่รุนแรงและน่าสะพรึงกลัว หากพิจารณาในแง่ของผลตอบแทนที่อุตสาห์อุทิศเงินร่วมสร้าง ก็ย่อมจะได้รับความไม่คุ้มค่า

 

        มัสยิดยุคสมัยนี้แตกต่างกับยุคของท่านศาสดามุฮัมหมัด อย่างมิอาจเปรียบเทียบได้ ความตระการตาของอาคารมัสยิดปัจจุบัน กับก้านอินทผลัมที่คลุมเป็นหลังคาพอกันแดดของมัสยิดกุบาอฺในอดีต มันคือภาพเสียดแทงความรู้สึกให้เห็นอย่างเด่นชัด มัสยิดยุคโลกาภิวัตน์นี้ ก่อด้วยอิฐชั้นดี ซีเมนต์สูงคุณภาพ รอยคราบที่สวยงามของหินอ่อนกับความอ่อนนุ่มของพรมราคาแพงระยับบนพื้นลายปาร์เก้ ล้วนแต่เป็นพัฒนาการด้านวัตถุที่วัดกันไม่ได้เลยกับศรัทธาที่มีอยู่ในจิตใจ

 

         ท่านนบี ไม่เคยละเว้นการดำรงละหมาดที่มัสยิดร่วมกันทุกเวลาจนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน แต่ในสมัยนี้หาผู้คนร่วมญะมาอะฮฺที่มัสยิดได้แสนยาก หลายมัสยิดปิดประตูไขกุญแจแน่นหนาราวกับว่ามีสมบัติล้ำค่าอยู่ในนั้น แถมยังปิดกั้นและกีดกันผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติการภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยเสรี จนผู้คนทั่วไปมีความเข้าใจไปว่า ชีวิตมุสลิมนั้นละหมาดเฉพาะวันศุกร์กับวันอีดิ้ลอัฎฮาและอีดิ้ลฟิตริ เพราะมีช่วงนั้นที่จะเปิดโอกาสให้ผู้คนในหมู่บ้านได้สัมผัสสถานที่อันดีงดงามนี้

 

         มัสยิดในสมัยที่อิสลามรุ่งโรจน์คือ สถานที่จัดพิธีนิกะฮฺอย่างเรียบง่าย ก่อให้เกิดความมีศิริมงคลอย่างใหญ่หลวง แต่เดี๋ยวนี้ย้ายไปจัดงานวะลีมะฮฺอย่างใหญ่โตในภัตตาคารหรือโรงแรมที่ต้องหรูหราฟุ่มเฟือยสิ้นค่าใช้จ่ายเรือนแสน รูปแบบงานที่ต้องผสมปนเปกับความชั่วร้ายที่อิสลามไม่ส่งเสริมดังกล่าว ส่งผลให้ชีวิตการครองเรือน ฐานะทางเศรษฐกิจล้มเหลวล่มจมตามมา

 

         ท่านนบี ใช้มัสยิดเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการงานที่จะเสริมสร้างสังคมและชุมชนให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอย่างทันเหตุการณ์เมื่อมีผลกระทบความผาสุกเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันกลับเป็นสถานที่วางแผนและคิดร้ายต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง และมีแต่คิดหาทางขอบริจาคเงินมาสร้างมัสยิดให้ใหญ่โตมโหฬาร โดยมิได้มีแผนพัฒนาจิตสำนึกและวิญญาณแห่งความเป็นบ่าวต่ออัลลอฮฺ รวมทั้งแผนพัฒนาให้ชีวิตของสัปบุรุษได้ถูกพัฒนายกฐานะให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยู่ในความนึกคิดแต่ประการใด

 

         มัสยิดทุกวันนี้มิได้เป็น “คลังวิทยาการ” เหมือนในสมัยท่านรอซูล ที่รวมทั้งวิชาพื้นฐานอาชีพ และวิชาด้านอิสลาม ดังนั้น เราจึงพบว่ามีมัสยิดหลายแห่งเหลือเกินที่แม้กระทั่งการเรียนการสอนอิสลามภาคบังคับเบื้องต้น (ฟัรดูอีน) ก็สูญหายไป ถึงแม้บางแห่งจะมี ก็กระท่อนกระแท่นแสนเข็ญ เพราะผู้มีฐานะร่ำรวยไม่สนใจช่วยอุปถัมภ์ มัสยิดปัจจุบันกลายเป็นสถานที่จัดงานที่ไม่ต่างอะไรกับสวนสาธารณะที่มีหนุ่มสาวมาควงคู่กันแล้วก็เฮฮาอยู่รอบนอก งานอภิปรายบรรยายธรรมที่นิยมกันนั้น เยาวชนผู้จะมาสืบทอดสังคมมีโอกาสได้ซึมซับหลักธรรมอิสลามกันน้อยมาก มันจึงเสมือนคลื่นกระทบฝั่งที่ไม่เกิดผลสะท้อนด้านการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้คืนกลับมา

 

         มัสยิดในยุคของท่านนบี เป็นศูนย์รวมน้ำใจและเสริมสร้างสามัคคีธรรม ขจัดความขัดแย้ง และพิพากษาอรรถคดี แต่ในสมัยนี้มัสยิดกลายเป็นศูนย์กลางของการแบ่งระดับบุคคล ผู้ที่ร่ำรวยก็กอบโกยสะสมไม่มีสิ้นสุด ความขัดแย้งในชุมชนล้วนแต่มีต้นตอสาเหตุมาจากมัสยิด จนต้องสร้างมัสยิดแห่งใหม่ขึ้นมาเพื่อเบ่งบารมี พยายามสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปปฏิบัติอิบาดะฮฺเป็นหมู่คณะ เยาวชนมุสลิมจำนวนมากอยู่ภายใต้การครอบงำของยาเสพติดในบริเวณใกล้ๆ มัสยิดนั่นเอง

 

        ส่วนดีของมัสยิดที่เป็นอยู่ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยไว้ให้ชื่นชมคือ การเป็นสถานที่รวมการจัดเลี้ยงอาหารที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้คนทุกเพศทุกวัยให้หันมาสู่มัสยิด แต่มันก็เป็นเพียงครั้งคราวเท่านั้น ผู้ที่มีความรู้ยังคงไม่สนใจมัสยิด ผู้ที่มีฐานะมั่งคั่งยังไม่บริจาคเพื่อบำรุงมัสยิด ทำให้การคลุกคลีสัมผัสกับบุคคลทุกระดับมีน้อย เกิดช่องว่างทางสังคม การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันปราศจากความจริงใจ และความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ

 

        ความผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่พบเห็นในมัสยิดยุคหลังนี้อีกประการหนึ่งก็คือ มุสลิมทุกคนไม่ให้ความสำคัญต่อบ้านของอัลลอฮฺ แห่งนี้ ผู้ที่ประกาศเชิญชวนให้มาละหมาดต้องกลายเป็นผู้ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ทางร่างกายก็จิตใจหรือฐานะ อิหม่ามที่นำละหมาดที่มีความรู้ไม่ได้ระดับเกณฑ์ที่เหมาะสมต้องถูกผลักขึ้นมา เพราะไม่มีผู้ทรงความรู้มามัสยิด เมื่อบุคคลที่มีความรู้ด้านศาสนาประพฤติตนแยกออกจากมัสยิดนี้ ก็ยิ่งทำให้บุคคลอื่นออกห่างไกลจากความดีงามของมัสยิดอย่างไม่อาจจะควบคุมได้เช่นกัน

 

        วิธีการแก้ไขปัญหาทั้งมวลที่เกิดขึ้นอันตรงกันข้ามกับสมรรถนะของมัสยิดในสมัยท่านรอซูล ที่ได้วางแบบอย่างไว้ คือ จะต้องพยายามชี้แจงบทบาทหน้าที่ของมัสยิดที่แท้จริงให้ปวงสัปบุรุษได้รับทราบ และกระตุ้นเตือนให้มาร่วมละหมาดทุกเวลาอย่างจริงจัง คุณประโยชน์และคุณค่าของมัสยิดมีอะไรบ้าง ต้องปลุกเร้าให้มีความรู้สึกอย่างกว้างขวาง มิใช่คิดแต่จะพัฒนาเพียงแค่ตัวอาคารมัสยิดเท่านั้น

       ถึงเวลาที่จะต้องนำเอาความสว่างไสวของอิสลามในอดีตให้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว เมื่อใดก็ตามถ้ามุสลิมดำเนินบทบาทมัสยิดได้อย่างสมคุณค่า มีความผูกพันอันลึกซึ้งเสมือนหนึ่งเป็นสายใยชีวิต ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ความยิ่งใหญ่ของมุสลิมจะกลับคืนมาอย่างครบถ้วนโดยแน่นอน

 

 

 

 

ที่มา : เอกสารประกอบ โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้นำชุมชนมุสลิมจังหวัดฉะเชิงเทรา