การเดินทางเพื่อค้นหาฮะดีษ
  จำนวนคนเข้าชม  13873

การเดินทางเพื่อค้นหาอัลฮะดีษ


โดย  ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข

د.عبدالله نومسوك 

           ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้บันทึกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของอิสลาม หลังจากการจากไปของท่านรอซูลุลลอฮฺ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับชนชาติใด หรือศาสนิกใดมาก่อน ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ ปรากฏการณ์ของนักรายงานฮะดีษที่หลั่งไหลมาจากหัวเมืองต่างๆจากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตก ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือสืบหาฮะดีษของท่านรอซูล(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)จากปากของนักจำ และจากนักบันทึกฮะดีษที่กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ

นักรายงานเหล่านี้มีความจำเป็นเลิศ มีความรับผิดชอบและความอดทนสูง และมีการทำงานอย่างเป็นระบบและจริงจัง และสำคัญคือ มีความบริสุทธิ์ใจ (อิคล๊าศ) ในการทำงานเพื่ออิสลาม พวกเขาไม่ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศ หรือเงินตรา สิ่งที่พวกเขาต้องการคือปกปักษ์รักษาฮะดีษของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้อยู่ในสภาพเดิม และให้ปลอดภัยจากการอุปโลกน์ การแอบอ้าง และการเสกสรรปั้นแต่งของผู้ไม่ปรารถนาดี


ประวัติความเป็นมาของการเดินทางเพื่อสืบหาฮะดีษ

           การเดินทางเพื่อสืบหาฮะดีษเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยท่านรอซูล โดยมีชนเผ่าต่างๆจากคาบสมุทรอาหรับเดินทางเข้ามายังท่านรอซูลุลลอฮฺ ณ นครมะดีนะห์ เพื่อให้สัตยาบันต่อท่านในการเข้ารับอิสลาม และเพื่อศึกษาวะฮีย์จากท่านทั้งในรูปแบบอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ

          ครั้นเมื่อท่านรอซูล(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เสียชีวิต บรรดาเหล่าซอฮาบะฮฺต่างก็ให้ความสนใจในการเดินทางเพื่อหาฮะดีษมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอิสลามได้แผ่ขยายตามหัวเมืองต่างๆ และเหล่าบรรดาซอฮาบะฮฺที่จดจำฮะดีษก็กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองเหล่านั้น

            ตัวอย่างการเดินทางของซอฮาบะฮฺ คือท่าน ญาบิร อิบนิ อับดิลลาฮฺ (อยู่นครมะดีนะห์) ใช้เวลาหนึ่งเดือนในการเดินทางไปหาท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุนัยสฺ ณ เมืองชาม เพื่อฟังฮะดีษเพียงบทเดียวที่ไม่มีซอฮาบะฮฺท่านใดที่ยังจดจำได้ นอกจากท่าน

           และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ท่านอบูอัยยูบ อัลอันซอรีย์ (อยู่ ณ นครมะดีนะฮฺ) ได้เดินทางไปหาท่านอุกบะฮฺ อิบนิ อามิรที่อียิปต์ เพื่อฟังฮะดีษบทหนึ่งที่ไม่มีซอฮาบะฮฺท่านใดจดจำนอกจากท่าน และเดินทางกลับมายังนครมะดีนะฮฺทันทีหลังจากฟังฮะดีษเสร็จ

           การเดินทางเพื่อค้นหาฮะดีษยังคงแพร่หลาย และได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงศตวรรษที่สอง (ยุคตาบีอีน) เนื่องจากตาบิอีนส่วนใหญ่จะได้รับฮะดีษจากศอฮาบะฮฺโดยตรง (โดยเฉพาะตาบีอีนรุ่นอาวุโส เนื่องจากมีโอกาสได้ร่วมสมัยกับซอฮาบะฮฺส่วนใหญ่) พวกเขาจึงต้องเดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆที่มีซอฮาบะฮฺอยู่เพื่อรับฟัง และรับฮะดีษจากบรรดา ซอฮาบะฮฺเหล่านั้น แม้ในหมู่ตาบีอีนด้วยกันตาบีอีนรุ่นหลังก็ยังเดินทางเพื่อสืบหาฮะดีษจากตาบีอีนรุ่นแรก (อาวุโส) ที่กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆเช่นเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยของตาบิอิตตาบิอีน (ศตวรรษที่3) และยุคต่อๆมา จนกล่าวได้ว่า นักรายงานฮะดีษทุกคนเป็นนักเดินทาง มีนักรายงานฮะดีษจำนวนน้อยมากที่ไม่เคยเดินทางออกจากบ้านเกิดของตน


สาเหตุสำคัญของการเดินทางหาฮะดีษ

 ในยุคซอฮาบะฮฺนั้นปรากฏว่าบรรดาซอฮาบะฮฺ จะเดินทางหาฮะดีษด้วยสาเหตุสองประการคือ :

     1. เพื่อฟังฮะดีษที่ตนเองมิได้รับฟังมาจากท่านรอซูล

     2. เพื่อหาความมั่นใจในฮะดีษที่ตนเองจดจำจากท่านรอซูล(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และไม่มีคนอื่นจดจำในเมืองของเขา เขาจึงต้องเดินทางไปหาผู้จดจำฮะดีษนั้นๆตามหัวเมืองต่างๆเพื่อแน่ใจในฮะดีษ


          สำหรับในยุคตาบีอีนนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาบีอีนต้องออกเดินทางหาฮะดีษก็เนื่องจากบรรดาซอฮาบะฮฺอยู่กระจัดกระจายตามหัวเมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องไปหาซอฮาบะฮฺเหล่านั้นเพื่อรับฟังฮะดีษจากปากของพวกเขา

          ดังรายงานท่านอบุลอาลียะฮฺ เล่าว่า พวกเราชาวบัศเราะห์ (เมืองหนึ่งในประเทศอิรัก)ได้ยิน ได้ฟังรายงานต่างๆ ที่เล่ามาจากบรรดาซอฮาบะฮฺ พวกเรายังไม่พอใจจนกว่า จะได้ขี่ยานพาหนะไปยังนครมะดีนะฮฺเพื่อฟัง รายงานเหล่านั้นจากปากของศอฮาบะฮฺเอง

อย่างไรก็ตาม มีสาเหตุสำคัญบางสาเหตุเกิดขึ้นหลังจากสองยุคดังกล่าวผ่านไป เช่น

          1) เกิดการปลอมแปลงฮะดีษโดยฝีมือของกลุ่มเบี่ยงเบนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มรอวาฟิฎ (ชีอะฮฺ) กลุ่มคอวาริจญฺ กลุ่มมุรญิอะฮฺ และกลุ่มญะฮฺมียะฮฺ มีการแอบอ้างฮะดีษต่างๆเพื่อใช้เป็นสื่อเรียกร้องให้ผู้คนศรัทธาและเชื่อถือหลักการและแนวคิดของตน เมื่อเป็นเช่นนั้น นักรายงานฮะดีษในยุคต่อมาจึงกระตือรือร้นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของฮะดีษด้วยการเดินทางเพื่อหาสายสืบที่ถูกต้อง

          2) การสืบหาสายสืบที่ “อาลี” เรียกในวิชาฮะดีษว่า นาซิล หรือ อิสนาด หมายถึงสายสืบที่มีจำนวนผู้รายงานน้อย เมื่อเทียบกับอีกสายสืบหนึ่งที่รายงานฮะดีษบทเดียวกัน

          กล่าวคือ นักรายงานฮะดีษในยุคนี้จะพยายามค้นหาสายสืบฮะดีษที่ อาลี ไม่ว่าสายนั้นจะอยู่กับใคร และอยู่ที่ใด เนื่องจากนักฮะดีษมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าฮะดีษที่มีสายสืบอาลี มีความเชื่อถือมากกว่า ฮะดีษที่มีสายสืบไม่อาลี ด้วยเหตุผลว่าผู้รายงานที่น้อยความผิดพลาดย่อมน้อยเป็นเงาตามตัว

ท่านอิมามอะหฺหมัด อิบนิ ฮัมบัล ได้กล่าวไว้ว่า

“การแสวงหาอิสนาดที่อาลี นั้นเป็นวิถีที่ได้มาจากคนรุ่นก่อน (สลัฟ)”

          3) การรวบรวมสายสืบหลายๆสายของฮะดีษบทเดียว กล่าวคือ นักรายงานฮะดีษในยุคนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะตัวบทฮะดีษเพียงอย่างเดียว แต่ได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการรวบรวมสายสืบของตัวบทฮะดีษ คนเหล่านี้ต้องเดินทางยังหัวเมืองต่างๆด้วยความยากลำบากเพื่อให้ได้มาเพื่อสายสืบใหม่ๆของฮะดีษ เนื่องจากสายสืบต่างๆนั้นจะเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ ว่าอยู่ในสถานะที่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่ อย่างไร (สายสืบดังกล่าว หากสืบถึงซอฮาบะฮฺคนเดียวกันเรียกว่า มุตาบิอฺ แต่หากสืบถึงซอฮาบะฮฺหลายท่าน เรียกว่า ชาฮิด)

           ตัวอย่างที่โดดเด่นของนักรายงานในกลุ่มนี้คือ ท่านอิมามอะหฺหมัด อิบนิ ฮัมบัล (241 ฮ.ศ.) ท่านอิสหาก อิบนิ รอหะวัยฮฺ (238 ฮ.ศ.) ท่านอะลีย์ อิบนุลมาดีนีย์ ( 234 ฮ.ศ.) ท่านยะหฺยา อิบนิ มะอีน( 233 ฮ.ศ.) ท่านอิมามอัลบุคอรีย์ ( 256 ฮ.ศ.) ท่านอิมามมุสลิม (261 ฮ.ศ.) ท่านอบูซุรอะฮฺ (327 ฮ.ศ.) และท่านอบูฮาติม (277 ฮ.ศ.) และท่านอื่นๆอีกมากมาย


แรงจูงใจในการเดินทางหาฮะดีษ

           นักรายงานฮะดีษเหล่านี้ มีแรงจูงใจเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ จิตสำนึกอันสูงส่งในความรับผิดชอบต่อการปกปักษ์รักษาบทบัญญัติของอิสลาม ทั้งในรูปของอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺ และต่อการเผยแผ่บทบัญญัติอิสลามยังมวลประชาชาติดังที่ท่านรอซูลุลลอฮฺเคยเผยแผ่ ผลงานอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาเกิดขึ้นจากความศรัทธาอันแรงกล้า และความปรารถนาที่จะสนองตอบคำประกาศของท่านรอซูลุลลอฮฺ ในหลายฮะดีษ อาทิเช่น


1. ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า

 بلغوا عنى ولو آية وحدثواعن بنى أسرائيل ولاحرج

 “ท่านทั้งหลายจงเผยแผ่จากฉัน แม้เพียงหนึ่งอายะฮฺ (เพียงเล็กน้อย) และจงรายงาน(เล่าเรื่องราวต่างๆ) จากบนีอิสรออีลโดยไม่ต้องกังวลใดๆ” บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์


2. ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า


 
نضرالله امرءا سمع مقالتي ووعاها فأداها كما سمعها فَرُبَّ مبلغ أوعى من سامع

 “ขออัลลอฮฺได้ทรงประทานความสุขสดชื่น และความสวยงามแก่บุคคลหนึ่งที่เขาได้ยินคำพูดของฉัน เขามีความเข้าใจ แล้วเขาก็นำไปรายงานต่อ (ยังผู้อื่น) เหมือนกับที่ได้ยินมา บ่อยครั้งที่ผู้รับรายงานมีความเข้าใจดีกว่าผู้(ให้รายงาน) ที่ได้ยินมาเอง” บันทึกโดยอบูดาวู๊ด และอัตติรมิซีย์


3. ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กำชับเตือนโทษอันมหันต์ของการแอบอ้าง หรืออุปโลกน์ ฮะดีษในหลายรายงานเช่น :

1. ฮะดีษที่บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ในหนังสือซอเฮียะฮฺ หมายเลขฮะดีษ 107


 من كذب علي متعمدا فليتبوأ مقعده من النار

“ผู้ใดโกหกต่อฉัน (หมายถึงนำชื่อฉันไปแอบอ้าง) เขาจงเตรียมที่นั่งของเขาในไฟนรก”

2. ฮะดีษที่บันทึกโดยอิมามมุสลิมในคำนำของหนังสือซอเฮียะฮฺ ฮะดีษหมายเลข 5


 كفى بالمرء كذبا أن يحدث بكل ما سمع

“เป็นการโกหกพอแล้วที่คนๆหนึ่งเล่า ( รายงาน) ทุกสิ่งที่ได้ฟังมา (โดยไม่จำแนก)”

3. ฮะดีษที่บันทึกโดยอิมามมุสลิมในคำนำของหนังสือซอเฮียะฮฺ ฮะดีษหมายเลข 1


من حدث عني بحديث يرى أنه كذب فهو أحد الكاذبين

“ผู้ใดเล่า(รายงาน) ฮะดีษจากฉัน ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นเรื่องโกหก เขาก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้โกหก”

           จากคำสั่งของท่านรอซูลข้างต้น ทำให้นักรายงานฮะดีษมีความกระตือรือร้นในการถ่ายทอด แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขาระมัดระวังต่อสิ่งที่ถ่ายทอด นักรายงานฮะดีษในยุคซอฮาบะฮฺ จึงพิถีพิถันในการรายงาน กล่าวคือจะไม่รายงานจนกว่าจะแน่ใจในความเที่ยงตรง และถูกต้องจากท่านรอซูล(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

           ส่วนนักรายงานในยุคต่อมาได้วางระบบสายสืบ (อิสนาด) อย่างละเอียด และแยบยล พวกเขาจะไม่รายงานจนกว่าจะต้องมีสายสืบที่สามารถตรวจสอบความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือได้เท่านั้น

ติดตามอ่านต่อ ตอนที่ 2>>>>Click