จริยธรรมอันดีงามของมุสลิม 1-10
  จำนวนคนเข้าชม  6900

 

จริยธรรมอันดีงามของมุสลิม 1-10

 

อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลหะมีด อัล-อะษะรีย์

 

        เนื่องด้วยความสำคัญของจริยธรรมและอุปนิสัยอันดีงามในเจตคติของชาวสะละฟุศศอลิหฺ หรืออะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ พวกท่านจึงได้ให้เรื่องนี้เป็นหลักการสำคัญ(อุศูล)ของอะกีดะฮฺ(หลักยึดมั่นศรัทธา) และได้บรรจุให้มันเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในตำรับตำราว่าด้วยเรื่องอะกีดะฮฺ ซึ่งส่วนหนึ่งของหลักการสำคัญของอะกีดะฮฺที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมอันดีงามดังกล่าวนั้น ได้แก่ 


 

หนึ่ง... 
 

         ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะเรียกร้องเชิญชวนสู่สิ่งที่ดีงามและห้ามปรามกันจากสิ่งที่ชั่วร้าย และพวกเขาเชื่อว่าความดีงามของประชาชาตินี้ จะคงมีอยู่กับพวกเขา ตราบใดที่สัญลักษณ์แห่งคำสอนอันจำเริญนี้ยังคงอยู่ และมันเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ในคำสอนอิสลาม และเป็นสาเหตุสำคัญในการพิทักษ์ปกป้องความเป็นปึกแผ่นของพี่น้องมุสลิม  และการเรียกร้องเชิญชวนสู่สิ่งที่ดีงามนั้น ถือเป็นสิ่งวาญิบ(ที่จะต้องนำไปปฏิบัติ)เท่าที่มีความสามารถ และจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวด้วย อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า
 

         “พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ โดยที่พวกเจ้าเรียกร้องเชิญชวนสู่สิ่งที่ดีงามและห้ามปรามกันจากสิ่งที่ชั่วร้าย และศรัทธาต่ออัลลอฮฺ” 
 

(สูเราะฮฺ อาลิ อิมรอน : 110)
 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าว่า
 

         “ผู้ใดที่เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาจงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นด้วยมือ หากไม่มีความสามารถก็เปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น และหากไม่มีความสามารถอีกก็ให้ปฏิเสธด้วยหัวใจ นั่นถือว่าอีหม่านที่อ่อนแอที่สุดแล้ว” 
 

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 73)


 

สอง...

          ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะยึดมั่นในหลักคำสอนที่ว่า จะต้องใช้ความอ่อนโยนนำหน้าในการเรียกร้องเชิญชวนสู่สิ่งที่ดีงามและห้ามปรามจากสิ่งที่ชั่วร้าย และเรียกร้องเชิญชวนโดยใช้หิกมะฮฺและการตักเตือนด้วยดี(กล่าวคือ ให้เรียกร้องเชิญชวนด้วยความรู้และการปฏิบัติเป็นแบบอย่าง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานภาพ ระดับความเข้าใจ และขอบเขตการเชื่อฟังของแต่ละคน และด้วยคำตักเตือนที่ดี คือ การสั่งใช้และการห้ามปรามที่มาพร้อมกับการจูงใจและการขู่สำทับ แต่หากเมื่อผู้ที่ถูกดะอฺวะฮฺนั้นเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขากระทำมานานนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่แท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่ผิด ดังนั้น ก็จงถกเถียงกับเขาด้วยวิธีการที่ดีที่อยู่บนพื้นฐานแห่งหลักฐานทางศาสนาและสติปัญญา -ผู้แปล-)

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า  

           “จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยใช้หิกมะฮฺ (ความรู้ความเข้าใจ) และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า” 
 

(สูเราะฮฺ อัน-นะหฺลิ : 125)


สาม... 

          ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะยึดมั่นในหลักคำสอนที่ว่า จำต้องมีความอดทนต่อความเดือดร้อนที่เกิดจากผู้คน เมื่อได้เรียกร้องเชิญชวนสู่สิ่งที่ดีงามและห้ามปรามจากสิ่งที่ชั่วร้าย โดยยึดมั่นตามคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า   

         “และจงใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า แท้จริง นั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่น”

 (สูเราะฮฺลุกมาน : 17)


สี่... 

         ชาวสะละฟุศศอลิหฺ เมื่อได้เรียกร้องเชิญชวนสู่ความดีงาม และห้ามปรามจากสิ่งที่ชั่วร้าย พวกเขามีหลักยึดมั่นที่หนักแน่นอีกประการ นั่นคือ การรักษาความเป็นปึกแผ่นของพี่น้องมุสลิม การประสานความสนิทสนมของหัวใจ การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในด้านความคิดเห็น และขจัดความขัดแย้งและการแบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวกให้หมดสิ้นไป


ห้า... 

         ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะยึดมั่นในหลักคำสอนที่ว่า การมอบคำตักเตือนที่ดีอย่างจริงใจนั้นมีเพื่อพี่น้องมุสลิมทุกคน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในความดีงามและความยำเกรง ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

“ศาสนาคือการตักเตือน" 

เรา(เศาะหาบะฮฺ)จึงกล่าวว่า “เพื่อใคร?” 

ท่านนบีได้กล่าวว่า “เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อเราะสูลของพระองค์ และเพื่อบรรดาผู้นำมุสลิม และเพื่อมุสลิมทั่วไป” 

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 55)


หก... 

         ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะธำรงรักษาบทบัญญัติของอิสลาม เฉกเช่นการดำรงซึ่งการละหมาดวันศุกร์(ญุมอะฮฺ) และการละหมาดญะมาอะฮฺ(เป็นหมู่คณะที่มัสญิด) การประกอบพิธีหัจญ์ การญิฮาด และการร่วมเฉลิมฉลองวันอีดพร้อมกับผู้นำมุสลิมทั้งที่เป็นคนดีและคนชั่ว ซึ่งเรื่องนี้มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง(ระหว่างทัศนคติของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ)กับทัศนคติของพวกบิดอะฮฺ(กลุ่มพวกที่อุตริกรรมหนทางที่หลงไปจากแนวทางที่ถูกต้องของอิสลาม)


เจ็ด... 

         ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะรีบเร่งสู่การละหมาดที่ถูกบัญญัติ(ฟัรฎูทั้งห้าเวลา) และจะดำรงการละหมาดนี้ในช่วงต้นของเวลาเป็นญะมาอะฮฺ(หมู่คณะ) เพราะการละหมาดในช่วงต้นของเวลานั้นมีความประเสริฐยิ่งกว่าการละหมาดในช่วงท้าย ยกเว้นการละหมาดอิชาอ์(ที่มีสุนนะฮฺให้ละหมาดในช่วงท้าย) และพวกเขายังเรียกร้องเชิญชวนให้มีความนอบน้อมถ่อมตนและมีสมาธิสงบนิ่งในการละหมาด โดยยึดมั่นตามคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า

“แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา” 

(สูเราะฮฺ อัล-มุอ์มินูน : 1-2)


แปด... 

          ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะสั่งเสียกันและกันให้ลุกขึ้นละหมาดกิยามุลลัยลฺ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งจากแบบอย่างที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปฏิบัติไว้  และการละหมาดกิยามุลลัยลฺนี้คือคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺที่กำชับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้ดำรงไว้ และให้มีความขะมักเขม้นในการเคารพเชื่อฟังต่อพระองค์ให้ได้มากที่สุด 

ดังที่มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า 

“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะลุกขึ้นละหมาดกิยามุลลัยลฺอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเท้าของท่านแตก 

        ท่านหญิงอาอิชะฮฺจึงกล่าวถามว่า “ทำไมท่านถึงต้องทำถึงเพียงนี้ โอ้ท่านเราะสูลของอัลลอฮ ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺทรงอภัยในบาปทั้งหลายของท่านทั้งที่ผ่านพ้นไปและที่จะมาถึงแล้ว? ”

ท่านนบีได้กล่าวว่า “จะไม่ชอบให้ฉันเป็นบ่าวผู้ขอบคุณกระนั้นหรือ? ” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 4837)


เก้า... 

         ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะยืนหยัดมั่นคงเมื่อพวกเขาต้องประสบกับบททดสอบต่างๆ กล่าวคือ พวกเขาจะอดทนในการเผชิญหน้ากับความยากลำบาก พวกเขาจะขอบคุณต่ออัลลอฮฺ(ชุกูร)เมื่อได้รับความผาสุก และพวกเขาจะพึงพอใจในบันทึกกฎสภาวะต่างๆ  (อัล-เกาะฎออ์) ที่ขมขื่น ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า

“แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ” 

(สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร : 10)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

“แท้จริงการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับการทดสอบที่ใหญ่ยิ่ง

แท้จริง หากพระองค์ทรงรักใคร่กลุ่มชนหนึ่ง แน่นอนที่สุดพระองค์จะทรงทดสอบพวกเขา

ผู้ใดที่พึงพอใจ(กับการทดสอบนั้น) อัลลอฮฺจะทรงพึงพอพระทัยพวกเขา

ผู้ใดที่กริ้วโกรธ(ไม่พึงพอใจในบททดสอบนั้น) อัลลอฮฺก็จะทรงโกรธเกรี้ยวพวกเขา” 

(หะสัน เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 2396)


สิบ... 

         ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะไม่หมายใจหรือปรารถนาที่จะประสบกับบททดสอบ และพวกเขาจะไม่วิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ทดสอบพวกเขา เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะสามารถยืนหยัดมั่นคงในบททดสอบนั้นหรือไม่ ? แต่ทว่า เมื่อพวกเขาต้องประสบกับบททดสอบ พวกเขาก็จะอดทน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า  


“พวกท่านจงอย่าหมายใจที่จะได้เจอกับศัตรู แต่จงขอต่ออัลลอฮฺให้ได้รับความปลอดภัย

แต่หากพวกท่านต้องพบเจอกับศัตรูแล้ว ดังนั้นจงอดทนเถิด” 


(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2966 และมุสลิม หมายเลข 1742)



 

แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse