การงานที่หวังผลทางโลก
  จำนวนคนเข้าชม  7766

 

การงานที่หวังผลทางโลก

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


 

เมื่อ ชัยคฺมุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ ถูกถามถึงอายะฮฺ


﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ ١٥ ﴾ [هود: ١٥] 

 

“ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน

เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วนซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น

และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด” 
 

(ฮูด: 15)

 

ท่านกล่าวอธิบายว่า อายะฮฺดังกล่าวนี้ครอบคลุมคนหลายประเภทดังนี้

ประเภทที่หนึ่ง 

         ผู้ที่ตั้งภาคีและผู้ปฏิเสธศรัทธาซึ่งปฏิบัติคุณงามความดีเพียงในโลกดุนยาเท่านั้น เช่น แจกจ่ายอาหาร ให้เกียรติเพื่อนบ้าน ทำดีต่อบุพการี บริจาคทาน และความดีอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเขาจะไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ ในอาคิเราะฮฺ เพราะความดีเหล่านั้นมิได้วางอยู่บนพื้นฐานของการศรัทธา แต่จะถูกนับอยู่ในกลุ่มคนที่อัลลอฮฺตรัสถึงว่า


﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ ١٥ ﴾ [هود: ١٥] 

          “ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วนซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด”

 (ฮูด: 15)

         ดังนั้น เมื่อผู้ปฏิเสธศรัทธากระทำความดีใด ๆ เขาก็อาจจะได้รับผลตอบแทนนั้นในโลกดุนยา แต่จะไม่มีส่วนแบ่งผลตอบแทนใด ๆ จากอัลลอฮฺอีกในอาคิเราะฮฺ เพราะเขาขาดความศรัทธา และความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์


ประเภทที่สอง 

          ผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติคุณงามความดีที่เป็นเรื่องอาคิเราะฮฺ แต่เขามิได้กระทำเพื่ออัลลอฮฺ ทว่ากลับทำเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยทางดุนยา ดังเช่นผู้ที่ทำหัจญ์และอุมเราะฮฺแทนผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินเงินทอง หรือผู้ที่ศึกษาวิชาความรู้ศาสนา เพียงเพื่อต้องการตำแหน่งหน้าที่ในองค์กร คนเหล่านี้การงานของเขาถือเป็นโมฆะสูญเปล่าทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ และยังเป็นการตั้งภาคีแบบเล็กอีกด้วย


ประเภทที่สาม 

         ผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติคุณงามความดีด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ โดยมิได้ต้องการทรัพย์สินหรือผลตอบแทนใด ๆ ในดุนยา แต่เขาหวังเพียงให้พระองค์ตอบแทนด้วยการทำให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือปกป้องเขาให้พ้นจากสายตาพิฆาตริษยา (อัยนฺ) และคุ้มครองเขาจากเหล่าศัตรู แน่นอนว่าหากจุดประสงค์ของเขาต้องการเพียงสิ่งนี้ ย่อมถือเป็นความคิดที่เลวร้าย และอยู่ในกลุ่มที่พระองค์ตรัสว่า


﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ ١٥ ﴾ [هود: ١٥] 

           “ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วนซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด” 

(ฮูด: 15)

          ทั้งนี้ มุสลิมผู้ศรัทธานั้นควรที่จะหวังผลบุญในอาคิเราะฮฺ ซึ่งมีความสำคัญเหนือสิ่งใดในดุนยา และจำเป็นที่เขาจะต้องมีปณิธานความมุ่งมั่นอันสูงส่ง ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใดหวังผลตอบแทนในอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺก็จะทรงให้ความช่วยเหลือ และให้ความง่ายดายแก่เขาในโลกดุนยา ดังที่พระองค์ตรัสว่า


﴿ وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا ٢ وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ ﴾ [الطلاق : ٢-٣]  

“และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขา จากที่ที่เขามิได้คาดคิด

และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา”

 (อัฏเฏาะลาก: 2-3)


ประเภทที่สี่ 

         ประเภทที่สี่ซึ่งร้ายแรงกว่าบุคคลทั้งสามประเภทข้างต้น คือ ผู้ที่กระทำความดีเพียงเพื่อโอ้อวดผู้คน มิได้หวังผลบุญใด ๆ ในอาคิเราะฮฺ

        จากนั้นท่านกล่าวว่า ยังเหลือบุคคลอีกประเภทหนึ่ง คือผู้ที่ปฏิบัติละหมาดห้าเวลา จ่ายซะกาต ถือศีลอด และทำหัจญ์ เพื่ออัลลอฮฺ โดยหวังในผลบุญอาคิเราะฮฺ แต่หลังจากนั้นเขากลับปฏิบัติความดีเพื่อหวังผลในดุนยาด้วย เช่นผู้ที่ได้ทำหัจญ์ที่เป็นฟัรฎูโดยมีความบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺ หลังจากนั้นเขาก็กลับไปทำอีกครั้งเพื่อผลตอบแทนในดุนยา กรณีเช่นนี้ให้พิจารณาดูว่าเขาเน้นหนักในส่วนใดมากกว่า (ระหว่างส่วนที่ทำเพื่ออัลลอฮฺกับส่วนที่ทำเพื่อดุนยา) เขาก็จะได้รับการตอบแทนตามนั้น

(อัลอิสตินบาฏ หน้า 120-123 โดยอ้างจากฟัตหุลมะญีด หน้า 437-441)


ชัยคฺอับดุรเราะหฺมาน บิน สะอฺดีย์ 

         "กล่าวถึงบุคคลประเภทที่สองข้างต้นว่า เป็นผู้ที่ปฏิบัติคุณความดีเพียงเพื่อประโยชน์ในดุนยา เช่นผู้ที่ศึกษาหาความรู้เพื่อหน้าที่การงาน หรือทำอุมเราะฮฺแทนคนอื่นเพียงเพื่อทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ที่ปฏิบัติการงานใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางดุนยานั้น หากเป้าประสงค์ทั้งหมดของเขาเพียงเพื่อสิ่งนี้ มิได้กระทำเพื่ออัลลอฮฺและผลบุญในโลกอาคิเราะฮฺเลย เขาก็จะไม่ได้รับการตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นในอาคิเราะฮฺ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่อาจเกิดขึ้นกับผู้ศรัทธาได้ เพราะผู้ศรัทธานั้นแม้จะเป็นผู้ที่มีระดับความศรัทธาน้อยเพียงใดก็ตาม ก็ยังหวังอยู่บ้างที่จะได้รับผลบุญจากอัลลอฮฺและการตอบแทนในโลกหน้า


         ส่วนผู้ที่ปฏิบัติทั้งเพื่ออัลลอฮฺและเพื่อดุนยาอย่างเท่าเทียมกันนั้น กรณีนี้หากเขาเป็นผู้ศรัทธา ก็ถือว่าความศรัทธาและความบริสุทธิ์ใจของเขานั้นมีความบกพร่อง การงานของเขาก็บกพร่องเช่นกัน เพราะขาดความบริสุทธิ์ใจที่สมบูรณ์ 


          ส่วนผู้ที่ปฏิบัติความดีเพื่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันเขาก็รับค่าตอบแทนการทำงานของเขาเพื่อการดำรงชีพและดำรงศาสนาด้วย เช่น ผู้ที่รับเงินเดือน ค่าจ้างจากการทำงาน นักรบที่ได้รับส่วนแบ่งหลังการทำศึกสงคราม หรือผลประโยชน์จากวะกัฟ (การอุทิศทรัพย์สินเป็นสาธารณประโยชน์) ที่มอบให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อมัสยิด โรงเรียน หรืองานศาสนาอื่น ๆ กรณีเช่นนี้ผู้ที่รับค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ถือว่าศรัทธาของเขามีความบกพร่องแต่ประการใด เพราะเขามิได้ทำเพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนทางดุนยา แต่เขาทำเพื่อศาสนา และผลตอบแทนที่ได้รับก็เป็นเพียงปัจจัยที่ช่วยให้เขาดำรงศาสนาต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงได้ทรงบัญญัติหลักศาสนาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองที่เป็นส่วนของผู้ที่รับหน้าที่ทางศาสนา หรือประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์ไว้เป็นส่วนสำคัญ เช่น ซะกาต ทรัพย์สินที่ได้จากการทำสงคราม และอื่น ๆ” 

(อัลเกาลฺ อัสสะดีด หน้า 187-189)


والحمد لله رب العالمين، 

وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.



แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse