แนวคิดสายกลาง แนวทางที่เที่ยงตรง
  จำนวนคนเข้าชม  7483

 

แนวคิดสายกลาง แนวทางที่เที่ยงตรง

 

โดย.. เชค อับดุลอะซีซ อิบนุ อับดุลลอฮฺ 

 

        ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ บรรดาการสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสันติสุข ความจำเริญจากพระองค์อัลลอฮฺ จงประสพแด่ศาสนทูตของพรองค์ แด่บรรดาวงศ์วานของท่าน และบรรดาสหาย(ซอหะบะฮฺ)ของทานทั้งหมด ตลอดถึงบรรดาผู้เจริญรอยตามพวกเขาด้วยคุณธรรม และพวกเราทั่งหมดจนถึงวันสิ้นโลก (อัลกิยามะฮฺ)

 

        ศาสนาของอัลลอฮฺคือความเป็นกลางและแนวทางของพระองค์เป็นแนวทางที่เที่ยงตรง แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้ง ศาสนทูตมูฮัมมัด  ด้วยกับทางนำและศาสนาที่เที่ยงแท้เพื่อที่จะได้ประจักษ์ชัดเหนือศาสนาทั้งหมด เพื่อที่จะให้มุสลิม ผู้ศรัทธาได้เจริญรอยตามแนวทางดังกล่าว องค์พระผู้อภิบาลได้ใช้เราในทุกๆร็อกอะฮฺ (คือขั้นตอนหนึ่งของอิริยาบถในนมาซ) ของการนมาซ ให้อ่านซูเราะฮฺ(บท) อัลฟาติหะฮฺ ที่มีเนื้อหาในโองการหนึ่งว่า


{اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ (6) صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ (7)} (الفاتحة/6-7)


“ขอพระองค์ได้ทรงโปรดนำทางพวกเราสู่แนวทางที่เที่ยงตรง

ซึ่งเป็นแนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานแก่พวกเขามาแล้ว

ไม่ใช่แนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงกริ้วโกรธต่อพวกเขา และไม่ใช่แนวทางของบรรดาผู้ที่หลงผิด” 
 

(ซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ โองการที่ 6-7)

 

       แนวทางของอัลลอฮฺเป็นแนวทางที่เที่ยงตรง เด่นชัด และไม่มีความคดเคี้ยว ซึ่งไม่ใช่แนวทางของบรรดาผู้ที่หลงผิด และเป็นศัตรูกับพระองค์อัลลอฮฺ นั่นคือแนวทางของกลุ่มชาวยะฮูด(ยิว) ซึ่งพวกเขาได้ฝ่าฝืนในสิ่งที่พวกเขามีความรู้และได้ละเลยในสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ ทั้งๆ ที่พวกเขามีความรู้ และปกปิดความรู้ 

 

        ตัวอย่างเช่น พวกเขาได้ปกปิดคุณลักษณะของศาสนทูต มุฮัมมัด  ทั้งๆที่พวกเขารู้จักท่านศาสนทูต เยี่ยงเดียวกับที่พวกเขารู้จักลูกหลานของพวกเขา แต่ด้วยความหยิ่งยะโส และความอิจฉาริษยา ได้ปิดกั้นพวกเขาจากการได้รับทางนำที่เที่ยงตรงของอัลลอฮ์ ส่วนบรรดาผู้ที่หลงผิด คือบรรดาผู้ที่ไม่มีความรู้ และออกห่างจากการแสวงหาความรู้ จึงทำให้พวกเขาทำการเปลี่ยนแปลง บิดเบือนหลัการศาสนา โดยที่พวกเขาปฏิบัติด้วยกับความโฉดเขลาและความหลงผิด เป็นการปฏิบัติที่มิได้ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของหลักฐาน มิติด้านองค์ความรู้ และทางนำจากพระผู้เป็นเจ้า กลุ่มบุคคลทั้งสองประเภทดังกล่าวคือกลุ่มบุคคลที่หลงผิดจากแนวทางที่เที่ยงตรง

 

        สำหรับกลุ่มบุคคลที่เจริญรอยตามท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  พวกเขาคือ กลุ่มบุคคลที่มีความรู้โดยมีการปฏิบัติ และมีความศรัทธา พวกเขาได้ปฏิบัติในสิ่งที่พวกเขารู้ บรรทัดฐานของศาสนา คือ อัลกุรอ่าน และอัซซุนนะฮ หมายถึง จริยวัตรของศาสนทูต มุฮัมมัด  ไม่ใช่มาจากความคิด หรือทัศนะของมนุษย์ที่มองเห็นว่าเป็นสิ่งดี

 

        ครั้งหนึ่ง ท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  ได้ขีดเส้นตรงหนึ่งเส้นแล้วพูดว่า   (هذا سبيل الله)  “นี่คือแนวทางของอัลลฮฺ” ต่อมาท่านได้ขีดเส้นอีกหลายเส้นทั้งทางด้านขวาและด้านซ้ายของเส้นตรงดังกล่าว และท่านก็ได้พูดว่า

 
(هذه سبل على كل سبيل شيطان يدعو إليه) سنن الدارمي رقم 208
 

 “นี่คือแนวทางต่างๆซึ่งในทุกๆแนวทางจะมีมารร้าย(ชัยฏอน) คอยเรียกร้องไปสู่มัน” 
 

(สุนันอัดาริมีย์ หมายเลข208) 

         ดังนั้นจึงมีแนวทางมากมาย ต่างๆนานา ในแต่ละแนวทางก็มีมารร้าย(ชัยฏอน) คอยล่อลวงชักจูงไปสู่แนวทางที่คดเคี้ยว ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เที่ยงตรง

        สำหรับแนวทางของอัลลอฮฺ เป็นแนวทางแห่งความสัจจะ เที่ยงแท้ ไม่มีความหลงผิดใด ๆ เป็นแสงสว่างที่ปราศจากความมืดมน พระองค์ อัลลอฮฺ ได้ตรัสความว่า

“และแท้จริงนี่คือแนวทางของฉันที่เที่ยงตรงดังนั้นสูเจ้าทั้งหลายจงตามมัน

และสูเจ้าทั้งหลายอย่าได้ตามแนวทางอื่นๆ อันเป็นเหตุที่ทำให้สูเจ้าแตกออกจากแนวทางที่เที่ยงตรงของฉันได้” 

(อัลกุรฺอาน ซูเราะฮฺอัลอันอาม โองการที่ 153)


การเลยเถิดในการภักดี(อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ ถือเป็นสิ่งที่ศาสนาตำหนิ

        การเลยเถิดเป็นสิ่งที่ผิดหลักการที่ถูกตำหนิตามมิติแห่งศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของคำพูด หรือการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการผูกมิตร รักใคร่ หรือ การเป็นศัตรู เกลียดชัง ไม่ว่าจะอยู่ในขอบข่ายของการทำการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า(อิบาดะฮฺ) หรือ ขอบข่ายของจารีตนิยม การเลยเถิดของท่านในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าถือเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิในมิติทางศาสนา

       การเคารพภักดี(อิบาดะฮฺ)ของท่าน จะต้องมีความบริสุทธิใจต่ออัลลอฮฺ และจะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติไว้ ตามแบบฉบับของท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  

        ดังเช่นการทำน้ำนมาซเพื่อจะนมาซ ซึ่งการ ทำน้ำนมาซในกรณีดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การนมาซใช้ได้ แต่หากผู้ที่ทำน้ำนมาซได้ทำเกินเลยจากขอบเขตที่ศาสนากำหนดเช่นล้างอวัยวะเกินสามครั้ง ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่เลยเถิด ที่ได้กระทำเกินเลยจากแบบอย่างที่ท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  ได้กระทำไว้ ซึ่งตามแบบอย่างท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  ได้ล้างสามครั้งบ้าง ล้างสองครั้งบ้าง ล้างหนึ่งครั้งบ้าง ดังนั้นผู้ใดที่ล้างเกินสามครั้ง ก็ถือว่าเขาได้ทำในสิ่งที่ไม่ดีงาม เกินขอบเขตของการทำน้ำนมาซ 

        เช่นเดียวกันกับการนมาซ ห้าเวลา ก็ให้ท่านทำในสิ่งที่เป็นกฎเกน(รุก่น) และสิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ)ของการนมาซ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งกระทำในสิ่งที่เป็นคุณค่าส่งเสริมให้กระทำ(ซุนนะฮ์) ของการนมาซ ก็ถือว่าท่านได้กระทำในสิ่งที่ดีงาม แต่ถ้าหากว่าเขาเลยเถิดในการทำนมาซ ก็เป็นการทำให้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ต้องเหนื่อยกับทำการนมาซกับเขา อย่างเช่นในกรณีของ มุอาซ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  ได้กล่าวกับเขาว่า


«...فَأَيُّكُمْ أَمَّ النَّاسَ فَلْيُوجِزْ فَإِنَّ مِنْ وَرَائِهِ الْكَبِيرَ وَالضَّعِيفَ وَذَا الْحَاجَةِ ».ـ رواه مسلم رقم 1072

“ดังนั้นบุคคลใดได้ปฏิบัติหน้าที่นำนมาซ(อิมาม) ให้กับผู้คน เขาจงนำนมาซให้สั้นลง

เนื่องจากบรรดาผู้ที่ตามอยู่หลังเขา(เป็นมะมูม) มีทั้งผู้ที่ชราภาพ อ่อนแอ และผู้ที่มีกิจธุรจำเป็นสำหรับเขา”

 

ท่านศาสนทูตได้เคยปรามท่าน มุอาซ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ)ในกรณีที่เขาได้นำนมาซยาวว่า

(يا معاذ ، أفتان أنت؟) 

“โอ้ มุอาซเอ๋ย ท่านจะเป็นผู้สร้างความวุ่นวาย เดือดร้อน(ฟิตนะฮฺ) กระนั้นหรือ?” 

       เนื่องจากการนำนมาซที่ยาวนั้นเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ศรัทธา ดังนั้นจะต้องยึดเอาความปานกลาง ไม่ว่าในเรื่องของการนมาซ การใช้จ่าย การสวมใส่เสื้อผ้า การเดิน และจะต้องมีความเป็นกลางในสภาพการต่าง ๆ เช่น ความรัก หรือการโกรธเกลียดต่อผู้ใด ก็จักต้องมีความปานกลาง และออกห่างจากการเลยเถิดอย่างสิ้นเชิง พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

 

       “และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าให้ ความโกรธเคืองของสูเจ้าต่อกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด จนทำให้สูเจ้าไม่มีความเป็นธรรม ดังนั้นสูเจ้าทั้งหลายจงมีความเป็นธรรม เพราะมันคือสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดต่อความยำเกรง” 

(อัลกุรอาน ซุเราะฮฺ อัลมาอิตะฮฺ โองการที่8) 

        ดังนั้น หากว่าฉันมีความโกรธหรือเป็นศรัตรูกับบุคคลใดจำเป็นที่ฉันจะต้องให้ความโกรธหรือเกลียดของฉันอยู่ในขอบเขต อย่าให้ความโกรธเกลียดของฉันต่อบุคคลนั้นเลยเถิด จนทำให้ฉันทำไม่ดีต่อเขาหรือให้โทษเขา และในทำนองเดียวกันหากฉันจะมีความรักกับผู้ใด ฉันก็จะไม่ให้ความรักของฉันเลยเถิด จนเป็นเหตุให้ฉันมองไม่เห็นความผิดหรือความเลวของเขาเลย


การเป็นพันธมิตรกับกลุ่มแนวคิดต่างๆเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเลยเถิด

        ปราชญ์อาวุโสได้ชี้แนะเกี่ยวกับการเป็นพันธมิตรหรือการอิงตัวเองเข้ากับกลุ่มดังกล่าวโดยมีการให้คำแนะนำที่ทรงคุณค่า มากมายว่า แท้จริงแล้ว การเป็นพันธมิตรส่วนร่วมกับพี่น้องมุสลิมเป็นสิทธิตามนัยยะแห่งคัมภีร์อัลกุรฺอาน และซุนนะฮฺของท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  และเป็นแนวทางของกลุ่มชนผู้ศรัทธาทั้งหลาย นี่คือ สัจธรรม และเป็นทางนำ ส่วนการเป็นพันธมิตรกับสิ่งที่มิได้มีบรรทัดฐานมาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ(จริยวัตร)ของท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  หรือมิได้อิงไปยังอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺ และเป็นการรวมกลุ่มกันบนบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ห่างไกลจากทางนำของอัลอิสลาม พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสความว่า

        “พวกเขากลับตัวต่อพระองค์(อัลลอฮฺ) และสูเจ้าจงยำเกรง(ตักวา) ต่อต่อพระองค์ จงดำรงการนมาซ และสูเจ้าอย่าได้เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นได้แตกแยกกันในศาสนาของพวกเขา จนทำให้พากเขาแตกกันเป็นกลุ่มเป็นพรรค โดยที่ในแต่ละกลุ่มแต่ละพรรคต่างก็ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนยึดถือ” 

(อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัรฺรูม โองการที่ 31-32) 

พระองค์ อัลลอฮฺ ได้ตรัสอีกความว่า

        “เจ้า(มูฮัมมัด) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับพวกเขา ในสิ่งดังกล่าว (หมายถึงการทำให้เกิดการแตกแยกทางศาสนาของพวกเขา จนพวกเขาแตกกันเป็นกลุ่มเป็นพรรค)” 

 

(อัลกุรฺอาน ซูเราะฮฺ อัลอันอาม โองการที่ 159 )


ความปานกลางในทุกสิ่งทุกอย่างจะทำให้ออกห่างจากการเลยเถิด

        จำเป็นที่เราจะต้องมีความปานกลางในกิจการงาน ของเราทั้งหมด เนื่องจากนบีของเรา มุฮัมมัด  ได้เตือนเราจากการเลยเถิดของประชาชาติก่อนหน้าเราโดยที่ท่านได้กล่าวว่า


«إياكم والغلو في الدين فإنه أهلك من كان قبلكم الغلو في الدين»ـ رواه أحمد في مسنده رقم 3029

 “ท่านทั้งหลายจงระวังการเลยเถิดในเรื่องศาสนา เนื่องจากประชาติก่อนหน้าพวกท่านได้พบความหายนะที่มาจากการเลยเถิดในเรื่องศาสนา” 

(มุสนัดอิมาม อะหมัด หมายเลข3029) 

        ดังนั้นความรักของเราจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความศรัทธา(อีมาน) ความรักที่สมบูรณ์ต่อศาสนาจะต้องรักศาสนาเหนือกว่าชีวิต ทรัพย์สินและลูกหลาน แต่เราก็ไม่เลยเถิดในศาสนา จนเกินขอบเขต ดั่งที่ท่านศาสนทูต มุฮัมมัด  ได้วจนะไว้ในเรื่องดังกล่าวว่า


« لاَ تُطْرُونِى كَمَا أَطْرَتِ النَّصَارَى ابْنَ مَرْيَمَ ، فَإِنَّمَا أَنَا عَبْدُهُ ، فَقُولُوا عَبْدُ اللَّهِ وَرَسُولُهُ » البخاري رقم 3445

      “ท่านทั้งหลายอย่าได้เลยเถิดต่อฉัน ดังที่ชาวคริสต์ได้เลยเถิดต่อนบีอีซา(เยซู) ลูกของ มัรฺยัม แท้จริงแล้วฉันคือบ่าวคนหนึ่ง ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงกล่าวว่า ฉันคือ บ่าวของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์” 

(อัลบุคอรีย์ หมายเลข 3445)

        ท่านอย่าได้เลยเถิดต่อการให้ความรักต่อลูกชายหรือลูกสาวของท่าน จนเป็นสิ่งที่ไปปิดบังท่านไม่สามารถอธิบายความผิด และความเลยเถิดของพวกเขา ดังนั้นความรักจะต้องมีความปานกลางและสมดุล จนไม่เป็นเหตุที่ทำให้สิ่งหนึ่งต้องละเมิดขอบเขตของอีกสิ่งหนึ่ง


          ♦ ขอพร(ดุอาอฺ) จากพระองค์อัลลอฮฺทำให้เราและท่านทั้งหลายมั่นคงอยู่บนสัจธรรม ขอต่อพระองค์ได้ทรงรักษาประเทศนี้(หมายถึงซาอุดิอารเบีย)จากสิ่งเลวร้ายทั้งปวง 

         ♦ ขอต่อพระองค์ได้ทรงปรับปรุงและประทานความดีแก่ผู้ปกครอง และมกุฎราชกุมาร ขอพระองค์ได้ทรงนำพวกเขาสู่ครรภ์ลองที่พระองค์ทรงรักและปิติยินดี 

         ♦ ขอต่อพระองค์ได้ทรงปกป้องประเทศนี้จากการวางแผนทำลายของบรรดาผู้ที่มุ่งจะทำลาย จากความเลวร้ายของการอิจฉาของบรรดาผู้ที่อิจฉา และจากความเลวร้ายของการอธรรมของบรรดาผู้ที่อธรรม 

         ♦ ขอต่อพระองค์ได้ทรงโปรดประทานความโปรดปราน ความสงบสุขร่มเย็น และความมีเสถียรภาพ มั่นคง ถาวร ให้กับประเทศนี้ และขอต่อพระองค์ได้ทรงโปรดรักษามาตุภูมิของเรา และประเทศมุสลิมทั้งหลาย จากสิ่งเลวร้ายทั้งปวง



 

ที่มา : http://www.assakina.com/wastiah/
 

แปลและเรียบเรียงโดย อ.มุหำหมัด บินต่วน