มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ (คลองสามวา)
  จำนวนคนเข้าชม  15244

มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ (คลองสามวา)

สถานที่ตั้ง : 12 หมู่ 2 แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร  10510

การก่อตังมัสยิด

          พี่น้องมุสลิม ชาวคลองสามวาในอดีตคือผู้อพยพมาจากปัตตานีเป็นส่วนใหญ่ โดยมาตั้งชุมชนอยู่ที่อำเภอมีนบุรี(ในอดีต) และได้เริ่มสร้างมัสยิดครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๐ เป็นไม้สักทั้งหลัง กว้าง ๘ วา ยาว ๘ วา ใช้ชื่อว่า "มัสยิด ดารุ้ลอิบาดะห์" และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ใช้ไม้ทั้งหลัง ยาว ๑๓ วา ๒ ศอก กว้าง ๘ วา และได้จดทะเบียนมัสยิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยอิหม่าม มุสตอฟา หนุ่มสุข เป็นอิหม่าม ฮัจยีเด๊ะ(ครูเด๊ะ) สันประเสริฐ เป็นคอเต็บ และฮัจยีมูฮำหมัด ตงสาลี เป็นบิล้าล ในขณะนั้น

วัตถุประสงค์ของมัสยิด

  1. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการประกอบศาสนกิจ
  2. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการศึกษาศาสนาอิสลาม
  3. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการประกอบกิจกรรมทางสังคม

วิสัยทัศน์ของคณะกรรมการมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์

พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์  พัฒนามุสลิมให้เป็นมุอฺมิน

และพัฒนามัสยิดให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจ

การศึกษาเรียนรู้  และการแก้ปัญหาของชุมชนที่ยั่งยืน

พันธกิจของคณะกรรมการมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์

  • ดำเนินตามกิตาบุ้ลลอฮ์และซุนนะฮ์ของท่านเราะซูล(ซล.)
  • ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐
  • ริเริ่ม พัฒนา เร่งรัด ให้มัสยิด เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจ การศึกษาเรียนรู้ และการแก้ปัญหาของชุมชนที่ยั่งยืน

ปรัชญาของคณะกรรมการมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์

อิสลาม  =  ความเป็นอิสลาม

อิควะฮ์   =  ความเป็นพี่น้อง

อิศลาห์  =  การพัฒนา

หลักการทำงานของคณะกรรมการมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์

มีความยุติธรม

มีความโปร่งใส

มีการปรึกษาหารือ

มีการวางแผน

ประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน

กิจกรรมมัสยิด

  1. โครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน
  2. โครงการเผยแผ่อิสลามประจำเดือน
  3. โครงการอบรมมุอัลลัฟ
  4. โครงการละศีลอดร่วมกันในเดือนรอมาฏอน
  5. โครงการทบทวนอัลกุรอานในเดือนรอมาฏอน
  6. โครงการเอี๊ยะติกาฟ สิบคืนสุดท้ายในเดือนรอมาฏอน
  7. โครงการขายข้าวสารฟิตเราะฮ์
  8. โครงการเพื่อเด็กกำพร้าในวันอีด
  9. โครงการกองทุนซากาตเพื่อคนยากจน
  10. โครงการตัมมัตอัลกุรอาน
  11. โครงการอบรม เยาวชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

          ทางอิสลามมอร์ได้นำบทสัมภาษณ์ของอิหม่าม ผศ.ดร.อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข    د.عبدالله نومسوك   อิหม่ามประจำมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์คนปัจจุบัน  ประธานโครงการในเรื่องที่เกี่ยวกับ โครงการอบรมมุอัลลัฟ ซึ่งครั้งล่าสุดที่จบการอบรมไปเป็นครั้งที่ 3  และนี่เป็นข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งมาให้พี่น้องมุสลิม และเพื่อนต่างศาสนิกที่สนใจได้ศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่าน

คำถาม-คำตอบ

Islammore : วัตถุประสงค์ของโครงการอบรมมุอัลลัฟ ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ :

  • เพื่อให้มีหลักศรัทธาที่ถูกต้อง
  • เพื่อให้ปฏิบัติศาสนกิจทีถูกต้อง
  • เพื่อให้มีจริยธรรมอัลอิสลามในการดำรงชีวิต
  • เพื่อก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีต่อกัน

Islammore : ผลที่คาดว่าจะได้รับ ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ :

  1. ให้มุอัลลัฟมีความเข้าใจในหลักความเชื่อและการปฏิบัติจริยธรรมที่ถูกต้อง
  2. สามารถปฏิบัติศาสนกิจที่เป็นภาคบังคับในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง เช่น การละหมาด อาบน้ำละหมาด การอ่านอัลกุรอานที่จำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน
  3. มุอัลลัฟมีทัศนะคติที่ดีต่อมุสลิมดั้งเดิม ที่ไม่ทอดทิ้งพวกเขา คือ ให้ผู้ที่เข้ามาใหม่มีความรู้สึกที่ดีกับผู้ที่อยู่ดั้งเดิม

Islammore : ระยะเวลาการอบรม ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ :

ใช้เวลาอบรมปรมาณ 3 เดือน เริ่มประมาณ 1 มิถุนายน - 31 สิงหาคม  2552 (มีการอบรมทุกปี) 

สถานที่อบรม ที่ รร.ซัรฟุ้ลอิสลาม อบรมทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10:00 - 12:30 นาฬิกา

มีวุฒิบัตรมอบให้กับผู้ที่ได้รับการอบรมทุกท่าน 

Islammore : เนื้อหาทีใช้ในการอบรม ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ :

  • หลักการศรัทธาที่ถูกต้อง
  • หลักการปฏิบัติตนในสังคม
  • การอ่านอัลกุรอาน
  • จรรยามารยาทในอิสลาม
  • หลักจริยธรรม คุณธรรม

Islammore : ผู้เข้าอบรมเป็นผู้ที่รับอิสลามแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาศาสนาอิสลาม ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : เป็นผู้ที่รับอิสลามแล้วเกือบทั้งหมด จะมีคนต่างศาสนิกที่สนใจมานั่งฟังด้วยในบางครั้ง

Islammore : จำนวนผู้เข้าอบรม ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : ประมาณ 100 คนเศษ มีผู้หญิงมากกว่า ผู้ชาย อัตราส่วนประมาณ 70:30

    

Islammore : ผลตอบรับที่ได้รับกลับมาจากผู้อบรม หรือจากสังคม ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : อยากให้มีการจัดต่อเนื่องทุกๆปี และอยากให้มีการจัดมากกว่าปีละครั้ง เพราะส่วนมากพี่น้องมุสลิมได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยมิใช่แต่มุอัลลัฟ และบางคนที่มิใช่มุสลิมก็ชอบที่จะเข้ามาฟังและได้รับความรู้เพิ่มเติมกลับไป

Islammore : มีการดูแลหรือตรวจสอบ การประเมินผลความเข้าใจของผู้อบรมอย่างไร ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ :

  • มีการละหมาดญะมาอะฮ์ร่วมกันในเวลาดุรี่ฮ์ของทุกวันที่มีการอบรม และมีพี่เลี้ยงคอยดูแลว่าการปฏิบัตินั้นถูกต้องหรือไม่
  • มีแบบสอบถามให้เขียนและตอบคำถาม และให้เขียนคำถามที่ข้องใจที่อยากรู้ ทำให้มีการถามตอบเพิ่มความเข้าใจกัน และเกิดประโยชน์กับมุอัลลัฟมาก
  • เมื่อสามารถทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น ผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะมากันอย่างสม่ำเสมอตลอดการจัดอบรม

Islammore : มีกิจกรรมอะไรบ้างให้ผู้ที่เข้าอบรมมีส่วนร่วมในกิจกรรม ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ :

  • มีการจัดกลุ่มชมรมมุอัลลัฟประจำมัสยิด เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ
  • มีการออกร้านในงานของมัสยิด

Islammore : ผู้สนับสนุนการทำงานได้งบประมาณจากที่ไหน ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : มาจากคณะกรรมการมัสยิด , สัปบุรุษประจำมัสยิด , ได้รับทุนจาผู้ใจบุญที่สนิทสนม , การบริจาคในการละหมาดวันศุกร์เมื่ออยู่ในช่วงอบรมจะยกให้เป็นทุนของโครงการอบรมมุอัลลัฟทั้งหมด

Islammore : ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ที่เปลี่ยนเข้ามารับอิสลามคืออะไร ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาความไม่เข้มแข็งของสามีหรือภรรยาที่เป็นมุสลิมดั้งเดิมไม่เข้มแข็งในการปฏิบัติศาสนกิจและไม่ตรงกับหลักการที่มุสลิมใหม่ได้เรียนมา ทำให้เกิดความลำบากในการปฏิบัติ เช่น เมื่อมาอบรมให้ละหมาด 5 เวลา แต่พอกลับไปที่บ้านครอบครัวที่เป็นมุสลิมกลับไม่นำละหมาด หรือละหมาดไม่ครบ และกลับต่อว่า ว่าพวกเขาเคร่งครัดเกินไป เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขที่มุสลิมดั้งเดิมมิใช่ที่มุอัลลัฟ  และมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องที่เป็นคนต่างศาสนิก จะมีปัญหาและคำถามมาให้กันช่วยตอบและเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้เข้มแข็งและสู้ต่อไป โดยจะให้ข้อคิดทางด้านสิทธิของผู้ที่เป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติ พร้อมทั้งให้หลักการทางศาสนาที่สามารถปฏิบัติกับพวกเขาได้

Islammore : สิ่งที่อยากจะบอกสังคมมุสลิม เกี่ยวกับมุอัลลัฟ ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : คำว่า "มุอัลลัฟ" หมายความถึง ผู้ที่มีความต้องการใกล้ชิด ต้องการให้เข้ามามีความสนิทสนม เป็นคำที่พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮุว่าตะอาลายกย่อง ให้เกรียติ แต่สังคมมุสลิมเมืองไทยกลับใช้คำนี้ในเชิงลบ เสมือนหนึ่งคำว่ามุอัลลัฟ เป็นการดูถูกจากสังคมมุสลิมดั้งเดิม เราต้องสร้างค่านิยมให้กับสังคมใหม่ ให้มองภาพที่เป็นบวกมากขึ้น เพราะในปัจจุบันผู้ที่เป็นมุอัลลัฟกลับเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ศาสนา และต่อสู้เพื่ออิสลาม ทั้งบางคนยังมีความเข้าใจในศาสนามากกว่าผู้ที่เป็นมุสลิมดั้งเดิมด้วยซ้ำไป

Islammore : สิ่งที่อยากบอก มุอัลลัฟ เกี่ยวกับมุสลิมบางส่วน ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : อยากให้มุอัลลัฟทุกคนต้องรู้ว่า ถ้าหากสังคมมุสลิมบางสังคมไม่ให้เกรียติพวกเขา แต่พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮุว่าตะอาลา ให้เกรียติพวกเขา อิสลามให้เกรียติพวกเขา โดยเฉพาะสังคมในกลุ่มประเทศอาหรับเขาจะให้เกรียติมุอัลลัฟมาก มุสลิมใหม่จะได้รับเกรียติอย่างสูงสุด และยิ่งถ้าเป็นมุสลิมใหม่แล้วออกมาทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนา เกรียตินั้นจะได้รับจากพระองค์อัลลอฮ์อย่างแน่นอน

Islammore : ข้อคิดที่อยากบอก ?

อิหม่าม มัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ : อยากให้แต่ละมัสยิดทำการสำรวจมุอัลลัฟที่อยู่ในกลุ่มหรือชุมชนของตนเอง เพื่อที่จะได้รู้จำนวนของผู้ที่เข้ารับอิสลามใหม่และควรต้องมีการจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านศาสนาแก่พวกเขา อยากให้แต่ละมัสยิดได้เปิดการเรียนการสอนให้กับมุอัลลัฟในหลักการขั้นพื้นฐาน เช่นการอาบน้ำละหมาด การละหมาด การอาบน้ำญะนาบะฮ์ การท่องอัลกุรอานซูเราะฮ์ที่จำเป็น และอีกหลายอย่างตามความสามารของแต่ละมัสยิดในชุมชนนั้นๆ

          ขอชูโกร์ ต่อพระองค์อัลลอฮ์ซุบฮาน่าฮุว่าอาลา ที่ให้ทางอิสลามมอร์ได้สัมภาษณ์ท่านอิหม่ามมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์ ทำให้ได้ข้อมูลหลายอย่างเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมมุสลิม และคนที่เข้ารับอิสลามใหม่ ขอพระองค์อัลลอฮ์ ได้ตอบรับดุอาร์ของท่านเพื่อทำงานให้กับศาสนาของพระองค์อัลลอฮ์  ศาสนาอิสลาม ตลอดไป

วัสลาม

Islammore.com